ชะตากรรมเหรียญบาท...เดียวดายอย่างด้อยค่า
ลองให้เหรียญ 1 บาท มีปากเหมือนคนดูซิ ... คุณจะพบว่ามันโอดครวญหดหู่ระคนน้อยเนื้อต่ำใจเต็มทน
ลองให้เหรียญ 1 บาท มีปากเหมือนคนดูซิ ... คุณจะพบว่ามันโอดครวญหดหู่ระคนน้อยเนื้อต่ำใจเต็มทน
คุณอาจจะได้พบว่าเหรียญ 1 บาท ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าไร้ความหมาย ในสังคมยุคที่น้ำมัน 3 ลิตรทะลุร้อย ข้าวของพาเหรดขึ้นราคาชนิดที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด
ตอนหนึ่งในจดหมายลาตายซึ่งถูกวางทิ้งไว้ ก่อนที่เหรียญ 1 บาท จะตัดสินใจกระโดดลงเบ้าหลอม
“ถ้าชาติหน้ามีโอกาสเกิดเป็นเหรียญ ... ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ฉันเกิดเป็นเหรียญดอลลาร์ เหรียญยูโร หรือเหรียญ 100 เยน ด้วยเถิด หรือถ้าขอมากเกินไป อย่างน้อยๆ ขอเกิดเป็นเหรียญ 10 บาท ก็ยังดี”
ปี 2557 ค่าของเงิน 1 บาท ถูกลดทอนกลายเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ จนไม่สามารถอยู่ได้โดยคุณค่าของมันเอง
ในวันที่เงิน 1 บาท กลายเป็นลูกเจี๊ยบ มีชะตากรรมไม่ต่างจากเหรียญสลึง @weekly ฉบับนี้ ชวนสำรวจว่า 1 บาทในกระเป๋าคุณ ณ วันนี้ ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน??
ทำกุศล
แม้เงินจำนวน 1 บาท จะมีค่าไม่มาก หากแต่วางอยู่บนเจตนาที่เป็นกุศล-ตั้งมั่นในกรรมดี เงิน 1บาทของคุณก็สามารถก่อกำเนิดเนื้อนาบุญที่กว้างใหญ่ไพศาล ฉะนั้นแล้วอย่าเหนียมอายที่จะหยอดเหรียญ 1 บาท ลงในกล่องรับบริจาค
แต่ถ้าเป็นการบริจาคแก่ “ขอทาน-วณิพก” ลองคุณใส่เหรียญ 1 บาท ลงในขันหรือกระป๋อง มีโอกาสสูงที่คุณจะถูกชักสีหน้าเหยียดหยาม ... ให้ถือว่าเป็นบททดสอบทางจิตใจของคุณว่ามีขันติธรรมมากน้อยเพียงใดก็แล้วกัน
หยอดตู้น้ำ
เหรียญ 1 บาท นับว่ามีความสำคัญต่อผู้อยู่อาศัยในหอพัก แมนชั่น อพาร์ตเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องกรองน้ำ หรือไม่นิยมซื้อน้ำบรรจุขวดซึ่งสนนราคาแพงถึงขวดละ 12-13 บาทต่อ 1.5 ลิตร นั่นเพราะเหรียญ 1 บาทสามารถหยอดตู้กดน้ำได้ถึง 1 ลิตร แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้น้ำดื่มครบ 1 ลิตรจริงๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นมีโอกาสสูงที่คุณจะถูกตู้น้ำกินเหรียญไปหน้าตาเฉย
ซื้อลูกอม
เงินจำนวน 1 บาท ยังสามารถซื้อลูกอมได้อยู่ แต่ก็มีเพียงน้อยร้านที่จะยอมขายคุณ เงิน 1 บาทของคุณซื้อลูกอมได้มากที่สุดคือ 1 เม็ด ขณะที่ราคามาตรฐานในปัจจุบันอยู่ที่ 3 เม็ด 2 บาท
ถ่ายเอกสาร
ข้อนี้แหละที่ทำให้เงิน 1 บาทของคุณดูมีคุณค่าเต็มจำนวน เพราะคุณสามารถถือเหรียญ 1 บาทเข้าไปในร้านถ่ายเอกสารได้อย่างไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ถ่ายสำเนาขนาดเอ 4 ราคาแผ่นละ 1บาท หรือคุณอาจขอซื้อกระดาษเปล่าได้ 1-2 แผ่นเลยทีเดียว แต่ก็อย่างว่า มีบ้างแล้วที่ปรับขึ้นราคาถ่ายเอกสาร โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่คุณอาจถูกเก็บถึงแผ่นละ 2 บาท หรือมากกว่านั้น
ซื้อน้ำแข็ง
เดิมแล้วน้ำแข็งเป็นบริการของร้านอาหารตามสั่ง-ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่จะให้ฟรี แต่ทุกวันนี้พบว่าจะขายในราคาแก้วละ 1 บาทเป็นขั้นต่ำ บางร้านที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ หรือตกแต่งหรูหรา น้ำแข็งเปล่าอาจแพงถึงแก้วละ 3-5 บาทเลยทีเดียว แต่เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับเหรียญ 1 บาทนาทีนี้ยังพูดได้เต็มปากว่าสามารถซื้อหาน้ำแข็งมาเคี้ยวเล่นๆ คลายร้อนได้
ซื้อลูกชิ้นแป้ง-ไส้กรอกอีสาน
เหล่านี้ไม่ใช่อาหาร ว่ากันตรงๆ เป็นเพียงสิ่งประทังท้องได้ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น และเงิน 1บาท สามารถซื้อได้เพียง 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นแป้งทอด ไส้กรอกแป้งทอด รวมถึงไส้กรอกอีสานหัวนม แต่ก็เข้าสู่ข้อจำกัดเดิมๆ คือ มีบางร้านยอมขายให้ บางร้านไม่ขาย หนำซ้ำถ้าคุณซื้อเพียง 1 ชิ้น หรือ 1 เม็ด อย่าได้ริอ่านขอผักหรือพริกสดเพิ่มเชียว ... คุณอาจจะโดนดีได้
โทรศัพท์สาธารณะ
โชคดีที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะยอมรับเหรียญ 1บาท และยังให้ค่ากับมัน แต่เป็นเรื่องยากที่คุณจะพบเจอตู้โทรศัพท์ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนใหญ่มักเป็นตู้ที่ชำรุด ที่สำคัญเมื่อปลายทางรับสาย เหรียญ 1 บาทคุณจะหมดประโยชน์ทันที สื่อสารได้เพียงสั้นๆ ก่อนที่สายจะตัดยังไม่นับการโทรเข้าเบอร์มือถือที่ตู้จะกลืนกินเหรียญราวสายฟ้าแลบ
ชั่งน้ำหนัก
เครื่องชั่งน้ำหนักมีหลายเกรด หลายราคา แปรผันตรงกับความเที่ยงของข้อมูล เงิน 1 บาทของคุณยังสามารถหยอดลงไปในตู้ชั่งน้ำหนักได้ แต่โปรดอย่าแปลกใจหากน้ำหนักคุณจะผันผวนไปบ้าง ไม่ต้องซีเรียส
หยอดกระปุก
อาจง่ายที่สุดและถูกที่ถูกทางที่สุดสำหรับเหรียญ1 บาทของคุณ แต่หากกระปุกคุณใหญ่มากๆ และหยอดจนแน่น คุณก็อาจจะหงุดหงิดเวลานำออกมานับ ร้ายแรงกว่านั้นหากคุณต้องการเอาเหรียญ1 บาทของคุณไปฝากธนาคาร นั่นเพราะพนักงานธนาคารจะคิดค่านับเหรียญของคุณด้วยทิปบาทเดียวเด็กเช็ดกระจกยังโมโห
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เหรียญ 1 บาท ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าประโยชน์ข้างต้นนี้เท่าใดนัก และมีอีกหลายเรื่องที่ค่อนข้างสะเทือนความรู้สึกของเหรียญ 1 บาท โดยเฉพาะการถูกเพิกเฉย มองข้ามอย่างไม่เห็นหัว
ทุกวันนี้ถ้าคุณนั่งแท็กซี่ เชื่อเหลือเกินว่าคุณจะปัดเศษมิเตอร์ขึ้นหรือลงจนกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะคุณในฐานะผู้โดยสาร แต่โชเฟอร์เองก็มีพฤติกรรมเช่นนี้ หากมิเตอร์แสดงอัตราค่าโดยสารที่ 51 บาท คุณจะรู้สึกเฉยๆ ที่ยื่นเงินเพียง 50 บาทให้กับคนขับ หรือถ้าค่ารถ 49 บาทแล้วคุณจ่ายด้วยแบงก์ร้อย คุณก็คงไม่คิดแม้แต่น้อยที่จะเรียกร้องเงินทอนจนครบทั้ง 51 บาท
การให้ทิปพนักงานเสิร์ฟ-เด็กรับรถ หรือแม้แต่แก๊งเช็ดกระจกตามสี่แยกไฟแดง ถ้าไม่อยากมากความ คุณอาจต้องมองข้ามเหรียญ 1 บาทไป นี่ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ก็เกิดขึ้นจริง
สำหรับพนักงานเสิร์ฟ ถึงเขาไม่เรียกร้อง คุณก็เลือกที่จะให้ขั้นต่ำที่ 20 บาท หลายคนพูดตรงกันว่าเป็นเพราะ “เกรงใจ” กลัวว่าจะ “น่าเกลียด” ถ้าให้น้อยกว่านี้
เช่นเดียวกับเด็กรับรถ แม้จะมีบ้างบางครั้งที่ให้ 10-15 บาท แต่ถ้าถูกเรียกเก็บเงินก่อนฝาก หลายคนบอกตรงกันว่าจะจ่ายขั้นต่ำที่ 20 บาทโดยอธิบายว่า “ฝากรถไว้กับเขา เกิดอะไรขึ้นเราไม่รู้”
สอดคล้องกับแก๊งเช็ดกระจกสี่แยกไฟแดง ที่หลายคนเลือกจ่ายขั้นต่ำ 10 บาท เพียงเพื่อซื้อความสบายใจ ต้องการให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปให้พ้นๆ จากรถตัวเอง โดยหลายคนกล่าวตรงกันว่า “ถ้าให้น้อย เดี๋ยวโดนขูด ไม่คุ้มกัน”
ปัญหาใหญ่ ต้นทุนผลิตเหรียญสูง
ผลของเงินบาทที่นับวันจะด้อยค่า เพราะคนไม่นิยมใช้เงินเหรียญ เศษสตางค์ ส่งผลต่อ “เงินเฟ้อ” สินค้ามีราคาแพงโดยเราไม่รู้ตัว เพราะแม่ค้าพ่อค้าไม่นิยมขึ้นราคาของครั้งละ 1 บาท 2บาทเหมือนเดิม แต่จะขึ้นราคาสินค้าครั้งละ 5บาท หรือ 10 บาทแทน
ซึ่งหมายถึงเหรียญ 1 บาท กำลังด้อยค่าลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเหรียญกลับสูงกว่าหน้าเหรียญ เป็นปัญหาใหญ่ที่กรมธนารักษ์เตรียมทำข้อมูลเสนอรัฐบาล ให้ผลิตเหรียญซีรีส์ใหม่ให้มีต้นทุนที่สอดรับกับราคาหน้าเหรียญ
ปัจจุบันเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มี 9 ชนิดราคา คือ 10บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ แต่ที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมี 6 ชนิดราคา คือ 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์
ส่วนเหรียญชนิดราคา 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ1 สตางค์ มีใช้ในทางบัญชีเท่านั้น โดยเหรียญที่ผลิตออกมาแล้วมีต้นทุนสูงกว่าราคาหน้าเหรียญคือ เหรียญ 1 บาท มีต้นทุนประมาณ 1.80 บาทเหรียญ 50 สตางค์ มีต้นทุน 70 สตางค์ เหรียญ 25 สตางค์ มีต้นทุน 50 สตางค์ ยิ่งกรมธนารักษ์ผลิตออกมาเท่าไรก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น
นั่นเพราะถ้าดูจากเส้นทางการใช้เหรียญของประชาชนจะพบว่า เหรียญกษาปณ์ในระบบมีทั้งสิ้น 2.5 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานต่างๆ ขอแลกเหรียญจากกรมธนารักษ์เพื่อนำไปใช้กว่า 2,031 ล้านเหรียญ แต่มีหน่วยงานและประชาชนนำเหรียญกลับมาแลกคืนเพียง 769 ล้านเหรียญ หมายถึงมีเหรียญกว่า 1,262 ล้านเหรียญ ที่หายเข้าไปในระบบ โดยเฉพาะเหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ และเหรียญ 25 สตางค์ ที่หายเข้าระบบมากที่สุด
กรมธนารักษ์ ยอมรับว่าขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเหรียญ 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ เนื่องจากปริมาณเหรียญผลิตออกใช้ในระบบมีการหมุนเวียนค่อนข้างน้อย เพราะประชาชนไม่นิยมใช้เหรียญ 2 ชนิดนี้ เมื่อได้เหรียญไปแล้วจะไม่นำออกมาใช้จ่าย มักเก็บไว้ที่บ้าน หรือใช้ทำบุญตามวัดต่างๆ และมีพ่อค้าหัวใสที่รับแลกเหรียญ 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ เพื่อหลอมทำกำไลและพระเครื่อง ทำให้รายได้สูงกว่า ส่วนพ่อค้าแม่ค้าร้านทั่วไป หาบเร่แผงลอยมักจะคิดราคาสินค้า 1 บาท 5 บาท 10 บาท
ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อยังต้องการใช้เหรียญทั้งสองชนิดเพื่อใช้สำหรับทอนเงินอยู่ ทำให้ต้องมีการผลิตเหรียญเหล่านี้เพิ่มทุกปี เช่น เหรียญ 50 สตางค์ ผลิตออกมาปีละ 10 ล้านเหรียญ ผลิตมาเท่าไรก็ไม่พอหมุนเวียน เพราะหายไปจากระบบหมด เหลือหมุนเวียนเพียงปีละ 8 แสนเหรียญเท่านั้น
ส่วนเหรียญ 1 บาท ก็เป็นอีกเหรียญยอดฮิตที่หายเข้าระบบ ซึ่งเกิดจากการใช้เหรียญบาททำบุญตามวัดต่างๆ อยู่ในกระปุกออมสิน ที่สำคัญพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ทิ้งขว้างเศษเหรียญไว้ทุกซอกทุกมุมของบ้าน ในรถยนต์ ในกระเป๋าถือทุกใบจะต้องเจอเศษเหรียญซ่อนอยู่แทบทั้งสิ้น
ทั้งนี้ มีธุรกิจสามารถนำเอาเหรียญออกมาใช้ ได้แก่ เครื่องหยอดเหรียญน้ำดื่ม ตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้เกมหยอดเหรียญ ตู้กาแฟหยอดเหรียญ มีธุรกิจรับผลิตเหรียญโปรยทานงานบวช ก็รับแลกเหรียญบาทกันหน้าเว็บไซต์มากมาย
ฝากเงินยังต้องเสียค่านับ
ขณะที่สถาบันการเงินก็ยังไม่อำนวยความสะดวกในการรับฝากเงินเหรียญ และมีการคิดค่าธรรมเนียมการรับฝากเหรียญกษาปณ์ทุกธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ คิด 1% ของมูลค่าเหรียญกษาปณ์
ธนาคารกรุงไทย ฝากเงินไม่เกิน 2,000 บาท ไม่คิดค่าบริการ หากเกิน 2,000 บาท คิด 1% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คิด 2% ของมูลค่าที่ฝาก ธนาคารกสิกรไทย ฝากไม่เกิน 500 เหรียญ ไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ถ้าเกิน 501 เหรียญขึ้นไป คิด 1% ของมูลค่ารวม ธนาคารทหารไทย กรณีฝาก 100 บาท ไม่คิดค่านับเหรียญ แต่ถ้าฝากเกิน 100 บาท คิดค่าบริการ 2% ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ 200 เหรียญขึ้นไป คิดค่าบริการ 2% ของจำนวนรวมมูลค่าเหรียญขั้นต่ำ 20 บาท
ส่วนธนาคารออมสิน หากนำเหรียญไปฝาก 3,000 บาทแรกไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ถ้าเกินจากนี้คิด 1% ของมูลค่า ซึ่งขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละสาขา เช่น ถ้าเป็นเด็ก เยาวชน หรือวัดที่เอาเงินบริจาคมาฝากเป็นหมื่นเป็นแสน เช่นที่สาขาวัดท่าซุง นำเหรียญมาฝากทีละ 2-3 แสนบาท ทางธนาคารก็ไม่คิดค่าบริการ แต่ถ้าเป็นกรณีนิติบุคคล เช่น ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ หรือผู้ให้บริการตู้หยอดน้ำดื่ม ต้องขอคิดค่าบริการ
ขณะเดียวกัน ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้สั่งซื้อเครื่องนับเหรียญ ซึ่งมีราคาเครื่องละประมาณ 2 หมื่นบาท จัดส่งไปยังสาขาใหญ่ๆ ทั่วประเทศแล้ว 300 เครื่อง เพื่อให้บริการนับเหรียญแก่ลูกค้าประชาชนที่ต้องการนำเงินมาฝากกับธนาคาร
สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ ชี้แจงว่า ปัญหาของการบริหารจัดการเหรียญ คือ หากในระบบมีเหรียญน้อยเกินไปจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากพ่อค้าขึ้นราคาสินค้าเกินความจำเป็น อ้างว่าไม่มีเงินทอน กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ในทางตรงกันข้ามหากมีเหรียญในระบบมากเกินไปผู้บริโภคจะไม่นำเหรียญส่วนเกินออกมาใช้ต่อ ทำให้รอบการหมุนเวียนของเหรียญในระบบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ รัฐที่เสียค่าใช้จ่ายในการผลิตและการขนส่งเหรียญส่วนเกิน ในส่วนของภาคเอกชนก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและขนส่งเหรียญส่วนเกินเช่นเดียวกัน เนื่องจากเหรียญมีมากถึง 5 ชนิด และแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมการใช้เหรียญชนิดต่างๆ ไม่เหมือนกัน
อีกไม่กี่ปีเหรียญบาทก็จะลดค่าเหลือสภาพเป็นเหรียญที่ระลึก ตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป