posttoday

‘กู่ฉิน’ ดนตรีของนักปราชญ์

02 สิงหาคม 2557

แรงบันดาลใจของ “ชัชชล ไทยเขียว” หนุ่มวัย 26 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีจีน โดยเฉพาะ “กู่ฉิน”

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

แรงบันดาลใจของ “ชัชชล ไทยเขียว” หนุ่มวัย 26 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีจีน โดยเฉพาะ “กู่ฉิน” พิณจีนโบราณที่มีอายุนานกว่า 4,000 ปี

“ชัชชล” เล่าถึง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจ “กู่ฉิน” และก้าวสู่การเป็นอาจารย์สอนกู่ฉิน พิณจีนโบราณอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ต้องย้อนหลังประมาณ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่ได้ดูหนังเรื่อง “ฮีโร่” จำได้ว่าในฉากนั้นมีศาลา มีฝนตก มีพระเอกออกมาต่อสู้กับผู้ร้าย และที่จำไม่ลืมคือเสียงดนตรีบรรเลงที่ออกมา ทำให้เริ่มที่จะหลงไหลและสงสัยว่าคือเสียงอะไร จนไปสืบค้นหาพบว่า นั้นคือเสียงของ “กู่ฉิน” และทำให้เขาตกหลุมรักและหลงไหลเสียงนั้นมาตลอด

ผมเริ่มที่จะไปเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับ “กู่ฉิน” ศึกษาด้วยตัวเอง แต่ในเมืองไทยไม่ค่อยมีข้อมูล อยากจะเรียน “กู่ฉิน” ก็ไม่มีอาจารย์สอน และไม่สามารถที่จะหาซื้อกู่ฉินได้ จึงขอให้คุณพ่อพาไปหาซื้อไม้อัด เพื่อมาทำ “กู่ฉิน” เอง ก็ทำตามแบบที่เปิดดูในเว็บไซต์ต่างๆ แต่เมื่อทำเสร็จแล้วก็เล่นไม่ได้ แต่ผมก็ชอบมาก

‘กู่ฉิน’ ดนตรีของนักปราชญ์

 

“กู่ฉิน” เครื่องแรกที่ได้ เพราะพ่อฝากเพื่อนที่ไปประเทศจีนให้ซื้อมาฝาก ผมก็มาเริ่มหัดเล่นเองโดยเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

“ผมเป็นคนที่ทุ่มเทและจริงจัง ต้องการที่เรียนรู้ กู่ฉินอย่างจริง และสนใจเรื่องดนตรีจีน จึงตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็ไม่มีครูที่จะสอนกู่ฉิน จนในที่สุดอาจารย์ก็แนะนำว่าถ้าต้องการศึกษา ‘กู่ฉิน’ อย่างจริงจังก็ต้องไปศึกษาที่จีน จึงตัดสินใจยื่นขอทุนรัฐบาลจีนศึกษาไปเรียนที่ประเทศจีน พร้อมๆ กับการเรียนเรื่องการทำครื่องดนตรีกู่ฉินด้วย”

“ชัชชล” เรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง โดยได้ศึกษาการเล่นกู่ฉินกับศาสตราจารย์หลี่ถิง ที่วิทยาลัยดนตรีกลางแห่งประเทศจีน และได้เรียนรู้การผลิต “กู่ฉิน” ด้วย

‘กู่ฉิน’ ดนตรีของนักปราชญ์

 

ย้อนไปในสมัยเป็นนักเรียนนั้น “ชัชชล” ยอมรับว่าเป็นคนไม่สนใจเรียนมากนัก แต่ด้วยอุปนิสัยเขามีความมุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองรัก คือการเรียนรู้วัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะเครื่องดนตรีจีน “กู่ฉิน” ทำให้เขาต้องดิ้นรนและเพียรพยายามที่จะศึกษาเรื่องที่สนใจให้ได้อย่างถ่องแท้

หลักการเล่น “กู่ฉิน” คนเล่นจะต้องมีสมาธิสูงมากและอารมณ์ของคนเล่นจะแสดงออกมาในทำนองและจังหวะการดีด ดังนั้นคนที่มีความลึกซึ้งกับเสียงดนตรีประเภทนี้ จึงสามารถอ่านหรือบอกถึงอารมณ์ของคนเล่นในขณะนั้นได้

เสียงเพลงอันอ่อนหวาน ทุ่มลึก และเก่าแก่ของ “กู่ฉิน” จะสะกดทั้งผู้เล่นและผู้ฟังอยู่ในภวังค์และทำให้จิตใจเป็นสมาธิได้

‘กู่ฉิน’ ดนตรีของนักปราชญ์

 

ทุกวันนี้มีผู้ที่เล่น “กู่ฉิน” น้อยมาก เนื่องจากสมัยก่อน “กู่ฉิน” ถูกจัดให้เป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น เช่น การบวงสรวงเทวดา

ในยุคต่อมา “กู่ฉิน” จะเป็นเครื่องดนตรีของ “นักปราชญ์” หรือชนชั้นสูงเท่านั้น ที่จะสามารถร่ำเรียนจนกระทั่งเข้าถึงความลึกซึ้งของกู่ฉินได้

ในสังคมจีนโบราณนั้น กู่ฉิน ถือว่าเป็น 1 ใน 4 ศิลปะชั้นสูงของจีนที่ประกอบไปด้วย พิณ หมาก อักษร ภาพ ซึ่งศิลปะทั้งสี่นี้ถือเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพื่อฝึกฝนทั้งในด้านสมาธิและการกล่อมเกลาจิตใจของนักปราชญ์ สังเกตได้จากปราชญ์รวมถึงนักการทหารต่างๆ มากมายนับแต่สมัยโบราณ ที่ล้วนแล้วแต่นิยมชมชอบเล่นกู่ฉิน ไม่ว่าจะเป็น ขงจื๊อ ขงเบ้ง จิวยี่ ฯลฯ

ปัจจุบัน “ชัชชล” เป็นอาจารย์สอนดนตรีจีน “กู่ฉิน” และนำเข้าเครื่องดนตรีจีน

อีกหนึ่งความใฝ่ฝันของ “ชัชชล” ต้องการที่จะแปลหนังสือเกี่ยวกับประวัติกู่ฉิน พร้อมทั้งการเป็นครูที่พร้อมถ่ายทอดการสอน “กู่ฉิน” ดนตรีชั้นสูง ด้วยการคัดเลือกลูกศิษย์ที่มีความตั้งใจที่จะเรียนอย่างจริงจัง ดังคำที่ว่า ดนตรีจีนเรียนตลอดชาติก็ไม่จบ เพราะต้องเรียนรู้และฝึกฝนทุกๆ วัน