สาธุการ กฐินประวัติศาสตร์ ในชมพูทวีป!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีสติปัญญามั่นคงในธรรม... เดือนสุดท้ายของไตรมาส ในกาลจำพรรษา
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
เจริญพรสาธุชนผู้มีสติปัญญามั่นคงในธรรม... เดือนสุดท้ายของไตรมาส ในกาลจำพรรษาแรกของฤดูฝนได้ปรากฏแล้ว ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้พากันไปยังโอกาสที่พระภิกษุจำพรรษาครบ ๕ รูป มีคุณสมบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย พรรษาไม่ขาด ไม่วิบัติ ด้วยการประพฤติอาบัติ (บาป... ความผิดวินัย) มีสิทธิรับผ้ากฐินที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปกะ ตัด เย็บ ย้อม หรือเข้าสู่การกรานกฐิน และอนุโมทนากฐินได้... ซึ่งหมายถึง พระภิกษุมีองค์คุณสติปัญญา รู้ธรรม ๘ ประการ สามารถกระทำกฐินัตถารกิจ ได้... นั่นคือคุณสมบัติของคณะสงฆ์ ๕ รูป ต่ำกว่า ๕ รูป ไม่สามารถรับผ้ากฐินได้... ไปนิมนต์พระภิกษุอื่นมาร่วม นั่งให้ครบ ๕ รูป ก็ไม่ได้ จักต้องเป็นพระภิกษุที่อยู่ร่วมจำพรรษาในอาวาสเดียวกัน ครบถ้วน ๓ เดือน ปวารณาออกพรรษาด้วยกันเท่านั้น...
สำหรับคุณสมบัติของคณะศรัทธานั้น ต้องเป็นศาสนิกชนผู้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์ มีศีล ๕ ครบถ้วน ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ ที่สำคัญมีความยำเกรง เคารพสงฆ์... ประเภทใส่รองตีนรองเท้า ถวายเครื่องสักการบูชาปัจจัยไทยทาน แด่พระภิกษุ หรือใส่รองตีนรองเท้า เหยียบย่างเข้าเขตอุโบสถ ที่เป็นเขตสังฆกรรมของสงฆ์นั้น... เป็นวิบัติโดยการกระทำ แม้จะรู้หรือมิรู้ เจตนาหรือไม่เจตนา อันเป็นการกระทำที่เศร้าหมอง หรือเป็นบาปกรรม ดุจดังเรื่องผลกรรมของพระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ที่ถูกกระทำปิตุฆาต จากราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยการให้อดอาหาร และสุดท้ายใช้ให้ช่างกัลบกผ่าพื้นพระบาท (ฝ่าเท้า...) ทั้งสองข้างด้วยมีดโกน เสร็จแล้ว เอาน้ำมันผสมเกลือมา แล้วย่างด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียน ที่กำลังคุไม่มีเปลวไฟ จนเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง ถึงแก่ความตาย (สวรรคต) ณ ที่คุมขังโรงอบควัน ปัจจุบันมีสถานที่ดังกล่าวถูกรักษาไว้เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในราชคฤห์ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร (Bimbisara Jail) เป็นลักษณะกำแพงสูงเกือบ ๑ เมตร หนา ๒ เมตร ยาว ๖๐ เมตร ก่อด้วยหินภูเขาจากบริเวณดังกล่าว เพื่อแสดงสถานที่กระทำปิตุฆาต... โดยก่อนจะสวรรคต พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงอุทานว่า อะโห พุทโธ อะโห ธัมโม อะโห สังโฆ ต่อมาไปเกิดเป็นยักษ์ คือ ชนวสภะยักษ์ ด้วยความเป็นสหายกับท้าวเวสสุวรรณ อธิบดีแห่งยักษ์ในจาตุมหาราชิกา
ผลกรรมที่พระเจ้าพิมพิสารถูกช่างกัลบกใช้มีดโกนผ่าพื้นพระบาท (ฝ่าเท้า) ทั้งสองข้างนั้น มีบันทึกในพระไตรปิฎกส่วนอรรถกาฯ ว่า... ในกาลก่อน พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงฉลองพระบาทเข้าไปในลานพระเจดีย์ และเอาพระบาทที่ไม่ได้ชำระเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่ง จึงได้รับผลจากบาปกรรมดังกล่าว...
จึงควรที่สาธุชนผู้มีสติปัญญา จะได้พึงสำเหนียกสำนึก รู้การกระทำอันควร อย่ามุ่งหน้ามองแต่บุญที่จะเกิดขึ้นอย่างเดียว แต่ควรจะกรุณาระวังบาป ที่จะปรากฏตามทุกย่างก้าว ที่ดำเนินไปหาบุญด้วย พ่อมหาจำเริญ... แม่มหาจำเริญ ทั้งหลาย พึงสำนึกอยู่เสมอว่า พระพุทธศาสนาสอนให้เรารู้จักบาปบุญคุณโทษในเบื้องต้น ดังปรากฏพุทธภาษิต หัวใจพระพุทธศาสนา ที่ท่องกันมาทุกสมัย ซึ่งบาปบุญคุณโทษที่น่ากลัว คือ การดูหมิ่นท่าน... การไม่เคารพท่าน ในส่วนของชาวบ้าน คือ ไม่เคารพ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ อันเป็นบาปหนัก ในส่วนของภิกษุสามเณร คือ การไม่เคารพซึ่งกันและกัน ตามฐานะ... ตามคุณธรรม แค่เพียงกระทำการดูหมิ่นชั่วครู่หนึ่ง ก็บาปสาหัสแล้ว หากไม่เชื่อ ลองลงไปถามสัตว์นรกขุมนี้ดู... สำคัญอย่างยิ่งทั้งของชาวบ้านและภิกษุสามเณร ที่ประกาศตนถึงพระไตรสรณคมน์ แล้วไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และไตรสิกขา ย่อมให้บาปกรรมปรากฏอย่างหนัก รวดเร็วนัก จึงมีบัญญัติห้ามภิกษุ สามเณร ล่วงอุปจาร เช่น ใส่เกือก กั้นร่ม ห่มผ้าคลุมสองบ่า เข้าไปในเขตอุปจารสงฆ์ ภายในแดนสีมา ... แดนพระสงฆ์ ที่แก่กว่าตั้งแต่ ๒ พรรษาขึ้นไปก็ดี เพียง ๔ ศอกล่วงอุปจารสงฆ์... ๖ ศอกล่วงอุปจารเจดีย์... แดนพระศรีมหาโพธิ์นั้น ๘ ศอก... แดนพระพุทธรูป ๑๒ ศอก... ผู้ใส่เกือก...กั้นร่ม ห่มผ้าคลุม ๒ ไหล่ รวมถึงพวกสวมหมวก ชื่อว่า ล่วงอุปจาระ ไม่เคารพพระพุทธศาสนา ดูหมิ่นพระรัตนตรัยโดยตรง เป็นโจรปล้นพระศาสนา ได้บาปยิ่งใหญ่...
ในปีพรรษา ปี ๒๕๕๗ ได้มีการจัดงานกฐินประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ณ เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต (ราชกีร์ นาลันทา/รัฐพิหาร อินเดีย) โดยจะมีการฉลองสมโภช ๓ คืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙๒๑ ต.ค. ๒๕๕๗ ณ สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ โพธิมณฑลสถาน/พุทธคยา อินเดีย... มีการเปิดงานเฉลิมฉลององค์กฐินและบริวารอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๒๑ ต.ค. ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ พระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา/อินเดีย โดยมีประธานรัฐสภา รัฐพิหาร/อินเดีย รัฐมนตรีว่าการพัฒนาชนบทและกิจการรัฐสภา รัฐมนตรีกำกับดูแลการท่องเที่ยวของรัฐบาล แห่งรัฐพิหาร/อินเดีย มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีชาวพุทธในอินเดีย ไทย และศรีลังกา โดยมหาโพธิสมาคมของอินเดียเข้าร่วมงาน จากประเทศไทยเราก็มี ม.ล.สราลี กิติยากร นำศรัทธาสาธุชนร่วมงานบุญประวัติศาสตร์ในครั้งนี้... และจะมีการเคลื่อนขบวนองค์กฐิน ในเช้าวันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๗ สู่เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์... จะทำการถวายผ้ากฐินสามัคคีในเวลา ๑๓.๐๐ น. ...คณะสงฆ์ ๕ รูป โดยอาตมาเป็นประธาน จะกระทำการรับผ้ากฐินตามศาสนพิธี และเข้าสู่กระบวนการตามพุทธบัญญัติ อันปรากฏในพระธรรมวินัย จะมีการซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ผ้าขาว (ผ้ากฐิน) ที่ศาสนิกชนพร้อมใจกันถวายในกฐินสามัคคี หรือเข้าสู่การกรานกฐิน ที่เป็นไปตามพุทธบัญญัติทุกประการ... เพื่อการถวายความเคารพพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างสูงสุด โดยการถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องทุกประการ... เป็นการร่วมกันถวายการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทรงประทับจำพรรษา ณ เวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้ ถึง ๕ พรรษา และในการกรานกฐินนั้น พระพุทธองค์ทรงกระทำร่วมกับพระสงฆ์สาวก อันเป็นพุทธวิสัย... การถวายผ้ากฐิน ณ เวฬุวันมหาวิหาร ในปีนี้ จึงเป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ที่ควรแก่การสาธุการ เพราะเป็นไปอย่างถูกต้อง... ไม่เกี่ยวข้องกับยอดกฐิน คือ เงินทองทั้งหลาย ดังที่นิยมกันหนักหนาในบางประเทศ ที่อ้างตนว่าเป็นประเทศพุทธศาสนา!!
เจริญพร