posttoday

ค่าเสียหายของการมี ‘Bad Boss’

25 สิงหาคม 2557

ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษผสมภาษาไทยในการตั้งชื่อหัวเรื่องคอลัมน์ในสัปดาห์นี้หน่อยนะคะ เพราะคำว่า “Bad boss” นี้เป็นคำสั้นๆ

โดย...รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ภาพ รอยเตอร์ส  

ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษผสมภาษาไทยในการตั้งชื่อหัวเรื่องคอลัมน์ในสัปดาห์นี้หน่อยนะคะ เพราะคำว่า “Bad boss” นี้เป็นคำสั้นๆ ที่พูดแล้วได้ใจได้ความหมายในทันที ความจริงนึกอยากแปลเป็นภาษาไทยเหมือนกันค่ะ แต่ภาษาไทยบางคำมันอาจฟังดูแรงไป เช่น “นายเลว” และครั้นจะใช้คำสุภาพหน่อย มันก็อ่อนไปนิด เช่น “นายไม่ดี” เลยขออนุญาตใช้คำว่า Bad boss นะคะ

เรื่องของการมี Bad boss ในสหรัฐเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากพอสมควรว่าผลของการมีหัวหน้างานหรือผู้บริหารที่ไม่มีคุณภาพ ที่นิสัยไม่ดีนั้นมีผลกระทบต่อองค์กรในแง่ของตัวเงินอย่างไร บริษัท Gallup ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทให้คำปรึกษาด้านการบริหารและเป็นสถาบันสำรวจตัวเลขสถิติต่างๆ ด้านการบริหารชื่อดังของโลกได้เปิดเผยว่าองค์กรบริษัทในสหรัฐอเมริกานั้นมีจำนวนถึง 82% เลยทีเดียวที่ไม่สามารถสรรหาคัดเลือกคนมาสวมตำแหน่งบริหารจัดการซึ่งก็คือตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหรือ Boss ได้อย่างเหมาะสม ส่วนทาง Career Builder ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ทำการสำรวจเรื่องคุณภาพของผู้จัดการก็มีตัวเลขที่น่าสนใจมานำเสนอเช่นกัน จากการสำรวจความเห็นของทางฝั่งผู้จัดการทั้งหลายพบว่ามากกว่า 25% ของบรรดาผู้ทำหน้าที่ “นาย” ยอมรับว่าตัวพวกเขาเองก็รู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะรับตำแหน่งเป็นนายตอนที่ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าคนอื่นๆ เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีอีกประมาณ 58% ที่เปิดเผยว่าบริษัทที่เขาทำงานด้วยไม่ได้ให้การอบรมใดๆ ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้จัดการเลย นี่คือตัวเลขด้านความพร้อมและคุณสมบัติของการเป็น Boss จาก Gallup และ Career Builder นะคะ

คราวนี้เรามามองดูตัวเลขอื่นๆ เกี่ยวกับหน้าที่ภาระรับผิดชอบของผู้จัดการและแรงจูงใจของพนักงานภายใต้การบังคับบัญชาของพวกเขากันบ้างค่ะ ไบรอัน คร็อป ผู้อำนวยการบริหารของคณะกรรมการบริหารด้านบุคคลกล่าวว่า ณ กาลปัจจุบันผู้จัดการโดยทั่วไปมีจำนวนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องดูแลบริหารเฉลี่ยคนละ 7 คน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาประมาณ 7 ปีก่อน (ช่วงก่อนเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในปี 2008) 2 คน และในขณะที่ผู้จัดการเหล่านี้มีลูกน้องที่ต้องดูแลมากขึ้นกว่าเดิม พวกเขากลับใช้เวลาในการบริหารดูแลลูกน้องลดลงประมาณ 5% จากที่เคยเป็นเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน เริ่มค่อยๆ มองเห็นแล้วนะคะว่าทั้งคุณภาพของนายและเวลาที่บรรดานายๆ มีให้กับการดูแลลูกน้องมันด้อยถอยลงไปอย่างไร

ในขณะที่ความพร้อมและเวลาที่ผู้จัดการมีให้ลูกน้องถดถอยลง มาดูความสำคัญของการมีนายที่ดีและที่เลวต่อระดับแรงจูงใจและผลงานของลูกน้องอย่างไรกันต่อค่ะ ตัวเลขจาก Gallup บ่งชี้ว่าผู้จัดการมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับระดับความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร (Employee Engagement) ถึง 70% และเมื่อพนักงานกลุ่มหนึ่งมีนายเลวก็มีผลทำให้ผลงานของพวกเขาย่ำแย่ไปได้อีก 5 ปี! แบบนี้พูดได้เลยนะคะว่า “มีนายผิด ผลงานลูกน้องแย่ไปอีก 5 ปี” ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้ามีนายเลวอยู่กับเราถึง 5 ปี แสดงว่าผลงานของเราอาจจะแย่ไปเป็นสิบยี่สิบปีเลยนะ? และในขณะที่ปากของผู้บริหารบอกว่าบุคลากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ปรากฏว่ามีเพียง 30% ของพนักงานโดยทั่วไปขององค์กรในสหรัฐ บอกว่าพวกเขารู้สึกผูกพันกับองค์กร ตัวเลขมันช่างสวนกระแสกับคำพูดของบรรดานายๆ จังนะคะ

ถึงแม้ตัวเลขสถิติที่นำมาแสดงนี้จะเป็นตัวเลขของทางสหรัฐอเมริกา แต่เชื่อว่าตัวเลขของไทยก็คงไม่ดีไปกว่านี้แน่ ทั้งนี้ผู้เขียนใช้วิธีอนุมานว่าในเมื่อผลการสำรวจ Global Talent Index ของปี 2015 ระบุว่าประเทศไทยมีความสามารถในการสรรหา พัฒนา และรักษาบุคลากรคุณภาพสูง (Talent) ได้ในลำดับที่ 30 ปลายๆ ในขณะที่สหรัฐติดอันดับ 1 ใน 5 ดังนั้นผู้เขียนย่อมต้องคาดการณ์ว่าความรู้สึกผูกพันของพนักงานไทยที่มีต่อองค์กรไม่น่าจะสูงกว่าตัวเลขของพนักงานอเมริกันเป็นแน่ โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขสหรัฐแสดงว่าผู้จัดการมีคุณภาพไม่พร้อม ไม่ค่อยมีเวลาดูพนักงาน ผู้เขียนย่อมรู้สึกหนักใจว่าผู้จัดการไทยเราจะเป็นอย่างไร แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้ทำการสำรวจตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากการพูดคุยกับผู้บริหารองค์กรต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าไทยเรามีปัญหาเรื่องคุณภาพของผู้จัดการ และการสร้างความรู้สึกผูกพันกับองค์กรให้เกิดขึ้นในใจพนักงานเช่นกัน เพราะปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องที่พนักงานคนเก่งไม่มีความผูกพันกับองค์กรและเปลี่ยนงานทำทุก 1-2 ปีเป็นอย่างมาก หากเรามีผู้จัดการที่ทำตัวเป็น “นาย” ที่ดีและเป็นที่ชื่นชมเคารพผูกพันของพนักงาน สิ่งนี้น่าจะช่วยยึดเหนี่ยวคล้องใจคล้องตัวพนักงาน Talent ให้อยู่กับบริษัทนานขึ้นได้ ส่วนจะอยู่นานแค่ไหนคงคาดเดายาก แต่ที่ชัดเจนแล้วก็คือผู้จัดการหรือนายมีส่วนกระทบสำคัญต่อความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กรถึง 70% ดังกล่าวมาแล้ว

จากการสำรวจคำนวณของ Gallup ชี้ว่าการที่มีนายเลวอันมีผลกระทบต่อระดับความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรของพนักงานที่อาจทำให้พนักงานลาออก ลางาน ทำงานได้ไม่เต็มที่นี้นำความสูญเสียมาสู่องค์กรสหรัฐถึงปีละ 4.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปีค่ะ! คราวนี้เราคงตระหนกและตระหนักได้นะคะว่าการที่องค์กรมีหัวหน้างานที่ไม่ดีนั้นสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรและประเทศชาติได้มากเพียงใด มันเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นและใส่ใจใคร่ครวญจริงๆ เพราะตราบใดที่งานยังดำเนินไปได้ แม้จะไม่ได้อย่างดีที่สุด ผู้บริหารก็จะยังไม่กังวลมาก แต่ถ้าเราคำนวณถึงผลผลิตและผลกำไรที่พึงได้ แต่ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ความสูญเสียที่ดูเหมือนไม่มาก แต่เมื่อเอาจำนวนวัน เดือน ปี คูณเข้าไป เราก็จะเห็นว่ามันสร้างปัญหาใหญ่โตเพียงใด และถ้าเราไม่สามารถอุดรูรั่วนี้ได้ รูรั่วเล็กๆ ก็จะกลายเป็นช่องที่ใหญ่ขึ้นๆ จนทำให้เรือใหญ่ทั้งลำจมได้

สัปดาห์นี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยของการมี Bad boss ให้ท่านได้ตระหนักไว้ก่อน คราวหน้าเรามาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาจากการมี Bad boss กันนะคะ