ก้าวย่างของผู้นำ ที่เคยต้องวิ่งตามให้ทัน
ทุกวันนี้เกาหลีใต้ได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศนี้ก็สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทุกวันนี้เกาหลีใต้ได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศนี้ก็สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากเดิมที่เคยต้องไล่ตามประเทศอื่นๆ ให้ทัน แต่การนำเอารูปแบบการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแบบอย่าง ทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ จนกลายเป็นอีกหนึ่งต้นแบบการพัฒนาให้อีกหลายๆ ประเทศ โดยที่ประเทศนี้ก็คงยังอยู่ติดกับเงื่อนไขและข้อจำกัดเดิมคือ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ของตนเอง ที่จะสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจได้ หากจะมีก็มีเพียงทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเช่นทุกวันนี้
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการค้นคว้าและวิจัยด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อหาเครื่องมือและวิธีการที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงสุด อย่างไรก็ตามบริบททางสังคมในช่วงที่ผ่านมาที่มีการแข่งขันสูง ได้สร้างความเครียดและแรงกดดันให้กับเด็กนักเรียน ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีความพยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังคงต้องใช้การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือหลักในการผลิตคนเก่งและคนดี เพื่อออกมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้กับประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่เกาหลีใต้ใช้ในการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ คือการส่งเสริมเด็กที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถได้สูงสุด จนมีการตราเป็นกฎหมาย ส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์พิเศษขึ้นมา
โรงเรียนมัธยมปลายหลายแห่งในเกาหลีใต้จะมีห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์ แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ การมีโรงเรียนมัธยมวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า “Gifted science high school” โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง เร็วๆ นี้ ซึ่ง Seoul Science High School คือหนึ่งในนั้น โดยในแต่ละปีจะมีเด็กหัวกะทิจากทั่วประเทศร่วม 2 หมื่นคน แข่งขันกันเข้าเรียนที่นี่ แต่จะมีเพียง 120 คนเท่านั้นที่ได้ผ่านการคัดเลือก
ที่นี่เป็นโรงเรียนกินนอน ที่เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งตลอดเช้าจรดเย็นเด็กเหล่านี้จะถูกเสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเด็กๆ ที่นี่จะต้องมีประสบการณ์ทำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของตนเองตั้งแต่ระดับมัธยมเลยทีเดียว ซึ่งเด็กแต่ละคนสามารถเลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในสาขาที่ตนชอบและมีความถนัดเป็นพิเศษได้
นอกจาก Seoul Science High School แล้ว เด็กที่มีพรสวรรค์ทางวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก ก็ใฝ่ฝันจะได้เข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์ “KSA” ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองปูซานทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยความที่เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ ได้รับการอุดหนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาลและได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาต่อโดยตรง กับสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ชื่อว่า “KAIST” จึงทำให้มีเด็กจำนวนมหาศาลใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในสถาบันนี้
รองครูใหญ่ Sang Wook บอกกับเราว่า โรงเรียนแห่งนี้นำระบบ “ควบคุมดูแลการศึกษา” มาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้นระบบการคัดเลือกเด็กที่จะเข้ามาเรียนที่นี่ได้ จึงจะต้องผ่านการประเมินความสามารถในทุกๆ มิติ ขั้นตอนการคัดเลือกเด็กประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 คือการตรวจสอบและประเมินเอกสารการแนะนำตัว ประวัติการเรียนและหนังสือแนะนำจากอาจารย์ ขั้นตอนที่ 2 คือการประเมินความเป็นอัจฉริยะและศักยภาพ ผ่านการทดสอบ “ความสามารถในการแก้ปัญหา บวกกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งรองครูใหญ่เน้นย้ำเรื่องนี้กับเราว่ากรรมการผู้ประเมินจะเน้นประเมินจากความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตรรกะมากกว่าการประเมินคำตอบที่ปลายทาง และในขั้นตอนที่ 3 จะเป็นการประเมินความสามารถในรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การทำงานเป็นทีมและคุณธรรม
เมื่อเด็กๆ ผ่านการคัดเลือกแล้วจะเรียนผ่านหลักสูตรที่ทางโรงเรียนออกแบบไว้ เพื่อกระตุ้นพรสวรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ มี อย่างไรก็ตามเด็กๆ ก็จะต้องเรียนในรายวิชาสหวิทยาการด้วย เพื่อให้มีความรู้รอบด้าน ไม่ใช่เก่งแต่เพียงวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว ท้ายที่สุดแล้วเด็กเหล่านี้เมื่อจบไปแล้วจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย เป็นคนดีมีคุณธรรม เพื่อทำหน้าที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป
แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาการศึกษาของเกือบจะทุกประเทศในโลก เน้นในเรื่องของการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในเรื่องของการศึกษา แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกๆ ประเทศ ก็จะมีเด็กอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความเป็นอัจฉริยะหรือว่ามีความสามารถพิเศษเหนือกว่าคนอื่น ถ้าหากว่าเราพัฒนาเด็กๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกวิธีและถูกเวลา เราก็จะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุุณูปการต่อการพัฒนาประเทศต่อไป ในสัปดาห์หน้าเราจะพาไปดูว่าเด็กที่มีพรสวรรค์เหล่านั้น เมื่อจบการศึกษาแล้วก้าวต่อไปของอาชีพการงานในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพวกเขาจะเป็นอย่างไร อย่าลืมติดตามชมเนื้อหาพร้อมภาพและเสียงได้ในรายการโลก 360 องศา ทุกคืนวันเสาร์ 3 ทุ่มครึ่ง โดยประมาณ ทาง ททบ.5