พลิกตำนานแผ่นดินไหวล้านนา โบราณถือเป็น ‘อาเพศ’
นักวิชาการประวัติศาสตร์ชี้ความเชื่อเรื่องแผ่นดินไหวในตำนานและพงศาวดารล้านาถือเป็น อาเพศ หรืออัปมงคล
ตามรายงานที่ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ โดยมีศูนย์กลางเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อีกทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกว่า 100 ครั้ง
สำหรับพื้นที่ภาคเหนือพบรอยเลื่อนกว่า 10 รอย รอยเลื่อนที่สำคัญได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ หรือ รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.เชียงราย จ.ลำปาง และ จ.พะเยา เป็นต้น
การสำรวจความเสียหายจากแแผ่นดินไหว โดยเฉพาะโบราณสถานและพระธาตุสำคัญทางภาคเหนือของประเทศไทย นายสนธยา คุณปลื้ม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเผยว่า สั่งการให้อธิบดีกรมศิลปากรเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งพบว่าหลายแห่งได้รับความเสียหาย ส่วนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พระธาตุดอยสุเทพ ยอดพระธาตุไม่ได้รับความเสียหาย ยังคงอยู่ในสภาพเดิม แต่พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน มีรายงานว่า แผ่นทองหุ้มพระธาตุเสียหาย
สำหรับภัยพิบัติในสมัยโบราณของภาคเหนือได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารโบราณหลายเรื่อง โดยเฉพาะทางล้านนา เวลาเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก นักบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ จึงมักกล่าวว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพราะผู้คนทำความชั่ว ผู้ปกครองไม่อยู่ในศีลธรรม ทำให้บ้านเมืองเกิดอาเพศ และล่มสลายในที่สุด เมืองต่างๆ จึงพังทลายเพราะแผ่นดินไหว น้ำท่วม ผู้คนล้มตาย เช่น เรื่องเวียงหนองล่ม เป็นต้น
ฉัตรลดา สินธุสอน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า บันทึกการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณภาคเหนือ ปรากฏอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับอย่าง ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานเวียงหนองล่ม หรือตำนานโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ "ฟ้าร้อง ดอยคราง"
“ตำนานสุวรรณโคมคำ กล่าวถึงผู้ปกครองบ้านเมืองที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี พญานาคเลยขุดควักให้เมืองล่ม”
ฉัตรลดา ได้ยกท่อนหนึ่งที่กล่าวถึงในตำนานและถูกตีความในเรื่องแผ่นดินไหว
‘สุวรรณโคมคำ...เป็นบ้านเมืองของพวกขอมดำ (กร๋อม) ครั้งนั้นธิดาพญานาคได้ไปกัดกินเรือกสวนไร่นาของชายผู้หนึ่ง จึงถูกปรับโทษ ต้องมารับใช้ชายผู้นั้น นานเข้าพวกนางเกิดเบื่อหน่าย จึงแนะให้ชายนั้นแต่งสำเภาไปค้าขายที่เมืองสุวรรณโคมคำ และได้มอบสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ให้ไป...เมื่อชายนั้นล่องสำเภามาถึงเมืองสุวรรณโคมคำ ปรากฏว่าพวกเจ้าเมืองเห็นว่าสิ่งของมีค่าทั้งหลายที่ชายนั้นนำมาด้วยมีมูลค่ามหาศาล จึงทำอุบายโกงชายนั้นถึงสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อชายนั้นเล่าให้ธิดาพญานาคฟัง พวกนางก็โกรธ ไปฟ้องบิดาตน บรรดานาคจึงพากันมาขุดควักเมืองสุวรรณโคมคำจนล่มไปในแม่น้ำโขง...’
“ซึ่งตรงนี้อาจตีความได้ว่าเป็น แผ่นดินไหว หรือกระแสน้ำโขงที่หลากไหลเข้าทำลายบ้านเมือง”
ส่วนตำนานเวียงหนองล่ม หรือตำนานโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ อธิบายถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง การฆ่าสัตว์ที่ไม่ควรฆ่าเพื่อกินเนื้อ ทำให้บ้านเมืองล่มสลาย ฉัตรลดา ได้ยกตำนานที่กล่าวถึงแผ่นดินไหวในตำนานนี้ ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า มีคนจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ 7 วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในคืนนั้นมีเหตุอาเพศ เมืองนี้ได้เกิดภัยพิบัติฟ้าคะนอง แผ่นดินไหวถึงสามครั้ง และเมืองทั้งเมืองก็ถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เหลือรอดชีวิตเพียงหญิงหม้ายที่ไม่ได้กินปลาไหลกับคนอื่นๆ เท่านั้น
‘โยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินั้น ตั้งเมืองอยู่ห่างจากแม่น้ำโขง มีกษัตริย์ที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายจากอินเดียมาปกครองถึง 46 องค์...จนถึงสมัยพระองค์มหาไชยชนะ กษัตริย์องค์ที่ 46 ในพ.ศ.1003 วันเสาร์แรม 7 ค่ำ เดือน 7 ก็เกิดอาเพศธรณีพิโรธหลังพระอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็เกิดเสียงดั่งสนั่นจากแผ่นดินไหวครั้งแรก ประดุจดังว่าเมืองโยนกนครหลวงนี้ จะพังครืนไปแล้ว ต่อมาราวสี่ทุ่มก็ไหวซ้ำมาเป็นรอบสองอีก จนใกล้รุ่งเช้าก็ไหวซ้ำอีกเป็นรอบที่สาม ครั้งสุดท้ายนี้ดังสนั่นรุนแรงที่สุดกว่าทุกครั้ง ส่งผลให้เมืองโยนกนคร ก็ยุบถล่มจมลงทั้งเมืองทันที กลายเป็นหนองขนาดน้ำใหญ่แทนภายในคืนเดียว…’
“ปัจจุบันสันนิษฐานกันว่า หนองน้ำที่เมืองถล่มลงไปนั้น คือทะเลสาบเชียงแสน บางคนก็ว่าคือเวียงหนองล่ม ที่อำเภอแม่จัน หลังจากที่เมืองล่มไปแล้ว ชาวเมืองที่เหลืออยู่ก็ได้รวมตัวกันสร้าง เมืองขึ้นมาใหม่ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง มีชื่อว่า เวียงเปิ๊กษา หรือเวียงปรึกษา เนื่องจากเป็นเมืองที่เกิดจากการปรึกษาหารือกันของราษฎร”
สำหรับร่องรอยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ และปรากฏในยุคปัจจุบันที่คนสามารถไปดูได้ ฉัตรลดาบอกว่า คือ ทะเลสาบเชียงแสน หรือ หนองบงกาย
“ทางตะวันตกของทะเลสาบเชียงแสน เรียกว่า "เวียงหนองล่ม" เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้งานอะไรได้ ไม่ว่าจะเพาะปลูกหรือสร้างสิ่งก่อสร้าง เพราะไม่นานทุกอย่างก็จะถล่มจมหนองน้ำไป สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร หรือ โยนกนคร ที่ล่มสลายนั่นเอง มีอาณาเขต 5 ตร.กม. อยู่ในเขตติดต่อระหว่าง ต.โยนก อ.เชียงแสน กับ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ส่วนเมืองสุวรรณโคมคำนั้น ไม่ปรากฏร่องรอย แต่เมื่อราวปี 2540 ปรากฏว่ามีการโฆษณาแหล่งท่องเที่ยว บริเวณฝั่งตรงกันข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ว่าเป็นเมืองสุวรรณโคมคำในตำนาน”
ส่วนความเชื่อจากโบราณกาลของภาคเหนือหรือล้านนานั้นสืบทอดกันมาว่า แผ่นดินไหวเป็นอาเพศทำให้เกิดความอัปมงคล โดยฉัตรลดายกตำนานพงศาวดารเหนือ ตัวอย่างสำคัญของเหตุแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เกิดขึ้นเมื่อราวพ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี
“แผ่นดินไหวทางล้านนามีความเชื่อว่าเป็นอัปมงคล ตลอดรัชกาลของพระนางจิระประภาได้เกิดศึกสงครามกับทั้งพม่าและอยุธยาหลายครั้ง เมื่อพระไชยราชามีชัยชนะเหนือเมืองเชียงใหม่ ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองที่เกิดแผ่นดินไหว จนยอดเจดีย์หลวงหักพังลงมา กำลังใจคนในบ้านเมืองไม่มี ท้ายที่สุดพระนางจิระประภาก็เสด็จไปประทับที่ล้านช้าง กับพระไชยเชษฐา ผู้เป็นหลาน ทางด้านเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาได้ถูกปราบปรามลงในอำนาจพม่าเมื่อพ.ศ.2101 เป็นเมืองที่ 3 นับจากสุวรรณโคมคำ, โยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แล้วบ้านเมืองเสื่อมโทรมลง นับเป็นอาเพศได้อย่างหนึ่ง ถือเป็นอัปมงคลถึงขั้นเปลี่ยนผู้ที่ปกครองบ้านเมืองเลยทีเดียว”