posttoday

ภาษาไทยถิ่น ‘Never Die’

17 ธันวาคม 2557

อร่อย แซบ ลำ หรอย เป็นคำ 4 คำที่มีความหมายเดียวกันคือ อร่อย หรือรสชาติดี

โดย...พริบพันดาว

อร่อย แซบ ลำ หรอย เป็นคำ 4 คำที่มีความหมายเดียวกันคือ อร่อย หรือรสชาติดี ซึ่งคนโดยส่วนมากจะคุ้นชินอย่างเป็นปกติกับภาษาไทยมาตรฐานในแบบภาคกลางคือ อร่อย ส่วนคำว่า อร่อย ตามภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ก็ดูเหมือนแปลกหู มีความรู้สึกแตกต่างออกไป

คลิป “เหนียวไก่” ที่โด่งดังถูกแชร์และพูดถึงอย่างรวดเร็วในแง่สนุกขบขันอยู่ในที ก็ย่อมเกิดจากคำพูดของเด็กหญิงวัยรุ่นเจ้าของคลิปที่พูดถึงข้าวเหนียวไก่ทอด ด้วยภาษาไทยกลางสำเนียงแบบไทยถิ่นใต้สั้นๆ ว่า “เหนียวไก่” กลายเป็นความน่ารักอย่างแปลกหูขำขันอยู่ในที

หากย้อนกลับไปสัก 3-4 ปีที่แล้ว ราชบัณฑิตยสถานก็ได้มีการตื่นตัวสร้างแนวนโยบายเชิงรุกสำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาถิ่นขึ้นมา ปัจจุบันงานเหล่านี้ก็ทำกันอย่างเงียบและต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2557 นี้ ก็มีการเสวนาทางวิชาการ รู้ รัก ภาษาไทยสัญจร : ภาษาถิ่นทั้ง 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จัดโดยราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความเห็นนักวิชาการและประชาชน ในการจัดทำเนื้อหาวิชาการภาษาถิ่นให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ที่ให้ความสำคัญกับภาษาถิ่นที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันโดดเด่นของแต่ละภาคของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

มองภาษาไทยถิ่นอย่างนักมานุษยวิทยาภาษาและวัฒนธรรม

ภาษาไทยถิ่นที่สะท้อนถึงความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมที่เด่นชัดในภาษาพูดของแต่ละภูมิภาคตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ใช้กันอย่างปกติเป็นกิจวัตร อาทิ

คำสวัสดี/ทักทาย - ภาคเหนือ “สวัสดีเจ้า” ภาคกลาง “สวัสดี” ภาคอีสาน “ไปไส” ภาคใต้ “พันพรือ”

ฟักทอง - ภาคเหนือ บะน้ำแก้ว, ฟักแก้ว ภาคกลาง ฟักทอง ภาคอีสาน บักอึ๊ ภาคใต้ น้ำเต้า

สับปะรด - ภาคเหนือ บะขะนัด ภาคกลาง สับปะรด ภาคอีสาน บักนัด ภาคใต้ ยานัด, มะลิ (ภาษาท้องถิ่น สงขลา)

ของเหลวที่ทะลักเล็ดลอดออกมา - ภาคเหนือ แฟบ ภาคกลาง ปลิ้น ภาคอีสาน ซอด ภาคใต้ แพร็ด

รองเท้า - ภาคเหนือ เกิบ, แคปฟองนวล (รองเท้าฟองน้ำ ภาษาท้องถิ่น น่าน) ภาคกลาง อีแตะ ภาคอีสาน เกิบ ภาคใต้ เกือก

ดร.มยุรี ถาวรพัฒน์ ประธานศูนย์ศึกษาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า สถานการณ์ภาษาไทยถิ่น โดยเฉพาะตามภาคต่างๆ ของไทย ทั้งเหนือ กลาง (สำเนียงเหน่อ) อีสาน ใต้ ปัจจุบันทัศนคติและมายาคติเกี่ยวกับความเชย เปิ่น ไม่รุนแรงเข้มข้นแบบสมัยก่อน

“สังเกตได้จากรายการโทรทัศน์หลายๆ รายการที่ผู้เข้าร่วมรายการแนะนำตัวเองด้วยภาษาไทยถิ่น และผู้จัดรายการหรือพิธีกรก็ใช้ภาษาไทยถิ่นโต้ตอบกัน อีกทั้งยังมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่พระเอกนางเอกหรือตัวแสดงนำใช้ภาษาไทยถิ่นในการสื่อสาร แม้ว่าจะไม่ใช่เจ้าของภาษาก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเชิงบวกของภาษาไทยถิ่น จากความคิดที่ฝังติดมาแต่เดิมว่า ภาษามาตรฐานหรือภาษากลางกรุงเทพฯ เป็นภาพแทนความนำสมัย รวมถึงการศึกษาที่เน้นใช้ภาษามาตรฐาน ทำให้คนตามภาคต่างๆ อายที่จะพูดสำเนียงตัวเอง แต่ในโลกเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมักจะใช้สื่อสารหรือบอกเรื่องราวที่ตนอยากนำเสนอ ดังคลิปเหนียวไก่ที่ผู้พูดมีความมั่นใจที่จะใช้ภาษาไทยถิ่นคุยกับเพื่อน ซึ่งการใช้ภาษาไทยถิ่นคุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกันจะทำให้เกิดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง เป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่อยากจะเล่าให้เพื่อนฟัง แต่ก็มีบางคนนำเรื่องนี้มาล้อเลียน ติดตลก ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นภาษาไทยถิ่นโดยไม่รู้ตัว”

ดร.มยุรี บอกว่า ถ้ามองในเชิงบวก ภาษาไทยถิ่นก็จะเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ออกสื่อทำให้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนหันมามองและเห็นความสำคัญของภาษาไทยถิ่นมากขึ้น กล้าที่จะใช้ภาษาไทยถิ่นในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นก็อาจเป็นได้

“ความพยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาไทยถิ่นของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะศูนย์ศึกษาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือทำงานกับราชบัณฑิตยสถาน รู้สึกชื่นชมความพยายามของราชบัณฑิตยสถานในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาไทยถิ่นต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ภาษาของกลุ่มคนด้อยโอกาสต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการยกสถานะ ให้เกียรติ เชิดชูและคำนึงถึงความสำคัญของภาษาไทยถิ่นต่างๆ ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของภาษารู้สึกว่าภาษาของตนมีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจ

“ส่วนวัฒนธรรมสมัยนิยมปัจจุบัน วัยรุ่นวิ่งตามกระแสโลก สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการถดถอยของภาษาไทยถิ่นที่ไม่มีบทบาท หรือไม่มีการนำมาใช้ ในทางกลับกัน ถ้ามีการนำเทคโนโลยีหรือวัฒนธรรมสมัยนิยมมาปรับใช้เพื่อการรณรงค์ให้วัยรุ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทยถิ่นก็อาจจะทำให้ภาษาถิ่นเจริญงอกงามขึ้นมาได้บ้าง”

ภาษาไทยถิ่น ‘Never Die’

 

ราชบัณฑิตยสถานปลุกพลังภาษาไทยถิ่น

คนไทยที่อยู่ต่างถิ่นกัน ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกันคือภาษาไทย แต่ก็อาจมีการออกเสียงและใช้คำศัพท์ต่างกันบ้าง ความแตกต่างเช่นนี้ทำให้เกิดภาษาถิ่นของภาษาไทยขึ้น ซึ่งเรียกว่า ภาษาไทยถิ่น ถ้าแบ่งตามภาค ก็จะมีภาษาไทยถิ่นใหญ่ๆ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาไทยถิ่นของแต่ละภาคเหล่านี้ ยังแบ่งย่อยไปได้อีกตามจังหวัด เช่น ภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ ภาษาไทยถิ่นสุพรรณบุรี ต่างก็เป็นภาษาไทยถิ่นกลางทั้งคู่ ภาษาไทยถิ่นเชียงใหม่ ภาษาไทยถิ่นเชียงราย เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นขอนแก่น ภาษาไทยถิ่นอุบลราชธานี เป็นภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นสงขลา ภาษาไทยถิ่นนครศรีธรรมราช เป็นภาษาไทยถิ่นใต้

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตประเภทวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ เคยให้ทัศนะเกี่ยวกับภาษาไทยถิ่นอย่างน่าสนใจว่า ภาษาไทยกรุงเทพฯ มี 5 เสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาเหนือมี 6 เสียงวรรณยุกต์ ส่วนภาษาอีสานและภาษาใต้มีถึง 7 เสียงวรรณยุกต์ เมื่อพยายามใช้ภาษาที่มีเพียง 5 เสียงวรรณยุกต์ไปเขียนแทนภาษาที่มี 6-7 เสียงวรรณยุกต์จึงทำให้ยุ่ง ดังนั้นจึงต้องหาวิธีทำให้เห็นว่าภาษากลางสามารถเขียนได้มากกว่า 5 เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งนักภาษาศาสตร์จะต้องช่วยกันคิดต่อไป การอนุรักษ์ภาษาถิ่นเป็นเรื่องระดับโลก เพราะทุกประเทศตกลงกันแล้วว่าจะช่วยกันอนุรักษ์ ซึ่งประเทศไทยก็ยอมรับข้อตกลงนี้มาแล้วจึงควรทำให้จริงจัง

ศ.ดร.ประเสริฐ บอกว่า ภาษาถิ่นคือความงดงาม แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ภาษาถิ่นกำลังถูกกลืนทางวัฒนธรรม จึงควรรื้อฟื้นการสอนหลักภาษาถิ่น ทั้งไวยากรณ์ คำศัพท์ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ปราชญ์ท้องถิ่นควรรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมเพื่อให้การขับเคลื่อนการรณรงค์ใช้ภาษาถิ่นมีความชัดเจนและเข้มแข็งเจตจำนงในเรื่องภาษาไทยถิ่นของราชบัณฑิตประเภทวิชาประวัติศาสตร์ ได้ถูกสานต่ออย่างเอาจริงเอาจัง

พงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ชี้แจงว่า ราชบัณฑิตฯ มีงานเรื่องของภาษาไทยถิ่นอยู่แล้ว

“เป็นการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมภาษาถิ่น ซึ่งในแต่ละถิ่นเขาก็มีวรรณกรรมของเขา ซึ่งมีศัพท์ภาษาไทยถิ่นที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม ต่อมาก็มาคิดกันว่าความจริงภาษาถิ่นก็มีการพูดและใช้กันอยู่ แต่ว่าเราทำเฉพาะที่มีอยู่ในวรรณกรรม ก็เลยเก็บรวบรวมภาษาไทยถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป ในปี 2554 จึงคิดมีการส่งเสริมภาษาไทยถิ่นที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไปนอกเหนือจากที่ปรากฏในงานวรรณกรรม ก็เลยตั้งเป็นคณะกรรมการทางวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำเนื้อหาภาษาไทยถิ่นแบ่งเป็น 3 คณะ คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ส่วนภาคกลางก็มีภาษาไทยถิ่น แต่เหมือนภาษาไทยมาตรฐานอยู่แล้ว มีความแตกต่างกันไม่มาก ผิดกันที่สำเนียงหรือความเหน่อ”

วัฒนธรรมก่อให้เกิดภาษา การทำวิจัยภาษาไทยถิ่นทางราชบัณฑิตฯ ก็ลงไปสัมมนาในภูมิภาคต่างๆ ในแต่ละภาคก็จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นมาสัมมนาอภิปรายกัน ต่อไปก็จะทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น พงษ์ศักดิ์บอกว่า โดยมีปราชญ์ด้านภาษา อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร ก็มาร่วมฟังและบรรยายในทุกที่

“ในแต่ละท้องถิ่นมีปราชญ์ท้องถิ่นรวบรวมองค์ความรู้เรื่องภาษาไทยถิ่นนี้ไว้แล้ว ภาษาไทยถิ่นมีมานานเป็นพันๆ ปี แต่ภาษาไทยภาคกลางหรือภาษาไทยมาตรฐานเกิดมาไม่กี่ร้อยปีนี้เอง มีรายงานวิจัยในระดับสากลชี้ว่า คนเราเกิดมาเรียนรู้ด้วยภาษาแม่ เกิดมาในถิ่นไหนก็พูดจาภาษาแม่ก่อน พอใช้ได้ดีค่อยเรียนภาษาอื่นหรือเรียนรู้สรรพวิชาอื่นๆ ต้องเริ่มต้นจากภาษาแม่ก่อน ซึ่งจะเป็นธรรมชาติของคน เราได้เล็งเห็นตรงนี้ อย่างเด็กที่ใช้ภาษาไทยถิ่น เวลาเขาเข้าโรงเรียนเขาก็จะไม่ได้พูดภาษาที่พูดในบ้าน ครูก็จะให้เขาพูดภาษาไทยมาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดความสับสน ระบบการศึกษาต้องพยายามเน้นธรรมชาติของการเรียนรู้ ให้พูดและมีการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยภาษาไทยถิ่น ก็เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ ซึ่งเรานำไปใส่ไว้ในนโยบายภาษาแห่งชาติ

จากความรู้สึกและทัศนคติที่ฝังกันมายาวนานของคนไทยว่า หากไม่พูดกลางหรือภาษาไทยมาตรฐานแล้ว ต้องเป็นคนต่างจังหวัด บ้านนอก เชย เฉิ่ม พงษ์ศักดิ์บอกว่า ราชบัณฑิตฯ ก็พยายามทำให้เห็นว่าการพูดต่างกันเพราะแต่ละถิ่นมีลักษณะความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่ต่างกัน

“แน่นอนก็ต้องมีภาษาและการพูดที่ต่างออกไป ซึ่งต้องยอมรับกันและกัน ต้องฟังด้วยความเข้าใจการใช้ภาษาไทยถิ่นในละครโทรทัศน์ก็พยายามที่จะใช้ความร่วมมือกันให้นำเสนอในมุมที่ไม่ดูถูกและเป็นตัวตลกมากเกินไปจนดูเหยียด วัฒนธรรมท้องถิ่นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะภาษาไทยถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า ทางราชบัณฑิตยสถานจึงเห็นว่าควรส่งเสริมเผยแพร่ โดยมีโครงการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นของทุกภาค ซึ่งนอกจากคนในท้องถิ่นจะได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับคนต่างท้องถิ่นอีกด้วย ที่จะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ภาษาถิ่นอื่นๆ และใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการได้ด้วย ‘ถ้าเรายอมรับความแตกต่างทางด้านภาษาเราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้’”

เสน่ห์ที่สำคัญของภาษาไทยถิ่น นอกจากจะใช้สื่อความหมายกับบุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันให้เข้าใจตรงกันแล้ว ภาษาถิ่นยังมีความโดดเด่นในการช่วยรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่นนั้นๆ ไว้ด้วย การศึกษาและเรียนรู้ภาษาถิ่นนั้นนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยนอกจากทำให้ได้สัมผัสกับความงดงามของภาษาถิ่นในแต่ละท้องถิ่นแล้ว การที่เรารู้และเข้าใจภาษาถิ่น ยังช่วยทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ โดยปริยาย ภาษาไทยถิ่นจึงเป็นภาษาทางเลือกเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

ภาษาไทยถิ่น ‘Never Die’