สามานย์ สามัญ...อุทิศ เหมะมูล
ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับ “อุทิศ เหมะมูล” นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2552 จากผลงานเรื่อง “ลับแล, แก่งคอย”
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับ “อุทิศ เหมะมูล” นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2552 จากผลงานเรื่อง “ลับแล, แก่งคอย” ในครั้งที่เขามีโอกาสได้เป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2555 จากผลงานเรื่อง “ลักษณ์อาลัย” แต่ก็พลาดหวังไป มาในปีนี้ผลงานรวมเรื่องสั้นของเขา “สามานย์ สามัญ” ก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2557 ซึ่งจะได้รางวัลนี้ไปอีกครั้งหรือไม่ หรือพลาดหวังรางวัลนี้ไปอีกครั้งอย่างน่าเสียดาย อาจไม่สำคัญเท่าการได้พูดคุยถึงแก่นสารสาระสำคัญของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ที่ว่ากันว่ามีส่วนโยงใยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองไม่มากก็น้อย
“สำหรับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ผมเขียนขึ้นในระยะเวลาตอนตั้งต้นเรื่องจนถึงเรื่องสุดท้าย ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 จนถึงก่อนรัฐประหารปี 2557 โดยไม่ได้ตั้งใจ นี่พูดถึงในตอนจบนะครับ ผมเขียนเรื่องสุดท้ายของเล่ม กรุงเทพฯ กรงเทพฯ (2) ในช่วงนกหวีดระงมเมือง ในแง่นี้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันเป็นตัวปิดสำเร็จเสร็จสรรพให้กับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เพราะสามานย์ สามัญ พูดถึงสภาพชีวิตอันหลากหลายของผู้คนในเมืองหลวง ผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเป็นพื้นหลังของเรื่องเล่าชุดนี้”
อุทิศ บอกเล่าให้ผมฟังว่า ที่ตั้งชื่อรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ว่า สามานย์ สามัญ เป็นเพราะความหมายและความเป็นไปได้ทางการเมืองมันค่อยๆ แผ่ลามเข้าไปในทุกที่ทุกหย่อมย่าน และทุกๆ ชีวิต
“รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ของหลากผู้คนที่ดูผาดเผินคล้ายว่าเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องสามานย์ที่ถูกทำให้เข้าใจ และกระบวนการทางสังคมทำให้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มันคือการตั้งคำถามกับสภาวการณ์ยุคปัจจุบันของชีวิตผู้คนครับ”
ในฐานะผู้อ่าน ผมสนใจการตั้งคำถามกับสภาวการณ์ยุคปัจจุบันของชีวิตผู้คนที่อุทิศต้องการนำเสนอ ผมจึงตั้งคำถามเขาไปว่า ในฐานะผู้เขียน เขาอยากให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสภาวการณ์ยุคปัจจุบันในแง่มุมใดบ้าง แล้วเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จะดำรงตนอยู่กับสภาวการณ์ยุคปัจจุบันในแง่มุมนั้นๆ ให้ได้อย่างไรอย่างมีความสุข
“สภาวการณ์ยุคปัจจุบันมันย้อนกินหางตัวเอง วนตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงคือต้องเปลี่ยนไป แต่นี่สังคมเปลี่ยนไปสู่ที่เดิมที่เคยเป็นมาในอดีต นี่คือข้อสังเกตของผม เราอยู่ในความคุ้นชิน เคยชิน และต้องการสิ่งนั้น แต่ความคุ้นชิน เคยชินที่เราได้รับในยุคปัจจุบันมันไม่ใช่สิ่งเดิม ผู้คนจะต้องตระหนักถึงสิ่งนี้ และครุ่นคิดใคร่ครวญกับสิ่งต่างๆ ให้มากกว่าที่เคย และนี่คือยุคสมัยแห่งการวัดศักยภาพของมนุษย์ทางความเข้าใจและการดำเนินชีวิต”
เมื่อพูดถึงรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ที่ได้มีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์อีกครั้ง อุทิศเผยกับผมอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่ได้คาดหวังอะไรเลย
“ผมส่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เข้าร่วมประกวด เพราะถือว่าเป็นเวทีพบปะกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวรรณกรรม เราคุยกันด้วยผลงาน และซีไรต์ก็เป็นอีกหนึ่งเวลาที่ทำให้เรามาพบปะสังสรรค์กัน อีกส่วนก็คือข่าวคราวของการประกวดรางวัลซีไรต์ก็น่าจะช่วยทำให้รวมเรื่องสั้น สามานย์ สามัญ ของผมเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น อาจได้เห็นผ่านตาจากคนอ่านที่ยังไม่เคยรู้จัก อาจทำให้หนังสือเล่มนี้ได้พบกับนักอ่านคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เท่านี้ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายแล้วครับ”
ท้ายสุด ผมตั้งคำถามถามอุทิศไปว่า ทำไมเราทุกคนสมควรจะต้องอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ และรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มันดีอย่างไร เขาตอบผมแบบสั้นๆ ง่ายๆ และแอบติดตลกว่า อ่านเถอะ มันสนุกสนาน ขำขัน โศกสะเทือน ครบรสอย่างกะต้มยำกุ้งน้ำข้น ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นผู้อ่านซึ่งอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จนจบเล่ม ก็รู้สึกครบรสอย่างกะต้มยำกุ้งน้ำข้นอย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ
และคุณก็ไม่สมควรพลาดที่จะได้ซดต้มยำกุ้งน้ำข้นถ้วยนี้ไปอย่างน่าเสียดาย...ผมพูดเลย
จากส่วนหนึ่งของคำนำสำนักพิมพ์
“เรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีและความเป็นไปของผู้คนในสังคมเมืองหลวง ผ่านการย้ำชื่อเรื่องสองครั้ง แต่ต่างเสียงและต่างความ โดยให้ความหมายเชิงเหรียญสองด้าน เช่น กรุงเทพฯ กรงเทพฯ และบูรณาการ บูรณากล เป็นต้น”