หมากเหลือง กับหมากแดง

12 ตุลาคม 2557

คงไม่มีนักเลงไม้ประดับคนไหนที่ไม่รู้จักปาล์มสองชนิดนี้ เพราะเห็นได้ทั่วไปในตลาดจตุจักรของเมืองไทย

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

คงไม่มีนักเลงไม้ประดับคนไหนที่ไม่รู้จักปาล์มสองชนิดนี้ เพราะเห็นได้ทั่วไปในตลาดจตุจักรของเมืองไทย ความจริงเคยเขียนถึงปาล์มสองชนิดนี้มาแล้ว แต่เขียนในแง่มุมของการปลูกเลี้ยง ดังนั้นวันนี้จึงจะเขียนเล่าถึงในแง่มุมอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของหมากแดง หากจะเปรียบเทียบกับหมากเหลือง

หมากเหลืองกับหมากแดงต่างกันที่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม หมากเหลืองเป็นปาล์มนอก ปาล์มจากมาดากัสการ์ เกาะใหญ่นอกฝั่งแอฟริกา และมาอยู่เมืองไทยนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว โดยแพร่มาทางสิงค์โปร์ ส่วนหมากแดงเป็นปาล์มทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขึ้นอยู่ตามริมพรุในเขต จ.นราธิวาส แต่ผู้เขียนพบมากมายบริเวณพื้นที่ อ.แว้ง และบาเจาะ ซึ่งสมัยก่อนปลอดภัยให้ไปนอนค้างสังสรรค์กับเพื่อนๆ จากแม่โจ้ ซึ่งมาเป็นหัวหน้านิคมบาเจาะของกรมประชาสงเคราะห์ หรือของสหกรณ์ชักจะเลือนๆ ไปบ้าง เพราะกาลเวลาผ่านมาหลายสิบปีเต็มที

หมากแดงนั้นนอกจากจะขึ้นเป็นกอใหญ่ติดกันเป็นพืดตามพื้นที่ลุ่มใกล้เคียงกัน เขตนั้นก็มีปาล์มอื่นที่น่าสนใจ เช่น จาก (Nipa Palm) สาคู (Metroylon) และที่สวยงามแต่น่าเกรงขามคือหลาวโอน (Oncosperma) ซึ่งมีหลายชนิด (Species) เช่น หลาวโอนทุ่ง (O.tigillarium) ซึ่งพบมากมายตามหลายเขตในมาเลเซีย ซาราวัก และอินโดนีเซีย ซึ่งเรียกว่า นิบุง (Nibung)

สำหรับหมากแดงนั้นขนาดของการกระจายพันธุ์ดูจะเล็กกระจ้อยร่อย หากจะเทียบกับที่พบในพอยเทียนัก (Pointianak) ของอินโดนีเซีย ตรงข้ามสิงค์โปร์ ที่นั่นหมากแดงขึ้นอยู่เต็มพื้นที่รวมทั้งในบ้านในเมืองจะปลูกหมากแดงทั่วไปหมด นัยว่าทั้งชาวมลายู อินโดนีเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวจีนที่นั่นมีความเชื่อถืออิทธิพลของสีแดงสดของกาบหรือคอต้นปาล์มหมากแดง ว่าเป็นสีแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และเป็นสีของความมีโชคดีในชีวิต ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ที่ไปด้วยกัน เก็บเมล็ดหมากแดงมาเป็นกระสอบและเพาะเผยแพร่ในกรุงเทพฯ

หมากเหลือง กับหมากแดง

 

ย้อนหลังไปที่หมากเหลืองอีกที หมากเหลืองได้ชื่อว่า Yellow Cane Palm ตามสีของก้านใบที่ส่วนยอดของลำซึ่งออกสีเหลืองหรือสีส้มตามสภาพอากาศ เช่นความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ ในถิ่นดั่งเดิม หมากเหลืองซึ่งอยู่ในสกุล Chrysalidocarpus ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์เปลี่ยนเป็น Dypsis เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปาล์มสกุลดิพซีสนี้มีอยู่หลายชนิด (Spices) คำว่าชนิดอย่าเอาไปสับสนกับสายพันธุ์ทีเดียว เพราะปัจจุบันในเมืองไทยใช้กันเปรอะไปหมด ทุกอย่างใช้สายพันธุ์ทั้งนั้น ไม่ว่าสกุลหรือชนิดและพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์นั้นเขาไม่ใช้กับการจำแนกแบบเปรอะเช่นในเมืองไทยอย่างแน่นอน ลองศึกษาเอาเองเถอะครับ

กลับมาที่หมากเหลืองสกุลดิพซีสอีกครั้ง ปาล์มสกุลนี้มีหลายชนิด เช่น D.baronii, D.decaryi, D.cabadae และอื่นๆ ที่พบในเมืองไทยมีอยู่สองสามชนิด หมากเหลืองปลูกได้ง่ายในกรุงเทพฯ โดยอาจปลูกเป็นไม้ตัดใบส่งตลาดปากคลองหรือจำหน่ายให้ร้านจัดดอกไม้ ร้านจัดหรีดก็ได้ ใบหมากเหลืองมีไขเคลือบ (Wax) ผิวใบด้านนอก ทำให้ทนทานต่อการใช้งาน (ไม้ตัดใบ) หรือปลูกในกระถางเพื่อตกแต่งภายใน ข้อดีของหมากเหลืองอีกประการคือ ปลูกได้ง่ายเจริญเติบโตเร็วไม่เลือกดินปลูก ข้อสำคัญคืออย่าให้น้ำขังรากเป็นใช้ได้ ศัตรูอย่างเดียวของหมากเหลือง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง (Mealy Bug) ซึ่งตัวแก่ของเพลี้ยแป้งมีปีกสามารถเคลื่อนย้ายไปวางไข่ในที่ไกลๆ ได้ การกำจัดเพลี้ยแป้ง จำต้องใช้สารเคมีที่ถูกต้องได้ผล และที่สำคัญคือต้องปลอดภัยสำหรับผู้ฉีดและสิ่งแวดล้อม ขอแนะนำปิโตรเลียมออยล์ ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป นำมาผสมกับสารเคมีกำจัดแมลงซึ่งค่อนข้างปลอดภัย เช่น เซวิน (S85) หรือมาลาไธออน (Malathion) ฉีดจะกำจัดเพลี้ยแป้งหมากเหลืองได้ชงัดนัก

ทั้งหมากแดงและหมากเหลืองมีศัตรูร่วมกัน คือเพลี้ยแป้งนี่แหละครับ

หมากแดงปลูกให้งามได้ยากกว่าหมากเหลือง ทั้งนี้เพราะหมากแดงมาจากพื้นที่ชื้นจัดกว่านั่นเอง หากเรานำเอาหมากแดงไปปลูกในบางพื้นที่ซึ่งมีความแห้งแล้ง แสงแดดจัด หมากแดงจะไม่งาม สีแดงจะพัฒนาช้า ดูไม่สดชื่นเท่าที่ควร ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าหมากแดงซึ่งปลูกในจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ภาคตะวันออก จึงสวยงามกว่าหมากแดงที่ปลูกในภาคกลาง ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ หมากแดงเป็นปาล์มที่ขยายพันธุ์ได้ยาก และผลที่ได้มักไม่แน่นอน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดหมากแดงจึงมีราคาสูงกว่าหมากเหลืองมาก หากจะเทียบขนาดกัน

หมากเหลือง กับหมากแดง

 

Thailand Web Stat