เสน่ห์มิรู้คลาย ‘ศาลาเฉลิมกรุง’
ร้อน!! ไม่รู้จะไปไหน จู่ๆ ใครบางคนก็หลุดปาก ไปศาลาเฉลิมกรุง ไปก็ไป ไปย่ำ “ศาลาเฉลิมกรุง”
โดย...โจนาธาน
ร้อน!! ไม่รู้จะไปไหน จู่ๆ ใครบางคนก็หลุดปาก ไปศาลาเฉลิมกรุง
ไปก็ไป ไปย่ำ “ศาลาเฉลิมกรุง” ไปย้อนอดีตกาล ไปสืบหาวันวาน เพื่อรำลึกถึงตำนาน “โรงมหรสพหลวง” อันโก้หรูและคลาสสิกที่สุดของประเทศ
ยังสวยเด่นเป็นสง่าท้าทายสายตาผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ศาลาเฉลิมกรุงบนหัวถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร เต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า และร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ แม้จะล่วงเวลามาเนิ่นนาน ทว่าที่นี่กลับยิ่งขลังเข้ม เสน่ห์มิเคยจางหายไปจากหัวใจคนไทย
จุดที่เรายืน เมื่อใช้สายตาสำรวจโดยรอบ พร้อมกางภาพถ่ายขาวดำ เทียบกันแล้ว ก็ย่อมจะเห็นความใหม่ปรากฏอยู่ ไม่ว่าสีที่ทาทาบบนตัวอาคาร แสงไฟยามพลบค่ำ รวมถึงทัศนียภาพบริเวณใกล้เคียง แต่ที่ไม่เปลี่ยนและคงไว้ คือโครงสร้าง สะท้อนความเป็นไทยและตะวันตก ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกลมกล่อม
เสียงเพลงอ้อยอิ่งลอยมา ต้นสายอยู่ในศาลาเฉลิมกรุง จังหวะเยือกเย็นชื่นใจ เพลงลูกกรุงที่อาจไม่คุ้นหู แต่กลับชวนเคลิ้มฝันยิ่งนัก หากเป็นยุคเฟื่องฟูโก๋หลังวัง เพลงของนักร้องร็อก แอนด์ โรล คงแว่วดังจนอยากออกสเตปทวิสต์อย่างเมามันส์
ภาพถ่ายขาวดำดึงความสนใจให้ดำดิ่งไปสู่ภาพการก่อร่างสร้างตัวของที่นี่ ก่อนจะมาเป็นภาพปัจจุบันที่เราเห็นกัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพยนตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทฐานะความบันเทิง เป็นความสำราญที่ผู้คนเฝ้าถวิลหา จึงไม่แปลกหากจะมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นและกระจายอยู่ทั่วเขตพระนครและธนบุรี
แต่นั่นก็เป็นเพียงโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้มุงสังกะสี หาใช่โรงภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวิถีแห่งความศิวิไลซ์ โอ่อ่า และน่านั่ง เครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำฉ่ำเย็น เหมาะสำหรับการฉายภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “ฮอลลีวู้ด” ดั่งเช่นศาลาเฉลิมกรุงไม่
ปีแห่งมหามงคล เฉลิมฉลองพระนคร อายุครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 โรงภาพยนตร์สุดอลังการได้ปรากฏโฉมขึ้น (นับแต่เริ่มก่อสร้าง 1 ก.ค. 2473) โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้าง ภายใต้การควบคุมงานและออกแบบของ “ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร”
ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมเรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งความงามสไตล์สากลสมัย ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงตระหง่าน แสดงถึงความมั่นคงและผึ่งผาย เปิดเนื้อที่กว้างขวางภายใน ไร้ซึ่งเสาบังตา สามารถมองได้ทะลุทะลวง ผนัง ประตูบานพับ และองค์ประกอบอื่นๆ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ว่ากันว่า ยุคนั้นศาลาเฉลิมกรุงถูกยกให้เป็นอาคารทันสมัยที่สุดในเอเชีย ไม่เพียงแค่สวยงาม แต่ยังบ่งชี้ว่าชีวิตอันก้าวล้ำของคนไทยคู่ขนานไปกับกระแสโลก ยิ่งเฉพาะการเป็นโรงภาพยนตร์ที่ออกแบบตกแต่งภายในอย่างวิจิตร มีระบบไฟแสงสีตื่นตาตื่นใจ ระบบเสียงสมบูรณ์แบบ แถมด้วยระบบปิดเปิดม่านอัตโนมัติ
ใครมีโอกาสชมภาพยนตร์ ณ ศาลาเฉลิมกรุง บอกเลยว่าโก้และหรูมากๆ คนรุ่นหลังอาจนึกภาพไม่ออก หากคุณปู่คุณย่ายังมีชีวิต ลองถามไถ่จากปากท่าน ยุคนี้โรงภาพยนตร์ว่าหรูเวอร์แล้ว ก็เทียบไม่ได้กับบรรยากาศรอบฉายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ศาลาเฉลิมกรุงแน่แท้
สยามแควร์ที่ว่าเจ๋ง บันไดสยามแจ้งเกิดดารา โรงภาพยนตร์ระบบเสียงรอบทิศทาง มีที่นั่งแบบส่วนตัว ศาลาเฉลิมกรุงก็ไม่ต่างกัน ยุคนั้นหนุ่มสาวที่ชอบความเก๋ความเท่ ต้องแวะมาอัพเดตแฟชั่น ไม่มาถือว่าตกเทรนด์ โก๋หลังวังก็อยู่ที่นี่ และอีกมากมาย
ตามหลักฐานระบุไว้ ปฐมฤกษ์การฉายภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2476 ภาพยนตร์เรื่องแรกจัดฉาย คือ “มหาภัยใต้สมุทร” จากนั้นก็เปิดรอบฉายเรื่อยมา กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 24852488) ก็มีการปรับโปรแกรมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เริ่มมีการแสดงละครและดนตรีเข้ามาแทนที่การฉายภาพยนตร์ ก่อนจะยุติการฉายภาพยนตร์แล้วบรรจุการแสดงละครและดนตรีเป็นโปรแกรมหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ยกเว้นรอบฉายภาพยนตร์พิเศษ ก็อาจมีการจัดขึ้น แล้วแต่วาระ
ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน เมื่อไล่เรียงอายุขัย ศาลาเฉลิมกรุง 82 ปีแล้วจ้า การันตีความเก่าแก่และความขลัง พลังที่ซ่อนอยู่ในโรงมหรสพหลวงแห่งนี้ ตอกย้ำให้รู้ว่ากาลเวลาไม่เคยบดบังรัศมีที่นี่ได้เลย การปรับปรุงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รอบการแสดงมีให้ชมตลอดทั้งปี ละครเพลง คอนเสิร์ตเพลงอมตะ คอนเสิร์ตการกุศล ขาดไม่ได้คือ การแสดงโขน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แฟนๆ ต้องจับจองที่นั่งเพื่อสัมผัสกับศิลปะการแสดงชั้นสูง
เสน่ห์มิรู้คลาย ลมหายใจยังมีต่อ นี่แหละ ศาลาเฉลิมกรุง
(หมายเหตุ : เช็กรอบการแสดงได้ที่ www.salachalermkrung.com โทร. 02-225-8757-8)
แวะยลได้ใกล้ๆ ศาลาเฉลิมกรุง
01 สะพานพระพุทธยอดฟ้า
รู้จักกันดี ไนท์บาร์ซา หรือจะเป็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปยืนบนสะพาน แชะภาพเก็บไว้ บ้างก็เคยอยู่ในมิวสิกวิดีโอ รวมถึงฉากภาพยนตร์และละคร ต้องมีสะพานแห่งนี้เสมอ สร้างขึ้นไล่เลี่ยกับศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระกรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์ เชื่อมฝั่งพระนครกับธนบุรีให้เป็นหนึ่งเดียว เดินข้ามด้วยสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร เรือใหญ่ผ่านสะดวกโยธิน อดีตเปิดปิดได้ ปัจจุบันปิดตาย
02 ปากคลองตลาด
อดีตลาดปลา ก่อนจะผันตัวมาเป็นตลาดดอกไม้ใหญ่ที่สุด เยอะที่สุด อยากได้ดอกไม้ต้องไปที่นี่ แหล่งรวมดอกไม้ที่ไม่เคยหลับใหล เปิด 24 ชั่วโมง สีสันหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ไม่มาเยือนก็อาจถือว่ายังไม่ถึงเมืองฟ้าอมร ไปกลางวันได้คนละอารมณ์กับกลางคืน แสงไฟ แม่ค้า ร้านรวง เปิดเต็มสองฝั่งถนน ตามตรอกซอกซอยมีแต่ดอกไม้ ความสนุกของการไปเดินปากคลองตลาดคือจะเจอกับความสวยงามจากช่อดอกไม้ แม้จะคุ้นกันดี มะลิ ดาวเรือง กุหลาบ คาร์เนชั่น ทิวลิป ฯลฯ แต่พอได้สัมผัสใกล้ๆ จะรู้เลยว่ามันตระการตามากกก
03 ห้างไนติงเกล
คลังเครื่องกีฬา ราชาเครื่องดนตรี ราชินีเครื่องสำอาง สมญานามของห้างแห่งนี้ ชื่อเต็มยศว่า ไนติงเกล โอลิมปิก รวมไว้ซึ่งสินค้านำเข้าที่ไม่มีขายแล้วในยุคดิจิทัล แต่นั่นคือสิ่งที่ทันสมัยสุดๆ สมัยคุณตาคุณยาย อายุห้างก้าวมาถึงจุดเก่าแก่ เท่ากับศาลาเฉลิมกรุง มีมนต์ขลังน่าอัศจรรย์ใจ ไม่เคยไป อยากลองให้ไปสักครั้ง เพราะอะไรที่หาดูยากและเป็นที่แรก หาได้จากที่นี่ ตั้งแต่ ลู่วิ่งไฟฟ้าโบราณ หุ่นโชว์อายุ 60 ปี หมวกกะลาสี (ปาล์มมี่หยิบมาใส่ในมิวสิกวิดีโอ เพลง คิดมาก) กีตาร์พร้อมลายเซ็น The Beatles จนถึงน้ำหอมกลิ่นโปรด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์