posttoday

ปวดก้น (กบ) ประสบการณ์ที่อยากเตือน

19 กุมภาพันธ์ 2558

ใครเคยปวดก้นกบอย่างแรงบ้าง ชนิดปวดแสนแอนด์ทรมานแทบขาดใจ เวลานั่งก็โอย...เจ็บ เวลาลุกก็โอย...ปวด จนบางครั้งแทบน้ำตาเล็ดสุดแสนปวดร้าวระทมระทวย

โดย...ออร่า    

ใครเคยปวดก้นกบอย่างแรงบ้าง ชนิดปวดแสนแอนด์ทรมานแทบขาดใจ เวลานั่งก็โอย...เจ็บ เวลาลุกก็โอย...ปวด จนบางครั้งแทบน้ำตาเล็ดสุดแสนปวดร้าวระทมระทวย

จุดที่เกิดอาการปวด คือ ระหว่างตรงร่องทวารกับก้นกบ ซึ่งคุณหมอปราโมทย์ อุดมเลิศวนสิน ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท เรียกบริเวณนี้ว่า “ก้นกบ” ซึ่งต่างจาก “กระเบนเหน็บ” คือส่วนของร่างกายด้านหลังระดับบั้นเอวตรงที่เหน็บชายกระเบน

เวลาปวด

แน่นอนเวลาที่ก้นถูกกระแทกกับอะไรก็ตาม ความปวดจะเรียกหาทันที ไม่ว่าคุณจะนั่งบนอะไร เก้าอี้ บนโต๊ะ ม้านั่ง หรือขี่จักรยาน นั่งมอเตอร์ไซค์ ขณะค่อยๆ หย่อนก้นลงจะปวดทันที แล้วพอนั่งไปได้สักพักความปวดก็คืบคลานมาอีก ต้องคอยพลิกซ้ายพลิกขวาตลอด

นอกจากนี้ เวลาขับถ่ายและขมิบทวารก็เป็นเวลาที่สัมผัสได้ถึงความปวดเจ็บ ยิ่งเบ่งยิ่งปวด ดีที่สุดห้ามเบ่ง ควรปล่อยให้อาหารเก่าในลำไส้ค่อยๆ ออกไปตามธรรมชาติ เพราะถ้าเบ่งมากก็ปวดมาก

แม้ในการนอน อย่าคิดว่าไม่ปวดนะครับ ยิ่งถ้านอนหงายแล้วไม่มีวัสดุนิ่มๆ และเหมาะสมมารองที่บริเวณใต้ก้นกบปวดได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าใครเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วไอถี่รัวเป็นชุดยาวละก็...คงถึงคราวทวารได้เริงระบมแน่

ปวดเกิดจากนั่งนาน

นพ.ปราโมทย์ ให้ความเห็นหลังฟังจากอาการที่เล่า สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการนั่งนานๆ จนเกิดการอักเสบเนื่องจากตรงแถวก้นกบจะมีเส้นเอ็นรอบๆ อยู่อาจอักเสบได้ การปวดในลักษณะนี้อาจปวดนานเป็นเดือนได้จึงจะค่อยๆ หาย ตราบใดที่ยังไม่เอาใจใส่ดูแล หวังรอให้หายเองอาจต้องใช้เวลานาน

“ปกติถ้าก้นถูกกระแทกแรงๆ มีสิทธิเป็นอยู่แล้ว แต่เท่าที่ฟังจากการอาการไม่มีการหักโหมอะไร แค่ขับมอเตอร์ไซค์และนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการนั่งนานๆ หรือแม้แต่เก้าอี้ที่นั่งไม่เหมาะสมก็มีส่วน ทว่าการปวดก้นกบที่เกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวกับการนั่งนานๆ นั้น แค่ปรับพฤติกรรมการนั่งใหม่และทำกายภาพก็น่าจะหายในเวลาไม่นาน”

เปลี่ยนพฤติกรรม/ทำกายภาพ

คุณหมอแนะนำ ให้ปรับพฤติกรรมการทำงานใหม่ และการทำกายภาพด้วยตัวเองที่บ้านง่ายๆ ทั้งนี้ในกรณีที่อาการยังไม่เรื้อรัง

การปรับพฤติกรรมการทำงาน ได้แก่ พยายามนั่งทำงานบนเบาะที่นุ่ม บางคนจะมีเบาะพิเศษที่เรียกว่า โดนัท รองนั่ง เก้าอี้ควรมีพนักพิงที่เอนลงเยอะพอประมาณเพื่อให้น้ำหนักตัวทิ้งไปที่พนักพิง ไม่ลงไปที่ก้นกบเยอะ นอกจากนี้เมื่อนั่งประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วให้ลุกเดินสัก 5 นาที เพราะการนั่งนานๆ จะมีผลกระทบบริเวณนี้เยอะ

อีกวิธีหนึ่ง คือ การทำกายภาพบำบัด โดยใช้น้ำอุ่นประคบตรงบริเวณที่ปวดประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนนอนทุกวัน หรือทาครีมแก้อักเสบทั่วไปที่เย็นๆ ก็จะช่วยให้อาการทุเลาขึ้นเป็นลำดับ หากทำอย่างนี้แล้วอาการปวดก็ยังไม่หายปล่อยไว้ไม่ได้ ควรจะไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย

“ถ้าทำอย่างนี้สองสามสัปดาห์น่าจะดีขึ้นเยอะ แต่ถ้าไม่หายควรต้องไปให้หมอเช็กดู ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะอาจจะมีอาการอื่นที่ไม่พึงประสงค์ร่วมด้วย เช่น ถ้าเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจจะมีเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่ เชิงกรานที่ไปเบียดทำให้ปวดโดยที่ในท้องยังไม่ปวด อันนี้น่ากลัว”