เอ็มบีเอตลาดนัดกลางคืน ระดับเทพ
โฉมหน้าของตลาดนัดกลางคืนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร
โดย...พริบพันดาว
โฉมหน้าของตลาดนัดกลางคืนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทำเป็นตลาดข้างทางเท้าให้คนเดินเลือกซื้อสินค้าแผงลอยและแบกะดิน ทั้งที่คลองหลอด คลองถม สะพานพุทธฯ และอีกหลายๆ ที่ จนกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล
ปัจจุบัน ตลาดนัดกลางคืนได้ยกระดับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเช่าพื้นที่เอกชนมาบริหารจนเกิดเป็นแหล่งช็อปปิ้งของคนเมือง กลายเป็นไลฟ์สไตล์กลางคืนที่ไม่เหมือนเดิม เทรนด์ตลาดนัดกลางคืนจึงเป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลให้กับผู้จัดหรือทำธุรกิจเหล่านี้ให้รวยเป็นระดับหลายสิบล้านถึงร้อยล้านภายในเวลาไม่กี่ปี
จุดเปลี่ยนเหล่านี้ต้องเข้าไปขอวิชาจากผู้บริหารของ 2 ตลาดนัดกลางคืนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ ตลาดนัดรถไฟ ที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และรัชดาฯ กับตลาดนัดเลียบด่วน รามอินทรา
ข้อมูลขั้นต้นที่น่าสนใจ เจ้าของพื้นที่ซึ่งบริหารตลาดนัดกลางคืนทั้ง 3 ที่ เป็นคนจาก จ.พระนครศรีอยุธยา เหมือนกัน คือ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว แห่งตลาดนัดรถไฟ กับ ชัชชัย กิตติไชย แห่งตลาดนัดเลียบด่วน รามอินทรา
มาอ่านหลักสูตรบริหารธุรกิจฉบับเร่งรัดตลาดนัดกลางคืนระดับเทพ...
ผู้เปิดมิติใหม่...ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และรัชดาฯ
การประสบความสำเร็จภายในเวลาเพียง 5 ปี ที่สามารถมีตลาดนัดกลางคืนพื้นที่ 62 ไร่ที่ศรีนครินทร์ และ 15 ไร่ ที่รัชดาฯ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยเพียงอย่างเดียว แต่ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว แห่งตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และรัชดาฯ บอกว่าต้องมาจากสมองและสองมือด้วย
“แรกๆ ที่มาทำตลาดนัดกลางคืน ไม่คิดอะไรเลย คิดอยู่อย่างเดียวว่า กลางวันมันร้อน ช่วงเวลากลางคืนผ่อนคลายยาวนานกว่า”
ไพโรจน์บอกที่มาที่ไปของการเข้ามาทำตลาดนัดกลางคืนซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่ของตลาดแนวนี้ที่ฉีกออกไปอย่างสิ้นเชิง ยกระดับตลาดนัดกลางคืนให้มีบุคลิกที่พิเศษแตกต่างรองรับคนรุ่นใหม่
“ตรงนั้นที่จริงเขาไม่เรียกว่าสวนรถไฟ เป็นโกดังเก็บรถไฟ เรียกว่าโกดังสินค้าย่านพหลโยธิน ที่เปิดเพราะแต่เริ่มผมขายสินค้าแอนทีกประเภทของเก่าของตกแต่งบ้าน ที่ถนนกำแพงเพชร ตรงข้ามสวนจตุจักร โดนเวนคืนพื้นที่ ก็ติดต่อขอเช่าโกดังรถไฟร้าง ใครๆ ก็บอกว่า อยู่ได้เหรอ เจ๊งแน่ ผมชวนใครมาขายก็ไม่มีใครไป มีไปขายอยู่เจ้าเดียว ตอนนั้นก็ไม่มีใครทำตลาดนัดกลางคืนแบบนี้ ผมก็ไม่ได้ศึกษามาก่อน”
จากที่เปิดขายอยู่เจ้าเดียวโด่เด่ ต่อมาก็มีคนตามมาเช่าพื้นที่ ซึ่งทำให้ไพโรจน์เห็นช่องทางทำเงิน แน่นอน 3 เดือนแรกก็เป็นลูกผีลูกคนอยู่ในเชิงธุรกิจ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือ การที่รายการ “ตลาดสดสนามเป้า” เข้ามาถ่ายทำ เมื่อเทปนั้นออกอากาศเท่านั้น วันรุ่งขึ้น...บูม!!! ทันตาเห็น
“พอออกอากาศ ตลาดที่นี่ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนน้อยกลายเป็นคนแน่นเหมือนงานวัดภูเขาทองเลย คนไหลมาที่นี่เป็นอิทธิพลของสื่อจริงๆ แล้วเราก็ไหลต่อใช้โซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์มากขึ้น ผมมองว่ารายการฟรีทีวีที่มาถ่ายทำสถานที่นั้นสำคัญที่สุดในการทำตลาดแล้วจะดึงคนเข้ามาเดินซื้อของ”
แต่ไม่ใช่ได้แค่นั้นแล้วไพโรจน์จะหยุด เขาเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ของตลาดนัดรถไฟที่นี่ทันที
“สิ่งที่ทำให้ตลาดติดไว เพราะของเราไม่เหมือนที่อื่น ด้วยความที่เป็นโกดังสินค้ารถไฟเก่าทำให้มีแบ็กกราวด์ไว้ถ่ายภาพแบบสวยๆ เพราะตลาดทั่วไปไม่มีใครมาเดินถ่ายรูปกันในตลาดหรอก เรามีร้านขายของแอนทีกเป็นจุดดึงดูดใจด้วย เป็นกระแสแชะ แชร์ แชต ซึ่งเราวางแผนไว้อยู่แล้ว พยายามหาของแปลกๆ มาลงให้คนถ่ายภาพ และจับต้องดูสิ่งของได้”
ไพโรจน์เชื่อมั่นว่า ตลาดนัดรถไฟของเขาถือเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดนัดกลางคืน เป็น เทรนด์ที่สร้างขึ้นมา เป็นรูปแบบที่คนอื่นยังไม่ทำ
“ใครไม่มาเดินถือว่าเอาต์ สินค้าก็มีเจ๋งๆ ทั้งนั้น ผมสร้างพ่อค้าหน้าใหม่ได้เยอะมาก คนเช่าที่ซึ่งมาขายของกว่า 90% ประสบความสำเร็จ”
หัวใจของตลาดนัดกลางคืน ซึ่งเป็นสูตรความสำเร็จของไพโรจน์ คือ ไม่มีการเซ้ง ไม่มีแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินกินเปล่า ไม่มีการเช่าช่วงอะไรทั้งสิ้น ตรงไปตรงมา
“ผมกับทีมงานลงพื้นที่ล่อซื้อตรวจสอบอยู่ตลอด นี่เป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของเราที่คนเช่าพื้นที่ชอบ เพราะไม่ต้องมีเงินเยอะก็เข้ามาขายของได้ ใจต่อใจมากกว่า คิดดูผมโยนเงินทิ้งปีหนึ่งไป 30 กว่าล้านบาท ถ้าผมคิดค่าเซ้งผมได้เงินก้อนนั้นมาทันที แค่เซ็นกันปีเดียวก็ได้เงินก้อนนี้แล้ว ไม่ใช่เราไม่คิดแต่เราไม่ทำ ช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ วินวินทั้งคู่ แต่ไม่แน่อนาคตเราอาจจะทำก็ได้ใครจะไปรู้”
เงินหมุนเวียนทั้งสองตลาด ทั้งศรีนครินทร์และรัชดาฯ นับตอนนี้ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่คืนหนึ่งเขาบอกว่า หลักหลายล้านบาท
“ผมจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ค่าที่แพงมาก การบริหารจัดการไม่ยาก มีรูปแบบของผมอยู่แล้ว พัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพเต็มรูปแบบ ประสบการณ์จากปี 2552 เป็นต้นมา บุคลากรที่อยู่ในเฮดออฟฟิศรวมทั้งลงภาคสนามที่ละไม่ถึง 20 คน รวมทั้งหมด 2 ที่ก็ไม่เกิน 40 คน เป็นธุรกิจในครอบครัว คนวงในจริงๆ
“เมื่อบริหารจัดการเอง ต้นทุนต่ำ ค่าเช่าเลยถูก ศรีนครินทร์คืนละ 200 บาท รัชดาฯ 350 บาท เราพยายามทำของเราให้ดีที่สุด เวลาผมไปต่างประเทศ ผมก็ไปดูตลาดนัดของเขา และไปซื้อของด้วย ตลาดจะออกมาเป็นอย่างไรอยู่ที่คนจัด เราเป็นตลาดนัดกลางคืนที่อายุน้อยแต่ประสบความสำเร็จมากกว่าเจ้าอื่นๆ เราวางตำแหน่งของตลาด โดยเน้นรสนิยมของคนเมืองวัยรุ่นชนชั้นกลางและนักสะสมของเก่า”
จากเทรนด์ตลาดนัดกลางคืนบูม ไพโรจน์บอกว่า มีทั้งคู่แข่งและคนเลียนแบบ แต่ถ้าไม่ใช่ตัวจริงเปิดไม่กี่เดือนก็หายไป แต่คนที่อยู่รอดต้องมีคาแรกเตอร์ตลาดของตัวเอง รู้จักกลุ่มลูกค้าของตัวเอง
“บูมมาก ใครๆ ก็อยากทำตลาดนัดกลางคืน เงินเราก็อยากได้ แต่ถ้าผมขายไป ผู้ค้าก็ลำบาก ผมสงสารเขา เพราะผมขายของแบกะดินมาก่อน แล้วธุรกิจนี้มีความเสี่ยงเช่นกัน แนวทางการบริหารก็คือ ยิ่งให้เราก็ยิ่งได้ แต่การให้ก็มีหลายอย่าง หนึ่ง-ให้โอกาสหรือให้พื้นที่ในการค้าขาย สอง-ต้องให้เขาขายได้คือทำอย่างไรพาคนเข้ามาเดินในตลาดให้มากที่สุดและซื้อของ การหาคนมาขายง่ายกว่าหาคนมาซื้อ”
จากภูธรล้อมเข้าสู่เมือง...ตลาดนัดเลียบด่วน รามอินทรา
ชัชชัย กิตติชัย หรือ ชัช ตลาดไท ที่ผู้ค้าตลาดนัดกลางคืนในแถบปริมณฑลหรือ 5 จังหวัดภาคกลางรู้จักเขาเป็นอย่างดี เขาคือผู้ทำให้ตลาดนัดกลางคืนเลียบทางด่วนรามอินทราเป็นที่รู้จักของนักช็อปทั้งในกรุงเทพฯ และย่านชานเมืองต้องมาที่นี่
“ผมจัดตลาดนัดกลางคืนมานานแล้ว ตอนนั้นประสบปัญหาฟองสบู่แตกปี 2540 ผมทำหมู่บ้านจัดสรรแล้วเจ๊ง ก็เริ่มจากตรงนั้น ทำตลาดนัดกลางคืนในแถบภาคกลางมาตลอด อยุธยา นครนายก ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ เราเรียนรู้ว่าผู้ค้าต้องการอะไร เพราะเราเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว จะมองตรงนั้นออก”
ฉายา ชัช ตลาดไท เพราะเขาจัดตลาดนัดกลางคืนที่ตลาดไท เป็นตลาดแรกที่ติดและประสบความสำเร็จอย่างมาก
“ตอนนั้นผมมองว่าตรงนั้นมีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อของกัน 24 ชั่วโมง ก็ติดต่อไปเปิดตลาดนัดกลางคืนที่นั่น ปี 2556 ก็มาดูที่เลียบทางด่วนรามอินทรา แต่ต่างจังหวัดก็ยังทำอยู่ ผมมีทีมงานทั้งหมดไม่เกิน 20 คน สูตรความสำเร็จของผมก็คือ ให้ใจกับผู้ค้าที่มาเช่าพื้นที่ของเรา มีปัญหาอะไรโทรสายตรงมาได้ตลอดเวลา เราแก้ปัญหาได้หมด เพื่อจะปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ราคาก็ไม่แพง ล็อกละ 200 บาท ส่วนศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เป็น 300 บาท หน้ากว้าง 3 เมตร”
แน่นอน ตลาดนัดกลางคืนล้วนมีกฎเหล็กที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันคือไม่มีการเช่าช่วงหรือเซ้ง ตลาดเลียบด่วน รามอินทรา ก็เช่นกัน ชัชบอกว่า
“ก็มีการสืบอยู่ตลอดเวลา เราต้องการสร้างอาชีพให้ผู้ค้าขายโดยตรง ไม่ให้ใครมาหากินกับผู้ค้า ซึ่งทำอย่างนั้นไม่เหนื่อยแต่ได้เงิน แต่อยู่ไม่ได้ระยะยาว เพราะจะมีปัญหาเยอะ ที่ตรงนี้ใช้เวลาไม่ถึงปีก็คุ้มทุน ตอนแรกก็คิดว่าเสี่ยงตลาดตรงนี้ 12 ไร่ มีที่จอดรถใต้ทางด่วนอีก 12 ไร่ใต้ทางด่วน เงินหมุนเวียนวันละเป็นหลักล้าน
ชัช บอกว่า เมื่อประสบความสำเร็จย่อมมีคนเลียนแบบหรือมีตลาดนัดกลางคืนเพิ่มขึ้นเยอะ แต่มุมมองในการจัดตลาดของแต่ละคนแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
“ตอนขายของเราก็เหนื่อยมาก เราจึงเห็นใจร้านค้าหรือผู้ค้าที่มาเช่าที่เรา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ตอนนี้คนที่ทำตลาดนัดกลางคืนก็ไม่ใช่จากผู้ค้าที่ขยับขึ้นมาแล้ว แต่ส่วนมากเป็นนายทุนที่เริ่มเห็นช่องทางธุรกิจตรงนี้ ใครจะมาเทกโอเวอร์ผมก็ไม่ขาย เพราะผู้ค้าเดือดร้อนแน่นอน การบริหารไม่เหมือนกันเขาก็จะเอาเงินคืนให้เร็วที่สุด ผู้ค้าอยู่ไม่ได้ ตลาดก็ไม่รอด”
นักวิชาการการตลาดชี้ ‘อยู่อีกยาว’
ปรากฏการณ์ตลาดนัดกลางคืน กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของคนเมือง และเป็นแหล่งธุรกิจมูลค่ามหาศาล ดร.ภัทรพร ทิมแดง อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วตลาดนัดกลางคืนสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ
“มีการปรับโปรดักต์ให้เข้ากับผู้บริโภคมากขึ้น มีผู้ประกอบการเยอะมากขึ้น เริ่มมีความหลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าทำเองประเภทดีไอวาย (Do It Yourself) นำมาขาย ตรงกับไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นยุคนี้ ซึ่งหาซื้อจากในห้างไม่ได้ เป็นสินค้าอีกลักษณะหนึ่ง รวมถึงราคาไม่สูง”
ดร.ภัทรพร ชี้ว่า สินค้าตลาดนัดพวกนี้จะเน้นที่เท่ ฉาบฉวย ราคาถูก แต่มีมูลค่าทางการตลาดสูง
“กำลังซื้อของเด็กวัยรุ่นยุคนี้สูงมาก และมีวัฒนธรรมการซื้อที่แตกต่างจากสมัย 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว คนไทยยังชอบเดินตลาดไปเจอเพื่อน ไปสังสรรค์เจอผู้คน โดยลักษณะของการไปเดินตลาดนัดกลางคืน วัยรุ่นไม่ไปเดินคนเดียวอยู่แล้ว ตลาดนัดกลางคืนน่าจะมีอายุยืนยาวเหมือนกัน เพรากลายเป็นเทรนด์ของยุคสมัย โดยเฉพาะตลาดนัดกลางคืนยุคใหม่มีการบริหารจัดการที่แตกต่างจากยุคเก่า เอกชนบริหารจัดการเอง ทำให้ดำเนินการได้รวดเร็วในการตอบรับพ่อค้าแม่ค้าและคนที่มาเดินซื้อของ”