posttoday

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

29 พฤศจิกายน 2557

ตำนานพื้นบ้านเล่าต่อกันมาเมืองลำปางต้องคำสาปจากนางสุชาดา ความเจริญที่มีมากลายเป็นเมืองเงียบร้างราวกับเวลาหยุดเดิน

ตำนานพื้นบ้านเล่าต่อกันมาเมืองลำปางต้องคำสาปจากนางสุชาดา ความเจริญที่มีมากลายเป็นเมืองเงียบร้างราวกับเวลาหยุดเดิน ทว่าคำสาปทำให้ลำปางแตกต่าง ความเงียบ ความเก่ากลายเป็นความงาม กลับกลายเป็นว่าเมืองที่ไม่หมุนตามเวลาคือเมืองต้องห้ามที่น่าไป

เมืองต้องคำสาป

ปูมละกอนหรือพิพิธภัณฑ์เมืองของชาวลำปางจัดแสดงห้อง“การกลับมาของคำสาป” เล่าว่า เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 เมืองลำปางที่เคยเป็นย่านการค้าคึกคักกลับเงียบงัน แม้จะมีศูนย์ราชการเข้ามาตั้งสำนักงานหวังให้เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการศึกษาในภาคเหนือตอนบน แต่หลังจากทางหลวงหมายเลข 11สร้างเสร็จ หน่วยงานต่างๆ ก็ต่างพากันทยอยไปตั้งที่เชียงใหม่ ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดเรื่องร่ำลือว่า “หรือนี่จะเป็นไปตามคำสาปของนางสุชาดา” แล้วนางสุชาดาคือใคร?

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ตำนานพื้นบ้านเกิดขึ้นที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เล่าว่านางสุชาดาทำสวนแตงโม วันหนึ่งมีพระภิกษุมาธุดงค์ เธอจึงนำอาหารไปถวายทุกวัน ชาวบ้านที่เห็นจึงนำไปพูดเป็นเรื่องครหา เมื่อความไปถึงหูท่านเจ้าเมืองนางจึงถูกลงโทษประหารชีวิตแต่ก่อนลงดาบนางประกาศว่าหากไม่ได้ทำผิดขอให้เลือดไหลทวนน้ำขึ้นไป และก็เป็นจริงอย่างนางว่า เลือดนางไหลทวนน้ำชี้แจ้งความบริสุทธิ์ คำสาปก็เกิดขึ้นนับแต่นั้นมา

วัดพระแก้วดอนเต้าฯ ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน เรื่องนี้ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าการเดินทางของพระแก้วมรกตให้ฟังว่า พระแก้วมรกตมีต้นกำเนิดอยู่ที่เชียงราย สันนิษฐานจากลักษณะองค์พระที่มีเอกลักษณ์ของฝีมือช่างเชียงรายอยู่ จากนั้นกษัตริย์ให้ช้างนำพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่เกิดหลงทางพลัดมาอยู่ที่ลำปางหลายปีซึ่งเชื่อว่าประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าฯแห่งนี้ ต่อมาได้อัญเชิญไปที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ แล้วเคลื่อนย้ายอีกครั้งตามกษัตริย์ไปอยู่ที่หลวงพระบางและเวียงจันทน์ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ได้อัญเชิญกลับมาที่วัดอรุณราชวราราม และสิ้นสุดที่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ กระทั่งปัจจุบัน

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

สถาปัตยกรรมของวัดก็มีจุดน่าสนใจ อ.ศักดิ์ชัย ให้พิจารณามณฑปทรงปยาธาตุที่มีหลังคาซ้อนเป็นชั้นหลายชั้นซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของพม่า และให้ตามหางานไม้แกะสลักรูปกามเทพ (คิวปิด) และโลโก้บริษัทอังกฤษที่ผสมอยู่ในมณฑป ซึ่งเป็นศิลปะของชาวอังกฤษที่เข้ามาสัมปทานไม้ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

ลูกครึ่งพม่า-อังกฤษ

ลำปางเคยเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่สำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เปิดการค้ากับต่างชาติ ทำให้มีบริษัทอังกฤษเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ซึ่งทำให้ช่วงนั้นมีชาวพม่าเข้ามาใช้แรงงานจำนวนมากและด้วยนิสัยของชาวพม่าที่ชอบสร้างวัดในชุมชน ทำให้ลำปางเป็นจังหวัดที่มีวัดพม่ามากที่สุดในภาคเหนือ แต่ศิลปะจะมีการผสมผสานระหว่างพม่าและอังกฤษจนเป็นเอกลักษณ์ที่พบเฉพาะในลำปาง

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

จุดศูนย์กลางการค้าไม้อยู่ที่ กาดกองต้า ชุมชนริมแม่น้ำวังที่มีพ่อค้าทั้งชาวอังกฤษ จีนไหหลำ และพม่าเคยอาศัยอยู่ ปัจจุบันเป็นย่านอนุรักษ์บ้านเรือนรุ่นเก่าทรงปั้นหยาหรือแบบขนมปังขิง เช่น บ้านหม่องโง่ยซินของชาวพม่าที่ยังคงรักษาโครงสร้างบ้านและลวดลายฉลุไม้ด้านนอกได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ทั่วตัวเมืองลำปางยังมีวัดแบบพม่าอยู่หลายแห่ง เช่นวัดศรีชุม วัดที่มีศิลปะแบบพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเจดีย์ทรงพม่าแท้ๆ เหมือนกับที่พบในชเวดากอง มีมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญเป็นทรงปยาธาตุ และมี จอง หรืออาคารเครื่องไม้ที่เป็นทั้งวิหาร ศาลา หอฉัตร และกุฏิพระสงฆ์ นอกจากนี้ที่ลวดลายบนมณฑปยังมีกามเทพให้ค้นหาด้วย

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

อีกแห่งอยู่ที่ วัดปงสนุก ซึ่งหากไปพม่าก็จะมีวัดชื่อปงสนุกเหมือนกัน จุดสำคัญในวัดคือวิหารพระเจ้าพันองค์ ที่ได้รับรางวัลอวอร์ดส์ ออฟ เมอริต(Awards of Merit) จากยูเนสโก เป็นอาคารทรงปราสาท มีมุขทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปอดีตพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ และผนังมีพระนับพันองค์ผนึกอยู่

ศูนย์กลางล้านนา

นอกจากลำปางจะเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ย้อนกลับไปยังเคยเป็นศูนย์กลางทางตอนใต้ของอาณาจักรล้านนา และแน่นอนว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เห็นได้ชัดที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง ศูนย์กลางจักรวาลของนครลำปาง ตั้งอยู่บนที่สูงและได้สร้างเลียนแบบเจดีย์จุฬามณีบนสรวงสวรรค์ เริ่มตั้งแต่บันไดนาคที่เปรียบเป็นสะพานรุ้งเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ ระเบียงคตแทนกำแพงจักรวาล และพื้นทรายแทนทะเลสีทันดร

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

วิหารด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหารโถงไม่มีผนัง มีแต่ฝาย้อยไม่ติดพื้น ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองอยู่ในโขงพระเจ้าที่ถือว่าสวยที่สุดในภาคเหนือ ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ตกแต่งด้วยแผ่นจังโปหรือแผ่นทองคำวาดลาย เชื่อว่าภายในเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ ทางด้านขวามือของพระธาตุมีอาคารไม้เรียกว่าวิหารน้ำแต้ม ได้ชื่อว่าเป็นอาคารไม้แบบล้านนาที่เก่าแก่ที่สุด และมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ที่วาดโดยศิลปินพม่าแต่ปัจจุบันสีเริ่มจางไปแล้ว และด้านหลังมีห้องดูเงาพระธาตุกลับด้านซึ่งอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายขึ้นไปดูเท่านั้น

พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่วัดพระธาตุลำปางหลวงคือวัดพระธาตุเสด็จ รูปแบบเจดีย์เป็นแบบล้านนาเหมือนกันด้านข้างมีวิหารโคมคำซึ่งเป็นวิหารพื้นบ้านโดยสกุลช่างลำปาง และในพระวิหารมีพระพุทธรูปลีลาฝีมือช่างเมืองน่าน นอกจากนี้ยังมีวัดที่ถ่ายแบบมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวงคือ วัดไหล่หินหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวงแต่ขนาดเล็กกว่า และยังคงรักษาองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูโขง วิหารโถงแบบล้านนา เจดีย์ทรงล้านนา งานไม้แกะสลัก และงานปูนปั้นไว้อย่างครบถ้วน

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

คำสาปหรือ? อาจไม่ใช่

การถูกทิ้งให้เป็นเมืองรองทำให้ลำปางยังไม่วุ่นวายเท่าเชียงใหม่ในเวลานี้ คนที่มาเที่ยวก็มาเพื่อเสพความสงบและศิลปวัฒนธรรมอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และค่อยๆ ดื่มด่ำกับชีวิตที่ไม่หมุนตามกาลเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนค้นหาอยากมี

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน

 

ลำปางถูกสาปเวลาหยุดเดิน