กวดวิชามหาหินแพงเท่าไหร่ก็ต้องเรียน
“ฉันจะให้ข้อเสนอที่เขาปฏิเสธไม่ได้” วาทะทรงพลังของ วีโต้ คอร์เล โอเน่ แห่งเดอะก็อดฟาเธอร์
“ฉันจะให้ข้อเสนอที่เขาปฏิเสธไม่ได้” วาทะทรงพลังของ วีโต้ คอร์เล โอเน่ แห่งเดอะก็อดฟาเธอร์ สามารถใช้อธิบายความถึงสถานภาพที่ “ผู้ปกครอง” ซึ่งมีบุตรหลานเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา กำลังเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี
“เขา” (ผู้ปกครอง) จะ ไม่อาจเพิกเฉยต่อข้อเสนอของ “ดอน” ได้เลย ตราบเท่าที่เขาเหล่านั้นยังไม่เชื่อมั่นว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับรองคุณภาพ คือกติกาที่ยุติธรรม
“แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับการเรียนกวดวิชา แต่เมื่อลูกบอกว่าข้อสอบส่วนกลางไม่ได้ออกเหมือนกับที่สอนในโรงเรียน สุดท้ายก็ต้องยอมส่งให้เรียน” ศิธร วีรวัฒนปรัชญา ผู้ปกครองของนักเรียน ไม่มีทางเลือกใดที่ดีกว่านี้
ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไฟเขียว “เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา” ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ บรรดาผู้ปกครองต่างตกอยู่ในอาการกลืนไม่เข้า-คายไม่ออก
นั่นเพราะที่ผ่านมากฎหมายระบุไว้ว่าโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจะได้รับการยกเว้นจากภาษี แต่หลังจากที่เมื่อโรงเรียนกวดวิชาถูกเรียกเก็บภาษี ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะถูกบวกเข้าไปกับ “ค่าลงทะเบียนเรียน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครอง หากมีการขึ้นราคาจริงก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมค่าลงทะเบียนเรียนกวดวิชาด้วย” ศิธร ทำได้เพียงแค่วิงวอนและฝากความหวังไว้กับรัฐบาล
“ทุกวันนี้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ค่าเล่าเรียนรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณเทอมละ 6 หมื่นบาท และยังต้องจ่ายเพิ่มสำหรับโรงเรียนกวดวิชาอีก” ผู้ปกครองรายนี้ ระบุ
ผลกระทบตกที่ผู้ปกครอง
สอดคล้องกับ ฐิติกัญญพัชร ห้านิรัติศัย ผู้ปกครองอีกราย ที่ไม่สามารถปฏิเสธหรือต่อรองใดๆ กับข้อเสนอนี้
“การเรียนภายในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ครูบางคนอาจจะมีวิธีการสอนหรือถ่ายทอดความรู้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เด็กนักเรียนไม่ค่อยเข้าใจ” ฐิติกัญญพัชร ให้ภาพความจำเป็นและอธิบายต่อไปว่า ทุกวันนี้จ่ายเงินสำหรับค่าเรียนกวดวิชาประมาณปีละ 3 หมื่นบาท
“โรงเรียนกวดวิชามีความจำเป็นต่อลูก หากมีการเก็บภาษีจริง ผู้ปกครองต้องถูกเก็บเงินค่าเรียนเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนตัวมองว่าไม่เป็นธรรมแต่ก็ทำอะไรไม่ได้” เธอยอมจำนน
จุฑาพัชร์ ศรีวัฒนางกูร เป็นผู้ปกครองอีกรายที่ต้องเสียเงินให้กับโรงเรียนกวดวิชาย่านสยามกว่า 3 หมื่นบาท เพื่อให้บุตรสามารถพิชิตข้อสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้
“แน่นอนว่าผลกระทบจะตกอยู่กับผู้ปกครอง แต่ถ้าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระทบต่อคุณภาพของสถาบันกวดวิชา ก็ยังคงจะส่งลูกเรียนอยู่” จุฑาพัชร์ กล่าวชัด ด้วยมั่นใจว่าคุณภาพการสอนของสถาบันกวดวิชามีมากกว่าครูในโรงเรียนที่ออกมาสอนพิเศษเองอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ วิวรณ์ ระคำมา ผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา และอาจต้องยอมลดวิชาเรียนลงหากค่าเรียนแพงขึ้น
“ตอนนี้จ่ายอยู่ประมาณ 5,500 บาท หากเก็บแพงขึ้นก็อาจจะลดจำนวนวิชาเรียนลง โดยพิจารณาว่าวิชาไหนสำคัญจริงๆ ถึงจะส่งลูกเรียน” วิวรณ์ พร้อมที่จะปรับตัว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเรียนกวดวิชาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบุตรของเขา
“ลูกเราเป็นเด็กหัวอ่อน บางวิชาก็ตามเพื่อนไม่ทัน การเรียนกวดวิชาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับลูก” เธอ กล่าวตรงไปตรงมา
กำแพงราคาสกัดกั้นความรู้
นอกจากภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับจนแทบกระอักแล้ว ผลกระทบของการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชายังพุ่งเป้าโดยตรงกับตัวผู้เรียน
“บางวิชามีความจำเป็นมากที่ต้องเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม อย่างเช่น วิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม ซึ่งในห้องเรียนไม่ได้สอนแบบลงลึกในรายละเอียด นักเรียนก็ต้องแสวงหาที่เรียนเพิ่มเติมเอาเอง” วิรากานต์ ระคำมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อธิบาย และยอมรับว่า ถ้าการเก็บภาษีส่งผลให้ค่าเรียนแพงจนเกินไปก็คงต้องหาช่องทางอื่น เช่น จ้างรุ่นพี่หรือครูสอนพิเศษมาสอนแทน
เธอบอกอีกว่า ปัจจุบันถือว่าค่าเรียนกวดวิชาสูงมาก บางคอร์สเรียนสด บางคอร์สนั่งเรียนกับวิดีโอ บางคอร์สเรียนแค่ 10 ชั่วโมง ราคาสูงถึงกว่า 3,000 บาท ถ้าเกิดมีการเก็บภาษีผลกระทบก็ต้องตกไปอยู่กับตัวเองและผู้ปกครองแน่นอน
“บางวิชาก็ต้องเก็บเงินเรียนเอง ถ้าค่าเรียนแพงขึ้น ก็ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น” วิรากานต์ กล่าว
ชลัฐพล พรเจริญ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า การเรียนกวดวิชามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนตัวเคยพบนักเรียนบางคนไปสอบวิชาความถนัดทั่วไปแบบเชื่อมโยง (GAT) โดยที่ไม่เคยเรียนกวดวิชามาก่อน ปรากฏว่าสอบได้คะแนนเพียง 20 คะแนน จาก 150 คะแนน แต่หลังจากเรียนกวดวิชาแล้วคะแนนก็ดีขึ้น
“การเรียนกวดวิชาจึงเป็นเหมือนการเรียนเสริมจากความรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน ทั้งนี้การที่นักเรียนจะสอบเข้าได้นั้นก็ต้องได้ครูที่ดีและติวเตอร์ที่เก่งด้วย” ชลัฐพล ระบุ
ชำแหละค่าเรียน
หากเดินเข้าไปในโรงเรียนกวดวิชาสักแห่งจะพบว่ามีหลักสูตรให้เลือกเรียนหลากหลายละลานตา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรปรับพื้นฐาน หลักสูตรปรับความเข้าใจเนื้อหาระหว่างเรียน หลักสูตรที่เน้นเพื่อการเรียนต่อระดับชั้นต่างๆ หรือแม้แต่หลักสูตรสำหรับสอบเข้าสถานศึกษาชื่อดัง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนใหญ่เน้นตะลุยโจทย์ข้อสอบกลาง หรือ GAT/ PAT ซึ่งเด็กมัธยมปลายจะรู้จักดี
มีการจัดอันดับสถาบันกวดวิชายอดนิยม 10 แห่งในกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ ครูอุ๊, นีโอฟิสิกส์, โรงเรียนกวดวิชาแอพพลายด์ฟิสิกส์, เดอะเบรน, โรงเรียนกวดวิชายูเรก้า, สถาบันเอ็นคอนเซ็ปต์, โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี, GSC อาจารย์สมาน แก้วไวยุทธ, โรงเรียนกวดวิชาคณิตศาสตร์ ซุปเค เซ็นเตอร์ และสถาบันกวดวิชา ดาว้องก์
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) คาดการณ์มูลค่าธุรกิจของตลาดสถาบันกวดวิชาในปี 2558 จะสูงถึง 8,100 ล้านบาท
จากการสำรวจค่าเล่าเรียนกวดวิชาในรายวิชาที่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเรียนในระดับชั้นมัธยมต้น วิชาคณิตศาสตร์จะอยู่ที่ 18,200 บาท วิชาฟิสิกส์ 3,900 บาท วิชาเคมี 3,300 บาท วิชาชีววิทยา 3,200 และวิชาภาษาอังกฤษ 8,800 บาท โดยราคาเหล่านี้เป็นราคาที่อ้างอิงจากหลักสูตรในสถาบันกวดวิชาชื่อดัง โดยรวมตั้งแต่ ม.1-ม.3 มีมูลค่าทั้งสิ้น 37,400 บาท
นอกจากนี้ ยังมีอัตราค่าเล่าเรียนเข้ามหาวิทยาลัย แต่ละวิชาจะมีค่าเรียนกวดวิชา จำแนกเป็นรายวิชา อาทิ วิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่ 38,700 บาท วิชาฟิสิกส์ 32,300 บาท วิชาเคมี 29,400 บาท วิชาชีววิทยา 35,000 บาท และวิชาภาษาอังกฤษ 23,000 บาท ทั้งนี้ ยังมีวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) ที่มีค่าเรียน 2,500 บาท รวมค่าเรียนทั้งหมดจะคิดได้เป็น 160,200 บาท
อย่างไรก็ตาม ค่าเรียนเหล่านี้เป็นค่าเรียนรวมคอร์สมัธยมตอนปลายทุกวิชาจากสถาบันกวดวิชาชื่อดัง โดยรวมตั้งแต่ ม.4-ม.6 และรายวิชาที่ติวเข้มเข้าสอบ Admission ด้วย
ราคาค่าเรียนทั้งหมดอ้างอิงจากสถาบันกวดวิชาใน 10 สถาบันยอดนิยม โดยราคานี้เป็นราคากลางซึ่งใช้อัตราเดียวกันทั่วประเทศ ในส่วนวิชาระดับชั้นมัธยมต้นจะใช้เวลาเรียนเฉลี่ยวิชาละ 45-70 ชั่วโมง/เทอม และวิชาระดับมัธยมปลายนั้นมีใช้เวลาเฉลี่ยวิชาละ 60-120 ชั่วโมง/เทอม หากเรียนครบทั้ง 5 วิชาพื้นฐาน ก็อาจส่งผลทำให้เด็กต้องเรียนกวดวิชาในวันธรรมดาเพิ่มถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เด็กต้องเรียนหนังสือประมาณ 11 ชั่วโมง/วัน ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ยัง ต้องเรียนกวดวิชาอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ด้วยเวลาเรียนที่เยอะมาก จึงทำให้เด็กไทยติดอันดับเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เก็บภาษีต้นทุนพุ่ง 15%
อนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา ประเมินว่าหากมีการเก็บภาษีสถาบันกวดวิชาจริง แต่ละสถาบันจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ดังนั้น
หากยังคิดค่าเรียนในอัตราเดิมจะทำให้สถาบันได้กำไรเพียง 5% เท่านั้น
“เป็นไปไม่ได้เลยที่สถาบันกวดวิชาจะไม่ขึ้นราคา ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงตกอยู่กับผู้ปกครอง แต่ก็คงไม่ใช่ว่าสถาบันจะผลักต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้ปกครองทั้งหมด ส่วนจะขึ้นค่าเรียนกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอดูแนวทางอีกครั้งหนึ่ง” อนุสรณ์ ระบุ
เขาประเมินอีกว่า มาตรการเก็บภาษีกวดวิชาเป็นความพยายามของรัฐที่จะลดจำนวนผู้เรียนในสถาบันกวดวิชาลง เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าสถาบันกวดวิชาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา
อย่างไรก็ดี หากไม่มีสถาบันกวดวิชาเลยความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะที่สุดแล้วเด็กหรือผู้ปกครองก็ต้องหาช่องทางอื่นในการหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจ้างครูสอนพิเศษ หรือช่องทางอื่นๆ อยู่ดี ดังนั้นสถาบันกวดวิชาจึงเป็นแค่ส่วนเติมเต็มความต้องการของเด็กที่ต้องการความรู้เพิ่มเติม การเก็บภาษีจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“หากต้องการลดจำนวนเด็กลงจริงๆ ต้องไปพัฒนาระบบการเรียนการสอนส่วนกลางให้ดี เพราะถ้าเด็กเรียนในห้องเรียนเข้าใจแล้ว คงไม่มีเด็กคนไหนอยากเรียนเพิ่มเติมอีก และคงไม่มีผู้ปกครองคนไหนอยากเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแน่นอน” นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา ระบุ
อนุสรณ์ บอกอีกว่า นอกจากต้องการหาความรู้เพิ่มเติมแล้ว สาเหตุที่เด็กมาเรียนกวดวิชาคือชอบรูปแบบการสอนของสถาบันกวดวิชาแต่ละที่ เพราะในวงการนี้หากสอนไม่ดี เป็นที่น่าเบื่อ เด็กไม่ได้ความรู้อะไร ผู้เรียนก็จะไม่เรียนที่นั่น
ดังนั้น ถ้าจะแก้เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างจริงจัง ต้องไปแก้ที่ระบบการศึกษาส่วนกลางให้มีความทัดเทียมกันก่อน อย่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่เท่าเทียมก็จริง แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา เช่น เงินหนุนเรื่องอุปกรณ์การเรียน ที่จ่ายหนุนให้โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐตามต่างจังหวัดอย่างเท่าๆ กัน
ในความเป็นจริงคือโรงเรียนเอกชนมีงบพร้อม และเงินหนุนจากค่าเทอมที่สูงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องได้รับงบนี้ กลับกันโรงเรียนรัฐต่างจังหวัดที่ต้องการงบแต่ก็ได้น้อย เพราะรัฐต้องแบ่งให้เท่าๆ กัน ตรงนี้ต้องออกแบบให้ดี
อย่างไรก็ตาม ระบบการผลิตบุคลากรทางการศึกษายังคงมีปัญหาอยู่ เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่ใครหลายคนเลือกเป็นลำดับสุดท้าย เพราะเงินเดือนน้อยและงานหนัก ซึ่งต่างจากข้าราชการระดับอื่นๆ ซึ่งการทำหน้าที่ของครูโรงเรียนเอกชนนั้นจะมีการประเมินอยู่เสมอ ต่างจากครูข้าราชการที่ไม่ค่อยมีการประเมิน จึงทำให้คุณภาพของโรงเรียนเอกชนและรัฐบาลมีความแตกต่างกัน จุดนี้เองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา