หวูชิงหยวน-กิมย้งเรียกเทพ

01 มีนาคม 2558

ในวงการหมากล้อม (โกะ) คงไม่มีใครไม่รู้จักหวูชิงหยวน ปรมาจารย์หมากล้อมยุคใหม่ที่มีฝีมือที่สุด ซึ่งชาวญี่ปุ่นรู้จักเขาในชื่อ “โกะเซเกน”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ในวงการหมากล้อม (โกะ) คงไม่มีใครไม่รู้จักหวูชิงหยวน ปรมาจารย์หมากล้อมยุคใหม่ที่มีฝีมือที่สุด ซึ่งชาวญี่ปุ่นรู้จักเขาในชื่อ “โกะเซเกน”

หวูชิงหยวนเกิดที่มลฑลฟูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ในปี 1914 ครอบครัวของเด็กน้อยหวูชิงหยวนจำเป็นต้องย้ายไปปักกิ่ง และเมื่อวัยเพียง 12 ปี ที่ปักกิ่งนี้เองเขาได้แชมป์หมากล้อมรุ่นเยาวชน ฉายแววอัจฉริยะจนอาจารย์เซโกเอะ นักเล่นหมากล้อมชาวญี่ปุ่นได้นำเขาไปอบรมและขัดเกลาประดับวงการหมากล้อมที่ญี่ปุ่น

หวูชิงหยวนต้องจากบ้านเกิดไปอยู่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เล็กพร้อมกับแม่และน้องสาว ชีวิตต่างแดนเริ่มต้นด้วยดีพอสมควร เพียงแค่เริ่มต้นก้าวเข้าสู่ดินแดนญี่ปุ่น นักหมากล้อมชาวญี่ปุ่นก็แห่มาต้อนรับเด็กน้อยคนนี้ ส่วนอาจารย์เซโกเอะก็ตั้งใจบ่มเพาะดูแลชีวิตความเป็นอยู่เด็กน้อยคนนี้รอบด้านเสมอมา

ท่ามกลางสงครามจีน-ญี่ปุ่น ต่อเนื่องจนเกิดสงครามโลก ด้วยความมุ่งมั่นในการเล่นหมากล้อม หวูชิงหยวนจึงต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นในฐานะอัจฉริยะหมากล้อมและเพื่อให้อยู่ศึกษาหมากล้อมที่ญี่ปุ่นได้ เขาจำเป็นต้องใช้สัญชาติญี่ปุ่น ทำให้ขณะที่เขาไปฉายแววที่นั่น เขาก็ถูกตราหน้าจากฝั่งชาวจีนว่าเป็นคนขายชาติไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางกระแสรักชาติจีนต่อต้านญี่ปุ่น เขาเคยถูกกลุ่มผู้รักชาติชาวจีนทั้งบังคับให้โอนสัญชาติคืนกลับไปเป็นจีนและบังคับให้โอนสัญชาติกลับไปเป็นญี่ปุ่นกลับไปกลับมา

แต่ในขณะเดียวกันท่ามการความล้มเหลวของกองทัพจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่น เขากลับเป็นชาวจีนเพียงคนเดียวที่ก้าวเข้าไปเอาชนะชาวญี่ปุ่นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยสนามรบที่เขาเข้าต่อสู้ คือสนามการแข่งขันหมากล้อม เป็นคนขายชาติที่เป็นความภาคภูมิใจของเชื้อชาติจีน

ชาตินิยมและการเมืองแทรกเข้าในทุกวงการ แต่ละการแข่งขันที่ญี่ปุ่นในช่วงนั้น ล้วนได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมือง ความหนักใจไม่ได้อยู่ที่เกมหมากล้อม แพ้ คือไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในวงการหมากล้อมญี่ปุ่น ชนะ กระแสความเคียดแค้นจากชาวญี่ปุ่นอาจทำร้ายตัวเขาและครอบครัวและสำนักที่เขาอยู่

การแข่งขันผ่านไปเขายังคงชนะคู่ต่อสู้ไปได้เรื่อยๆ และก็เป็นจริงดังคาด เขาต้องพบกับจดหมายลึกลับข่มขู่เอาชีวิตอยู่เสมอ เมื่อเขาขอคำปรึกษาจากอาจารย์เซโกเอะ เขาได้รับคำตอบว่า “อย่างไรก็ดี สำหรับนักหมากล้อม ถ้าจะต้องตายเพราะเกมหมากล้อม ก็นับว่าถูกต้องแล้ว”

ณ ช่วงเวลายาวนานของสงครามเขาต้องได้รับความกดดัน ในฐานะเลือดจีนในญี่ปุ่นเสมอมา เมื่อญี่ปุ่นรุกคืบจีน เขาต้องรันทดอยู่ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของเพื่อนชาวญี่ปุ่น และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เขาต้องเห็นเพื่อนๆในวงการต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แม้แต่ตัวเขาเอง ก็แทบสิ้นเนื้อประดาตัวจากความเสียหายหลังสงครามครั้งนี้

อาจเป็นเพราะชีวิตที่ผ่านความกดดันและผ่านสงคราม หวูชิงหยวนในช่วงหลังสงคราม กลับตัดสินใจเลิกเล่นโกะและแสวงหาสัจธรรมในชีวิต เขาเข้าหาลัทธิจิอูที่มีเจ้าลัทธิหญิงชื่อ จิโคโซน เขาทุ่มเท
ทั้งชีวิตให้กับลัทธินี้ จนแทบจะฆ่าตัวตายเมื่อกระทำภาระกิจให้เจ้าลัทธินี้ไม่สำเร็จ แต่ภายหลังเขากลับค้นพบว่า เขาถูกเจ้าลัทธินี้หลอกใช้ชื่อเสียง อีกทั้งหนทางสัจธรรมในลัทธินี้ห่างไกลกับสัจจธรรมที่เขาแสวงหา เขาจึงตัดสินใจเดินออกจากลัทธินี้ และเริ่มต้นกลับมาเล่นโกะใหม่อีกครั้ง หลังจากที่หยุดเล่นไปทั้งหมด 2 ปี

การกลับมาลงสนามของหวูชิงหยวนเรียกความสนใจของคนในวงการหมากล้อมได้อีกเช่นเคย และก็ไม่ทำให้ใครต้องผิดหวัง ในช่วงปี 1939-1956 รวม 17 ปีเต็ม เขาเป็นที่หนึ่งในยุทธภูมิหมากล้อมมาตลอด ด้วยแนวคิดใหม่ของการเล่นที่เขาและคิตานิ มิโนรุ นักหมากล้อมอีกท่านร่วมคิดขึ้น โดยจุดเด่นของหวูชิงหยวน คือการสร้างสรรค์และแหวกกรอบมุมมองเดิมๆ ของหมากล้อม

ปรมาจารย์หมากล้อมหลายท่านกล่าวถึงวิธีการเล่นของหวูชิงหยวนว่า ศิลปะการเล่นของหวูชิงหยวนไม่ได้พิสดารอะไรมากมาย แต่การเล่นนั้นกลับพลิกแพลงไม่จำกัด ซึ่งก็ไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมจึงไม่สามารถเอาชนะเขาได้สักที

แต่ก็เหมือนฟ้าเล่นตลกกับชีวิตอัจฉริยะอย่างเขา ในปี 1961 เขาประสบอุบัติเหตุรถชน ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง

ทุกอย่างในชีวิตเขาสามารถกลับมาเป็นปกติ ยกเว้นแต่ว่าเขารู้สึกเหมือนหมากล้อมคือคนแปลกหน้า ไม่สามารถรวบรวมสมาธิต่อหน้ากระดานหมากล้อม ทำให้เขาไม่สามารถเล่นหมากล้อมได้อย่างเดิมอีกต่อไป

เขาบันทึกในชีวประวัติของตัวเองว่า “ดูเหมือนเทพเจ้าแห่งชัยชนะ ได้ละทิ้งเขาไปเสียแล้ว”

หวูชิงหยวนอำลาวงการในบั้นปลายชีวิต พร้อมกับชื่อเสียงว่าเป็นนักเล่นหมากล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และแนวคิดของเขายังเป็นที่กล่าวขวัญและศึกษาจากผู้คนในวงการหมากล้อมเสมอมา

“อย่าเดินหมากครึ่งๆ กลางๆ”

“การหมกมุ่นอยู่กับการสู้รบ จนกลายเป็นสู้เพื่อสู้ โดยไม่คำนึงถึงผลได้ผลเสียในแต่ละสนามรบ เท่ากับการสู้อย่างตาบอด อย่างหัวชนฝา จะนำมาซึ่งความพ่ายแพ้”

“ชัยชนะในหมากล้อมมาจากความเคารพในความจริงที่ว่า เราไม่สามารถรู้ความจริงได้ทั้งหมด เราจึงต้องยอมรับและปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีที่สุด ชัยชนะคือผลพลอยได้จากการปรับตัวนี้เท่านั้น”

“อย่ายึดติดกับแผนการ แผนการมีไว้เพื่อยกเลิกได้เสมอ”

“จงเดินหมากที่มีประโยชน์หลายทาง”

“เมื่อหมากหนึ่งตัวที่ลงไปทำให้หมากตัวอื่นบนกระดานแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาได้ นั่นนับเป็นการเดินหมากที่ถูกต้อง”

“หมากที่ลงไปแล้วขยับไม่ได้ ต่อให้พลาดอย่างไร เราก็ต้องยอมรับหมากตัวที่เราได้เล่นไปแล้ว”

“โจมตีไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์”

“ต้องคิดใหม่อยู่เสมอ เพราะในเกมหมากล้อม ทุกตาเป็นเกมใหม่ ไม่เคยซ้ำรอยเดิม ชีวิตก็เช่นเดียวกัน”

ขณะที่ยังมีคนวุ่นวายอยู่กับการวิเคราะห์ว่าเขาเป็นคนขายชาติหรือไม่ เขาเสียชีวิตไปอย่างสงบเมื่อ ปลายเดือน พ.ย. 2014 สิริอายุรวม 100 ปีที่ญี่ปุ่น ด้วยหลักการที่ใช้มาตลอดชีวิต

“ในชีวิตผมมีเพียง 2 สิ่ง คือสัจธรรมและหมากล้อม”

กิมย้ง กล่าวว่า “ตั้งแต่อดีตในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ผมนับถือคนอยู่สองคน ในยุคอดีตผมนับถือฟ่านหลี่ ในยุคปัจจุบันผมนับถือหวูชิงหยวน”

Thailand Web Stat