posttoday

เฟินต้นทาสเมเนียนในเมืองไทย

05 ตุลาคม 2557

เฟินโบราณรูปทรงคล้ายไม้ยืนต้นจำพวกปาล์มหรือมะพร้าว ลำต้นชูสูงดูมั่นคงสมบูรณ์ด้วยรากจำนวนมากมาย

โดย...หม่อมหลวงจารุพันธ์ ทองแถม

เฟินโบราณรูปทรงคล้ายไม้ยืนต้นจำพวกปาล์มหรือมะพร้าว ลำต้นชูสูงดูมั่นคงสมบูรณ์ด้วยรากจำนวนมากมายที่โผล่ออกมารอบลำต้นที่สูงขึ้นไปในอากาศถึง 3-4 ม. ยอดปกคลุมด้วยใบเขียวสดคล้ายใบเฟินโบราณย้อนยุคไปเก่าแก่กว่าไม้ดอกอื่นใดบนพื้นโลก

โครงการพัฒนาเฟินเศรษฐกิจในโครงการหลวงนำเฟินต้นทาสเมเนียน (Tasmanian Tree Fern) จากนิวซีแลนด์เข้ามาปลูกในปี 2552 เฟินต้นชนิดนี้ชาวนิวซีแลนด์เรียกกันหลายชื่อ อาทิ Soft Tree Fern เนื่องจากมีผิวใบอ่อนนุ่ม บางคนเรียก Man Fern แต่ส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า เฟินต้นทาสเมเนียน

เฟินต้นชนิดนี้นับว่าเป็นเฟินที่มีใบสดเขียวตลอดปี และเป็นไม้ยืนต้นพื้นบ้านในหลายเขตของออสเตรเลีย เช่น นิวเซาท์เวลส์ ทาสมาเนีย และรัฐวิกตอเรีย ชื่อพฤกษศาสตร์ คือ Dicksonia antarctica

ในสภาพถิ่นเดิมของนิวซีแลนด์เฟินต้นขนาดใหญ่มีให้เราเห็นมากมายที่สูง 4-5 ม. และที่สูงเกิน 15 ม. ก็มีมากนับว่ามีความแข็งแรงเอามากๆ เพราะดูได้จากเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น (Rhizome) ซึ่งเรียกว่า Trunk มีขนาดใหญ่ล่ำผิดกว่าเฟินต้นสกุล Cyathea ที่พบในเมืองไทย ลำต้นส่วนโคนปกคลุมด้วยขนหยาบที่ส่วนโคนต้น ใบประกอบแบบขนนกของมัน เกิดเวียนรอบยอดลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 ม. ผิวใบสีเขียวเข้มลำต้นอาจเกิดเดี่ยว ลำเดียวโดดๆ หรืออาจแตกหลายยอด (Multiheaded) ก็ได้ ใบสร้างสปอร์เกิดเป็นชั้นสลับกับใบที่ไม่สร้างสปอร์

ลำต้นของเฟินชนิดนี้ดูรกเรื้อด้วยซากเก่าของใบที่ผุพัง ทำให้มีรากพัฒนาออกมาดูดซับน้ำและอินทรียวัตถุที่สะสมตัวอยู่ โคนต้นอาจสร้างหน่อขึ้นมาก็ได้ ซึ่งอาจตัดฟันลำต้นแม่ลง และถ้ารักษาความชื้นให้ดีมันสามารถเติบโตให้ยอดใหม่ได้ไม่ยากนัก ผิดกับเฟินต้นสกุล Cyathea ในเมืองไทยในธรรมชาติ ลำต้นของเฟินต้นชนิดนี้มักเป็นแหล่งอาศัยของพืชอิงอาศัยอื่นๆ ทั้งเฟินและมอสขึ้นกันเต็มไปหมด

เฟินต้นทาสเมเนียนอยู่ในวงศ์ดิ๊กโซนิเอซิอี้ (Dicksoniaceae) โดยอยู่ในสกุลของมันเองคือดิ๊กโซเนีย (Dicksonia)

เฟินต้นทาสเมเนียนในเมืองไทย

 

เฟินต้นทาสเมเนียนซึ่งปลูกอยู่บนดอยอินทนนท์ในปี 2551-2552 นั้น หลังจากปลูกไปแล้วในปีที่สองจึงเริ่มสร้างสปอร์ ทั้งนี้เนื่องจากต้นที่ตัดมาปลูกแต่เดิมมีอายุกว่าสิบปีแล้ว โดยบริษัทส่งออกเฟินต้นแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์เป็นผู้ค้าส่งออกเฟินต้นชนิดนี้ไปทั่วโลก โดยบรรจุมาในตู้คอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิ

หลังจากสังเกตว่าอับสปอร์แก่ได้ที่แล้ว แต่ยังไม่ปล่อยสปอร์ออกมา จึงตัดใบย่อยซึ่งมีอับสปอร์อยู่ไปบ่มไว้ในซองกระดาษสีน้ำตาล เก็บไว้ในห้องที่แห้งไม่อับชื้น อาจเป็นห้องปรับอากาศจะดีที่สุด เมื่ออับสปอร์ปริปล่อยสปอร์ออกมาจึงเคาะข้างซองและช่วยเขี่ยสปอร์ออกจากอับสปอร์ นำมาร่อนเอาเศษใบและเกล็ดหรือขนออกให้หมด จากนั้นร่อนในตะแกรงละเอียด เก็บสปอร์ไว้ในหลอดแก้วที่มีซิลิกาเจลแบบเม็ดอยู่ในหลอดแก้วปิดฝาให้แน่น จดวันที่เก็บสปอร์และเก็บหลอดไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิประมาณ 10-12 ํC เพื่อรอการเพาะต่อไป อย่างไรก็ตามการเพาะสปอร์ที่เก็บได้ใหม่ๆ นี้ หากลงมือเพาะเลยจะดีที่สุด

การปลูกเลี้ยง

เฟินต้นทาสเมเนียนเป็นเฟินที่ปลูกง่าย ใช้จัดสวนประดับตกแต่งสถานที่ได้ดีที่สุด ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็น แต่สำหรับในประเทศไทยเฟินต้นทาสเมเนียน เหมาะที่จะปลูกเป็นพืชประดับสวนในพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000 ม. ขึ้นไป เช่น ภูเรือ ภูหลวง ภูกระดึง ดอยอ่างขาง ดอยสุเทพ ดอยปุย ในเขตหนาวเย็นมากๆ เช่น นิวซีแลนด์ เขานิยมไว้ใบแก่ให้ห้อยลงมาคลุมลำต้นไว้ในฤดูหนาว เฟินต้นชอบพื้นที่มีน้ำฝนรวมสูงกว่า 1,200 มม. ต่อปีขึ้นไป

เฟินต้นทาสเมเนียนสามารถพัฒนาตัวเองจากสปอร์ ซึ่งเพาะโดยใช้พีทมอสเป็นเครื่องเพาะ และสามารถแยกกล้าสปอร์โรไฟต์ได้ภายในเวลาหนึ่งปีเศษ อย่างไรก็ตามกล้าอ่อนของเฟินต้นทาสเมเนียนเติบโตช้ากว่าเฟินต้นในสกุล Cyathea จากประเทศไทย ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงจะต้องทำใจในเรื่องนี้อยู่บ้าง เนื่องจากลำต้นของเฟินต้นชนิดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่โตมากนั่นเอง

ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาวิธีผสมข้ามสกุลดิ๊กโซเนียกับสกุลไซยาเทีย ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นผลในเวลาไม่นานเกินรอ