ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสในเมืองไทย

10 สิงหาคม 2557

ฝรั่งเศสมีชื่อเสียงในเรื่องของน้ำหอม เช่นเดียวกับเมืองกราซและแคว้นโพรวองซ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลาเวนเดอร์

โดย...หม่อมหลวงจารุพันธ์ ทองแถม

ฝรั่งเศสมีชื่อเสียงในเรื่องของน้ำหอม เช่นเดียวกับเมืองกราซและแคว้นโพรวองซ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลาเวนเดอร์ที่สวยงามเป็นแหล่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ลาเวนเดอร์ซึ่งปลูกได้ดีทั้งในฝรั่งเศสและสเปนนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Lavandula stoechas ซึ่งเป็นไม้ดอกวงศ์ลามิเอซิอี้ (Lamiaceae) ซึ่งปลูกได้ในหลายประเทศถิ่นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ลาเวนเดอร์เข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สำหรับโครงการหลวงแล้ว การผลิตลาเวนเดอร์เป็นการค้าอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ปี 2553 นี้ โดยเป็นลาเวนเดอร์สโตคาส (Lavandula stoechas) เรียกกันทั่วไปว่าลาเวนเดอร์สแปนิชบ้าง ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสบ้าง ส่วนลาเวนเดอร์อังกฤษ (English Lavender) หรือ L.angustifolia นั้น ปลูกได้ผลไม่ดีนักคล้ายกับในฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งปลูกเป็นการค้าหรือทำอุตสาหกรรมกลั่นน้ำหอม ทำกันมาตั้งแต่ยุคมืดหรือสมัยกลางแล้ว โดยลาเวนเดอร์ (L.stoechas) เป็นทั้งพืชสมุนไพรที่สำคัญ และเป็นทั้งไม้ตัดดอก ไม้ประดับแปลงที่มีคุณค่ายิ่งแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และแม้ลาเวนเดอร์ชนิดนี้จะมีความสำคัญน้อยลงในแง่การผลิตน้ำมันหอมระเหยเป็นการค้า แต่มันกลับมีบทบาทในการทำบุหงาเครื่องหอม

ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสหรือสแปนิชลาเวนเดอร์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามพื้นที่เขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะของมันเป็นไม้พุ่มหลายฤดู สูงได้ตั้งแต่ 30 ซม. ถึง 1 ม. ใบยาว 1-4 ซม. มีขนสีเทาปกคลุมดอกสีม่วงอมชมพูสมชื่อสีลาเวนเดอร์ ดอกเหล่านี้เกิดบนก้านช่อแบบช่อเชิงลด (spikes) ยาว 2-3 ซม. ก้านช่อนี้เปล่าเปลือยไร้ใบ ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อย ซึ่งด้านล่างมีใบประดับ ยาว 4-8 มิลลิเมตรรองอยู่ ส่วนบนของช่อมีใบประดับที่เป็นหมัน (เกิดโดยไม่มีดอกแทรก) ขนาดยาว 10-50 มิลลิเมตร และออกสีม่วงน้ำเงินสด (หาสีขาวได้ยาก)

กลิ่นหอมแบบดอกลาเวนเดอร์ได้จากเฟนโชน (Fenchone) เป็นหลัก เฟนโชนเป็นชื่อสามัญใช้เรียกสารประกอบอินทรีย์ที่ถูกผลิตขึ้นตามธรรมชาติโดยต้นลาเวนเดอร์จัดเป็นสารประกอบในกลุ่มโมโนเทอร์ปีนและคีโตน นับเป็นของเหลว ใสไม่มีสี มีโครงสร้างและกลิ่นใกล้เคียงกับการบูร (camphor) ชื่อที่รู้จักกันดี ได้แก่ 1, 3, 3-Trimethy-2-norcamphanone ซึ่งมีสูตรโมเลกุลคือ C10H160

เฟนโชนยังเป็นองค์ประกอบของแอบแซงซ์ (absinthe) ซึ่งเป็นเหล้ากลั่นพิเศษ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์สูง 90-148 proof เมื่อดื่มจะให้รสชาติและกลิ่นหอมของเอนิส (anise) เป็นที่มาของการกลั่นเหล้าพิเศษแบบนี้ ในยุโรปจะดื่มนิดหน่อยหลังอาหารค่ำ แก้หนาวดีนัก ประเทศซึ่งมีชื่อเสียงมากในการกลั่นแอปแซงซ์ ได้แก่ ฝรั่งเศส สวิส และใช้ในการจัดดอกไม้ลาเวนเดอร์สโตคาสนี้มีความเด่นอยู่ที่ช่อดอกแน่นประกอบด้วยกาบประดับขนาดใหญ่ เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถาง และยกเข้าประดับในบ้านก็ได้ ส่วนลาเวนเดอร์อังกฤษ (L.angustifolia) ชอบอุณหภูมิต่ำ (ทนหนาวจัดได้ดี) และทนต่อดินกรดได้ดีกว่าลาเวนเดอร์อังกฤษ

การปลูกลาเวนเดอร์ที่ดอยอ่างขาง หลังจากการเพราะเมล็ดและได้ต้นกล้าปลูกในแปลงไปแล้วจึงศึกษาต้นที่ให้ดอกดกสม่ำเสมอ ระยะหนึ่งจึงขยายพันธุ์ต้นที่ให้ได้สายต้น (clone) ดีที่สุด จากนั้นจึงขยายพันธุ์ต้นดีซึ่งคัดไว้ ตัดกิ่งและปักชำ ขยายพันธุ์จำนวนมากเพื่อนำต้นกล้าจากถุงปักชำไปปลูกลงแปลงขนาด 1x6 ม. ก่อนเตรียมแปลงปลูกให้ใช้ไตรโคเดอร์มาประมาณ 1 กก./น้ำ 40 ล. ผสมและรดให้ทั่วแปลงจะช่วยลดความเสียหายจากโรครากเน่าโคนเน่าในแปลงได้มาก เวลาปลูกที่เหมาะสมคือ เดือน ส.ค.ก.ย. ระยะนี้จะเจริญเติบโตทางกิ่งก้านและแตกกอได้ดี ซึ่งระยะส่วนออกดอกเต็มที่อยู่ในช่วงฤดูหนาว คือ เดือน ม.ค.เม.ย.

ส่วนคัลติวร์หรือพันธุ์ปลูกการค้า ซึ่งปลูกได้ผลดีที่สุดจากการทดลองปลูก 6-7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เมเจอร์ (Major) บริเลด (Brelade) และเอวอนวิว (Avon View) นอกจากนี้ก็มีลาเวนเดอร์ชนิดอื่น เช่น Purple ribbon Snowman L.multifida (Fern Leaf Lavender) ซึ่งปลูกได้ผลดี สามารถให้ดอกและติดเมล็ดขยายพันธุ์ได้โดยเมล็ด ซึ่งทำให้เกิดพันธุ์ที่หลากหลายออกไปอีกมาก

การตัดแต่งลาเวนเดอร์มีหลายวิธี เช่น การเด็ดยอดของต้นอ่อนเพื่อกระตุ้นการแตกพุ่ม การเด็ดยอดทำให้เราไม่ต้องตัดแต่งกิ่งอย่างหนักในช่วงท้าย นอกจากนี้เรายังตัดแต่งกิ่งทั้งหมดออกให้เหลือแต่ลำต้นประธาน นี่เป็นการเปิดพุ่มให้โปร่ง แดดส่งถึง ระบายลมได้ดีขึ้น ทำให้ไม่เกิดโรคระบาด การตัดแต่งแบบทำสาว (Rejuvenating) เป็นการตัดแต่งทรงพุ่มโดยการตัดกิ่งแก่หรือการลดขนาดทรงพุ่มลง เพื่อรักษารูปทรงต้นเดิมและขนาดเอาไว้ โดยมิให้ขนาดต้นลดลงมากกว่าหนึ่งในสามส่วน

ปุ๋ยที่นิยมใช้ในแปลงปลูกลาเวนเดอร์ที่ดอยอ่างขางคือใช้สูตร 46-0-0 ในช่วงแรก สลับ 15-15-15 จากนั้นใช้สูตรสำเร็จโครงการหลวง ซึ่งเป็นสูตรปุ๋ยละลายน้ำ (fertigation) สำหรับการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดทำกับลาเวนเดอร์ซึ่งปลูกและติดเมล็ดได้ดี เช่น Lavandula multifida ซึ่งเรียกกันว่าลาเวนเดอร์ใบเฟิร์น (Fernleaf lavender)

ลาเวนเดอร์ (พันธุ์เมเจอร์) จากดอยอ่างขางผลผลิตดอกสดพร้อมก้าน 1 กก. จะมีจำนวนช่อดอกประมาณ 600 ช่อดอก ดอกลาเวนเดอร์สด 4 กก. หลังจากอบแห้ง จนหน้ำหนักคงที่แล้วจะเหลือน้ำหนัก 1 กก. เท่านั้น

ข้อมูลการปลูกลาเวนเดอร์บนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้จากการพบปะพูดคุยกับคุณบอย (ธนาวุฒิ ณะคำ) ผู้รับผิดชอบดูแลการปลูกลาเวนเดอร์ของสถานี ซึ่งนโยบายการปลูกลาเวนเดอร์นี้เป็นขององค์การอำนวยการโครงการหลวง ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งโปรดลาเวนเดอร์แบบอังกฤษ เพราะให้กลิ่นหอมนุ่มลึกและหวานกว่าลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสหรือสเปน

ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสในเมืองไทย

 

ศักยภาพกลิ่นหอมของลาเวนเดอร์

ผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอร์อบแห้งนี้จะถูกนำไปปรุงประกอบเป็นบุหงาชนิดต่างๆ กลิ่นหอมที่ออกมาจากดอกลาเวนเดอร์นี้เป็นสารประกอบเฟนโชน (fenchone) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดกลิ่นหอมของน้ำมันสนปนกับกลิ่นหอมสดชื่นของการบูร และกลิ่นหอมหวานของมะนาวเทศ กลิ่นเฟนโชนถูกใช้มากในอุตสาหกรรมสบู่ ราคาถูกเพื่อยกระดับคุณภาพของกลิ่น และถูกใช้ในการทำน้ำหอมสำหรับพ่นในบ้านเพื่อดับกลิ่นอับ และเพิ่มความหอมสดชื่น ลาเวนเดอร์สนเปนและฝรั่งเศส (Lavender stoechas) ให้ผลผลิตน้ำมันหอมต่อหน่วยพื้นที่ปลูกมากกว่าลาเวนเดอร์อังกฤษ (Lavender angustifolia) น้ำลาเวนเดอร์นี้สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น เมื่อซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ให้เติมน้ำลาเวนเดอร์ลงไป หลังจากล้างสบู่หรือผงซักฟอกแล้ว หรือจะฉีดพรมไปภายหลัง เมื่อตากหรืออบผ้าแห้งแล้วก็ได้ ผ้าจะให้กลิ่นหอม ลาเวนเดอร์อ่อนๆ ซึ่งช่วยให้นอนหลับได้สนิท เพราะลาเวนเดอร์มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของอารมณ์ นอกจากนี้เมื่อถึงขั้นตอนการรีดผ้าจะฉีดพ่นน้ำลาเวนเดอร์ให้เสื้อผ้า น้ำลาเวนเดอร์นี้อาจใช้เป็นเครื่องหอมฉีดใส่มือ ข้อพับ หรือปะพรมศีรษะ ใส่ในอ่างอาบน้ำหรือแตะที่ขมับลดอาการปวดศีรษะ น้ำลาเวนเดอร์นี้ช่วยขับไล่แมลงต่างๆ ทั้งยุง แมลงสาบ แมลงวัน และลดอาการผื่นคันจากยุง

ศักยภาพด้านอาหาร

แม้คนไทยจะไม่คุ้นนักในการนำเอามบและดอกลาเวนเดอร์มาปรุงประกอบอาหาร แต่กลิ่นหอมของลาเวนเดอร์ฝรั่งเศสจะออกไปในทางสมุนไพรมากกว่าอิงลิชลาเวนเดอร์ ใบที่ผ่านความร้อนไม่ว่าจะด้วยการอบหรือย่าง จะให้รสชาติของสมุนไพรอ่อนๆ และใช้ได้ดีมากกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุที่ใบลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส จึงไม่นิยมใช้กันในงานประกอบอาหารประเภทของหวาน ไอศกรีมหรือซอร์เบท ผิดกับใบและดอกลาเวนเดอร์อังกฤษ (L.angustifolia) ซึ่งออกกลิ่นหอมหวานกว่า และใช้กันในงานปรุงแต่งกลิ่นและรสของไอศกรีมซอร์เบท อุตสาหกรรมลูกกวาด ทอฟฟี่ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งขนาดปังอบหรือปิ้งย่าง ยิ่งกว่านั้นดอกลาเวนเดอร์สดอาจถูกนำมาอบแห้ง เคลือบไอซิ่งซูการ์ใช้วางประกอบก้อนไอศกรีมและใส่ในแยมผลไม้และปรุงแต่งกลิ่นน้ำส้มสายชู

ศักยภาพด้านประดับภายในเคหสถาน

ลาเวนเดอร์ถูกใช้ประโยชน์ในแง่ของไม้ตัดดอกแห้ง สำหรับเข้าช่อบูเกต์ดอกไม้แห้ง แต่ประโยชน์หลักจะอยู่ที่การนำเอาช่อดอกทั้งก้านและช่อดอกไร้ก้านไปเข้าในอุตสาหกรรมบุหงา ซึ่งในโครงการผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้ง โครงการหลวงใช้เป็นหลัก ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยจากอังกฤษ นอกจากนี้ดอกและใบลาเวนเดอร์บางส่วนจะถูกนำไปหมักเพื่อใช้ทำน้ำลาเวนเดอร์ (Lavender Water) และผลิตภัณฑ์น้ำลาเวนเดอร์ เพื่อเพิ่มความหอมและสดชื่นภายในห้องน้ำหรือห้องนอน ห้องนั่งเล่นภายในบ้าน น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์อาจใช้ขับไล่แมลง เช่น มด ตัวสามง่าม แมลงสาบ แมลงวัน ฯลฯ

ศักยภาพด้านสมุนไพรของลาเวนเดอร์ (น้ำมันจากดอกใบ)

ใช้เป็นยาแก้อาการอาหารไม่ย่อย ลดความเครียดทางอารมณ์ บรรเทาอาการกังวลใจ ลดความเหน็ดเหนื่อย แก้อาการหงุดหงิด ลดความปวดศีรษะอันเนื่องมากจากความตึงเครียดทางจิตใจ บรรเทาอาการไมเกรน และแก้อาการหลอดลมอักเสบ น้ำมันจากลาเวนเดอร์ใช้ทาภายนอก แก้อาการพอง ผิวไหม้ เพราะแดดเผา ปวด บวมตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ผิวหนังเป็นผื่นคัน ลดอาการคัดจมูกเพราะหวัด ใช้ร่วมกับใบโรสแมรี่ เพื่อลดอาการหงุดหงิด ตึงเครียด หากเติมในน้ำอุ่นอาบแล้วช่วยลดความตึงเครียดของประสาท

ในด้านสุคนธ์บำบัด (aromatherapy) ด้วยดอกลาเวนเดอร์ เนื่องมากจากการชะลอกิจกรรมของระบบประสาท ซึ่งช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน ลดความตึงเครียดในอารมณ์ จากสภาพการนอนไม่หลับ

Thailand Web Stat