500 ปี พัทธสีมานุสรณ์
อุโบสถเงิน เป็นดังคำที่ว่าไม่เห็นด้วยตาคงไม่เชื่อว่าจะมีอุโบสถทั้งหลังที่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทำมาจากเงินแท้ๆ
อุโบสถเงิน เป็นดังคำที่ว่าไม่เห็นด้วยตาคงไม่เชื่อว่าจะมีอุโบสถทั้งหลังที่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทำมาจากเงินแท้ๆ พร้อมพรั่งไปด้วยการแกะสลักที่ต้องบอกว่าวิจิตรมากๆ จนผมคิดว่าช่างที่ดำเนินงานก่อสร้างคงต้องได้รับการถ่ายทอดวิชาการก่อสร้างอาคารที่ใช้วัสดุจากเครื่องเงินมาเป็นระยะเวลายาวนาน ผมมีเวลาเดินชมที่นี่ด้วยช่วงระยะเวลาอันสั้นมาก เนื่องจากเกิดฝนตกหนักมาก การถ่ายภาพของผมจึงไม่สามารถเก็บภาพได้โดยรอบ ด้วยความเป็นห่วง ไม่ใช่ตัวเองนะครับ แต่ห่วงกล้องที่ไม่สามารถทนน้ำฝนที่ตกกระหน่ำขนาดนั้นได้ ผมจึงต้องใช้เทคนิคการถ่ายภาพในหมวด Auto ซึ่งผมไม่เคยได้ใช้มานาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งผมมาดูในภายหลังดูได้จากสีของศาลาที่เป็นสีเงินไม่ผิดเพี้ยนมากนัก ก็เลยอยากชวนช่างภาพทั้งมือใหม่และมือเก่าหันมาลองใช้เทคนิคนี้ในการถ่ายภาพดูบ้างก็ได้นะครับ แต่ให้หันไปใส่ใจในองค์ประกอบทางศิลปะกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งนะครับในการทำให้ภาพถ่ายสมบูรณ์ ลองดูนะครับ ผมไม่สามารถหาข้อมูลของวัดได้มากนัก นอกจากป้ายที่เขียนบรรยายประวัติศาสตร์ของวัดพอเป็นสังเขปดังนี้ครับ
วัดศรีสุพรรณ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานกว่า 500 ปี มีหลักศิลาจารึกที่บันทึกประวัติความเป็นมาของวัดไว้เป็นหลักฐานที่สำคัญ ซึ่งได้ระบุว่าวัดศรีสุพรรณอารามได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อปี 2052 ซึ่งได้ครบ 500 ปี ในปีนี้ที่ทางวัดได้ทำการเฉลิมฉลองในการครบรอบดังกล่าว
สีมา แปลว่า เขตแดน เขตบ้านเมืองเรียก ขอบขัณฑสีมา สำหรับสงฆ์การกำหนดเขตสีมาเพื่อเป็นที่ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมนั้นมีหลายลักษณะ เช่น กำหนดโดยเอาครอบคลุมทั้งหมู่บ้านเรียก คามสีมา รวมหลายๆ หมู่บ้านเป็นแคว้นหรือเขตเรียก นิคามสีมา หรือนครสีมา ซึ่งสีมาเหล่านี้จัดเป็น “อพัทธสีมา” คือ เป็นสีมาที่ไม่กำหนดเขตแน่นอน และเอาเขตของบ้านเมืองเป็นเกณฑ์ ไม่มีการกำหนดเขตโดยความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ สำหรับ “พัทธสีมา” แปลว่า แดนที่ผูก คือสงฆ์พร้อมเพรียงกันกำหนดแดนอย่างแน่นอนให้มีความกว้างและยาวตามแต่จะกำหนด และมีการหมายเขตแดนไว้เป็นสำคัญ เรียกว่า “นิมิต” ซึ่งในบาลีได้กำหนดให้ใช้สิ่งต่างๆ เช่น ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ ใช้เป็นนิมิตกำหนดเขตแดนได้ทั้งนั้น ในปัจจุบันใช้ศิลา (หิน) เป็นหลัก เพราะมั่นคงกว่าอย่างอื่น
ในสมัยโบราณการฝังนิมิต (ศิลา) ไม่ใช้หินกลม ใช้หินเป็นแท่ง มีทั้งทำเป็นสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม และแบบใบเสมา คือ เป็นแบบแผ่น ดังจะเห็นที่เป็นแปดเหลี่ยมที่อุโบสถวัดเจ็ดยอด วัดพระสิงห์ และที่เป็นแบบในเสมาที่วัดศรีสุพรรณ
ในกรณีที่วัดบางวัดมีหินเสาสีมาเป็นนิมิตมีแห่งละ 2 เสา หรือ 2 ใบนั้น เนื่องจากในเมืองใหญ่ๆ มีพระสงฆ์อยู่หลายนิกาย ในเมืองเชียงใหม่ที่โดดเด่นก็มี 2 นิกาย คือ นิกายลังกาวงศ์สวนดอก และนิกายลังกาวงศ์ป่าแดง ซึ่งต่างก็อ้างว่านิกายของตนปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย ต่างก็รังเกียจที่จะใช้สีมาอีกนิกายหนึ่งทำการผูกไว้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการผูกสีมาซ้ำ เมื่อฝ่ายใดผูกก็ฝังหินสีมาเป็นนิมิตไว้ นิกายใดไม่ชอบใจก็สวดถอนพื้นที่แล้วผูกใหม่ฝังหินสีมาลงไปอีก ทำให้แต่ละที่จึงมีเสาสีมาหรือใบสีมาซ้อนกัน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ในตำนานพุทธเจดีย์ที่ทรงนิพนธ์ เหตุนี้ที่วัดศรีสุพรรณก็มีลักษณะหินสีมาซ้อนกัน 2 ใบ ดังกล่าว
มีสีมาอีกชนิดหนึ่งเรียก อุทกุกเขปสีมา ซึ่งเป็นสีมาที่ทำบนน้ำโดยผูกแพ หรือทำโรงอุโบสถอยู่กลางน้ำให้ไกลจากฝั่ง โดยวักน้ำสาดไปไม่ถึงแพหรืออุโบสถนั้น น้ำที่ทรงอนุญาตให้ทำอุทกุกเขปสีมานั้นมี 3 อย่าง คือ แม่น้ำ ทะเล ชาตะสระ (หนองน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) แม่น้ำต้องเป็นแม่น้ำที่ไหลและไม่แห้งตลอดฤดูฝน 4 เดือน ทะเลต้องไกลจากฝั่งที่น้ำทะเลแห้งลงไปจนสุดในเวลาน้ำลง และสระที่เกิดขึ้นโดยไม่มีคนขุดแต่ง จะทำสังฆกรรมในน่านน้ำ 3 ชนิดนี้ต้องทำบนเรือหรือแพ อันผูกกับหลักในน้ำหรือทอดสมอก็ได้ ห้ามทำในเรือแพขณะกำลังวิ่ง แต่นิกายลังกาวงศ์นับถือว่าสีมาน้ำบริสุทธิ์กว่าพัทธสีมา แต่ยากในเวลาจะทำสังฆกรรม เพราะต้องทำการกำหนดเขตสีมาทุกครั้ง
สำหรับโรงอุโบสถนั้น สร้างขึ้นไว้ในเขตพัทธสีมาย่อมทำด้วยความประณีตงดงาม วิจิตรบรรจงตามความประสาทะศรัทธาในล้านนา ให้ความสำคัญต่อวิหารมากกว่าอุโบสถ จึงพากันสร้างวิหารใหญ่ แต่สร้างอุโบสถเล็ก และสร้างวิหารให้สวยงามประณีตวิจิตรศิลป์มากกว่าอุโบสถหลายเท่า เพราะประโยชน์จากการใช้ต่างกัน โดยอุโบสถมักใช้แต่พระสงฆ์ในการทำสังฆกรรม แต่วิหารใช้ร่วมกันทั้งพระสงฆ์และชาวบ้าน อุโบสถล้านนาจึงไม่ค่อยใหญ่โตโอ่อ่า พอจุพระสงฆ์ได้ถึง 23 รูปก็ใช้ได้แล้ว ที่ต้องกำหนดไว้ให้จุได้ 23 รูปนั้น โดยเหตุสังฆกรรมบางอย่างใช้พระสงฆ์ 23 รูป จึงจะครบองค์สงฆ์
คำว่า สีมา ที่แปลว่าเขตแดนนั้น ตามลักษณะภาษาบาลีจัดเป็นเพศหญิง เพราะเป็นอาการันต์ในอิตถีลึงค์ การที่สีมาเป็นเพศหญิงนี่เอง จึงทำให้การสร้างอุโบสถทำอย่างพิถีพิถัน ประณีตวิจิตรบรรจง งดงามราวกับปราสาทของทวยเทพในสรวงสวรรค์ เพราะเพศหญิงเป็นเพศที่รักสวยรักงาม ชอบประดับตกแต่งร่างกายให้น่าดูชมเหมือนกับอุโบสถ สีมาก็ต้องประดับตกแต่งสวยงาม สรรค์สร้างศิลป์สืบสานไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและดำรงไว้ซึ่งศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติ
มีคนกล่าวว่า ถ้าผู้หญิงจะงามต้องมีงอน คือ สะบัดสะบิ้งทำกิริยาท่าที ชะมดชะม้ายชายตาจึงจะงาม ความงอนของผู้หญิงท่านว่ามีเพียงแสนงอนเท่านั้น แต่ความงอนของสีมาอุโบสถมีมากกว่าแสนงอน โดยเฉพาะอุโบสถของวัดศรีสุพรรณมีเป็นล้านงอน จะเห็นได้จากการตกแต่งเป็นศิลปะที่มีความวิจิตรบรรจง เพริศพริ้ง เพริศแพร้ว เลื่อนไหลไหวพลิ้ว ราวกับจะปลิวไปตามลม ถ้าหากทำแบบแข็งทื่อๆ ก็จะดูไม่งาม ที่งดงามเพราะความงอนอ่อนไหวแห่งศิลปะบวกกับอารมณ์ศิลป์ของช่าง เพราะทุกฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจทุ่มเทพลังกาย พลังทรัพย์ พลังจิต พลังความคิดอันล้ำค่าให้เกิดเป็นพลังบุญ พลังบารมี ที่ก่อให้เกิดพุทธศิลป์อันสูงค่าหาประมาณมิได้ ที่จะสืบสานไว้เป็นมรดกแห่งแผ่นดินล้านนาตลอดไป
ขออำนวยพรต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมให้เกิดอุโบสถเงินจนได้เฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปี ของการผูกพัทธสีมาของวัดศรีสุพรรณในครั้งนี้ โดยพระครูอดุลสีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ เจ้าคณะตำบลหายยา
ถ้าหากท่านผู้อ่านท่านใดมีโอกาสขึ้นไป จ.เชียงใหม่ ลองแวะไปเที่ยวกันนะครับ