posttoday

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

26 ตุลาคม 2557

ในเส้นทางปั่นจักรยานชมเมืองเก่านั้น มีอยู่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพุทธ

ในเส้นทางปั่นจักรยานชมเมืองเก่านั้น มีอยู่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพุทธ สิ่งที่ทำให้จุดนี้เป็นจุดที่น่ามาเยี่ยมเยือน ก็เพราะเป็นจุดรวมชุมชนเก่าแก่ที่สุดชุมชนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรืออาจจะเรียกได้ว่า เก่าแก่พอๆ กับยุคเริ่มสร้างกรุงเทพมหานครก็ว่าได้

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

หากคุณขับรถข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้า คุณมองเห็นพระบรมธาตุมหาเจดีย์สีขาวตระการตา หนึ่งในพระมหาเจดีย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นมาของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารนั่นก็น่าสนใจไม่น้อย กล่าวกันว่า ในช่วงเวลาหนึ่งเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้เชื่อพระวงศ์และขุนนางน้อยใหญ่ในราชสำนักสร้างวัดกันทุกคน ทรงส่งเสริมให้ขุนนางสร้างวัด และหนึ่งในวัดแรกๆ ที่ขุนนางสร้างตามพระราชดำริก็คือ วัดประยุรวงศาวาส ดังมีคำกลอนสลักว่า

"ยังไม่เปรมเอมอิ่มพระกุศล บำเพ็ญผลต่อไปไม่หน่ายหนี ดำริการหว่านผลกับมนตรี จะให้มีศรัทธาสร้างอาราม หวังจะให้ได้ผลกุศลมาก บริจาคทรัพย์หลวงออกตวงหาม ให้มนตรีสุริยวงศ์ผู้ทรงนาม ไม่สังกัดนับชั่งในสังขยา สุริยวงศ์ ทรงรับกับพระยา ก็ปรีดาปราโมทย์ด้วยโปรดปราน ฯลฯ ฯลฯ

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 


คุณพระคลังสร้างใหม่ท้ายบุรี ชื่อนพคุณทารามอร่ามศรี ลงบัญชีชื่อวัดประยูรวงศ์ วัดพระยาศรีพิพัฒน์บัญญัตินาม พระยาญาติการามงามระหง ฯลฯ ฯลฯ


วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดรั้วเหล็ก" เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน รั้วเหล็กนี้สูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธคือ หอก ดาบ และขวาน ว่ากันว่ารั้วเหล็กนี้สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจึงขอพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด ซึ่งเราก็ยังเห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้สร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ถือว่าเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากประเทศพม่ามาประดิษฐานไว้ การสร้างวัดได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 ส่วนพระมหาเจดีย์สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2398

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

จนกระท่ังในปี พ.ศ. 2553 ทางวัดได้มีโครงการบูรณะพระบรมมหาธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ในรอบ 180 ปี เนื่องจากเสาแกนกลางหรือเสาครูของเจดีย์หักเอียง เมื่อแรกช่างซ่อมคิดจะรื้ออิฐแกนกลางเสาครูออกแล้วก่อใหม่ ทางกรมศิลปากรเข้ามาดูแล้วคิดว่าไม่ควร เพราะพระบรมมหาเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์องค์เดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเสาแกนกลางจึงทำการซ่อมแซมและใช้โครงเหล็กค้ำใหม่ให้มีความแข็งแรงขึ้น จนได้รับรางวัลจากยูเนสโก เอเชียแปซิฟิก อวอร์ด อันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2556

นอกจากนี้ ยังพบกรุพระและข้าวของเครื่องใช้มากมายระหว่างการบูรณะซ่อมแซม ทางวัดจึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชั้นล่างของเจดีย์โดยรวมรวม พระเครื่อง และข้าวของเครื่องใช้สงฆ์ที่เป็นศิลปะโบราณทรงคุณค่าไว้อย่างเป็นระเบียบให้นักท่องเที่ยงได้เข้าชม และยังสามารถขึ้นไปนมัสการพระธาตุที่อยู่ด้านบนได้ด้วย ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก สามารถขอได้ทั้งเรื่องงานและครอบครัว ถ้าใครมีเคราะห์ก็จะเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ในตัว

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

เพราะทางขึ้นนั้นสูงชันแคบขึ้นลำบาก ต้องอาศัยความพยายาม ส่วนทางออกนั้นเป็นช่องเล็กๆ ที่มีพระพุทธรูปวางประดิษฐานอยู่ด้านบน เราต้องมุดคลานออกไป มีหัวโขกบ้าง เอวกระแทกบ้าง ให้ถือเป็นการเจ็บตัวแก้เคล็ดตามความเชื่อโบราณ ก็ได้ทั้งการออกกำลังกายและสะเดาะห์เคราะห์ไปในตัว

ถัดจากการชมพิพิธภัณฑ์ เราแนะนำให้ไปที่พระวิหารหลวงพ่อพระพุทธนาค พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กับพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม พระพุทธนาคได้รับอัญเชิญจาก จ.สุโขทัย มาประดิษฐานเมื่อปี  พ.ศ. 2374 ก่อนที่เราจะเดินลัดเลาะไปที่ซอยโบสถ์ซางตาครู้ส เพื่อไปชมโบสถ์คาทอลิกแห่งที่ 2 ของประเทศ และชุมชนชาวจีนที่มาตั้งรกร้างในแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

ย่านกุฎีจีน

ชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี มองไปที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเห็นอยู่ฝั่งตรงข้ามปากคลองตลาด มองไปด้านขวาจะเห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้า และด้านซ้ายเป็นวัดอรุณราชวราราม เชื่อว่าถ้าใครได้มาเห็นมาเยี่ยมเยือนคงล้วนกลับบ้านด้วยความประทับใจกันทุกคน ซึ่งน่าชื่นชมว่าชาวชุมชนนี้นั้นแสนฉลาดที่เอาจุดแข็งของชุมนด้วยความที่เป็นชุมชนเก่าแก่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มาสร้างชื่อเสียงและรายได้เป็นกอบเป็นกำ

กล่าวกันว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานที่ดินเพื่อ ให้แก่ชาวจีนและชาวโปรตุเกสได้สร้างที่อยู่อาศัยกุฎีจีน หรือเรียกว่า กะดีจีน พ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งอยู่ริมคลองวัดกัลยาณ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และกลุ่มคนหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง ญวน มอญ ฯลฯ ที่อพยพจากกรุงเก่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

ส่วนชาวโปรตุเกสนั้น คุณพ่อกอรร์ (Corre) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งพาพวกเข้ารีตลี้ภัยไปที่เขมรได้เดินทางมายังบางกอก พร้อมชาวคริสตังและชาวโปรตุเกสราว 400 คน เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้บริเวณริมน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อที่ดินนี้ว่า "ค่ายซางตาครู้ส" จากนั้นคุณพ่อกอรร์และคริสตังได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้น และเรียกว่า โบสถ์ซางตาครู้ส แปลว่า ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งโบสถ์แห่งนี้นับเป็นโบสถ์คาทอลิกแห่งที่ 2 ในประเทศไทย

เวลาผ่านไปได้มีการบูรณะโบสถ์ถึง 3 ครั้ง ตามกาลเวลาที่ทรุดโทรม อีกทั้งโบสถ์ไม้ที่สร้างครั้งแรกก็ถูกเพลิงไหม้จนหมดสิ้น โดยครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2459 บาทหลวงกูเลียล โมกิ๊น ดาครูส ได้สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนสมัยเรอเนสซองซ์ ที่เรียกว่า แบบนีโอคลาสสิก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 


ส่วนชาวมุสลิมที่อยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มชน ส่วนใหญ่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โดยมีสุเหร่าต้นสน หรือกุฎีใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เรียกได้ว่าย่านนี้เป็นย่านศูนย์รวมหลากเชื้อชาติศาสนามากที่สุดของประเทศไทยแห่งหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก แต่ที่ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นการอยู่ร่วมกันโดยไม่แตกความสามัคคีที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน

ทำให้นักท่องเที่ยวนิมยมนั่งเรือมาชม บางส่วนก็ปั่นจักรยานมาเป็นหมู่คณะชมชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องมีไกด์ เพราะเกือบทุกบ้านจะบอกประวัติความเป็นมาหรือจุดเด่นของตัวเอง เช่น บ้านหลังหนึ่งที่ชื่อเรือนจันทนภาพ ก็ติดป้ายเล่าว่า บ้านของเขาเป็นเรือนไทยเครื่องทรงสับจั่วจอมแหอายุมากกว่า 100 ปี ผสานการตกแต่งเรือนอย่างชาวคาทอลิกที่ลงตัว ใครผ่านไปผ่านมาก็อดยืนชมบ้านหลังนี้เสียไม่ได้

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

บ้านอีกหลังชื่อร้านธนูสิงห์เจ้า ของตำรับขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมฝรั่งชิ้นแรกของคนไทยที่ได้รับอิทธิพลการทำขนมมาจากชาวโปรตุเกส หรืออย่างบ้านสกุลทอง ก็ติดป้ายว่าเป็นร้านยาเหล้าขมยาพื้นบ้านที่พึ่งของชาวบ้านในสมัยก่อน ที่สุดของชุมชนก็เห็นจะเป็นบ้านของช่างภาพหลวงสมัยรัชกาลที่ 4 ฟรานซิส จิตร หรือ จิต จิตราคนี ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส แม้ตัวบ้านจะปิดรั้วแต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเคาะประตูขอเข้าชมได้

กลายเป็นว่าชุมชนนี้บ้านทุกหลังกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอยู่จริงมีตัวตนจริง ที่นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ตลอดเวลา ซึ่งชุมชนเก่าแก่ชุมชนอื่นก็สามารถเอาเป็นแบบอย่างได้ ขอเพียงแค่มีเรื่องราวของแต่ละบ้านและความสามัคคีเท่านั้นก็พอ จบจากการเดินชมเราหิ้วขนมฝรั่งกุฎีจีนนั่งรับประทานริมแม่น้ำเจ้าพระยามองความจอแจของเรือโดยสารที่สัญจรในแม่น้ำก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าด้านหลังวัดอรุณ

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

 

พิพิธเพลินเลียบเชิงสะพานพุทธ ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ