การลงโทษสงฆ์ผิดศีลสมัยรัชกาลที่ 1
กฎหมายพระสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้มีอยู่ 10 ฉบับ (ออกมาต่างปีกัน) นั้นเป็นลักษณะการประพฤติของพระสงฆ์เองที่ไม่เหมาะสม
โดย...สมาน สุดโต
ในสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้ ทรงตระหนักดีว่า คณะสงฆ์แม้ว่ามีสิกขาบทวินัยเป็นข้อบังคับ แต่เมื่อไม่มีใครว่ากล่าว ไม่มีการลงโทษอย่างรุนแรง ก็ทำให้ภิกษุสามเณรประพฤติหละหลวม ยิ่งไกลเมืองหลวงหรือไกลหูไกลตาพระเถระผู้ใหญ่แล้ว ก็ยิ่งปล่อยปละละเลยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าสภาพบ้านเมืองในเวลานั้นเพิ่งจะฟื้นตัวจากภัยสงคราม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสิ้นสงครามเอาเสียทีเดียว ทางบ้านเมืองจะต้องเอาใจใส่กับข้าศึกศัตรูอยู่ไม่ว่างเว้น พระองค์ทรงเห็นว่าหากจะปล่อยให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเดิม การพระศาสนาก็จะเลวลง พระเกียรติยศของพระองค์ก็จะพลอยมัวหมอง จนถึงกับทรงกล่าวประณามภิกษุสามเณรเหล่านั้นว่า “มหาโจรทำลายพระศาสนา” ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชปรารภว่า “...และทุกวันนี้ เป็นฝ่ายพุทธจักรวางมือเสีย ประการหนึ่งเข้าใจว่าศาสนาถึงเพียงนี้แล้ว (ไม่) เห็นจะบำรุงให้วัฒนาขึ้นได้ จึงมิได้ระวังระไวว่ากล่าวกัน ให้เกิดมหาโจรปล้นทำลายพระศาสนา ทั้งสมณะและสามเณรมิได้รักษาพระจตุปาริสุทธิศีลร่ำเรียนธุระทั้งสองประการ แลชวนกันเที่ยวเข้าตลาดแลดูสีกา มีอาการกิริยานุ่งห่มเดินเหินอย่างฆราวาส มิได้สำรวมรักษาอินทรีย์ มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ทายก...ฝ่ายภิกษุสามเณรบาปลามก ครั้งคุ้นเคยกันเข้ากับสีกาแล้วก็เข้าบ้านนอนบ้านผิดเพลาราตรี พูดจาสีการูปชีก็มีความเสน่หารักใคร่ ทั้งสองฝ่ายสัมผัสกายกระทำเมถุนธรรมเป็นปาราชิก และลึงคเถรไถยสังวาสเป็นครุโทษ ห้ามบรรพชาอุปสมบทจะบวชมิได้เป็นภิกษุสามเณรเลย...”
และอีกตอนหนึ่งว่า “บัดนี้ บัดนี้ให้พระราชาคณะ ฐานานุกรม สังฆการี ธรรมการ ราชบัณฑิตพร้อมกันชำระพระสงฆ์ซึ่งเป็นอลัชชีภิกษุ พิจารณารับเป็นสัตย์ให้พระราชทานผ้าขาวสึกออกเสียจากศาสนา เป็นคนร้อยยี่สิบแปดสักแขกเป็นไพร่หลวงใช้ราชการให้หนัก หวังมิให้ดูเยื่องอย่างกัน...” ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2325 นั่นเอง พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์เป็นครั้งแรกและได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกต่อๆ กันมาหลายปีมีจำนวน 10 ฉบับ เพื่อเป็นการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและกฎหมายของบ้านเมือง ตลอดจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม ทั้งนี้เพื่อกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ ชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์และเป็นมาตรการในการเข้ามาควบคุมหรือลงโทษแก่ภิกษุสงฆ์ที่ชอบประพฤติก้าวล่วงพระธรรมวินัยเป็นประจำ
กฎหมายพระสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้มีอยู่ 10 ฉบับ (ออกมาต่างปีกัน) นั้นเป็นลักษณะการประพฤติของพระสงฆ์เองที่ไม่เหมาะสม และรัชกาลที่ 1 ทรงตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ หากพิจารณาดูความผิดอะไรบ้างที่พระสงฆ์สามเณรในครั้งนั้นกระทำกันตามที่มีปรากฏในกฎพระสงฆ์ ก็อาจสรุปได้ดังนี้
1.เมถุนปาราชิก
2.อทินนาทานปาราชิก
3.เกี้ยวพานสีกา
4.จับต้องกายหญิง
5.นอนให้สีกาพัดวี
6.เป็นทูตให้ฆราวาสใช้สอย
7.เป็นหมอนวด หมอยา
8.สงเคราะห์ฆราวาส
9.ดูลักษณะ ดูเคราะห์
10.เรียนรู้อิทธิฤทธิ์
11.เที่ยวร้านตลาดดูสีกา
12.นุ่งห่มเดินเหินกระด้างอย่างฆราวาส
13.เที่ยวดูโขน หนัง ละคร ฟ้อนรำ
14.เล่นหมากรุก สกา
15.คบคฤหัสถ์ชายหญิงเล่นเบี้ย
16.ผูกพันเรียกฆราวาสชายหญิงเป็นพ่อเป็นแม่ เคารพนอบอย่างทาส
17.ให้มงคลด้วยมงคลสูตรเป็นต้นแก่ฆราวาสเพื่อลาภ
18.เข้าบ้านนอนบ้านผิดเพลาราตรี...
ซึ่งลักษณะโทษบางอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นโทษที่ผิดหลักวินัยร้ายแรง เช่น อาบัติปาราชิก 2 ข้อต้นจัดว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงขาดจากความเป็นพระภิกษุเมื่อต้องละเมิดไป แต่ในข้อหาอื่นๆ ปรากฏว่าบางข้อเป็นอาบัติเล็กน้อยสำหรับพระภิกษุ เช่น การเป็นหมอนวด หมอยา หรือแม้กระทั่งการเล่นหมากรุก สกา เหล่านี้เป็นอาบัติเล็กน้อย แต่ในฐานะทางสังคมแล้วรัชกาลที่ 1 ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งและไม่สมควรที่พระภิกษุจะประพฤติปฏิบัติตนเช่นนั้น แม้ธรรมวินัยได้ระบุโทษไว้น้อยทำให้พระภิกษุในขณะนั้นกล้าล่วงละเมิด จึงจำเป็นที่รัชกาลที่ 1 อาศัยกฎหมายของบ้านเมืองออกเป็นกฎข้อบังคับใช้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงเอาภาระธุระในการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง กฎหมายที่ใช้สำหรับพระสงฆ์นี้ถือว่ามีบทลงโทษที่ไม่เฉพาะตัวผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังให้ลงโทษผู้ที่เป็นบิดามารดาของพระภิกษุที่กระทำผิดนั้นด้วย ดังกล่าวตามที่ปรากฏในกฎพระสงฆ์สรุปได้ดังนี้
1.พระสงฆ์สามเณรใดไม่ประพฤติตามกฎหมายนี้ พระสงฆ์สามเณรนั้นพร้อมทั้งญาติโยมจะต้องเป็นโทษตามโทษานุโทษ
2.พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ภิกษุสามเณร ฆราวาส สังฆการี ธรรมการใดไม่ทำตามกฎหมายนี้ และละเลยไม่กำชับว่ากล่าวกัน ฝ่ายพระราชาคณะ ภิกษุสามเณรจะเอาญาติโยมเป็นโทษ ฝ่ายฆราวาสทั้งปวง จะต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยนตามโทษานุโทษ
3.บิดามารดาคณาญาติของภิกษุสามเณรที่ทำผิด รู้แล้วปกปิดความผิดลูกหลานของตัวจะเอาเป็นโทษด้วย
4.พระราชาคณะและพระสงฆ์สามเณรทั้งปวง ผู้ใดมิได้ระวังระไวตรวจตราว่ากล่าวกันเป็นโทษเสมอด้วยสมคบพระสงฆ์สามเณรที่กระทำความผิดนั้น
5.ภิกษุสามเณรใดเป็นปาราชิก ให้สึกเสียแล้วให้สักหน้าหมายไว้อย่าให้ปลอมบวชชีต่อไป
6.ผู้เป็นปาราชิกแล้วปกปิดไว้ร่วมทำสังฆกรรมกับสงฆ์ ถ้าพิจารณาได้เป็นสัตย์ เป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาทขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมจงหนัก
7.พระสงฆ์ใดเป็นปาราชิกแล้วปริวัติออกเสีย ทรงพระกรุณาหาเอาโทษไม่ ถ้าพระสงฆ์ปาราชิกแล้วปกปิดไว้ ร่วมทำสังฆกรรมกับสงฆ์ พิจารณารับเป็นสัตย์ จะเอาตัวเป็นโทษถึง 7 ชั่วโคตร แล้วให้ลงพระราชอาญาญาติโยม พระราชาคณะฐานานุกรม เจ้าอธิการ อันดับ ซึ่งกระทำความผิดและละเมิดเสียมิได้ระวังตรวจตรากัน
มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับบทลงโทษตามกฎสงฆ์นี้ คือ ผู้ที่จะต้องรับโทษในการทำผิดในกรณีนั้นๆ มิใช่เฉพาะตัวพระสงฆ์สามเณรผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ว่าบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดจะต้องโทษด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นผู้ปกครองหรือผู้บังคับบัญชา ก็ต้องมีโทษด้วย ฐานละเลยไม่ระวังว่ากล่าวตักเตือน ถ้าเป็นญาติพี่น้องหรือผู้ร่วมสถานะเดียวกัน ก็ต้องมีโทษด้วย ฐานไม่ระวังระไวว่ากล่าวกัน ทั้งนี้คงถือว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในความเสื่อมความเจริญของพระศาสนาด้วย