posttoday

คำสารภาพของฮิปปี้รุ่นสุดสุท้าย ‘เล็กฮิป’ วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์

07 พฤษภาคม 2557

หนังสือเล่มแรกของฮิปปี้ระดับตำนาน ตัวละครในนวนิยาย พันธุ์หมาบ้า ของชาติ กอบจิตติ ที่มีหนังสือเล่มแรกของตัวเอง

โดย...อภิสุตา 

   “อย่างที่ ชาติ กอบจิตติ บอก การที่เราไม่เคยเก็บ ไม่เคยสะสมเงิน ไม่เคยสะสมอะไร ไม่เคยคิดว่า อนาคตจะเป็นยังไง หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะช่วยเราได้บางส่วน เพราะตอนนี้เราทำงานได้ก็พอมีเงิน
ที่จะดูแลตัวเราเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่เราทำงานไม่ได้นั้นแหละจะคือปัญหา ก็ให้มีเงินเข้าบ้าง เลยต้องหาวิธีว่าจะมาจากทางไหนได้บ้าง หนังสือก็เป็นวิธีหนึ่งถ้ามันขายได้ ก็ต้องลอง แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้
เขียนเลย นั่งเล่าเสียมากกว่า” เล็กฮิป หรือชื่อเล่นและจริงของเขา คือ เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์ เกริ่นถึงที่มาในความตั้งใจทำหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขา ที่มีชื่อว่า “เมื่อมีผู้อ้างว่าเป็น เล็กฮิป แห่งพันธุ์หมาบ้า”

   แน่นอน งานเขียนที่ใช้เวลาเรียบเรียงถึง 2 ปี เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างตัวเขากับ นาวิน อินทร์ศร ที่คอยสัมภาษณ์และถอดเทปเรียบเรียงจนมีหนังสือเล่มนี้ออกมา โดยที่รายละเอียดร่างสุดท้ายเขาจะตรวจทานหมดจดจนพอใจว่า ได้ดังที่ต้องการ

   “โอเค พอใจในส่วนหนึ่ง เพราะหนังสือเล่มเล็กทำอะไรไม่ได้มาก เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยากเล่า”

   จุดตั้งต้นของหนังสือเล่มนี้ คือ ภาคขยายของตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยและขายดีที่สุดในยุคที่ผ่านมา นั่นคือ “พันธุ์หมาบ้า” ของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย เล็กฮิป หรือในโลกจริง คือ เปี๊ยก วิสูจน์ ต้นแบบของตัวละครตัวนี้ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องเขาเอง โดยมีนาวิน ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงคำบอกเล่าของเขาทำงานอย่างแนบชิดสนิทใกล้ไปไหนมาไหนด้วยกัน จนแทบจะกลายเป็นคู่แฝดกัน

   “ตรงนี้ทำงานถึง 2 ปี ผมเป็นคนเล่าเรื่อง และนาวินเป็นคนเรียบเรียง เหมือนมีบางเรื่องที่ซ้ำกับพันธุ์หมาบ้า เราก็พยายามหลีก แต่ก็เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน เรื่องที่พันธุ์หมาบ้าเล่าผมก็ไม่เล่า จะเล่าเรื่องที่ไม่มี เป็นภาคขยายเหมือนกับเสริมพันธุ์หมาบ้า ก็โอเค พอใจในส่วนหนึ่ง เพราะหนังสือเล่มเล็กทำอะไรไม่ได้มาก เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยากเล่า”

   เรื่องราวตั้งแต่เกิด จบเพาะช่างมาเปิดร้านขายของซินซาโน่ ธุรกิจแรกในชีวิตที่ทำร่วมกับเพื่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนไปอยู่พัทยา ภูเก็ต อเมริกา จนถึงปัจจุบัน เปี๊ยก วิสูจน์ บอกว่า เรื่องของเขาไม่ใช่คัมภีร์ฮิปปี้

   “หลายคนตี๊ต่างว่า เป็นคัมภีร์ฮิปปี้ยุคสุดท้าย มันไม่ใช่เพราะเป็นแค่ประวัติของเรา แต่มองอีกมุมมันก็ใช่ในบางส่วน เขาอาจจะเอาชีวิตเราไปใช้ได้ อย่างจิตวิญญาณฮิปปี้ เทิร์นออน ทูนอิน ดร็อปเอาต์ ตอนนี้ก็ไม่ได้ใช้แล้ว ชีวิตก็เปลี่ยนไปทุกอย่าง สังคมก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้จะไปเดินอยู่ในภูเก็ตแบบไม่มีเงินเลยแบบ 20-30 ปีที่แล้วได้หรือเปล่า?...มันไม่ได้ ไม่สามารถไปที่ไหนได้เลย เพื่อนที่เคยอยู่ก็ไปอยู่ที่อื่น อย่างเพื่อนที่เขายังอยู่ เขาก็ไม่มีกำลังที่จะดูแลแล้ว ถ้าเราไปขออยู่ด้วย เพราะคนมาขออยู่ซักคน ทุกวันนี้เป็นเรื่องยากมากนะ ค่าใช้จ่ายมันสูง ยิ่งภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ของทุกอย่างมันแพงอยู่แล้ว พัทยาก็เหมือนกัน ไปอยู่ยากแล้ว สมัยก่อนไปอยู่เช่าบ้านหลังหนึ่ง ทำอะไรกินกัน ช่วยกันทำงาน เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว”

   สำหรับเด็กรุ่นใหม่ จิตวิญญาณฮิปปี้ก็ยังคงอยู่ แต่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตอย่างแบบที่เล่าในหนังสือ เปี๊ยก วิสูจน์ มองว่า คนยุคปัจจุบันไม่มีอาชีพไม่ได้แล้ว

   “กับยุคนี้ก็พยายามบอกว่า ไม่ใช่แล้วที่จะใช้ชีวิตอย่างแบบที่เล่าในหนังสือ ต้องมีอาชีพ แต่สมัยก่อนนั้นทำได้ เพราะเราช่วยเพื่อนทำงานตามอารมณ์ที่อยากทำ แต่ไม่เป็นอาชีพ ไม่ได้ต้องการเงินเดือนทุกเดือน มีให้เรากินก็พอ อยากได้ของชิ้นนี้สามารถซื้อให้เราได้ อยากกลับกรุงเทพฯ ก็ให้ตังค์เรามาบางส่วน”

   เขาบอกว่า ใครอยากเป็นเล็กฮิป ยุคนี้ไม่ง่ายแล้ว เพราะฮิปปี้ตัวพ่ออย่างเขาตัวใช้ชีวิตอย่างนั้นในปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้เลย 

   “หนังสือเป็นแค่บันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยหนึ่งเอาไว้ มันก็แค่นั้นเอง อย่าง ชาติ กอบจิตติ บอกว่า เป็นหนังสืองานศพ เราก็คิดอย่างนั้นด้วยนะ เพราะไม่มีใครมาเขียนให้เราหรอก ไม่ได้เป็นคนดังอะไร”

   สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ เปี๊ยก วิสูจน์ บอกว่า นอกจากแฟนนวนิยาย “พันธุ์หมาบ้า” ที่ต่อยอดมาซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่านแล้ว ยังมียอดจองในเฟซบุ๊กอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจด้วย

   “คนที่เป็นแฟนพันธุ์หมาบ้าก็มาซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะเราเช็กจากในเฟซบุ๊ก รู้ว่าเราขายได้มีแฟนจำนวนหนึ่งที่ต่อยอดมาจากพันธุ์หมาบ้ามาชอบเรา มากดไลค์เรา เล่าเรื่องอะไรเขาก็จะรับฟัง อยากมีรูปมีอะไรเป็นที่ระลึก ส่วนยอดสั่งจองในเฟซบุ๊กก็ถือว่าใช้ได้”

   ท้ายสุด เปี๊ยก วิสูจน์ เล่าถึงความฝันของเขาที่ยังคงจิตวิญญาณฮิปปี้อย่างไม่เสื่อมคลายว่า เขาเฝ้ารอเวลาให้เมืองไทยเป็นกัญชาธิปไตย มีกฎหมายเปิดเสรีการเสพกัญชาเหมือนกับรัฐโคโลราโด ในสหรัฐ และประเทศอุรุกวัย 

   “ฮิปปี้ก็มีปัญหาของตัวเองในเรื่องการเสพ ก็มีตายก่อนวัยไปกันเยอะ ดื่มหนักเสพหนักทั้งเหล้าทั้งกัญชา ตอนนี้บางรัฐในอเมริกาเปิดเสรีกัญชา เหมือนกับอุรุกวัยในอเมริกาใต้ เพราะเขามองกัญชาเป็นเมดิคอลหรือเป็นยา เป็นเรื่องของการบำบัดรักษา สมัยเด็กๆ บ้านเราลุงป้าน้าอาเขาก็เสพกัญชากันทั้งนั้น เขาเอาน้ำมาต้มกินไม่ให้ท้องเสีย เขามีวิธีใช้ของเขา”

   เขาบอกว่า เมื่อถึงวันนั้น เขาจะทำไร่กัญชาออร์แกนิกอย่างถูกต้องทางกฎหมายทันที...

บางห้วงคำนึงจากคำนำของ ‘ชาติ กอบจิตติ’

   ผู้เขียนรู้จักเปี๊ยกฮิป (ในนาม “เล็กฮิป” ของหนังสือเล่มนี้) มาตั้งแต่สมัยเรียนเพาะช่างด้วยกัน ในห้องมีเปี๊ยกอยู่สองคน และเราเรียกเปี๊ยกคนนี้ว่า “เปี๊ยกฮิป” ตามลักษณะนิสัยและการแต่งเนื้อแต่งตัวของเขา ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเริ่มก่อน แต่เราก็ยอมรับสมญานามของเขาโดยไม่มีใครคัดค้าน

   นับจากวันแรกที่เราเจอกันในห้องเรียน จนถึงวันนี้นั้นนานเกินกว่าครึ่งชีวิตของเรา

   สามสิบกว่าปีที่เป็นเพื่อนกันมา ห่างกันบ้างใกล้กันบ้างตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน แต่เราถึงกันทุกครั้งที่เดือดร้อน ดูแลกันและกันมาตลอด เพราะเรานับถือศาสนาเดียวกัน

   ศาสนาเพื่อน

   ชีวิต (จากคำให้สัมภาษณ์) ของเล็กฮิปในหนังสือเล่มนี้ที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนั้น ยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง และบางเรื่องที่เขาเล่านั้น ผมได้นำไปจำลองไว้แล้วในนวนิยายเรื่อง “พันธุ์หมาบ้า”

   แรกทีเดียวที่ผมคิดจะเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ผมเพียงอยากจะบันทึกเรื่องราวของเพื่อนๆ เอาไว้ เพราะมองเห็นว่าชีวิตในวัยหนุ่มของพวกเรา แตกต่างจากวัยรุ่นโดยทั่วไป (ในขณะนั้น) อำกันเองว่า เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานอ่านกัน จะได้รู้ว่าสมัย พ่อมึง ปู่มึง เป็นวัยรุ่นเขาเป็นกันยังไง

   ชื่อตัวละครในเรื่องจึงปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เกรงว่าเมื่อลูกหลานมาอ่านเข้าอาจจะเกิดความอับอายขึ้นมา “เปี๊ยกฮิป” จึงกลายมาเป็น “เล็กฮิป” ด้วยเหตุผลนี้

   แต่เหล้าเก่าแม้จะถ่ายลงสู่ขวดใหม่ รสชาติก็ยังคงนุ่มลึกเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

   เล็กฮิปในวันนี้ ก็ยังคงยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความ “รักเพื่อน” รักพวกพ้อง เวลาสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาไม่เคยศีลขาดเลยในข้อนี้ ผมกล้ายืนยัน...

Thailand Web Stat