พิมพ์โลหะของเขา วีระ โยธาประเสริฐ

17 กันยายน 2557

โดย...เสน่ห์จันทน์

โดย...เสน่ห์จันทน์

คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ผลงานศิลปะจะมีค่า ก็ต่อเมื่อศิลปินได้ตายไปแล้ว” ใครหนอก็ช่างคิด ซึ่งเป็นคำเปรียบที่น่าเศร้า ที่คนเพิ่งจะหันมาเห็นคุณค่าและพลาดโอกาสได้ศึกษางานศิลปะในขณะที่ศิลปินยังอยู่ ทว่าผลงานศิลปะที่มีคุณค่าต่างหาก ศิลปินจะยังคงอยู่หรือไม่ก็ยังมีคุณค่าและให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เฉกเช่นผลงานภาพพิมพ์โลหะของ “วีระ โยธาประเสริฐ” ศิลปินผู้ล่วงลับแล้ว ซึ่งเป็นศิลปินโมเดิร์นอาร์ตแนวหน้าของไทย เคยได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันศิลปะนานาชาติ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี มีความเชี่ยวชาญและได้พัฒนาผลงานศิลปะทางด้านสีน้ำและภาพพิมพ์โลหะเป็นเวลานาน ถ่ายทอดผลงานจากความประทับใจในความสวยงามของธรรมชาติ คน สัตว์ และแมลง โดยใช้ลักษณะการวาดแบบตัดทอนจากความเหมือนจริงให้เหลือเฉพาะแขน ขา และโครงร่าง โดยเสนอเป็นภาพ 2 มิติแบบจิตรกรรมไทยโบราณ จัดเป็นศิลปินที่ได้นำเทคนิคตะวันตกมาผสมผสานกับจิตวิญญาณความเป็นไทยได้อย่างนุ่มนวล

ผลงานที่หาดูได้ยากนี้ บัดนี้ “สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี่” ได้นำออกมาจัดแสดง เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ระหว่างปี 2514-2520 จำนวน 24 ภาพ ในชื่อนิทรรศการ “พิมพ์โลหะ ของ วีระ (1971s-1977s)”

“ปนัดดา เลิศหัตถศิลป์” ผู้จัดการสมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี่ ได้เปิดเผยถึงการนำผลงานคอลเลกชั่นนี้ออกมาจัดแสดง ว่า “ผลงานของอาจารย์วีระเป็นผลงานที่หาชมยากและเป็นงานที่มีสไตล์และเทคนิคการทำงานที่แปลกแหวกแนวออกไปจากความนิยมในสมัยนั้น เป็นความยากลำบากและต้องอาศัยความกล้าที่ อาจารย์วีระต่อสู้และผลักดัดแนวคิด ทฤษฎี สไตล์แปลกใหม่ให้ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ตอนนี้เวลาผ่านมามากกว่า 30 ปี ผลงานของอาจารย์วีระกลับเข้ากับยุคทันกับสมัยได้ดี ผลงานมีการจัดวางแบบเรียบง่ายเหมือนงานศิลปะร่วมสมัยและมีโครงสร้างคล้ายกับงานกราฟฟิกที่นิยมในปัจจุบัน และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการศึกษาเทคนิค การจัดวาง และการแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยในรูปแบบที่ต่างไป”

ผลงานของอาจารย์วีระเป็นลักษณะศิลปะกึ่งนามธรรมน่าจดจำ เพราะมีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถผสมผสานเทคนิค 2 ชนิดเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน สามารถถ่ายทอดความเป็นไทยในกลิ่นอายรูปร่างคล้ายบรรพศิลป์หรืออนารยศิลป์ (Primitive art หรือ Tribal art) อย่างที่ยังไม่เคยเห็นในศิลปะไทยมาก่อน

“เดิมอาจารย์วีระจบทางจิตรกรรมมีความชื่นชอบในเทคนิคสีน้ำ หลังจากที่ได้ศึกษาต่อที่อิตาลีก็เกิดความชอบทางด้านภาพพิมพ์ มีความรู้สึกประทับใจในเรื่องเทคนิคต่างๆ ขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยศิลปากรยังไม่ได้เปิดสอน อาจารย์วีระจึงศึกษาตั้งแต่การทำแม่พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ยาง (Lido or Woodcut) ภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะ (Etching) และภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์หิน (Lithograph) แต่ภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะเป็นเทคนิคที่ตรงกับนิสัยของอาจารย์วีระมากที่สุด เพราะสามารถดัดแปลงการพิมพ์ให้เสมือนภาพสีน้ำได้

ดังนั้น ภาพพิมพ์ในระยะเริ่มต้นจึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคนิคสีน้ำและเทคนิคภาพพิมพ์โลหะที่มีน้ำหนักอ่อนแก่ชัดเจน โดยใช้สีเพียง 23 สี ทำให้เกิดสีใหม่ที่กลมกลืนกันและมีสีสดเป็นจุดเด่นบางจุด และผลงานในระยะหลังอาจารย์วีระใช้เทคนิคการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ยางผสมเข้าไปในงาน แต่จะถูกควบคุมให้มีสีที่กลมกลืนด้วยการพิมพ์สีพื้นด้วยแม่พิมพ์โลหะ”

ปนัดดาได้พาย้อนวันวานไปยังจุดเริ่มต้นของอาจารย์วีระที่นำผลงานไปสร้างชื่อยังต่างแดน “ในขณะที่อาจารย์วีระศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนการศึกษาจากประเทศอิตาลีไปศึกษาต่อวิชาศิลปะการตกแต่งที่กรุงโรม โดยได้รับทุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 2,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงให้คำแนะนำว่า

นายมีนิสัยชอบเขียนสีน้ำ ทำไมนายไม่เขียนภาพแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของประเทศอิตาลี แล้วขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่อย่าแพงนัก...

ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์วีระใช้เวลาว่างเริ่มออกตระเวนเขียนภาพตามที่อาจารย์ศิลป์แนะนำ และ ระหว่างปิดภาคเรียนก็ได้ตระเวนไปทั่งยุโรปเพื่อชมศิลปะตามพิพิธภัณฑ์และหาโอกาสเขียนภาพสีน้ำเกือบทุกประเทศ โดยเรื่องที่ชอบเขียน คือ ทิวทัศน์ริมน้ำและจัตุรัสที่สำคัญต่างๆ อาจารย์วีระอาศัยอยู่ยุโรปประมาณ 2 ปี ในขณะเรียนก็ได้รางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันศิลปะที่กรุงโรม (Silver Medal Prize, International Art Competition, Rome, Italy)”

ผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ มีเนื้อหา ธรรมชาติ และความเป็นไทย มีรูปผู้หญิงไทยโบราณ รูปบ้านเมืองไทยในสมัยก่อนและยังมีรูปดอกไม้ที่แสดงถึงความเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกร่าเริงมีชีวิตชีวา นิทรรศการ “พิมพ์โลหะ ของ วีระ (1971s-1977s)” จัดแสดงถึงวันที่ 15 ต.ค. ณ ชั้น 2 สมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี่ สมบัติเพิ่มพูน สุขุมวิทซอย 1 กรุงเทพฯ เปิดทุกวันเวลา 09.00-20.00 น.

ประวัติศิลปิน

วีระ โยธาประเสริฐ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 2477-2545

จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมและประติมากรรม

ปี 2505 ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลประเทศอิตาลี ไปศึกษาต่อ ณ สถาบันศิลปศึกษากรุงโรม

ปี 2507-2536 เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2525 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาประยุกต์ศึกษา คณะมัณฑนศิลป์

มีผลงานอยู่ในนิทรรศการศิลปะการพิมพ์ที่ต่างประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐ และมีผลงานรวมอยู่ในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาเจนตินา

Thailand Web Stat