แดชชิ่งฟอร์ม โตจากพรีออร์เดอร์
แดชชิ่งฟอร์ม (Dashing Form) ก่อตั้งจากคู่เพื่อนสนิท คนหนึ่งหัวการค้า อีกคนหัวศิลปะ เรียนจบมาไม่อยากทำงานประจำ จึงชวนกันมาขายของอาร์ตๆ
โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ปานวาด วิไลภรณ์
แดชชิ่งฟอร์ม (Dashing Form) ก่อตั้งจากคู่เพื่อนสนิท คนหนึ่งหัวการค้า อีกคนหัวศิลปะ เรียนจบมาไม่อยากทำงานประจำ จึงชวนกันมาขายของอาร์ตๆ
วิกันดา ยงทิวเจริญสุข และ ปานวาด วิไลภรณ์ คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจจากเงินศูนย์บาท แต่ทว่ามีต้นทุนทางความคิดที่ประเมินค่ามิได้
เริ่มต้นจากความธรรมดาที่พิเศษ
ทั้งสองเริ่มขายสินค้าชิ้นแรกเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ผลิตภัณฑ์แรกเริ่มจากการมองสิ่งรอบตัวแล้วพยายามหาอะไรที่แปลกใหม่ จึงคิดไปถึงของขวัญชิ้นพิเศษ แต่จะทำอย่างไรให้มันพิเศษ โจทย์นี้ทำให้เกิดเป็น กระดาษห่อของขวัญ ดีไซน์เฉพาะบุคคล โดยได้ฝีมือการดีไซน์จากเพื่อนสนิทที่ก่อตั้งแบรนด์มาด้วยกัน
ปานวาดออกแบบลายกระดาษห่อของขวัญตามออร์เดอร์ของลูกค้า แต่ก็ยังคงลายเส้นของตัวเองไว้ โดยทั้งกระบวนการไม่มีต้นทุน เพราะเป็นลักษณะการขายแบบพรีออร์เดอร์ เมื่อมีออร์เดอร์ ได้รับเงินแล้วถึงลงมือทำ
นอกจากลายกระดาษที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ คุณภาพของกระดาษก็ต้องดีด้วย เช่น ไม่ยับง่าย กันน้ำ และพิมพ์อย่างดี เพื่อให้เกิดการบอกต่อ เพราะเชื่อว่าหากของมีคุณภาพดี ลูกค้าจะเข้ามาหาเอง และก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะสินค้าได้เติบโตไปถึงงานพิมพ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ นามบัตร ปฏิทิน โลโก้สินค้า รวมถึงสแตนดี้ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงรับปริญญา
ช่องทางการขายจะขายผ่านอินสตาแกรม (@dashingform) และเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยวิกันดามีวิธีสร้างแบรนด์ทั้งให้คนใกล้ชิดช่วยแชร์ให้เพื่อนของเพื่อนรู้จักไปเรื่อยๆ วิธีติดแฮชแท็ก เช่น คำว่าแบงค็อก (#bangkok) ไทยแลนด์ (#thailand) หรือดีไอวาย (#DIY) ซึ่งทำให้ใครก็ได้ในโลกนี้ค้นหาเจอ รวมถึงเข้าไปคลิกไลค์ภาพกลุ่มเป้าหมายในอินสตาแกรมเพื่อให้เขาเห็นแบรนด์
ทดลองจนค้นพบ
เมื่อได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้ว วิกันดาและปานวาดก็เดินหน้าสู่สินค้าต่อไป โดยได้เรียนรู้จากสินค้าแรกแล้วว่า การทำสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ต้องเผชิญกับความคาดหวังและเงื่อนไขมากพอสมควร พวกเธอจึงเปลี่ยนมาทำของใช้ที่ให้ลูกค้าเลือกจากรูปแบบที่มีแทน ซึ่งก็ได้ทดลองทำหลายอย่างทั้ง เรซิ่น หน้าคนสำหรับตั้งโชว์ที่บ้าน แต่ก็ไม่เวิร์ก เพราะใช้เวลาทำนานและเป็นงานแฮนด์เมดร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเปลีี่ยนมาเป็นสิ่งของที่คนใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ปากกา ซึ่งปานวาดก็ดีไซน์ให้เก๋ด้วยการนำไม้มาทำเป็นปากกาและเพิ่มความพิเศษตรงที่สามารถสลักชื่อลงไปได้ “เพราะคนทุกวันนี้ชอบใช้ของที่สื่อถึงตัวเอง” วิกันดา กล่าว เธอยกตัวอย่างเสื้อยืดธรรมดาที่สกรีนตัวอักษร แต่คนก็ชอบซื้อเพราะมันสื่อถึงชื่อของตัวเอง
เมื่อถึงจุดนี้การทำสินค้าไม่ใช่การทำตามออร์เดอร์เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ต้องมีต้นทุนในการผลิต ซึ่งพวกเธอก็สามารถคุมให้ต่ำได้ อย่างปากกาไม้ก็ไปซื้อไม้จากแหล่งขาย ส่วนอุปกรณ์ก็มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยที่ปานวาดเรียน ทำให้ต้นทุนไม่สูงแต่มีมูลค่ามาก เพราะการดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์
สินค้าต่อมาคือ กระเป๋า ซึ่งเป็นสิ่งที่ปานวาดอยากทำอยู่แล้ว สินค้านี้ยังมีไม้เป็นส่วนประกอบและเน้นความแปลกใหม่ของดีไซน์ ซึ่งตอนแรกตั้งราคาแพงทำให้ได้กระแสตอบรับน้อยมาก “จากปกติราคาสินค้าที่มีการดีไซน์จะขายมากกว่าทุนประมาณ 5 เท่า” ปานวาด กล่าว “แต่เราลดลงมาให้มันคุยกันได้และเน้นไปที่ปริมาณที่ขายได้แทน” เมื่อลดราคาสินค้าลงกลายเป็นว่ากระแสตอบรับดีขึ้นจนสินค้าที่ทำออกมาขายได้เกือบหมด
นอกจากนี้ ยังมีการไปออกบูธขายตามงานแฟร์ การพบปะลูกค้าโดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น จากที่ทำกระเป๋าไซส์ใหญ่อย่างเดียวก็เปลี่ยนมาเป็นไซส์เล็กตามคำแนะนำของลูกค้า ซึ่งปรากฏว่าขายดี งานกระเป๋าถือว่าเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดตั้งแต่ทำมา นั่นอาจเป็นเพราะมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ใช้งานได้จริง ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย และยังมีบริการหลังการขาย เป็นต้นว่าหากสายหลุดก็สามารถส่งมาซ่อมได้ฟรี ซึ่งตั้งแต่ขายมาก็มีเพียงรายเดียวที่เจอปัญหานี้
หลังจากได้ออกบูธมากขึ้น ทำให้พวกเธอได้เรียนรู้อีกครั้งว่าสินค้าอะไรที่ขายง่าย หนึ่งในนั้นคือ จิวเวลรี่ แต่ติดปัญหาที่ว่าต้องลงทุนมาก จึงมาลงเอยที่ เสื้อยืด สกรีนลาย เช่น ลายวลีเด็ดที่กำลังฮิต หรือคำคมเจ๋งๆ ที่วัยรุ่นชอบ บวกกับรูปภาพที่ปานวาดวาดเองก็ทำให้สินค้ามีมูลค่ามากขึ้น พวกเธอเริ่มลงมือทำตั้งแต่หาซื้อเสื้อ ติดต่อร้านสกรีน รวมถึงทดลองใช้จริงเองก่อน ลองดูว่าพอใส่แล้วรู้สึกสบายไหม หรือพอซักแล้วจะหดไหม แล้วจึงประกาศขายในช่องทางที่มีอยู่
โปรเจกต์ต่อไปที่ทั้งคู่น่าจะทำเร็วๆ นี้คือ การทำ เวิร์กช็อป เพราะความที่เป็นคนทำสินค้าทุกอย่างเองทำให้รู้กระบวนการทุกอย่างอยู่แล้ว “ราก็นำความรู้ที่มีมาสอนเด็กรุ่นใหม่ดีกว่า” วิกันดา กล่าว และปานวาดยังเสริมด้วยว่า การทำเวิร์กช็อปมันมองเป็นการตลาดได้ด้วย เพราะมันก็คือช่องทางการโปรโมทสินค้าทางหนึ่ง ดังนั้นการขยายตลาดในรูปแบบนี้ “เราจะได้เงินกลับมาด้วย”
การทำเวิร์กช็อปจะเปิดสอนครั้งละไม่เกิน 5 คน โดยจะเริ่มจากการหล่อเรซิ่น เริ่มสอนตั้งแต่ว่าเรซิ่นคืออะไร มีอุปกรณ์การทำอะไรบ้าง เพื่อหวังให้เขานำความรู้กลับไปทำได้เอง และมันอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ค้นพบทางของตัวเองเหมือนอย่างที่ทั้งคู่ลองถูกลองผิดกันมาก็ได้
งานประจำที่ไม่ใช่งานประจำ
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของวิกันดา เด็กจบใหม่จากรั้วธรรมศาสตร์ ว่าทำไมถึงไม่หางานประจำทำเหมือนเพื่อนคนอื่น เธอเล่าให้ฟังว่า เพราะที่บ้านมีธุรกิจอยู่แล้ว เธอจึงมาสานต่อกิจการของครอบครัว แต่ทำได้ไม่นานก็เบื่อ อยากหาอะไรแปลกใหม่ และด้วยนิสัยเป็นคนชอบขายของ ตั้งแต่สมัยเด็กก็จะขายตุ๊กตากระดาษหรือขายของในแค็ตตาล็อกแก่เพื่อนๆ ในชั้นเรียน เมื่อได้มาพบปานวาดจึงชวนทำสินค้าขาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังดูแลกิจการที่บ้านอยู่เช่นเดิม
ส่วนปานวาดเป็นคนรักงานศิลปะ เธอเรียนมาเพื่อเป็นช่างฝีมือ ดังนั้นเธอจึงมีแนวคิดว่า ทุกอย่างสามารถสร้างขึ้นมาได้ แล้วจะไปสมัครงานประจำทำไม ในเมื่อสามารถทำของขึ้นมาขายได้เอง เมื่อสองคนมาเจอกัน คนหนึ่งอยากค้าขาย อีกคนอยากทำสินค้า ทั้งคู่จึงลงมือทำจริงแบบที่พอคิดอะไรได้ก็ทำทันที ก่อนที่คนอื่นจะคิดได้เหมือนกันแล้วชิ่งทำไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การทำสินค้าก่อนคนอื่นก็ใช่ว่าจะไม่มีคนทำตาม ในจุดนี้ปานวาดมองว่าเป็นความภูมิใจ “เพราะหากงานไม่ดีก็คงไม่มีใครมาก๊อบ” ปานวาด กล่าว และยังพูดไว้อย่างน่าคิดว่า คนก๊อบปี้งานเป็นตัวกระตุ้นให้ต้องคิดสินค้าใหม่ๆ เพื่อที่ก้าวไปก่อนคนเหล่านี้เสมอ
ปัจจุบันมีคนกดไลค์อินสตาแกรม @dashingform ประมาณ 2,300 คน ซึ่งลูกค้ามากกว่าร้อยละ 90 ติดตามสินค้าจากทางนี้ ผิดกับทางเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีการเคลื่อนไหวน้อย โดยจะอัพโหลดรูปขึ้นอินสตาแกรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุราคาสินค้าชัดเจน และหากลูกค้าติดต่อมาทางไลน์แล้วจะโต้ตอบให้เร็วที่สุด โดยในระยะแรกอาจยังมีความไม่เชื่อใจกัน เพราะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ พวกเธอจึงต้องแสดงความน่าเชื่อถือและความจริงใจผ่านตัวอักษรให้มากที่สุด เมื่อลูกค้าเกิดความประทับใจแล้วจากนั้นการตลาดแบบปากต่อปากจะมาเอง
ทุกวันนี้เงินที่ได้จากการขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นกระดาษห่อของขวัญ กระเป๋า หรือเสื้อ สามารถเลี้ยงทั้งสองคนได้ ซึ่งพวกเธอยังมีโปรเจกต์ใหญ่ต่อไปที่น่าสนใจ และอาจเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่นำเข้ามา
ติดตามได้ที่อินสตาแกรม @dashingform โทร. 09-4624-5445 หรือไลน์ Viewp