หนังเถื่อนที่ (ฉัน) รัก

11 ธันวาคม 2557

คนยุคนี้คุ้นกับ "แผ่นผี" หรือไม่ก็ "ดีวีดีเถื่อน" แต่คนรุ่นเรากลับคุ้นคำว่า "วิดีโอเถื่อน" มากกว่า

คนยุคนี้คุ้นกับ "แผ่นผี" หรือไม่ก็ "ดีวีดีเถื่อน" แต่คนรุ่นเรากลับคุ้นคำว่า "วิดีโอเถื่อน" มากกว่า

ยุคทองวิดีโอเถื่อนถูกนำมาสานต่อเป็นสารคดี โดยผู้กำกับมือรางวัล "เต๋อ" (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) จะด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ หรืออะไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งผลงานที่มีผลทางใจทางกายต่อคนให้คนยุคนั้น

เรา "ชอบ" หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะมันเทพกว่าเรื่องอื่นของเต๋อ แต่เพราะมัน "ง่าย" มัน "จริง" มัน "ขำ" มัน "มีส่วนร่วม" มัน "ไม่กระแดะ" ที่สำคัญมัน "ตอแหล" และ "ดาร์ก" แล้วมันก็ทำให้เราพบว่า "หนังเถื่อน" มีอิทธิพลต่อคนในวงการหนังไทยไม่มากก็มากที่สุด

แต่ข้อเสียคือถ้าเกิดคนดูไม่ได้อยู่ในยุควิดีโอเถื่อน ไม่เคยได้ยินชื่อ "พี่แว่น" ไม่เคยไป "ร้านแว่นวิดีโอ" ร้อยทั้งร้อยจ้างให้ก็ "ไม่อิน" คงมืดแปดด้าน ใครเหรอคือพี่แว่น ร้านวิดีโอแว่น อยู่ที่ไหน แล้วหน้าตาวิดีโอเถื่อนเป็นยังไง ทำไมต้องดูวิดีโอเถื่อน

ความเป็นส่วนตัวที่เต๋อแสดงออกมาผ่านหนังก็มีค่อนข้างเยอะพอสมควร จะเรียกว่าเป็นหนังสนองความสนใจตัวเอง สนองความใคร่รู้ กระทั่งสนองภาพวันวานยังหวานอยู่ที่ตัวเองคุ้นเคยก็ไม่ผิด

การนำเสนอหนัง เต๋อเลือกวิธีง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ แม้จะดูไม่ลงทุนอะไร (ในแง่โปรดักชั่นและการเขียนบท) แต่ก็ขอชมที่เฟ้นหา "แฟนพันธุ์แท้พี่แว่น" มาเปิดปากเปิดใจได้อย่างกล้าๆ กลัวๆ รั่วๆ ฮาๆ
ทั้งเรื่องหนังมีแค่การนั่งคุยกันระหว่างเต๋อ (ซึ่งได้ยินแค่เสียง) กับคนในแวดวงหนัง ผู้กำกับ นักวิจารณ์ อาจารย์ ดีเจ คนทำซับไตเติ้ล คนก่อตั้งโรงหนังอาร์ต "พี่ต้อม" "พี่ก้อง" "ย้ง" "เต้" "ป๋าเต็ด" "อ.แดง" "พี่จ๋อง" และใครต่อใครอีกหลายคน

เรื่องที่พวกเขาคุยกัน คือพี่แว่นและร้านของแก เพราะเขาคือบุคคลปริศนา คือจำเลย คือคุณูปการ (พูดเวอร์ไปนู่น) ที่คนเหล่านั้นรู้จักในฐานะเจ้าพ่อหนังก๊อบ เจ้าของร้านวิดีโอเถื่อน จนเกิดกระแส "พี่แว่นฟีเวอร์" และ "คนรักหนังอาร์ต" ตามมาอีกเป็นพันเป็นหมื่น

หนังเผยให้เห็นถึงชีวิตเบื้องหน้าเบื้องหลังของพี่แว่น แม้จะไม่ได้เห็นพี่แว่นตัวเป็นๆ แต่คำบอกเล่าของพวกเขาที่มีต่อพี่คนนี้ก็พอจะนำไปสู่ความเป็นพี่แว่นได้ระดับหนึ่ง ยิ่งเฉพาะเมื่อใครบางคนเฉลยว่าตัวเองคือคนที่เคย "รับจ๊อบ" ให้กับพี่แว่น ทั้งๆ ก็รู้ว่านั่นคือวิถีที่ไม่ถูกต้อง ไม่พอยังรู้ตื้นลึกหนาบางในบางมุมของชายปริศนารายนี้

จากยุควิดีโอเถื่อนก็ขยับมาเป็นยุค "แผ่นผี" ดูเหมือนกิจการพี่แว่นกำลังบูมสุดขีด ใครบ้างไม่รู้จักร้านพี่แว่น คอหนังอาร์ต หนังอินดี้ หนังประหลาด หนังเหวอ หนังแรง หนังเกย์ นักวิจารณ์ คอลัมนิสต์ นักเรียนหนัง รวมทั้งคนที่พยายามจะตีตัวออกห่างหนังกระแสหลัก ต้องเคยมา "ซื้อ" แผ่นผีที่ร้านพี่แว่น แน่นอนคนที่นั่งคุยกับผู้กำกับก็เป็นหนึ่งในลูกค้าขาประจำ

ยิ่งคุยก็ยิ่งมัน (ปาก) เต๋อยิงคำถามให้คนในวงการหนังตอบ ด้วยการตอบแบบทีเล่นทีจริงก็ยิ่งทำให้เป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ประเด็นแตกงอกออกมาจนถึงการตั้งคำถามต่อสังคม ตกลงธุรกิจพี่แว่นผิดหรือไม่ แล้วลูกค้าที่ซื้อหนังจากร้านแว่นผิดยังไง

คำว่า The Master จึงมีความหมายต่อหนัง ทั้งแง่พี่แว่นคือมาสเตอร์ด้านหนังเถื่อน เหรอ พี่แว่นคือเทพแห่งการสรรหาหนังอาร์ตหนังอินดี้มากำนัลแฟนๆ เหรอ หรือคำๆ นี้สื่อสะท้อนถึงม้วนมาสเตอร์วิดีโอที่ถูกก๊อบปี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้แต่คนในวงการและลูกค้าก็อาจเป็นมาสเตอร์ได้ ในฐานะผู้มีความมุมานะหาหนังแนวนี้มาเสพ

อะไรก็ไม่แน่ มีเกิดก็ต้องมีดับ มีรุ่งก็ต้องมีร่วง พี่แว่นและร้านวิดีโอ แม้จะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นหนังแผ่น ทว่าวันหนึ่งก็ต้องล้มหายตายจาก วันที่ไม่มีพี่แว่น แฟนๆ ก็อดใจหายมิได้ ปรากฏการณ์พี่แว่นฟีเวอร์ยังถูกจดจารในหน้าประวัติศาสตร์คนรักหนังอาร์ตหนังอินดี้แบบเถื่อนๆ

ไม่มีพี่แว่นและแว่นวิดีโอ แต่เราก็เชื่อว่าสังคมไทยยังมี "เงาพี่แว่น" และ "เงาร้านแว่นวิดีโอ" เขาอาจซ่อนตัวลับๆ ล่อๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง เพื่อทำหน้าที่บริการลักลอบ "ขาย" หนังเถื่อนให้คนที่มีรสนิยมเสพหนังแนวนี้ แล้ววันหนึ่งเขาก็คงล้มหายตายจากไปไม่ต่างกัน ด้วยความหมายและคุณค่าที่ลดน้อยถอยลง เพราะคนยุคปัจจุบันหันไป "โหลด" กันอย่างสบายอารมณ์ แล้วเรื่องMอะไรจะไป "ซื้อ" หนังเถื่อนอีกล่ะ (ว่ามั้ย?)

The Master

ประเภท สารคดี

ความยาว 82 นาที

เรตติ้ง น 15+

(เหมาะสำหรับผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป)

กำกับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ผู้ให้สัมภาษณ์ :

เป็นเอก รัตนเรือง

ก้อง ฤทธิ์ดี

กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ยุทธนา บุญอ้อม

ทรงยศ สุขมากอนันต์

บรรจง ปิสัญธนะกูล

มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์

ไกรวุฒิ จุลพงศธร ฯลฯ

(หมายเหตุ : หนังเข้าฉายเฉพาะ เฮ้าส์ อาร์ซีเอ)

 

Thailand Web Stat