เรื่องของเฟินก้านดำ
เฟินก้านดำอยู่ในสกุล Adiantum นับเป็นสกุลใหญ่ เพราะมีจำนวนชนิดประมาณ 200 ชนิด (Species)
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
วันที่ 23 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันปิยมหาราช ซึ่งคนไทยทราบกันดีว่าเป็นวันที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเลิกทาสและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่แผ่นดินไทยอย่างมากมายในหลายสาขา
พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชทรงโปรดไม้ใบ เช่น ปาล์ม และเฟินอยู่มิใช่น้อย ดังมีหลักฐานว่าพระองค์ทรงโปรดให้ดุ๊ก (กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ) พระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งเฟินก้านดำที่เรียกว่าขนนกก้านอ่อนจากหมู่เกาะบาร์บาโดสและนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์
เฟินก้านดำอยู่ในสกุล Adiantum นับเป็นสกุลใหญ่ เพราะมีจำนวนชนิดประมาณ 200 ชนิด (Species) ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเพาะเลี้ยงกันทั้งในเขตร้อน แม้แต่เขตอบอุ่นในประเทศไทยมีเฟินก้านดำอยู่ประมาณหลายสิบชนิดในธรรมชาติที่กล่าวถึงนี้ไม่รวมชนิดและพันธุ์ ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถาง
ชื่อสกุลเฟินก้านดำ (Adiantum) มาจากภาษากรีกโบราณคือ Adiantos แปลว่าแห้ง (dry) เพราะใบของเฟินก้านดำจะสลัดหยดน้ำออกได้ โดยใบของมันจะไม่เปียกเลย
เฟินก้านดำ (Maidenhair) ปัจจุบันมีชนิดและพันธุ์ต่างๆ ให้เลือกหามาปลูกเลี้ยงมีอยู่หลายสิบแบบ บางชนิดปลูกเลี้ยงง่าย บางพันธุ์ปลูกเลี้ยงไม่ง่ายนัก ต้องสร้างสภาพแวดล้อมพิเศษให้จึงจะอยู่ได้ แต่รับรองได้ว่า ไม่เกินความสามารถของเรานัก ถ้าเรารักเฟิน
เฟินก้านดำมีความสวยงามอยู่ที่ใบ ซึ่งมีความละเอียดแบบบาง สีแตกต่างกันตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวอมเหลือง เหลืองมะนาว ชมพู ชมพูอมแดง ม่วง เขียวอมฟ้า และแม้แต่สีขาวสนิท สีเงิน สีทอง และแม้แต่สีม่วงเข้มจนเรียกได้ว่าสีดำก็ยังมี ภาษาละตินของชื่อสกุล (Adiantum) แปลตามตัวว่า “Unwetted” “ไม่เปียก” ในภาษาไทยหมายถึงใบของมันมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่เปียกน้ำ คล้ายใบบัวหลวง (Nelumbo lotus) ดังได้กล่าวมาแล้ว เฟินก้านดำชอบอากาศเย็นชื้นและเติบโตได้เร็วมาก ต้องเปลี่ยนเครื่องปลูกทุกปี เพราะรากจะพันเกาะกันเต็มกระถาง
เฟินก้านดำมีอยู่มากมายหลายชนิดหลายพันธุ์ เช่น เฟินก้านดำกระจอกจิก (Adiantum capillus-veneris) พบตามหน้าผาหินปูนใกล้แนวน้ำตก ชายป่าดงดิบ พบทั่วไปทุกภาค ชนิดนี้มีหลายพันธุ์นำมาปลูกประดับสวนหิน ทำเขามอได้ดี ปลูกกลางแจ้งในกรุงเทพยังได้ หากให้ความชื้นพอเพียงและสม่ำเสมอ เฟินก้านดำวีนัส (Venus’s maidenhair fern : A.raddianum มีพันธุ์ปลูกการค้ามากมายนับร้อย นับเป็นชนิดของเฟินก้านดำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน เฟินก้านดำใบสามเหลี่ยม (delta maidenhair fern) เฟินขนนก (A.tenerum) มีหลายสิบพันธุ์ปลูก นิยมใช้ปลูกในกระถาง เติบโตจนเป็นกอใหญ่ยักษ์ พันธุ์หนึ่งของ A.tenerum ที่ได้รับความนิยมมากคือเฟินนกก้านอ่อน A.teneram Farleyense ซึ่งเติบโตได้ถึง 20 นิ้ว มีก้านใบงอโค้งลง ใบอ่อนแบบบางดูฟูฟ่องราวขนนกจริงๆ เฟินก้านดำชนิดนี้ถูกนำมาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งทรงโปรดเฟินก้านดำเป็นอย่างยิ่ง เฟินก้านดำอีกพันธุ์ ได้แก่ A.tenerum wrightii มีใบย่อยแผ่กว้างรูปครึ่งวงกลมคล้ายพัดกางซ้อนกัน
เฟินก้านดำทุกชนิดชอบความชื้นสูงสม่ำเสมอ แต่ต้องการแสงจัด หากจะเทียบกับเฟินอื่น เราจำเป็นต้องมุงหลังคาโรงเรือนด้วยพลาสติกใสอย่างหนาให้ นอกเหนือจากใช้ซารานเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ก็พอ ระบบการให้น้ำควรเป็นระบบพ่นหมอก และให้นำในกระถางโดยใช้ระบบหัวน้ำหยด โดยที่ระบบพ่นหมอกต้องเป็นละอองเล็กละเอียด อย่าให้ใบเปียกน้ำจะเป็นการดี
เครื่องปลูกเฟินก้านดำควรใช้ดินผิว (ดินตะกอนที่ร่วนละเอียด) 1 ส่วน ผสมใบก้ามปูผุ (หมักแล้ว 3 เดือน) ส่วนทรายหยาบ ½ ส่วนและปุ๋ยคอกเก่าๆ อีก ½ ส่วน จากนั้นจึงเติมปูนมาร์ล หรือผงปูนขาวลงในเครื่องปลูกประมาณ 300 กรัม ต่อเครื่องปลูกหนึ่งลูกบาศก์เมตร บางคนใช้เปลือกถั่วลิสงหรือแกลบสด (หลังหมักแล้ว 6 เดือน) เป็นส่วนผสมในเครื่องปลูก (มีข้อแม้ว่าการหมักคุณจะต้องรอให้ผุพังสลายตัว หมดความร้อนเสียก่อนจึงจะเหมาะสมที่สุด
การขยายพันธุ์เฟินก้านดำ ทำให้ทั้งการแบ่งกอและการเพาะสปอร์เฟินก้านดำมีความหลากหลายดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นเราจึงใช้ประโยชน์จากเฟินก้านดำได้หลายรูปแบบ เช่น ปลูกเป็นไม้กระถางไว้ประดับในบ้านเรือน ปลูกลงแปลงเป็นไม้ตัดใบส่งตลาด ปัจจุบันในโครงการหลวงมีการปลูกเฟินก้านดำไว้ตัดใบ ย้อมสี ทับอัดแห้ง ใช้จัดกรอบรูป การ์ดอวยพร ที่คั่นหนังสือ รวมทั้งใช้จัดเข้าช่อบุเก้ จัดแจกันขนาดเล็กได้น่ารักมาก ใบเฟินก้านดำบางชนิดเช่น เฟินจอนหู (A.trapeziforme) เฟินก้านดำใบร่ม (A.polyphyllum) มีก้านสีดำขลับ ก้านหนาใบใหญ่ ใช้ฟอกสี ย้อมสีได้ดี เป็นวัสดุจัดช่อดอกไม้แห้งที่ดีและมีราคาสูงในกระบวนไม้ตัดใบด้วยกัน เพราะเรารักษาความสดสวยไว้ได้นานแม้จะแห้ง ปราศจากน้ำในเซลล์แล้วก็ตาม