posttoday

แบงค์เซียในเมืองไทย

21 กันยายน 2557

แบงค์เซีย (Banksia) เป็นพืชท้องถิ่นออสเตรเลีย ซึ่งแม้จะมีอยู่ถึง 700 ชนิดในถิ่นกำเนิด

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

แบงค์เซีย (Banksia) เป็นพืชท้องถิ่นออสเตรเลีย ซึ่งแม้จะมีอยู่ถึง 700 ชนิดในถิ่นกำเนิด แต่มีอยู่ชนิดเดียวที่ปลูกได้เป็นการค้าในเมืองไทย พืชสกุลนี้มีความหลากหลายจากไม้ยืนต้นไปจนถึงไม้พุ่มและไม้กึ่งเลื้อย ทนฝนชุกในป่าดิบชื้นหรือปรับตัวให้อยู่ในเขตแห้งแล้งกึ่งทะเลทราย เรามาดูเบื้องหลังของพืชออสเตรเลียสกุลนี้กัน

20 กว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนสนใจสั่งเมล็ดแบงค์เซียจากบริษัทแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเข้ามาพร้อมกับเมล็ดยูคาลิปตัสหลายสิบชนิด เพื่อทดลองเพาะปลูกในโครงการวิจัยดอกไม้แห้งในโครงการหลวง สถานที่วิจัยของโครงการดอกไม้แห้งอยู่ที่สถานีย่อยขุนห้วยแห้งและบริเวณดอยผาตั้ง โดยมีเกษตรกรผู้รับงานส่งเสริมปลูกที่บ้านแม่ยะ และบ้านผาหมอนดอยอินทนนท์

หลังจากเพาะเมล็ดและทดสอบการปรับตัวให้เข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศของดอยอินทนนท์ระดับประมาณ 1200 เมตร เราสามารถคัดเลือกแบงค์เซียและยูคาลิปตัสได้สองสามชนิด จากนั้นจึงทำการคัดสายต้น (colnes) ออกมาจำนวนหนึ่งลงปลูกเพื่อเก็บเมล็ดขยายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอันแฉะชื้นช่วงฤดูฝนอันยาวนานบนดอยอินทนนท์ต่อไป เราสนใจแบงค์เซียไม่ใช่เพราะดอกคล้ายแปรงล้างขวดของมัน แต่สนใจผลิตเป็นไม้ตัดใบเป็นการค้า ซึ่งปัจจุบันโครงการดอกไม้แห้งตัดใบส่งให้บริษัทขายสินค้าหัตถกรรมดอกไม้แห้งหลายแห่ง นานนับสิบปีแล้วจนถึงปัจจุบัน ใบของแบงค์เซียนั้นผิดจากใบไม้อื่นๆ เพราะมันไม่หลุดร่วงจากกิ่ง แม้จะแห้ง รูปทรงใบสวยงาม ด้านบนใบและด้านล่าง เมื่อผ่านการย้อมสีจะกลายเป็นสองสี ทำให้ดูสวยงามแปลกตา อายุการใช้งานคงทนหลายปี นี่คือเหตุผลที่ผู้คนนิยมนำเอากิ่งที่มีใบติดของแบงค์เซียไปปักประดับแจกันในบ้าน

แบงค์เซียในเมืองไทย

 

นี่คือสาเหตุที่จูงใจให้ผู้เขียนเล่าเรื่องของแบงค์เซียในฉบับนี้

แบงค์เซียอยู่ในวงศ์โพรทิเอซิอี้ (Proteaceae) ซึ่งชื่อวงศ์ได้มาจากเทพโพรทีอุส ซึ่งทำสงครามกับมีนีลอสในมหากาพย์เรื่อง โอเดสเซ (Odyssey) ของโอเมอร์ เทพโพรทีอุสมีเทคนิคการต่อสู้ป้องกันตัวเองที่ชาญฉลาด คือ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้แม้ถูกจับกุมตัวโดยมีนีลอส ในปี ค.ศ. 1737 เมื่อนักพฤกษศาสตร์ สวีดีช คือ ท่านคาร์ล ลินเนียส เดินทางเข้าไปในออสเตรเลียและได้พบกับพืชชนิดหนึ่งซึ่งมีหลากหลายขนาดและรูปร่าง เขาจึงให้ชื่อพืชสกุลนี้ว่า สกุลโพรทิเอซิอี้ (Proteaceae)

นี่คือที่มาของชื่อโพรเทียและแบงค์เซีย ซึ่งเป็นสกุลสำคัญ 2 สกุล ในบรรดา 61 สกุล ในวงศ์โพรทิเอซิอี้ดังกล่าว

พืชในวงศ์โพรเทียพบได้ถึง 700 ชนิด เฉพาะในออสเตรเลีย แต่ยังมีอีกมากในแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ สำหรับสกุลแบงค์เซียนั้นมีหลากหลายรูปทรงและสีสัน แบงค์เซียมีญาติอันใกล้ชิดซึ่งคนไทยไม่ค่อยคุ้นนัก ยกเว้นซิลค์โอ๊คหรือสนอินเดีย (Grevillea robusta) ส่วนฮาเกีย (Hakea) ดรายแอนดรา (Dryandra) และโคโนสเปอมัม (Conospermum) เป็นพืชที่ใช้กันอยู่ในวงการค้าดอกไม้แห้งในออสเตรเลียและแอฟริกาใต้

แบงค์เซียมีอยู่ราว 58 ชนิด ในออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่มเนื้อแข็ง ต้นสูงอาจถึง 15 เมตรก็ได้ แต่มีหลายชนิดที่เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ถึงขนาดกลาง บางชนิดเป็นไม้ทอนเอนไปตามพื้นทราย แต่ช่อดอกตั้งขึ้น

แบงค์เซียในเมืองไทย

 

แบงค์เซียซึ่งผ่านการคัดเลือกในโครงการดอกไม้แห้ง จนได้ชนิดที่เหมาะสมกับภูมิอากาศดอยอินทนนท์แล้วมีชื่อว่า Coast Banksia (Banksia integrifolia) ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า White Honeysuckle นับว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (ในถิ่นกำเนิด) โดยสูงได้มากกว่า 16 เมตร และออกดอกได้ตลอดปี ดอกเป็นช่อเชิงลด (spike) เต็มไปด้วยน้ำต้อยสีเหลือง ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของแมลงทั้งผึ้ง มิ้น ส่วนในออสเตรเลียจะพบนกต่างๆ มาดูดกินน้ำต้อย รวมทั้งมาซูเปียลหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีกระเป๋าหน้าท้องที่ชอบมาเลียกินน้ำต้อย โคสท์แบงค์เซียดังกล่าว ตั้งชื่อได้เหมาะสม เพราะเป็นต้นไม้ที่สุดยอดรอบตัวจริงๆ มันขึ้นได้ในสภาพภูมิอากาศหนักหนาสาหัสทุกแบบ ทนลมทะเล ทนพายุทราย เติบโตได้ดีมาก บนบลูเมาเทน แห่งนิวเซาท์เวลส์ และวิกตอเรีย ขึ้นไปตามแนวตะวันตก ลงไปตามที่ลาดชันสุดลูกหูลูกตา

สาเหตุที่มีผู้เรียกแบงค์เซียชนิดนี้ว่าฮันนี่ซัคเคิลขาวนั้น เพราะดอกของมันดึงดูดใจนกให้มาดูดกินน้ำต้อยจำนวนมากมาย ดังนั้นจึงช่วยชีวิตสัตว์ต่างๆ ได้มากมาย รวมทั้งชาวอาบอริจินีผู้เร่รอน ซึ่งพากันมาเก็บเกี่ยวเอาน้ำต้อยไปเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอีกด้วย

ช่อดอกแบงค์เซียมีความหลากหลายรูปทรงและสีสัน แม้แต่ใบก็คงความหลากหลายเช่นกัน ใบอาจแคบเป็นเส้นเล็กไปจนถึงใบยาวได้ถึง 30 เซนติเมตรก็มี ผิวใบอาจมัน เหนียวหนาคล้ายหนัง บางชนิดมีขอบใบหยักเป็นซี่หยาบคล้ายเลื่อย แม้แต่สีใบด้านบนและล่างก็ยังมีความแตกต่างกันดังกล่าวมาแล้ว