ว่านหางจระเข้ แห่งเคพ (2)
ฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเรื่องของว่านหางจระเข้ (Aloe Ferox) พฤกษศาสตร์การกระจายพันธุ์และประโยชน์ในแง่พืชสมุนไพร
ฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเรื่องของว่านหางจระเข้ (Aloe Ferox) พฤกษศาสตร์การกระจายพันธุ์และประโยชน์ในแง่พืชสมุนไพร ซึ่งการใช้ว่านหางจระเข้ชนิดนี้ได้ถูกรายงานเป็นครั้งแรกโดยทุนเบิค (Thunberg) ในปี ค.ศ. 1772 ใบของว่านหางจระเข้ถูกตัดออกที่ส่วนโคนใบต่อกับลำต้น และวางไว้ในภาชนะรูปกลม โดยให้รอยแผลอยู่ด้านในเหนือหลุมในดินซึ่งใช้หนังสัตว์ปูรองพื้นเอาไว้ จากนั้นเขาจะเก็บเอายางรสขมซึ่งไหลออกจากรอยแผลที่ตัด และรวบรวมนำไปต้มเป็นของเหลวเหนียวข้น และทำให้ตกตะกอนตกผลึก และนำไปใช้ในรูปแบบเดียวกับที่บรรดาคนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้กันเป็นสมุนไพร และต่อมามีการส่งออกไปทวีปยุโรป
คุณสมบัติการเยียวยารักษาของว่านหางจระเข้อีกชนิดที่รู้กันในเมืองไทย คือ Aloe Vera เราอาจอ่านพบคุณสมบัติของมันมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคกรีกโบราณและยุคชาวโรมัน แต่กระนั้นมีอยู่น้อยคนที่จะรู้ว่า Aloe Ferox ก็มีการใช้ในเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกัน โดยเขาจะตัดใบนำมาสกัดเอาส่วนประกอบสองอย่าง คือ ยางรสขม ซึ่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจตกผลึกออกมาได้ อีกสิ่งที่ออกมาคือน้ำใสคล้ายเจลซึ่งออกมาจากเนื้อในของใบ และเพื่อที่จะสกัดเอาสองสิ่งนี้ออกมาจึงมีการตั้งโรงงานเป็นครั้งแรกที่เมืองอัลเบิตร์ทิเนีย (Albertinia) ในปี ค.ศ. 1986 โดยเก็บเกี่ยวใบซึ่งปกติจะถูกปล่อยจนเน่าเปื่อยไปหลังจากเก็บเอาน้ำยางขม ซึ่งปัจจุบันถูกสกัดออกมาเพื่อให้ได้ผงเจลว่านหางจระเข้ ออกมาใช้เป็นตัวยาอะโลวีราเจล มูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ในวงอุตสาหกรรมยา
เพื่อจะรองรับการเก็บเกี่ยวเป็นการค้าที่กว้างขวางขึ้น บรรดาผู้ปลูกเลี้ยงว่านหางจระเข้ในเขตอัลเบิตร์ทิเนีย จึงได้ตั้งแปลงปลูก Aloe Ferox ขึ้นในเขตที่ปลูกพืชอื่นไม่ได้ผล นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงงานแปรรูปสกัดเจลออกมาจาก Aloe Ferox และจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญาไว้แล้ว ซึ่งวิธีนี้หลีกเลี่ยงการทำให้สารละลายอินทรียสารต่างๆ มิให้ถูกแสง หรือป้องกันมิให้อุณหภูมิสูงเหนือจุดเดือด ทำให้ได้สารที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
ปัจจุบันมีโรงงานสกัดเจลจากว่านหางจระเข้ (A.ferox) โดยสกัดได้ส่วนผสมของ Aloe Poly Saccharide Polymers และมีแร่ธาตุอื่นๆ เช่น จุลธาตุ กรดอะมิโน และกรดอินทรีย์อื่นๆ เจลนี้ถูกใช้สำหรับผิวหนังและเส้นผม เพื่อบำบัดอาการแดดเผา พิษสารเคมี การถูกแมลงกัดหรือพิษจากแมลงต่อย นอกจากนี้เจลของ A.ferox ยังเป็นสารประกอบเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง (Moisturizer) ที่ดีอีกด้วย
ประโยชน์ในแง่ไม้ประดับ
ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว จนกล่าวได้ว่าเป็นไม้ประดับที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของแอฟริกาใต้ มันมีความเหมาะสมสำหรับสวนทั่วไปและยังดึงดูดใจบรรดานก ผึ้ง และแมลง ตลอดจนสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด สำหรับพื้นที่ที่แห้งแล้งขาดน้ำ อากาศร้อนสามารถขึ้นอยู่ได้ โดยเหมาะกับสวนหิน กำแพงหินแนวตั้ง
เทคนิคการปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา
ว่านหางจระเข้ (Aloe Ferox) ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยวิธีเพาะเมล็ด วิธีดีที่สุดคือ การคลุกเมล็ดด้วยยาป้องกันเชื้อรา เช่น ยาป้องกันเชื้อราแบบดูดซึม (Systemic Fungicide) ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันโรคกล้าเน่า (Damping Off) การหว่านเมล็ดควรทำในวัสดุเพาะซึ่งประกอบด้วยทรายหยาบ 2 ส่วน พีท 2 ส่วน และเพอไลท์ 1 ส่วน เมล็ดจะงอกภายใน 3 สัปดาห์ และย้ายกล้าลงถุงเดี่ยวได้ภายในเวลา 1 ปี ต้นกล้าจะใหญ่พอจะปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้ภายในเวลา 2 ปี และอาจออกดอกได้ภายในเวลา 4 ปี หลังจากหว่านเมล็ด ในถิ่นเดิมของว่านหางจระเข้ต้นอายุ 12 ปี จะมีความสูงประมาณ 2 เมตร ต้นว่านหางจระเข้ออกดอกปีละครั้งในช่วงฤดูหนาวและติดเมล็ดได้เอง โดยฝักของมันจะแก่ตัวในช่วงฤดูร้อน และแตกอ้าปล่อยเมล็ดที่มีปีกออกมา เราอาจเก็บเมล็ดได้ก่อนฝักแก่ โดยเลือกเก็บช่อดอกที่แก่ตัวแล้ว และเก็บฝักไว้ในห้องที่แห้ง จนกว่าฝักทั้งหมดจะแตกออก เก็บเมล็ดไว้ในตู้เย็นแห้ง โดยจะคงความมีชีวิตประมาณ 1 ปี (ถ้าเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิประมาณ 5–8 °C ความชื้นต่ำ โดยใช้ซิลิกาเจลชนิดเม็ดจะเก็บโดยคงความงอกได้นาน 2-3 ปี
ประโยชน์บางประการของว่านหางจระเข้จากแอฟริกา
1.ชาวไร่ในแอฟริกาใต้ลองใส่ใบของว่านหางจระเข้ลงในน้ำดื่มของปศุสัตว์ เพื่อช่วยป้องกันกำจัดเห็บและพยาธิในลำไส้
2.ลองทำแยมว่านหางจระเข้ โดยปอกใบและตัดวุ้นภายในออกเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า และเอาไปแช่ในน้ำปูนใส จากนั้นต้มกับน้ำตาลทรายและเติมขิงเล็กน้อย
3.ใช้เจลว่านหางจระเข้กับแผลเพื่อป้องกันการอักเสบ
4.เจลว่านหางจระเข้ช่วยลดอาการคัน อาจใช้กับผิวหนังเด็กเพื่อแก้อาการบวมเพราะยุงกัด
5.หลายคนใช้เจลว่านหางจระเข้ได้ผลดีสำหรับแผลเป็นที่ไม่ลึกมาก และหากใช้ในระยะ 6 เดือนไปแล้วยิ่งได้รับผลดีมาก