ละมุนละไมสตูดิโอ แต้มความหวานบนงานเซรามิก
กระแส Custom-made กำลังเป็นที่นิยม ผู้คนต่างต้องการสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจึงเห็นผู้สร้างผลงานใหม่ๆ
โดย...กองทรัพย์ ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์
กระแส Custom-made กำลังเป็นที่นิยม ผู้คนต่างต้องการสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจึงเห็นผู้สร้างผลงานใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคเกิดขึ้นตามมาด้วย ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล หรือ ไหม บัณฑิตหมาดๆ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 22 ปี เริ่มทำงานเซรามิกแบรนด์ละมุนละไมร่วมกับ นล เนตรพรหม หรือ หนาม แฟนหนุ่ม ซึ่งเรียนจบสาขาเดียวกันมาก่อนหนึ่งปี ทั้งสองทำงานนี้อย่างจริงจังมาประมาณ 2 ปีแล้ว และดูเหมือนกำลังไปได้สวยทีเดียว
หนาม บอกว่า แบรนด์ละมุนละไมเริ่มจากการทำโปรเจกต์จบ โดยเลือกทำหัวข้อการทดลองสีเคลือบเซรามิกบนดินขาว (Porcelain) ว่าแตกต่างจากดินชนิดอื่นๆ อย่างไร ซึ่งทำให้ทั้งสองค้นพบว่ามีแนวทางใหม่ในงานเซรามิกที่ยังไม่มีที่ไหนทำมาก่อน จึงลองนำวัสดุที่ทดลองอยู่มาทำเป็นโปรดักต์ เริ่มจากแท็กป้ายชื่อ จี้ห้อยคอ พวงกุญแจรูปสัตว์
“เราได้ชื่อแบรนด์ว่าละมุนละไม เพราะเราชอบคำๆ นี้ คือได้ยินแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ดูละมุน น่าสัมผัส น่าใช้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อดิน และงานที่เราทำออกมา เรารู้สึกว่าคนที่เห็นน่าจะรู้สึกแบบเดียวกับเรา อยากให้ความรู้สึกร่วมเกิดกับคนใช้งานด้วย”
การมีโอกาสฝึกงานในโรงงานเซรามิก ทำให้หนามเห็นกระบวนและระบบอุตสาหกรรม และนี่เองทำให้เขาเห็นช่องโอกาสงานคราฟต์ทำได้ แต่งานอุตสาหกรรมทำไม่ได้
“ปกติเราจะเห็นดินขาวในงานเซรามิกที่ใช้ในโรงแรม ส่วนใหญ่เป็นงานอุตสาหกรรมซึ่งจะเรียบๆ เขาจะโชว์ความขาว ไม่มีตกแต่งลวดลายหรือทำสี แต่พอเราทำการทดลองแล้วเห็นว่าสีที่อยู่บนดินขาวจะให้อารมณ์ที่แตกต่างจากเซรามิกในบ้านเรา เราก็หยิบจุดนี้มาต่อยอดในงาน
เริ่มแรกสุดงานของเราเน้นที่วัยรุ่น เพราะเราก็ยังเรียนไม่จบ รุ่นราวคราวเดียวกับเรา พอสินค้าเรามาอีกสเต็ปหนึ่ง ลูกค้าก็คือกลุ่มคนที่ชอบงานคราฟต์งานฝีมือ หรือคนที่อยากหลีกหนีจากระบบอุตสาหกรรม หรือคนที่อยากสร้างความแตกต่างให้สิ่งของในบ้าน คนที่ชอบแต่งบ้าน เป็นคนที่ประณีตในการใช้ชีวิต"
ไหม กล่าวเสริมเสียงใสว่า เห็นว่าตลาดมีความต้องการเฉพาะของแต่ละคน แต่ยังไม่มีที่ไหนรับทำให้ลูกค้า "เราก็เริ่มทำจากทำของที่ให้เฉพาะบุคคลขึ้นมา พี่หนามจะสนใจเรื่องวัตถุดิบทั้งดินและสี แต่ไหมสนใจเรื่องการออกแบบ การตกแต่ง กดลาย ระบายสี พอหลังจากคอลเลกชั่นแท็กรูปสัตว์ พี่หนามก็เริ่มใส่ฟังก์ชั่นเข้ามาในงาน ทำของที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นของใช้ในบ้าน เริ่มเป็นชุดถ้วยชาม แก้วกาแฟ ซึ่งไหมก็เอางานทดลองโปรเจกต์จบมาต่อยอดเป็นคอลเลกชั่นของละมุนละไม พอพี่หนามเรียนจบไหมเรียนปีสุดท้าย ไหมก็ทำคอลเลกชั่นของตัวเอง เป็นแก้วกาแฟสำหรับลูกค้าของละมุนละไม ซึ่งพัฒนาแบรนด์ของเรานำเสนอความคราฟต์ ทำรูปแบบของหัตถอุตสาหกรรม”
จากงานเตาะแตะตอนเรียนหนังสือ ทำงานตามออร์เดอร์ในกลุ่มเพื่อน ใช้เตาเผาของรุ่นพี่บ้าง ยืมสถานที่เป็นบ้านอาจารย์บ้าง แต่เมื่อฝ่ายหญิงเรียนจบ สตูดิโอจึงเกิดขึ้น เพราะจำนวนงานและลูกค้าเยอะขึ้น “เราเริ่มสร้างสตูดิโอในเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว เลือกบนดาดฟ้าบ้านผมเองเพราะไม่ได้ใช้งานอะไร เราก็ออกแบบ สร้างหลังคา ทาสี ใช้เวลา 3 เดือน ก็เปิดสตูดิโอเดือน มิ.ย. ลงทุนซื้อเตาเผามา 2 เตา พร้อมกับรับทำงานตามออร์เดอร์และออกคอลเลกชั่นเพื่อที่จะไปขายตามงานแฟร์ต่างๆ เป็นการระดมทุนเพื่อซื้อของและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสตูดิโอมากขึ้น เพื่อเป็นต้นทุนในการทำงานจริงๆ” หนาม อธิบายถึงขั้นตอนกว่าจะมีสตูดิโอ
เมื่อถามถึงการลงทุนในกิจการเองโดยไม่คิดเป็นลูกจ้างใคร ไหม บอกว่า สำหรับทั้งคู่ที่เริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่เรียนหนังสือ ทำให้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อถึงเวลาลงทุนใหญ่ทำให้ไม่เจ็บตัวมากนักและคืนทุนได้เร็ว “พอเราเรียนจบและคิดว่าจะต้องทำจริงจังก็ลงทุนค่อนข้างเยอะ ทั้งอุปกรณ์โดยเฉพาะเตาเผา สีเคลือบ ดิน ถือว่าใช้เงินเยอะ แต่เรามีเงินเก็บจากตอนที่เราทำตั้งแต่ตอนเรียน เลยไม่ต้องควักเงินก้อนออกมาเพื่อจะลงทุนตูมเดียว เรียกว่าเรามีสะสมมาเรื่อยๆ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ตอนนี้ก็อยู่ในจุดที่เรียกว่าพอดี”
การทำงานร่วมกันสองคนเป็นอย่างไรบ้าง? เรายิงคำถาม ไหม บอกทันทีว่า ปัญหาระหว่างกันไม่มี จะมีแต่ปัญหาเชิงเทคนิคการผลิตที่มีทุกวัน "ซึ่งพอเราเจอปัญหาเราก็จะจดบันทึกไว้เพื่อที่ครั้งต่อไปจะได้รู้วิธีแก้ไข ในเรื่องเทคนิคเราก็เจอมาแทบจะหมดแล้ว แต่มีสิ่งต้องเรียนรู้คือปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เพราะเราไม่เคยทำเรื่องการจัดการบัญชี การบริหารเวลาให้ได้ของตามที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้ามีปัญหาเราก็ต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกัน”
หนาม เสริมว่า สิ่งที่เรียกว่าปัญหาเชิงเทคนิคคือเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของงานคราฟต์ “งานฝีมือยิ่งทำเรายิ่งรู้จักมัน เราจะมีเทคนิคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเกิดจากการเรียนรู้วัสดุ งานเซรามิกเองถือว่าเราทำครึ่งหนึ่ง เตาทำครึ่งหนึ่ง เรารอลุ้นว่าออกจากเตาแล้วสีจะเป็นอย่างไร รูปทรงจะเป็นแบบไหน ซึ่งความไม่เพอร์เฟกต์ของชิ้นงานคือสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่น”
ขณะที่พูดคุยกันทั้งสองก็เดินไปดูเตาที่กำลังเผาแก้วกาแฟอยู่ หนามหยิบชิ้นงานมาพิจารณาพร้อมกับบอกว่า ตอนนี้ก็มีเตาอยู่ 2 ลูก แต่ว่าเปิดใช้งาน 1 ลูก คาดว่าจะได้เปิดเตาอีกลูกหนึ่งภายในปีนี้ ตามขนาดของงานที่เพิ่มขึ้น "ตอนนี้เราเลยต่อยอดมาเป็นสิ่งที่เรากำลังจะทำคือเปิดเวิร์กช็อป ครั้งแรกทำแท็กป้ายชื่อซึ่งเป็นสินค้าแรกที่เราทำ ต่อจากนั้นก็เป็นงานชุดถ้วยจานชาม ฝึกขึ้นรูปถ้วยจานง่ายๆ แต่พอเขามาแล้วอยากได้เทคนิคอื่นๆ ก็สอนไปด้วยได้ คอร์สหนึ่งสองวันแต่เป็นอาทิตย์เว้นอาทิตย์ นอกจากเวิร์กช็อปก็จัดเป็นไพรเวตคลาส ค่าใช้จ่ายก็ต่างกันไป เวิร์กช็อปสองวัน 3,950 บาท เรารับประมาณ 10-15 คนต่อครั้ง ราคานี้รวมค่าวัสดุอุปกรณ์ด้วย ถ้าเป็นไพรเวตคลาสหรือกรุ๊ปคลาสก็แล้วแต่การตกลงและความต้องการของผู้เรียน”
เป้าหมายสำหรับคู่รักเซรามิกคู่นี้เกิดขึ้นทุกวันไม่แพ้ปัญหา ทั้งสองบอกว่า อยากมีคอลเลกชั่นในแนวทางใหม่ๆ อยากมีหน้าร้าน “เราวางแผนระยะยาวอยากทำสตูดิโอที่เป็นบ้านและมีหน้าร้าน อยากเป็นสตูดิโอที่ครบวงจร ตั้งแต่เรื่องการออกแบบจนงานจบออกมา ในอนาคตอาจจะผสมผสานวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น งานไม้ งานผ้า งานกระดาษ เพราะเราสองคนก็สนใจด้วย อยากให้ละมุนละไมเป็นคราฟต์สตูดิโอจริงๆ” หนามพูดถึงแผนที่วางไว้
ก่อนที่สองหนุ่มสาวจะเปิดเตานำเซรามิกที่เผาไว้ออกมา ทั้งสองพูดถึงกระแสฟรีแลนซ์หรือการเป็นเจ้าของกิจการว่า การเป็นเจ้านายตัวเองต้องขยันและมีวินัยมากๆ "ในความรู้สึกผม เด็กรุ่นใหม่ก่อนขยันก็ต้องหาตัวเองให้เจอว่าอยากทำอะไร บางคนก็เหมาะที่จะมาเป็นเจ้านายตัวเอง แต่บางคนก็เหมาะกับงานองค์กร ซึ่งเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ใช่มาทำธุรกิจเพียงเพราะไม่อยากทำงานประจำ” หนามบอกก่อนที่ไหมจะสนับสนุนว่า อย่าไปตามกระแสเพราะเรารู้สึกว่าไม่ยั่งยืน "กระแสไม่อยากทำงานประจำทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน ที่เราพูดได้เพราะเราทำเซรามิกอยู่หลายปีกว่าจะตัดสินใจมาทำงานของตัวเอง”
นอกจากงานคราฟต์ที่ให้อารมณ์ละมุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ละมุนละไมสตูดิโอเป็นที่ติดอกติดใจของคนที่ชอบงานเซรามิก คือความเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกตของทั้งหนามและไหม ทั้งสองบอกว่า ทุกอย่างบนโลกสามารถนำมาทำงานได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าเขาเห็นแล้วเก็บมาใช้ในงานได้หรือเปล่า หรือเห็นแล้วปล่อยผ่านไป
"พวกเราชอบไปเที่ยว ถ่ายภาพ ไปเจอผู้คน ดูหนังสือ เราหยุดไม่ได้ ถ้าเราหยุดงานเราจะเฉา! ต้องออกไปเจอธรรมชาติทำให้เราผ่อนคลายได้ แถมได้แรงบันดาลใจกลับมาด้วย”
...ที่สุดแล้วเราต้องแฮปปี้กับการตื่นขึ้นมาแล้วไปทำงาน ถ้าเกิดความรู้สึกแบบนี้ ไม่ว่าทำงานของตัวเองหรือทำงานองค์กร เชื่อว่าชีวิตการทำงานก็จะดี...