เรือพระราชพิธี
ในอดีตการคมนาคมทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการขุดคลองเพื่อใช้ในการคมนาคมกันมาก
ในอดีตการคมนาคมทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการขุดคลองเพื่อใช้ในการคมนาคมกันมาก เรือของไทยเราแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เรือหลวงกับเรือราษฎร์ โดยที่เรือหลวงนั้นราษฎรไม่มีสิทธินำมาใช้ เช่น เรือพระราชพิธี ขณะที่เรือราษฎร์ คือเรือทั่วๆ ไปที่ใช้ในแม่น้ำลำคลอง
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบกที่เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค” แล้วการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำคือ “พยุหยาตราชลมารค” ก็เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ในยามบ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงครามเรือหลวงก็จะถูกใช้ฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์ รวมทั้งการทอดกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบแห่แหนเพื่อให้ไพร่พลได้รื่นเริง รวมทั้งราษฎรก็จะสนุกสนานกับการแข่งเรือร้องเพลงเรือ
เรือพระที่นั่งประกอบไปด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เรือจะเป็นรูปหงส์ จะมีพู่ห้อยที่หัวเรือ ฝีพายจะสวมเสื้อสักหลาดสีแดงและกางเกงสีดำ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ที่มีโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร พลพายใช้พายทองและฝีพายจะพายท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งสีพื้นชมพู ใช้พายทองพายท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งภุชงค์สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรีในลำดับชั้นรองใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินในลำคลอง ภายหลังนำเข้ากระบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง นับเป็นเรือลำเดียวที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์จริงและเทพนิยาย เช่น ราชสีห์คชสีห์ นาค เป็นต้น
ส่วนเครื่องแต่งกายของฝีพายประจำเรือนั้นมีปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่4 ตอนที่ว่าด้วยการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคในพ.ศ. 2394 ดังนี้ “เรือมงคลสุบรรณ เรือศรีสุพรรณหงส์นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงินลำละ 5 คน เจ้าพนักงานเป็นนายกำกับลำนุ่งปูมสวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพายลำละ 65 คนใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิงใช้พายทอง”
สิ่งที่มีอยู่บนโลกนี้มักจะถูกกาลเวลาทำให้ผ่านและหายไป เรือพระราชพิธีสิ่งคู่บ้านคู่เมืองเป็นมรดกของประเทศชาติและโลกที่จะไม่มีวันเลอืนหายไปได้หากเรายังคงช่วยกันแม้จะแค่จดจำประเภท ภาพลักษณ์ของเรือนำไปถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้