เจาะเวลาหา ‘ซีรอง’หนังสือที่ควรอ่าน
36 ปี รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกติดปากกันสั้นๆ ว่า “ซีไรต์” มีหนังสือ 3 ประเภทที่มีการประกวด โดยไล่เรียงสลับไปในแต่ละปีคือ นวนิยาย รวมเรื่องสั้น และรวมบทกวีนิพนธ์ ซึ่งมีหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์แล้วถึง 36 เล่ม ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็ล้วนขายดีมีนักอ่านคอยติดตามอย่างเกาะติดในแต่ละปีอยู่แล้วรวมถึงมีการพิมพ์ซ้ำในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องแน่นอนมีหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งแต่ละปีมี 7 เล่มโดยประมาณ เมื่อคูณด้วย 36 ซึ่งเป็นจำนวนปี เท่ากับมีหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายประมาณ 220 เล่มที่หายไปจากวงจรของการอ่าน เนื่องด้วยพลาดรางวัล ทั้งที่ถูกการันตีจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมไทยที่มีคุณภาพ และควรค่าที่จะซื้อหรือหยิบมาอ่าน
36 ปี รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกติดปากกันสั้นๆ ว่า “ซีไรต์” มีหนังสือ 3 ประเภทที่มีการประกวด โดยไล่เรียงสลับไปในแต่ละปีคือ นวนิยาย รวมเรื่องสั้น และรวมบทกวีนิพนธ์ ซึ่งมีหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์แล้วถึง 36 เล่ม ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็ล้วนขายดีมีนักอ่านคอยติดตามอย่างเกาะติดในแต่ละปีอยู่แล้วรวมถึงมีการพิมพ์ซ้ำในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องแน่นอนมีหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งแต่ละปีมี 7 เล่มโดยประมาณ เมื่อคูณด้วย 36 ซึ่งเป็นจำนวนปี เท่ากับมีหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายประมาณ 220 เล่มที่หายไปจากวงจรของการอ่าน เนื่องด้วยพลาดรางวัล ทั้งที่ถูกการันตีจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมไทยที่มีคุณภาพ และควรค่าที่จะซื้อหรือหยิบมาอ่าน
มาฟังความเห็นและมุมมองของนักวิจารณ์วรรณกรรมที่รำลึกความหลังต่อหนังสือดีมีคุณค่าทางวรรณกรรมร่วมสมัยที่เรียกว่า “ซีรอง” เล่มไหนอยู่ในดวงใจของพวกเขากันบ้าง เผื่อเดินเจอในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่กำลังจัดกันอยู่จะได้ซื้อหามาอ่านกัน
คุณค่าเทียบเท่า ‘ซีไรต์’
ไพลิน รุ้งรัตน์ ซึ่งเป็นนามปากกาในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรมของ ชมัยภร แสงกระจ่าง มองว่า หนังสือเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์แต่ไม่ได้รับรางวัล มีหลายเล่มที่น่าสนใจ
“ความจริงคุณภาพของวรรณกรรมตกรอบสุดท้ายซีไรต์นี้ มิได้ต่างจากเล่มที่ได้รางวัลซีไรต์มากนัก บางครั้งอาจขึ้นอยู่กับรสนิยม หรือความชอบของกรรมการ อันกลายเป็นโชคของนักเขียนไปก็มี หนังสือรอบสุดท้ายซีไรต์ที่ดิฉันให้ความสนใจมีด้วยกันหลายเล่ม ขอยกตัวอย่างเฉพาะเล่มที่โดดเด่นและยังอยู่ในความทรงจำ”
เธอได้แนะนำหนังสือที่เรียกด้วยสำนวนของเธอเองว่า นอกรอบซีไรต์ โดยเริ่มจากในกลุ่มนวนิยาย ซึ่งดูว่าไพลินจะชอบหนังสือของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นพิเศษ
“ที่จำได้และรู้ว่าเป็นคู่แข่งหรือคู่ชิงกับเรื่องที่ได้รางวัลในปี 2549 อย่าง ‘เขียนฝันด้วยชีวิต’ ของ ประชาคม ลุนาชัย ซึ่งมีความแน่นของข้อมูล ว่าด้วยเรื่องราวของนักเขียนผู้ต่อสู้จะให้ถึงฝัน กรรมการอาจมองว่าเป็นสารคดีมากไป
แต่ดิฉันไม่สนใจว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่าเรื่องนี้ดีมาก อ่านแล้วต้องร้องไห้ให้กับชีวิตอันหนาหนักของคนจนผู้มีความฝัน เช่นเดียวกับนวนิยายของผู้เขียนคนเดียวกันอีกเล่มหนึ่งที่ตกรอบสุดท้ายเช่นกัน ชื่อ ‘คนข้ามฝัน’ (2543) ซึ่งเขียนถึงการต่อสู้ของคนทะเลได้อย่างเข้าถึง แม้ตอนจบจะดูเหมือนหลีกหนีความฝันหรือเพ้อฝันมากไปหน่อย แต่ดิฉันก็ไม่เห็นเป็นข้อบกพร่อง ตอนนั้นที่ตกรอบยังไม่มีข่าวนักการเมืองหนีคดีไปอยู่ตามเกาะชายแดน แต่พอมีเรื่องนี้ดิฉันนึกถึงนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาทันที อีกเล่มหนึ่งของคนเขียนคนเดียวกัน เรียบง่าย งดงาม และเข้ารอบสุดท้ายเช่นกันก็คือ ‘ฝั่งแสงจันทร์’ (2540) เป็นนวนิยายเกี่ยวกับทะเลที่ตกรอบ”
เล่มอื่นๆ ในประเภทนวนิยายที่อยู่ในใจของเธอเสมอมา เมื่อนึกขึ้นมาก็จำได้ทันที มีความประทับใจที่มิอาจลืมหลังจากได้อ่าน “เรื่องที่เกี่ยวกับทะเลที่ชอบอีกเล่มคือ “เสียงเพรียกจากท้องน้ำ”(2546) ของ ประทีป ชุมพล แม้จะดูเหมือนสารคดีอยู่มาก แต่เรื่องราวและโศกนาฏกรรมของชาวอูรักลาโว้ย ก็ทำให้น้ำตาไหลได้ เช่นเดียวกับ นวนิยายชื่อ “ปลายนาฟ้าเขียว” (2534) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็เป็นเล่มที่ทำให้ดิฉันอิ่มอกอิ่มใจและมองเห็นกระบือสวยเป็นครั้งแรกในชีวิต เช่นเดียวกับเล่ม “คือรักและหวัง” นวนิยายของผู้เขียนคนเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน อีกเล่มหนึ่งที่ชอบมากคือ “ชะบน” (2537) ของ ธีระยุทธดาวจันทึก ว่าด้วยเรื่องของคนในชนเผ่าคนสุดท้ายเรียบง่ายแต่สะเทือนอารมณ์ อ่านแล้วจำฝังใจ นวนิยายตกรอบสุดท้ายอีกเล่มหนึ่งที่ชอบมากคือ “เรื่องเล่าในโลกลวงตา” (2555) ของ พิเชษฐ์ศักดิ์โพธิ์พยัคฆ์ ซึ่งเป็นนวนิยายขนาดสั้น แต่สามารถเขียนถึงโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการและภาวะทางอารมณ์ได้อย่างสุดๆ อ่านแล้วอึ้งและทึ่งในความลึกและถั่งท้นของผู้เขียน”
ในกลุ่มของหนังสือรวมเรื่องสั้น ไพลินทบทวนความทรงจำถึงเล่มที่เข้ารอบสุดท้ายได้ทันทีและจำฝังใจก็คือ “คนบนต้นไม้” (2527) ของ นิคม รายยวา ที่แสดงความเข้าใจชีวิตสูง มีความคิดเชิงปรัชญา อีกเล่มก็คือ “ชีวิตสำมะหาอันใด” (2545) ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ซึ่งเข้มข้นและสากระคายในความเป็นชีวิต แต่ทำให้เข้าถึงความเป็นชีวิตที่ถูกกระทำได้จริงๆ
“เช่นเดียวกับรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘อิสรภาพและความตาย’ (2539) ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เล่มนี้ดิฉันก็ชอบมาก เพราะมีประเด็นหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่ละเรื่องก็ลึกซึ้ง บางเรื่องมีลักษณะเชิงเสียดสีด้วย สะใจและขำดี ส่วน ‘ตุลาคม’ (2539) ของไพฑูรย์ ธัญญา ที่เข้ารอบพร้อมกันก็ชอบมากเช่นกัน เพราะสะท้อนภาพสังคมไทยอย่างถึงแก่น ในหลายประเด็น”
ส่วนรวมเล่มกวีนิพนธ์ที่เธอจำได้ว่าชอบก็คือ “เงาไม้ลายรวง” (2535) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร เพราะมีคำงาม ลึกซึ้ง และได้อารมณ์อยู่มาก
“ความจริงมีอีกหลายเล่ม แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายก็ถือว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจอยู่ เพียงแต่โชคไม่ดีที่ไม่ได้รางวัลเท่านั้นเอง”
“กาลเวลา” จะพิสูจน์ว่า เป็นวรรณกรรมชั้นดีของไทยหนังสือซีรองที่โดดเด่นและควรค่าแก่การเป็นหนังสือวรรณกรรมชั้นดีที่ไม่ควรลืม เริงวุฒิมิตรสุริยะ ผู้ใช้นามปากกาว่า กิริยากร ในการเขียนงานวิจารณ์วรรณกรรมซึ่งถือว่า ร้อนแรงและคมเข้มอย่างมากในยุคเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาบอกเกณฑ์ในการคัดหนังสือดีซีรองของตัวเองว่า
“แน่นอนหลายคนอาจจะถามว่า รุ่นหลังๆ ไม่มีงานซีรองที่น่ากล่าวถึงเลยหรือ คำตอบคือ มีครับ และมีมากเสียด้วย เพียงแต่ผมพยายามมองในมุมที่หนังสือเดินทางด้วยตัวมันเอง จนสามารถกล่าวได้ว่างานนั้นๆ คลาสสิกไปแล้วต่างหาก ซึ่งงานรุ่นหลังๆ ที่ว่านั้นกำลังทำงานด้วยตัวของมันเองอย่างขะมักเขม้น และกาลเวลาจะพิสูจน์ตัวมันเอง ที่สำคัญยิ่งไปกว่าคือ ที่แท้และแน่นอนผมเชื่อว่าหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์มา
ในแทบทุกปี อย่างน้อยที่สุดมันย่อมเป็นหนังสือที่มีคุณภาพในระดับแถวหน้าในปีนั้นๆ อยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว และก็ใช่ว่าหนังสือที่ได้ซีไรต์ในแต่ละปีจะเป็นหนังสือที่ดีที่สุดในปีนั้น แต่ที่มันได้รับเลือกมานั้นมีองค์ประกอบอื่นรวมเข้ามาด้วยต่างหาก ดังนั้นหนังสือทุกเล่มที่เข้ารอบมารวมถึงที่ได้รางวัลจึงคู่ควรจะเป็นหนังสือชั้นดีที่เราต้องสนับสนุนและส่งเสริมกันต่อไป ไม่เว้นถึงหนังสืออีกหลายเล่มที่ไม่ได้เข้ารอบในการประกวดด้วยเช่นกัน”
หนังสือที่กิริยากรมองว่า แม้สถานะของมันจะเป็นเพียง “ซีรอง” หากแต่โดยคุณค่าแล้วมันมีไม่แพ้การเป็นหนังสือรางวัลซีไรต์ก็คือ นวนิยาย “ตะกวดกับคบผุ” (2528) ของ นิคม รายยวา
“นวนิยายเรื่องเยี่ยมเรื่องนี้วาดภาพสังคมไทยได้อย่างลุ่มลึกและมีชั้นเชิง หนำซ้ำกลวิธีการเขียนก็ยังใช้สัญลักษณ์ในการสื่อภาพสื่อเรื่องราว หรือแก่นแกนที่ผู้เขียนนำเสนอได้อย่างเหนือชั้น ไม่แน่ใจเช่นกันว่า นี่คือนวนิยายเรื่องแรกของนิคม รายยวา หรือเปล่า แต่ที่จำได้คือครั้งนั้นพิมพ์กับสำนักพิมพ์ต้นหมาก หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ งานเขียนของนิคม รายยวา ในเวลาต่อมาคือ ‘ตลิ่งสูงซุงหนัก’ ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2531 มีคนชื่นชอบและยกย่องกันอย่างสูง แต่หลายคนเช่นกันที่บอกว่า หากเทียบกับ ‘ตะกวดกับคบผุ’ แล้ว นวนิยายเรื่องตะกวดฯ ดีเด่นกว่าและชัดเจนกว่า”
นวนิยายเล่มต่อมาที่กิริยากรชื่นชอบ “คือรักและหวัง” (2528) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“โดดเด่นในฐานะงานวรรณกรรมสัจจนิยมที่สะท้อนภาพของสังคมไทยในช่วงเวลานั้นอย่างมาก เป็นหนึ่งในงานเขียนที่ถือเป็นหลักหนึ่งที่สำคัญในประวัติวรรณกรรมของ วัฒน์ วรรลยางกูร
ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้ เรื่องราวที่ผู้เขียนนำเสนอก็ดูเหมือนจะยังสามารถตอบโจทย์ทางสังคมของไทยเราได้อย่างดี หรือหากให้พูดอีกมุมก็ว่า เอากลับมาอ่านเมื่อไร สังคมไทยเราก็ยังเป็นอย่างที่หนังสือว่ามานั่นล่ะ เป็นงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมที่คนไทยต้องรู้จักหามาอ่าน”
รวมบทกวีนิพนธ์ “คำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจ” (2529) ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม กิริยากรชี้ว่า เป็นงานกวีที่ผู้เขียนเขียนขึ้นในวัยหนุ่ม เป็นงานกวีที่สวย และสมบูรณ์มากเล่มหนึ่งทั้งด้านภาษาและความคิดที่ดูแหลมคมมีมุมมองและทัศนคติที่น่าชื่นชมสนใจ
“หากใครได้อ่านจะพบว่า พลังวัยหนุ่มของไพวรินทร์ที่เขาถ่ายทอดออกมาในเวลานั้น มีทั้งอารมณ์สร้างสรรค์และจิตวิญญาณของการเป็นกวี
อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งในเวลาต่อมาไพวรินทร์ก็สามารถนำ’ม้าก้านกล้วย’ คว้ารางวัลซีไรต์ในปี 2538 ได้สำเร็จ”
ปี 2530 รวมเรื่องสั้น “มัทรี” ของ ศรีดาวเรือง กิริยากรมองว่า เป็นหนึ่งในงานเรื่องสั้นที่สมบูรณ์เล่มหนึ่งของวรรณกรรมไทย
“เป็นปีที่ยอดฝีมือมีงานเข้ารอบกันมาอย่างคับคั่งอีกปีหนึ่ง โดยเฉพาะ ‘มัทรี’ นั้นโดดเด่นทั้งเนื้อหาที่สะท้อนภาพชีวิตสังคมไทยผ่านการบอกเล่าอย่างมีชั้นเชิง ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นชั้นครู ซึ่งหากว่าไปแล้วจนถึงวันนี้ มัทรี ก็ยังเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นไทยที่น่าจะถือว่าเป็นเสาหลักหนึ่งของวงการวรรณกรรมได้ด้วยเช่นกัน กระนั้นในวันหนึ่งมันเป็นได้แค่เพียงซีรองเท่านั้น”
หนังสือนวนิยายคุณภาพชั้นดีอีกเล่ม “งู” (2531) ของ วิมล ไทรนิ่มนวลกิริยากรยกให้เป็นหนึ่งในนวนิยายที่อยู่ในความทรงจำของนักอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่ง
“นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นมาอย่างประณีต บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนภาคกลางของประเทศผ่านสัญลักษณ์คือ ‘งู’ ซึ่งทำได้อย่างดีเยี่ยม ในสายตาของผม มองว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นงานมาสเตอร์พีซที่สุดของวิมล”
หากย้อนประวัติการประกวดรางวัลซีไรต์ลงไปแล้วจะพบว่า งานกลอนเปล่าที่เข้ารอบซีไรต์เป็นเล่มแรกนั่นคือ รวมบทกวีนิพนธ์ “ของขวัญจากวันเวลา” (2532) ของ มุฮัมหมัด ส่าเหล็ม ซึ่งกิริยากรบอกว่า ถือเป็นงานมาสเตอร์พีซของกลอนเปล่าในเมืองไทยเล่มหนึ่ง
“มุฮัมหมัด ส่าเหล็ม เป็นอีกเสาหลักหนึ่งที่เขียนกลอนเปล่าได้อย่างน่าอ่านและมีเสน่ห์อย่างมาก ซีรองเล่มนี้ กระแทกใจและความรู้สึกของคนอ่าน ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง สื่อเสนอเนื้อหาและสาระที่ผู้เขียนบอกผ่านอย่างเป็นกันเอง แต่ตราตรึงในความรู้สึกได้อย่างมีเหตุมีผล และที่สำคัญโดยองค์รวมแล้วมุฮัมหมัดก็นำเสนอเรื่องราวของสงครามและสันติภาพที่ใครได้อ่านแล้วจะไม่รู้สึกถึงความโหดร้าย หากแต่กลับเห็นอีกด้านที่น่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะกลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่คนไทยควรหามาอ่านอย่างยิ่ง”
นวนิยายที่น่าจดจำอีกเล่มหนึ่งในมุมมองของกิริยากร คือ “ชะบน” (2537) ของ ธีระยุทธดาวจันทึก
“มาจนถึงวันนี้นักอ่านหลายคนยังคงกล่าวถึงงานเล่มนี้ หากแต่น่าแปลก เท่าที่จำได้หนังสือเล่มนี้ถูกจัดพิมพ์มาเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีพิมพ์ซ้ำ ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวของชายเฒ่าผู้ไม่ยอมแพ้หรือเป็นผู้แพ้ต่ออุดมคติที่ตนเองยึดมั่น เรื่องราวของชาวชะบน หรือชาวบน ที่วันนี้ยังสามารถฉายภาพความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท วิถีกับอุดมคติได้อย่างดีเยี่ยมอีกเล่มหนึ่งของไทยเรา ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมีฝีมือในการบรรยายภาษาอย่างมากชนิดที่กล่าวได้ว่าอ่านไปแล้วได้กลิ่นเขียวๆ ของร่มพฤกษ์ใบเขียวของป่าอันอุดมสมบูรณ์ โดยมีกลิ่นของเมืองที่รุกล้ำเข้ามายั่วล้อและท้าทายได้อย่างดียิ่งทีเดียว และนี่คือหนึ่งในซีรอง ที่น่าจะหามาอ่านและเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติอีกเล่มหนึ่ง”
เล่มสุดท้าย เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า “คน สัตว์ สิ่งของ” (2539) ของ อิสระ ชูศรีที่โดดเด่นทั้งการนำเสนอ มุมมอง และเรื่องราวที่ผู้เขียนสื่อออกมาแก่ผู้อ่าน
“งานเล่มนี้หยิบจับเอาเรื่องราวรอบตัวของคนเมืองมาบอกผ่านตัวอักษรที่เชี่ยวกรำทางภาษาได้อย่างดียิ่ง สิ่งที่อิสระ ชูศรี นำเสนอในงานของเขาเล่มนี้ พร่างพรายไปด้วยสัญลักษณ์และการตีความที่ทันสมัยและก้าวหน้า เป็นหนึ่งในงานที่เราจะเรียกว่าโพสต์ โมเดิร์น ยุคแรกๆ ของไทย กระนั้นด้วยคุณค่าของงานอยากจะบอกว่า ใครมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ นับได้ว่าคุณคือนักอ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่แท้จริง”