ตบจูบดีกว่าฆ่ากันให้ตาย
เฟซบุ๊ก I-Mong Pattara Khumphitak
เฟซบุ๊ก I-Mong Pattara Khumphitak
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 4 องค์กรสื่อคือ สมาคมนักข่าวนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงเรื่องประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญไปแล้วมีคนถามว่า เป็นการยอมรับประกาศฉบับนี้หรือ ?
คำตอบคือ เราไม่ได้ยอมรับเพราะบอกชัดๆในย่อหน้าแรกเลยว่า "คำสั่งนี้มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นไปกว่ากฎอัยการศึก..." และระบุด้วยว่า "คำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง"
เราระบุว่า ตามประกาศในข้อ 5 นี้ไม่ใช่แต่สื่อได้รับผลกระทบชาวบ้านชาวช่องที่สื่อสารกันในโซเชียลมีเดียก็จะได้รับผลกระทบ “หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจ ว่าข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น อาจนำไปสู่การปฏิบัติ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์คำสั่ง” ที่บอกว่าจะใช้อย่างสร้างสรรค์
เราบอกว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ควรให้นโยบายที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจในวรรคสองของข้อ 5 ที่ชัดเจนเพื่อที่ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนทุกแขนงซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว ก็จะได้มีความสบายใจขึ้นว่า การใช้อำนาจตามบทบัญญัติมาตรา44แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ดังที่หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีให้สัญญาประชาคมไว้
คือ ถ้าถามว่า จะใช้ยังไงถึงจะสร้างสรรค์ ถ้ามีคำตอบแล้วก็ค่อยมาว่ากัน
วันเดียวกันนี้มีคำตอบแล้ว
คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า การ ออกคำสั่ง ที่ 3/2558 ใช้อำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า เป็นการใช้อำนาจพิเศษใน 2 ส่วน คือ การออกคำสั่งใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ และการปกครอง และการแก้ปัญหาที่ระบบปกติไม่สามารถดำเนินการได้ อาทิ กรณีปัญหาการบินระหว่างประเทศ การเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และการเดินหน้าปฎิรูป โดยคำสั่งดังกล่าวออกโดยหัวหน้า คสช.เท่านั้น
ส่วนที่ 2 จะใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งด้านความมั่นคง ระงับ ยับยั้ง ความรุนแรงต่อประเทศ เนื่องจากรายงานจากหน่วยข่าวกรอง ระบุว่า ยังมี 5 กลุ่ม ที่เคลื่อนไหวอยู่ คือ กลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจ, กลุ่มทุนทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ สังคมของรัฐบาลชุดนี้, กลุ่มการเมืองที่ต้องการก่อเหตุหวังผล จากระยะเวลาที่ใกล้การร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จแล้วจะมีการเลือกตั้งจึงฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์, การสร้างสถานการณ์ เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาล และ กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองแอบแฝง เรียกร้องความเป็นธรรม
คุณวิษณุ ได้ชี้แจงถึงความแตกต่างระหว่างการใช้กฎอัยการศึก และคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ว่า มีความแตกต่าง 4 ประการ ในเรื่องของสื่อเป็นหนึ่งในนั้น โดยคุณวิษณุระบุว่า “การให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ตรวจ ค้น ยึด รื้อ ทำลาย ประกาศเคอร์ฟิว ควบคุมสื่อ เป็นไปตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
คุณวิษณุ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เลือกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล ไม่มีมาตรการพิเศษใดๆ สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องให้เกิดเหตุฉุกเฉินก่อน จึงประกาศใช้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานได้
ส่วนคำสั่ง มาตรา 44 ในข้อที่ 5 ในการควบคุมสื่อ คุณวิษณุ ท่านว่า นายกฯจะไม่นำมาตรการนี้ มาใช้กับสื่ออย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าในทางปฎิบัติ จะใช้มีวิธีการเชิญทำความเข้าใจ โดยไม่ถึงขั้นขู่ หรือ คุกคามสื่อแต่อย่างใด (http://www.posttoday.com/การเมือง/357103/วิษณุ-แจงคำสั่งคสช-ตามม-44มุ่งใช้อำนาจ2ส่วน)
เมื่อรัฐบาลตอบมาอย่างนี้แล้วก็เห็นทีต้องเรียนว่า ยกเลิกความในข้อ 5 ไปเสียเถอะ เหตุผลคือ ประกาศข้อ 5 นี้ไม่จำเป็นเลยเพราะ คสช.มีอำนาจตามประกาศคสช.ฉบับที่ 97/2557 อยู่แล้ว
จำได้ไหมตอนออกประกาศฉบับที่ 97 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะนั้นมีเนื้อหาว่าด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อสำคัญ 2 ข้อๆแรกคือ ข้อ 2 ซึ่งเป็นการ ห้ามสื่อ “เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรมตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้งบิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง”
ข้อนี้ยังอยู่นะครับไม่ได้หายไปไหน
อีกข้อคือ ข้อ 3 ซึ่งห้ามสื่อ รวมทั้งการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ ห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 อย่าง เช่น ข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาทสถาบัน ฯ การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. เจ้าหน้าที่ของคสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง , ข้อมูลความลับทางราชการ,ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร,การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน ฯลฯ
ตอนนั้นตัวแทนองค์กรสื่อไปเจรจา ผมก็ไปด้วย เจรจากันแล้ว คสช.ยอมแก้ออกมาเป็นประกาศฉบับที่ 103 แต่เป็นการยอมแก้ข้อเดียวคือยกเลิกความใน (3) คือ เรื่องการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. เจ้าหน้าที่ของคสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนเป็น “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ”
ที่สำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ เดิมในประกาศ 97 ระบุว่า ถ้าใครทำผิด ไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 และ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สิ่งพิมพ์ การออกอากาศโดยทันทีแล้วให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายตามความผิดฐานนั้นๆดำเนินการตามกฎหมาย อันนี้เปลี่ยนมาเป็นให้ “เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ”
นอกจากแก้ไขใน 2 ประการนี้แล้ว ข้อห้ามเรื่องอื่นๆ ไม่ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร,การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน ฯลฯ
ยังอยู่นะครับไม่ได้หายไปไหน
ข้อความในประกาศฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่อาจจะมี “ข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน” นั้นมันก็คือ ข้อความที่มีอยู่ใน (2) ข้อ 3 ของประกาศคสช.ฉบับที่ 97 นั่นเอง
แล้วจะอาศัย มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เอามาใส่ไว้ในประกาศฉบับที่ 3/2558 ไว้ทำไมอีก?
ยิ่งถ้าพิเคราะห์ถึงเจตนาของถ้อยคำที่ปรากฏในข้อ 5 ประกาศฉบับที่ 3/2558 แล้วจะเห็นว่าถ้อยคำที่สร้างความหวาดกลัวนั้นอาจจะมาจากในโซเชียลมีเดีย มิใช่อยู่ในสื่ออื่นก็มีการตราความผิดข้อนี้อยู่ในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วรรค 2 อยู่แล้วนั่นคือ ถ้า “เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะหรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตาม (2) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี”
โทษหนักกว่าประกาศตัวใหม่นี้เสียอีก
ถ้าจะมีความต่างกันก็คือ ประกาศ ฉบับที่ 3/2558 นี้ มีเจตนาจะใช้อำนาจตามข้อ 5 ไป จัดการกับสื่อมวลชนหรือพลเมืองโซเชียลมีเดียเสียตั้งแต่ก่อนจะมีความผิดสำเร็จ?
ด้วยเหตุผลที่คุณวิษณุได้ชี้แจงมา รวมทั้งสิ่งที่ปรากฏตกค้างอยู่ในประกาศเก่าๆของคสช.นั้นเพียงพอที่จะยกเลิกข้อความข้อ 5 ในประกาศฉบับที่ 3/2558 นี้เสีย และถ้ามีเจตนาจะใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ยิ่งไม่มีเหตุจะคงเอาไว้ทั้ง 97 ทั้ง 103 ทั้ง ข้อ 5ใน 3/2558
เหตุผลที่ชัดเจนอีกอย่างคือ อยู่กันมาปีกว่าก็เห็นแล้วว่า อะไรที่ประกาศออกมาแล้ว บังคับได้ อะไรที่บังคับไม่ได้
สื่อไทยกับนายกฯไทย มันก็เข้าทำนองมนต์รักอสูร ตบจูบ ตบจูบกันเรื่อยไป อย่าให้ถึงกับตบตีแล้วฆ่ากันตายไปข้างหนึ่งเลย