ศุภกานต์ มุทุมล มีสติ มีกีตาร์ มีความสุข

24 พฤษภาคม 2557

ด้วยงานอันเป็นที่รักทำให้ผู้เขียนได้ไปดุ่มเดินชื่นชมแสงแดดสวย (และร้อน) ของเชียงใหม่

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

ด้วยงานอันเป็นที่รักทำให้ผู้เขียนได้ไปดุ่มเดินชื่นชมแสงแดดสวย (และร้อน) ของเชียงใหม่ ทั้งยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมอบแง่คิดและแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตสไตล์เขามาให้เราเล่าต่อ

ถ้าเอ่ยชื่อ “ศุภกานต์ มุทุมล” ก็อาจจะมีน้อยคนที่รู้จัก แต่ถ้าเป็น “กานต์ วงฮัม” แล้วละก็ ต้องร้องอ๋อกันแทบทั้งนั้น เขาคนนี้เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงสมาชิกวงฮัม เจ้าของเพลงดัง “รออยู่ตรงนี้” ปัจจุบันเขาเรียกตัวเองว่าเป็น “ช่างทำกีตาร์” เจ้าของแบนด์ “สติ” ผู้ผลิตเครื่องดนตรีทำมือตามสั่ง โดยมีช็อปอยู่ที่บ้านเกิดใน จ.เชียงใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หลังจากที่วงฮัมหมดสัญญากับแกรมมี่ กานต์ผันตัวเองไปเล่นดนตรีอาชีพตามผับในกรุงเทพฯ ต่อมาก็รู้สึกเบื่อหน่าย จึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทำอะไรต่อ เขาอยากรู้ว่า งานที่ทำแล้วมีความสุขและสามารถคงอยู่กับเขาไปได้นานๆ คืออะไร คำตอบที่เขาให้กับตัวเองได้ตอนนั้นก็คือ ดนตรีและกีตาร์ เพราะทั้งสองอย่างผูกพันกับชีวิตของเขามาเนิ่นนาน

“ถ้าพูดถึงกีตาร์มันก็มีบางช่วงที่ผมพบกับปัญหาว่า เมื่อกีตาร์เสีย ผมไม่สามารถแก้ไขมันได้ด้วยกันเอง ต้องส่งซ่อมอย่างเดียว ถ้าผมซ่อมกีตาร์ได้เองก็คงจะดี แต่ถ้าเราทำกีตาร์ได้เองทั้งตัวก็คงจะดีกว่า ผมเลยเสิร์ชหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เจอเรื่องราวของพี่นิด (วิรุฬ ทรงบัณฑิต) ซึ่งทำกีตาร์แฮนด์เมดขาย และมีช็อปกีตาร์อยู่ตรงพญาไท ผมเลยตัดสินใจไปเรียนทำกีตาร์กับเขา”

ศุภกานต์ มุทุมล มีสติ มีกีตาร์ มีความสุข

 

ระหว่าง 4 เดือนของการเรียนรู้ กานต์ต้องใช้ความพยายามความตั้งใจทั้งในและนอกห้องเรียน เพราะทั้งชีวิตก็เคยแต่เล่นดนตรี บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ สาขาภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนนี้ ไม่มีความรู้เรื่องงานไม้หรืองานประดิษฐ์มาก่อนเลย “แม้แต่ขีดเส้นยังไม่ตรงด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ผมรู้ตัวว่า ต้องฝึกฝนมากกว่าคนอื่น ต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น จึงเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตัวเองเพิ่ม การทำกีตาร์ตัวแรกไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเรามีอาจารย์อยู่กับเราด้วยตลอด อันไหนทำไม่ได้ อาจารย์ก็จะช่วยทำให้ แต่ว่ากีตาร์ตัวที่ 2-3 คือบททดสอบตัวเอง”

หลังเรียนจบหลักสูตร กานต์ได้ออร์เดอร์แรกจากเจ้าพ่อเพลงละคร ปิงปองศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ “ผมทำกีตาร์ของตัวเองเสร็จก็เอาไปเล่นที่ร้าน พี่ปิงปองก็บอกว่า เอาแบบนี้ตัวหนึ่งโดยไม่ถามอะไรเลย กีตาร์ของพี่ปิงปองตัวละประมาณ 4 หมื่นกว่า ตอนนี้เขาก็ยังใช้ในอัลบั้มอยู่เลยนะครับ”

งานนั้นสร้างความภูมิใจและมั่นใจให้เขาอย่างมาก ระหว่างทำกีตาร์ให้กับลูกค้าคนแรก กานต์ก็ตัดสินใจได้แล้วว่า อาชีพนี้ล่ะที่เขาทำแล้วมีความสุขและน่าจะอยู่กับงานนี้ได้นานๆ “ตอนนั้นช็อปก็ยังไม่มี อุปกรณ์ก็ไม่ครบ บางอย่างก็ยังต้องไปขอใช้ของอาจารย์อยู่ ผมเลยตัดสินใจเอารถเข้าไฟแนนซ์เพื่อเอาเงินมาสร้างช็อป เรียกว่า เสี่ยงดวงสุดๆ (หัวเราะ)”

ศุภกานต์ มุทุมล มีสติ มีกีตาร์ มีความสุข

 

ต่อมาก็มีเหตุให้กานต์ต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เขาจึงไปเปิดช็อปอยู่ที่ย่านตลาดต้นพยอม อ.เมืองเชียงใหม่ รับทั้งงานซ่อมและสร้างกีตาร์โปร่ง ก่อนจะย้าย “สติ กีตาร์ ช็อป” ไปอยู่ที่บ้านของครอบครัวใน อ.สันทราย จนถึงปัจจุบัน

จากที่ไม่มีใครรู้จักเลยในตอนแรกที่ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ กานต์ค่อยๆ สร้างเครือข่ายและให้งานเป็นสิ่งที่บอกเล่าตัวตนของเขา “ถึงแม้เราจะเป็นศิลปินหรือนักดนตรีมาก่อน มันก็ไม่เกี่ยวกับการทำกีตาร์ เพราะงานนี้ดูฝีมืออย่างเดียว บางคนเขาก็ไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้ เขาก็อาจจะให้ซ่อมก่อน จะได้รู้ว่าเรามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน บางคนก็เข้ามาดูการทำงานที่ช็อป เราต้องมีกีตาร์ต้นแบบที่เขาสามารถลองเล่นได้ด้วย เพื่อเขาจะได้มั่นใจ”

ทุกวันนี้เขามี facebook.com/pages/STIGUITARSHOP ที่ซึ่งจะทำให้คนรู้จักตัวและงานของเขา นอกจากนั้น มีลูกค้าบอกกันปากต่อปาก ลูกค้าส่วนมากเป็นคนวัยทำงานและนักศึกษาดนตรีคนที่ชอบกีตาร์แฮนด์เมดซึ่งจะแตกต่างจากกีตาร์จากโรงงาน ถึงแม้จะเป็นกีตาร์แฮนด์เมดเหมือนกัน แต่ละคนก็จะทำออกมาแตกต่างกัน

“คนที่ทำกีตาร์แต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เพราะมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน สกิลไม่เหมือนกัน และเครื่องมือไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น กีตาร์ที่ออกมาแม้จะทำทรงเดียวกันหรือใช้ไม้ชนิดเดียวกัน แต่คนทำคนละคนก็ไม่เหมือนกัน กีตาร์ไม่ใช่งานเฟอร์นิเจอร์ที่เอามาเป็นเครื่องประดับ แต่เป็นงานดนตรีที่ต้องมีเรื่องของเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น คนทำกีตาร์ต้องมีความรู้เรื่องเสียง คนทำชอบเสียงแบบไหน กีตาร์ก็จะเป็นแบบนั้น ผมเป็นคนใจเย็น เสียงกีตาร์ก็จะออกมาแบบหนึ่ง คนใจร้อนก็จะทำกีตาร์เสียงเกรี้ยวกราด นอกจากนี้ เราก็ต้องดูคนที่เขามาสั่งทำด้วย เพราะแต่ละคนก็เล่นกีตาร์สไตล์ไม่เหมือนกัน เขาจึงต้องการกีตาร์ที่แตกต่างกัน ช่างต้องมีความรู้ตรงนี้ที่จะแนะนำลูกค้าได้” และปัจจัยที่จะทำให้กีตาร์ทำมือตัวหนึ่งออกมาดีต้องประกอบด้วย “วัตถุดิบในการทำ เครื่องมือ และความรู้ความสามารถของคนทำ”

ศุภกานต์ มุทุมล มีสติ มีกีตาร์ มีความสุข

 

ระหว่าง 3 ปีที่ทำกีตาร์มา ช่างกานต์พบว่ามีคนทำกีตาร์เพิ่มมากขึ้น แต่คนทำเป็นอาชีพก็ยังน้อยอยู่ เขาไม่ถือว่าคนทำอาชีพเดียวกันเป็นคู่แข่ง แต่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพที่ต้องรวมตัวช่วยเหลือกัน “เวลาสั่งของจากต่างประเทศ อย่างเช่น ไม้จากยุโรป อเมริกา วัตถุดิบบางอย่างจากอินเดีย เราจะรวมตัวกับเพื่อนที่ทำกีตาร์สั่งเข้ามา เราต้องเกื้อกูลกัน ไม่ใช่คู่แข่ง เพราะแต่ละคนทำกีตาร์ออกมาไม่เหมือนกัน ลูกค้าชอบกีตาร์ของคนไหน เขาก็สามารถที่จะเลือกสั่งกับคนนั้น”

สติกีตาร์ของกานต์ 1 ตัวใช้เวลาทำนาน 2-3 เดือน ราคาเริ่มต้นที่ 4 หมื่นกว่าบาท “ตอนนี้ผมก็ทำกีตาร์อย่างเดียว รายได้ความเป็นอยู่มันก็ยังไม่ถือว่าสบายนัก อาจจะไม่ได้มากเท่ากับการเล่นดนตรีอาชีพที่กรุงเทพฯ แต่มีความสุข ผมโชคดีที่เริ่มต้นเร็ว และมันดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราชอบอะไรและเรามุ่งมั่นจริงๆ ผมคิดว่าเราอยู่ได้ มันหายากนะ งานที่เราจะมีความสุขด้วย แล้วก็อยู่กับมันได้ คนบางคนก็ยังต้องทำงานที่ไม่ได้ชอบ แต่เพื่อดำรงชีวิตอยู่ ตอนนี้เรามีความสุขในการทำงาน นั่นถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อยู่ที่ว่ามันจะพอหรือยังในความรู้สึกของคุณ”

ในวัย 33 ปี กานต์ยังมีความฝันที่จะสร้างสติกีตาร์ของเขาให้เดินต่ออย่างมั่นคง “ผมคงไม่ทำกิจการให้ใหญ่ขึ้น แต่ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ การทำกีตาร์มันอยู่ที่การสั่งสมประสบการณ์ หากประสบการณ์เยอะ สกิลของเราก็จะดีขึ้น ตอนนี้ผมก็ใช้เวลากับมันมากขึ้น ซื้อหนังสือจากช่างทำกีตาร์เก่งๆ มาเรียนเพิ่มเติมบ้าง และมีโครงการที่จะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ในอนาคตผมอยากมีโรงเรียนเล็กๆ เปิดสอนเรื่องการทำกีตาร์ ที่ผ่านมาผมถูกปลูกฝังจากอาจารย์ว่า ความรู้เหล่านี้เก็บไว้อย่างเดียวมันไม่มีประโยชน์ ต้องถ่ายทอดออกไป และการถ่ายทอดก็จะทำให้เราเก่งขึ้นด้วย”

การทำกีตาร์นอกจากจะเป็นงานและความสุขของเขาแล้ว กานต์ยังรู้ว่า ตัวเองได้บางอย่างมากกว่านั้น “ก่อนที่จะมาทำกีตาร์ ผมเป็นคนใจร้อนมากครับ การทำกีตาร์ทำให้ผมใจเย็นลง มีสติมากขึ้น เพราะถ้าเราใจร้อน มันก็จะพัง ไม่สวย ไม่ดี ผมจึงใช้ชื่อแบรนด์ว่า สติ เป็นชื่อที่บอกตัวตนและที่มาว่ากว่าจะได้กีตาร์มาตัวหนึ่งต้องมีสติ ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในงาน”

เรื่องราวของ ศุภกานต์ มุทุมล บอกกับเราว่า บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ทำในสิ่งที่รัก รวมทั้งมีความสุขและพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่

Thailand Web Stat