เอกชัย วรรณแก้ว ผู้ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา
ไม่รู้อะไรดลใจให้ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “ใจเปลี่ยนโลก” มาอ่าน พออ่านไปได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
ไม่รู้อะไรดลใจให้ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “ใจเปลี่ยนโลก” มาอ่าน พออ่านไปได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม ผมถึงกับบอกตัวเองว่า ผมจะต้องได้สัมภาษณ์ผู้เขียน “เอกชัย วรรณแก้ว” ชายหนุ่มผู้พิการทางกาย แต่ไม่พิการทางใจ อีกทั้งยังไม่เคยยอมจำนนต่อโชคชะตาให้ได้ เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาตลอดทั้งชีวิต รวมทั้งวิธีคิดของเขา จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราๆ ท่านๆ ได้อย่างดีเยี่ยม
และชายหนุ่มคนนี้ ก็ได้มานั่งพูดคุยกับผมในวันนี้
“ผมเป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัวชาวนาใน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ผมเกิดก่อนกำหนด ตอนเกิดมาทุกคนในครอบครัวตกใจที่ผมเกิดมาไม่มีแขน มีแต่หัวไหล่โผล่มานิดหน่อย ขาก็มีนิดเดียว เป็นติ่งออกมา หมอบอกว่าให้เตรียมใจไว้นะ ไม่น่าจะรอด เพราะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย เป็นโรคหายใจไม่สะดวกอีกด้วย อาจอยู่ได้ไม่ถึงเดือนหรือสองเดือน พ่อแม่และญาติพี่น้องต่างพยายามเลี้ยงดูผมให้เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรง”
เอกชัย บอกเล่าว่า เขาอาจเกิดมาอาภัพด้านร่างกาย แต่เขาก็เป็นเด็กที่มีความเป็นนักสู้ค่อนข้างสูง “ตอนอายุ 3 ขวบ ผมเริ่มใช้หัวดันฝาผนัง ใช้ตัวดันให้นั่งตรง ใช้ก้นดันตัวเองไปทีละก้าว จนมาถึงจุดที่เริ่มอยากวิ่งอยากเดินให้ได้เหมือนเพื่อน ไม่อยากให้พี่หรือแม่จับเราขี่คอไปไหนต่อไหน เพื่อนมีขา เราก็มี ทำไมเราจะวิ่งจะเดินไม่ได้ พอคิดอย่างนี้ผมก็เริ่มวิ่งเลย เหมือนเราบันทึกในหัวสมองจากภาพที่เห็นว่ามีขาก็ต้องวิ่งต้องเดิน แต่พอเริ่มวิ่งก็ล้ม จังหวะที่เราล้ม หน้าฟาดพื้น ปากแตก แต่ด้วยความที่เราอยากวิ่งอยากเดินได้เหมือนเพื่อน เราเลยไม่กลัว วิ่งแล้วล้ม วิ่งแล้วคิ้วแตก ปากแตกอยู่อย่างนั้น จนพ่อกับแม่นึกสงสาร บอกว่าไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้ อยากไปไหน เดี๋ยวพ่อแม่ให้ขี่คอไป แต่เชื่อไหมการที่เราได้วิ่งบ่อยๆ มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าวิ่งยังไงถึงจะไม่ล้ม เดินยังไงถึงจะเดินได้เหมือนคนอื่นเขา ในที่สุดผมก็สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้”
พอโตขึ้น เอกชัยเริ่มอยากไปโรงเรียน อยากอ่านออกเขียนได้เหมือนคนอื่นเขา โดยเฉพาะอยากอ่านหนังสือการ์ตูนเล่นละ 5 บาท ของพี่ชายให้ได้ โดยไม่ต้องหัวเราะแบบจินตนาการเอาเอง
“ในวันที่ผมเดินไปบอกพ่อว่าอยากไปเรียนหนังสือ พ่อบอกว่าได้ แต่ลูกต้องเอาชนะให้ได้ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเอาชนะสายตาคนที่มองมา ห้ามเขินอาย 2.ต้องเอาชนะคำถามเกี่ยวกับร่างกายเรา แม้มันจะเป็นคำถามที่เราไม่อยากตอบ 3.เราต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ทุกอย่าง ด้วยความเป็นเด็กอยากเรียนเลยรีบรับปากพ่อ พอพ่อพาผมไปสมัครเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่รับ 6 ปีผ่านไป ผมเห็นโฆษณาในโทรทัศน์ เขาบอกไว้ว่าเด็กไทยทุกคนอยากเรียนต้องได้เรียน ผมเลยบอกพ่อว่าผมอยากเรียน ทำไมผมถึงไม่ได้เรียน พ่อเลยไปปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน ท่านก็เลยแนะนำให้ไปดำเนินเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการประจำจังหวัด จนในที่สุดผมก็ได้เรียนในโรงเรียนที่ปฏิเสธผม”
เมื่อเอกชัยได้เข้าไปเรียน เขากลายเป็นเด็กนักเรียนที่เรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กปกติ คนอื่นเลิกเรียน 3 โมงครึ่ง แต่เขากลับเลิกเรียนถึง 6 โมงเย็น “ครูสอนอะไร ผมเอาหมด ผมอยากเอาชนะ อยากให้ทุกคนรู้ว่าผมทำได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งอาจารย์ประจำห้องไม่อยู่ ท่านก็ให้ผมสอนเพื่อนๆ แทน ผมตัวเล็กก็ขึ้นไปยืนสอนอยู่บนโต๊ะ แล้วผู้อำนวยการท่านก็เดินผ่านมาเห็น ท่านเลยถามผมว่า เจ้าตัวเล็กขึ้นไปสอนเพื่อน แล้วเพื่อนรู้เรื่องเหรอ เพื่อนก็ตอบว่า รู้เรื่องครับ แล้วท่านก็ขอทดสอบ โดยการเอาข้อสอบของชั้น ป.2 มาให้ผมทำ 100 ข้อ ผมทำได้ 80 กว่า ผมเลยพาสชั้น ทีนี้ผมเลยได้พาสชั้นไปเรื่อยๆ สรุปว่าเรียน 3 ปี ผมก็เรียนจนจบ ป.6”
จากระดับชั้นประถมศึกษา ก้าวสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนใกล้บ้าน เขาเลือกเรียนสายอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้เห็นพี่ข้างบ้านประสบอุบัติเหตุขาขาด แต่ยังรับงานซ่อมวิทยุหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
“ผมคิดว่าเรียนเอาวิชาชีพน่าจะดี อยู่บ้านคนก็วิ่งเอาของมาให้เราซ่อมเอง ผมเลยเลือกเรียนวิชานี้ตั้งแต่ ม.1 จนถึง ม.3 ผมใช้เท้าทำทุกอย่าง จนทำได้ ก็ได้ความรู้ด้านนี้กลับมา เวลาอยู่บ้านก็มีคนเอาของมาให้ซ่อม ก็ซ่อมไป จนใกล้จะขึ้น ม.4 ก็มีโรงเรียนทุกโรงเรียนในนครสวรรค์มาแนะแนวที่โรงเรียน แล้วผมเห็นครูท่านหนึ่งโชว์ผลงานศิลปะซึ่งสวยมาก ผมสัมผัสได้ถึงเทคนิคการใช้สีสันที่สวยแปลกตา ผมเลยรู้สึกทึ่ง และอยากทำแบบนี้ได้บ้าง อีกทั้งผมรู้สึกว่าสายอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เราแน่นอน สายศิลปะนี่แหละใช่เลย ผมเลยบอกพ่อว่าอยากเรียนศิลปะ พ่อก็ตามใจลูก แต่แม่ไม่อยากให้ไปเรียนในตัวเมือง พ่อเลยบอกให้ลองเรียนดู ถ้าเรียนไม่ไหว มันก็กลับบ้านมาเอง พอได้ไปเรียนที่อาชีวะที่ตัวเมือง ต้องขึ้นรถเมล์ไปเรียน ช่วงแรกๆ รถเมล์ไม่จอดรับ แม่ต้องคอยมาช่วยโบก เราก็ได้แต่บอกพี่คนขับรถว่าจอดรับนานหน่อยนะ ผมขึ้นรถเมล์ได้ไม่เหมือนคนปกติ แต่พอขึ้นรถเมล์บ่อยๆ หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร”
เอกชัยเรียนอาชีวะจนจบชั้น ปวส. เขาคิดว่านี่คงเพียงพอสำหรับเขาแล้ว ขืนเรียนต่อคงใช้เงินมากขึ้น เขาไม่อยากเป็นภาระให้กับพ่อแม่อีกต่อไป แต่เหมือนคนมันจะได้เรียน ก็ต้องได้เรียน เอกชัยเผยว่า อาจารย์ประจำห้องถามว่าเขาอยากได้วุฒิการศึกษาหรืออยากได้ฝีมือ เขาเลยบอกอาจารย์ท่านนี้ไปว่าเขาอยากได้ฝีมือ อาจารย์ท่านนี้เลยแนะนำให้เขาไปเรียนต่อที่เพาะช่าง ตอนนั้นเขาไม่รู้จักสถาบันนี้เลย ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
“ท่านบอกผมว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมก็ตกใจ กรุงเทพฯ มันไกลจากบ้านผมมาก แถมไม่มีญาติ ไม่มีเงินเรียนอีกด้วย อาจารย์เลยขอไปพูดกับพ่อแม่ พอไปพูด พ่อถามผมว่าอยากไปเรียนจริงมั้ย ผมอยากไปไว้ก่อน เกือบ 2 เดือนกว่าพ่อแม่จะตัดสินใจ ซึ่งฉิวเฉียดกับเวลาปิดรับสมัครมาก จนแม่ให้ไป พ่อกับพี่ชายเลยบอกว่าถ้าไม่ไหวก็ให้กลับมา”
หลังจากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปสอบ ปรากฏว่าเขาสอบภาคปฏิบัติผ่าน แต่ภาคทฤษฎีตก แต่อาจารย์ที่คุมสอบได้เล็งเห็นถึงความสามารถในภาคปฏิบัติของเขา อาจารย์ท่านนี้เลยช่วยดำเนินเรื่องจนเขาได้เรียนที่เพาะช่าง
“ตอนมาเรียนที่นี่ใหม่ๆ ทั้งเหนื่อย ทั้งท้อ ไม่มีสตางค์เรียน ต้องทำงาน ต้องอยู่ในที่ที่ไม่น่าอยู่ นั่นคือการอยู่กับรุ่นพี่ที่สามแยกบ้านแขก เทียวไปเทียวมา รถเมล์ไม่รับบ้าง เหมาสามล้อมาเรียนบ้าง จนอาจารย์ถามว่าเกิดอะไรขึ้น พอบอกท่านไป ท่านก็ขอทางมหาวิทยาลัยให้เรามาอยู่อาศัยที่นี่เป็นกรณีพิเศษ ก็ได้มาอยู่บริเวณทางเท้าของห้องห้องหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับห้องเรียนประติมากรรม ได้กลิ่นเรซิ่น กลิ่นใยแก้ว อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องนอนอยู่ตรงนั้น ต้องทนไปเรื่อยๆ เวลาตื่นขึ้นมาก็เครียด เพราะไม่รู้จะอยู่จะกินยังไง ก็ไปวาดรูปที่สะพานพุทธ ได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง กลับมาถึงห้องตี 1 ตี 5 ครึ่งก็ต้องตื่น เพื่อไปอาบน้ำที่ห้องน้ำหญิง เพราะที่นั่นมีก๊อกน้ำ และต้องรีบอาบก่อนนักเรียนหญิงจะมาเรียน ตอนอยู่ปี 2 เริ่มถอดใจไม่อยากเรียนแล้ว เลยตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเพื่อกลับบ้าน ตอนโบกรถแท็กซี่ จู่ๆ คำพูดของคนข้างบ้านที่พูดว่าส่งลูกเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่จบ มาสะกิดใจผม จนทำให้ผมคิดได้ว่าอีก 2 ปี ก็จบ เลยตัดสินใจฮึดสู้ต่อ”
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนในเพาะช่างเขียนจดหมายไปที่รายการคนค้นคน จนเขาได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยได้เห็นสภาพที่เขานอนจึงให้เขาเขียนคำร้องย้ายที่พัก จนได้มาอยู่ที่บ้านพักของนักการภารโรงที่เกษียณไปแล้ว
“อีกทั้งผมได้รับทุนการศึกษา ทีนี้เลยเรียนได้อย่างสบายใจ มีที่พักที่ดีขึ้น มีเงินเรียนจนจบ ก่อนจะจบก็มีงานมาให้เขียนให้วาดเรื่อยๆ จนเรียนจบรับปริญญา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงตรัสถามผมว่าจบแล้วอยากทำอะไร อยากเรียนต่อไหม ผมเลยบอกท่านไปว่าจบแล้วขอทำงานก่อน ยังไม่อยากเรียนต่อ เพราะยังไม่มีประสบการณ์พอ ท่านเลยให้ทางพระราชสำนักและกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุผมเป็นครูที่อาชีวะธนบุรี สอนวิชาศิลปะ ตอนเป็นครูผมก็ช่วยสอนช่วยติว ช่วยพาเด็กไปประกวดจนได้รางวัลกลับมา สอนได้ 2 ปี ก็ตัดสินใจลาออก เพราะทางพระราชสำนักจะให้ทุนผมเรียนต่อปริญญาโท แล้วมีงานวิทยากรพูดให้กำลังใจตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยรู้สึกว่ามีเวลาให้กับเด็กนักเรียนไม่มากพอ ไม่อยากกินเงินเดือนโดยทำไม่เต็มที่ เลยลาออก”
หลังจากลาออกจากการเป็นครู เขาก็มีงานเขียนงานวาด งานพูด มาจนถึงทุกวันนี้ “ผมได้ไปพูดในที่ต่างๆ ได้พบเจอคนในรูปแบบต่างๆ คิดว่าการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ คือ การได้ให้ชีวิตใหม่แก่คนมากมาย อย่างคนคิดฆ่าตัวตาย หรือนักโทษประหารชีวิต อีกทั้งยังได้ไปพูดกับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ผมรู้สึกว่าเด็กยุคนี้งานเยอะงานยากหน่อยก็บ่นแล้ว แต่พอได้ไปพูด อาจารย์ก็มาบอกผมว่าเด็กกระเตื้องขึ้นเยอะ ผมว่าการเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน เด็กสมัยก่อนกว่าจะได้อะไรมานั้นยากมาก แต่เด็กสมัยนี้ได้อะไรมาง่ายขึ้น ผมมักบอกผู้ปกครองว่าคุณเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กพิการ เลี้ยงจนเขาทำอะไรไม่เป็น ทำให้เขาหมดทุกอย่าง พอเขาผิดหวังนิดหน่อย เขาจะท้อแท้ง่าย ภูมิต้านทานต่ำ”
สำหรับคนที่เหนื่อยล้าท้อแท้ในการใช้ชีวิต เอกชัยมักให้คำแนะนำว่า คุณเกิดมาครบ 32 ผมเกิดมาแบบติดลบ ผมยังทำให้ชีวิตผมเกิดสิ่งงอกเงยขึ้นมา ทุกอย่างอยู่ที่ตัวคุณว่าจะทำยังไงให้การเกิดมาครบถ้วน มันงอกเงยเป็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมาได้
“ถ้าเรามองทุกสิ่งเป็นเรื่องง่าย มันก็จะง่าย ถ้ามองให้เป็นเรื่องยาก มันก็จะยาก คนเราชอบบอกตัวเองตลอดว่าทำไม่ได้ มันยากจัง แต่คุณทำมันเต็มที่แล้วหรือยัง คุณลองมองคนอื่นที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จ เขาต่างจากเราตรงที่หัวใจ ใจที่พร้อมจะเปลี่ยนโลก ตอนนี้ผมกำลังเก็บเงินซื้อบ้าน แล้วให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านศิลปะ เพื่อสอนงานศิลปะให้กับคนที่สนใจเรียน นี่คือเป้าหมายของผม นอกจากนี้ผมยังได้ช่วยเหลือพ่อแม่ด้วยการปลดหนี้ให้ท่าน ด้วยเงินเก็บที่ได้จากการทำงานต่างๆ และได้ปลูกบ้านให้พ่อแม่ บ้านผมที่นครสวรรค์น้ำท่วมบ่อย ท่วมทีเป็นเดือนๆ เลยปลูกบ้านยกสูงให้พ่อแม่ และเตรียมเงินค่าหยูกค่ายาให้พ่อแม่เพราะค่อนข้างป่วยบ่อย”
สำหรับผู้ชายคนนี้ เขาเชื่อว่ากำลังใจที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ได้มาจากคนอื่น ไม่ใช่ได้มาจากใคร แต่กำลังใจที่ดีที่สุด คือ การได้มาจากตัวเราเอง“ถ้าเรายังดูถูกตัวเอง ก็ไม่ต้องออกไปไหนทำอะไร เราแพ้ตั้งแต่ก้าวแรกแล้ว ให้เราคิดในใจว่าเราทำได้ไว้ก่อน ได้หรือไม่ได้ค่อยอีกเรื่องหนึ่งครับ”