‘ของฝากไทยสุดฮิต’ เอเชียต้องจริต ฝรั่งต้องใจ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสู่ต่างแดน ต่างชาติ ต่างภาษา เมื่อจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนก็ย่อมที่จะหอบหิ้วของที่ระลึกกลับไปเพื่อทบทวนความทรงจำ
โดย...พริบพันดาว
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสู่ต่างแดน ต่างชาติ ต่างภาษา เมื่อจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนก็ย่อมที่จะหอบหิ้วของที่ระลึกกลับไปเพื่อทบทวนความทรงจำ หรือซื้อของฝากไปให้คนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายที่คุ้นเคยได้สัมผัสกับรสชาติที่แปลกใหม่จากประเทศเหล่านั้น
เมืองไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกต่างอยากมาเยี่ยมเยือนสักครั้งในชีวิต
ข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (PATA) คาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างปี 2557-2561 จะเพิ่มขึ้นจาก 521 ล้านคน เป็น 670 ล้านคน ในปี 2561 หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.5 และไทยก็เป็นประเทศอันดับแรกในภูมิภาคที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาท่องเที่ยว
คาสซานดรา เจมส์ คอลัมนิสต์ด้านท่องเที่ยว เขียนบทความลงในเว็บไซต์ยาฮู ได้กล่าวถึงของฝาก 5 ชนิดที่มีคุณภาพสูงและราคาถูก และน่าซื้อกลับไปมากที่สุด เพราะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหาซื้อได้ยากมาก แต่ในเมืองไทยมีวางขายอยู่ดาษดื่น ได้แก่ 1.ผ้าไหม 2.กล้วยไม้ไทย 3.เฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลัก 4.เครื่องเคลือบ 5.ทองและเครื่องประดับอัญมณีประเภทเพชร พลอย
ของฝากสุดฮิตจากเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อกลับไปเป็นของฝากกลับบ้านนั้นมีอะไรกันบ้าง? หลายคนอาจคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
ไกด์มากประสบการณ์
การประกอบอาชีพมัคคุเทศก์มายาวนานหลายสิบปี ผ่านประสบการณ์กับลูกทัวร์และนักท่องเที่ยวจากทุกทวีปมาแล้วก็ว่าได้ จนรู้ธรรมชาติและความต้องการที่แตกต่างกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้ซื้อของฝากและของที่ระลึกกลับบ้าน
สมชาติ อังกาบสี อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงตลาดของที่ระลึกและของฝากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเมืองไทยแล้วซื้อกลับไป
โดยเขาแบ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.มาเที่ยวโดยที่ไม่ได้ซื้ออะไรเป็นเรื่องเป็นราว มาเก็บความรู้สึกและดื่มด่ำกับธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม 2.มาเที่ยวและมาจับจ่ายซื้อของฝากและของที่ระลึกกลับไป 3.มาเที่ยวเพื่อจับจ่ายซื้อของโดยเฉพาะและหาลู่ทางทำธุรกิจไปด้วย
“นักท่องเที่ยวที่มาจากโซนยุโรปและอเมริกา ส่วนมากจะเป็นคนที่มีอายุวัยกลางคน ยังทำงานอยู่ก็จะมาซื้ออัญมณี รวมถึงเศรษฐีที่มีฐานะ ซึ่งอายุยังไม่มาก ก็จะซื้อกลับไป ส่วนมากมักนิยมร้านที่เป็นแบรนด์มากกว่า สำหรับในส่วนของฝากและของที่ระลึกจะแบ่งออกเป็นของเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงของใหญ่ๆ ที่เป็นเครื่องหนังหรือเฟอร์นิเจอร์อะไรก็มี”
สมบัติแจกแจงรายละเอียดให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ของโลกจะมีความต้องการที่ต่างกัน ยุโรปไม่ค่อยซื้อของฝากมากนัก ซื้อเพียงเล็กๆ น้อยๆ ของกินแทบจะไม่ซื้อเลย ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวเอเชีย เมื่อเข้ามาแล้วจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า
“ของกิน ของใช้ ของที่ระลึก ของโอท็อป นักท่องเที่ยวเอเชียกวาดหมด ยุโรปอาจจะหนืด เพราะขนส่งกลับลำบากและไม่มั่นใจในคุณภาพ สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปลกๆ ก็เป็นตลาดนักท่องเที่ยวเอเชีย ยุโรปถือว่าทรมานสัตว์ ตลาดจีนนี่แหละชอบ นักท่องเที่ยวที่ซื้อของกินหรือเครื่องดื่มกลับไปเป็นของฝากส่วนใหญ่จะมาจากเอเชีย โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ที่เชียร์ให้ลูกทัวร์ซื้อ อย่าง ยาหม่อง เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งก็จะมีแบรนด์หลักอยู่ แต่เขาก็ซื้อแบรนด์รองๆ ไปด้วย มัคคุเทศก์นี่แหละที่จะบอกว่าแบรนด์นี้ดีหรือไม่ดี”
สำหรับสินค้าโอท็อปที่มาจากจังหวัดต่างๆ นักท่องเที่ยวที่มาจากเอเชีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น จะซื้อของฝากที่เป็นของกินเสียส่วนใหญ่ ส่วนพวกงานฝีมือต่างๆ อย่างเครื่องจักสานนี่ไม่ค่อยซื้อ นอกจากกระเป๋าร้านนารายาที่เป็นกระเป๋าผ้าสุดฮิต สมชาติเล่าถึงเรื่องนี้ว่า
“ดั้งเดิมของกระเป๋านารายาเกิดมาจากตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งจะชอบมาก แล้วค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ มาร์เก็ตติ้งเขาแข็งมาก มีโรดโชว์ในต่างประเทศ เข้าไปทำตลาดที่ญี่ปุ่นเลย ในช่วงหลายปีหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ดี นักท่องเที่ยวชะลอตัวเขาก็เกิดชะงัก ก็มุ่งไปยังตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล ซึ่งก็ได้ผล เจาะตลาดได้ นักท่องเที่ยวจีนมาแล้วต้องซื้อ อีกอย่างราคาเป็นมิตรเริ่มต้นจากเพียง 100 กว่าบาทเท่านั้น ไม่แพงจนเกินไป เขาออกแบบได้ไม่เหมือนใคร มีเฉพาะที่ไทยเพียงอย่างเดียว รูปลักษณ์มีเอกลักษณ์เฉพาะ ถึงจะไม่ไทยแท้มากแต่ก็มีความร่วมสมัย ดูออกได้เลยว่ามาจากเมืองไทยแน่ มีลายกนก ลายไทย ซึ่งรู้ว่าเป็นแบรนด์ไทย ทำให้นักท่องเที่ยวเอเชียนิยมกัน แต่ฝรั่งไม่ค่อยชอบ”
นอกจากนี้ ยังมีกางเกงมวยไทยที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเอเชียชอบมากๆ สมบัติบอกว่าจริง เป็นของฝากที่ท็อปฮิต
“กางเกงมวยไทยผลิตออกมาเยอะ นักท่องเที่ยวชอบมาก โดยเฉพาะคนชอบกีฬามวย ออริจินัลจากกีฬามวยไทย เอเชียนิยมมาก ยุโรปจะเป็นเฉพาะกลุ่ม”
สำหรับแหล่งเงินรายได้พิเศษของมัคคุเทศก์ในการที่จะพาลูกทัวร์ไปซื้อของฝากกลับประเทศ สมชาติยอมรับว่ามีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพราะปัจจุบันหวังจากอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ไม่ได้แล้ว นักท่องเที่ยวไม่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจแย่
ของฝากอะไรถูกใจคนชาติไหน
น่าทึ่งไหมสำหรับของฝากจากเมืองไทย เมื่อกระเป๋านารายาถูกนักท่องเที่ยวเรียกว่า “กระเป๋ากรุงเทพฯ” หรือจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารสำหรับคนอยากรู้เรื่องญี่ปุ่นอย่าง DACO สรุปออกมาว่า สาเหตุที่ เบนโตะ ปลาหมึกปรุงรส ติดอันดับของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อกลับอย่างไม่น่าเชื่อนั้น มาจากเหตุผลก็คือ เผ็ด อร่อย ซื้อง่าย และราคาถูกมาก เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวที่เคยได้ชิมแล้วต้องซื้อกลับไป
มาดูกันว่าของฝากสิ่งละอันพันละน้อยจากเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบซื้อไปฝากคนที่บ้านก็มี อาทิ เสื้อยืดกระทิงแดง (ของแท้มีขายที่สนามบินสุวรรณภูมิขาออก อาคาร 1), ยาหม่องตราเสือ, เซียงเพียวอิ๊ว, หมอนสามเหลี่ยม, ธูปหอม, กางเกงเล, แผ่นดีวีดี-วีซีดี, ของที่ทำเลียนแบบสินค้าแบรนด์เนม, เทียนลอยน้ำ, ผลิตภัณฑ์ทำสปา-เครื่องหอมสมุนไพร เทียนหอม, ของแต่งบ้าน, เฟอร์นิเจอร์ไม้ ผ้าทอ, ผ้าไหม, เครื่องแกง-เครื่องต้มยำ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ลูกปัด, กล้วยไม้ที่สนามบิน (ใส่กล่องเรียบร้อย มีกระบอกยางเล็กๆ ใส่น้ำเลี้ยงแต่ละก้าน) สินค้า จิม ทอมป์สัน, เครื่องเงินประเภทต่างๆ
โดยมีแหล่งซื้อของใน กทม. อย่าง สวนจตุจักร, มาบุญครอง, สวนลุม, นารายณ์ภัณฑ์, สีลม, พัฒนพงษ์, สุขุมวิท, ริเวอร์ซิตี้, จิม ทอมป์สัน, เยาวราช, สำเพ็ง, พาหุรัด, ซอยละลายทรัพย์, ตลาดการบินไทย รวมถึงตลาดนัดต่างๆ
เมื่อไปเปิดข้อมูลของเว็บไซต์ www.painaidii.com ที่รวบรวมข้อมูลจากชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย โดยได้ผลสรุปว่าสินค้าอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปส่วนใหญ่จะเป็นของที่คนไทยนิยมใช้ แต่ไม่มีขายในต่างประเทศ เช่น ยาดม, กูลิโกะ เพรทซ์ รสลาบ, รองเท้าบู๊ต, ทุเรียนทอดกรอบ, เบนโตะ ปลาหมึกอบปรุงรส, กล้วยฉาบ, กระเป๋านารายา และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ที่ว่ามาค่อนข้างที่จะตรงกับ “ของฝากแบบไทยถูกใจญี่ปุ่น” เกร็ดความรู้ที่เขียนโดย เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ ลงในเว็บไซต์ www.tpapress.com ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เขาเขียนเล่าถึงว่า ซื้ออะไรฝากคนญี่ปุ่นที่ทั้งถูกใจและราคาไม่แพงนั้นก็คือ “ยาดมยาหม่อง” เป็นที่ชื่นชอบมากที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวขึ้นไป
ยี่ห้อที่นิยมคือ ยาดมตราโป๊ยเซียน ซึ่งคนญี่ปุ่นชื่นชอบในกลิ่นและความสดชื่นหลังจากได้สูด นอกจากยาดมแล้ว บรรดายาหม่องก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน เนื่องจากสรรพคุณแก้อาการวิงเวียนศีรษะและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะยาหม่องตราเสือ, กูลิโกะ เพรทซ์ รสลาบ มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แบบอาหารไทย แถมยังถูกปากชาวญี่ปุ่น, ปลาหมึกอบปรุงรส เบนโตะ เพราะรสชาติที่เผ็ด อร่อย ราคาถูก และแพ็กเกจที่พกพาได้สะดวก, ทุเรียนทอด กล้วยฉาบ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งถือว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เมื่อมาทำให้มีลักษณะเป็นของกินเล่นทำให้กินได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกันกับ “กล้วยฉาบ” ก็ได้รับความนิยม, กระเป๋านารายา ด้วยการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร มีความเป็นเอกลักษณ์ และคุณภาพของวัสดุก็ถือว่าดี ราคาไม่แพง ทำให้แบรนด์นารายาได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสชาติที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ คือ รสต้มยำกุ้ง หมูสับ ผัดขี้เมา ต้มโคล้ง และแกงเขียวหวาน, กางเกงมวยไทย, เสื้อยืดกระทิงแดง หรือเสื้อยืดสกรีนลายรูปช้าง ก็ได้รับความนิยมซื้อเป็นของฝาก
ด้านเว็บไซต์ www.marumura.com ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่น ได้มีบทความที่ชื่อ “10 อันดับของฝากของไทยที่คนญี่ปุ่นนิยมซื้อ” ไว้ดังนี้ 1.ของที่ระลึกรูปช้าง 2.เครื่องหอม 3.เครื่องแกง 4.เครื่องต้มยำ 5.เทียนอโรม่า 6.กะทิสำเร็จรูป 7.สบู่อโรม่า 8.เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา 9.แกงสำเร็จรูป 10.ผ้าพันคอผ้าไหม
วิเคราะห์ผ่านสายตานักวิชาการ
โครงการสำรวจพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทำกิจกรรม Shopping & Entertainment ได้สรุปผลวิจัยในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำกิจกรรมด้านช็อปปิ้ง ว่า มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 68,387 บาท (ไม่นับรวมค่าตั๋วเครื่องบินต่างประเทศ) และพบว่าร้อยละ 42 มีค่าใช้จ่าย 50,001-100,000 บาท ในขณะที่ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายอยู่ในช่วง 20,001-50,000 บาท
ประเภทของสินค้าที่ซื้อ แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมซื้อสินค้าหลากหลายประเภท แต่สินค้าที่เป็นที่นิยมซื้อเรียงลำดับตามความสำคัญได้ดังนี้ คือ เสื้อผ้า, เครื่องหนัง เช่น รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด, ของตกแต่งบ้าน, ของที่ระลึก, จิวเวลรี่ เพชร พลอย และเครื่องสำอาง
นักท่องเที่ยวเพศหญิง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากภูมิภาคยุโรป เอเชีย และแอฟริกา เป็นกลุ่มที่นิยมการซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้ามากที่สุด ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียเป็นกลุ่มที่สนใจการซื้อสินค้าประเภทเครื่องหนัง เช่น รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด มากกว่ากลุ่มอื่น และนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปชอบซื้อสินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน สำหรับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกาและโอเชียเนียนิยมการซื้อจิวเวลรี่ เพชรพลอย มากกว่ากลุ่มอื่น
นอกเหนือจากนี้ พบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกามีการซื้อของที่ระลึกมากที่สุด โดยรวมแล้วพบว่าของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อเป็นส่วนใหญ่ คือ ผ้าไหม สินค้าประเภทไม้แกะสลัก พวงกุญแจ เครื่องประดับ เช่น สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู และกระเป๋าผ้าพื้นเมือง
ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาเป็นกลุ่มที่มีการซื้อของที่ระลึกประเภทผ้าไหมมาก ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียและอเมริกานิยมซื้อพวงกุญแจเป็นของที่ระลึก
ดร.พิมพิกา ทองรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งสอนเกี่ยวกับวิชามัคคุเทศก์หรือไกด์ ได้ทำงานวิจัยเรื่องของฝากจากตลาดน้ำพระนครศรีอยุธยา บอกว่า โดยภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยมองของฝากที่ซื้อจากเมืองไทยว่าของถูกคุณภาพดี มีความแปลก (Exotic) และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก
“เอาจริงๆ คือต้องจัดนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มๆ ถ้าทางจีนก็ผลไม้และสมุนไพรกับของบำรุงร่างกาย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะบ้ามาก ส่วนชาติอื่นๆ ก็คละๆ กันไป ญี่ปุ่นก็ยังชอบพวกของแฮนด์เมด ส่วนนารายาเป็นตลาดจีนกับไต้หวัน ตะวันตกที่ชอบอัญมณีตลาดก็ยังโอเค พวกแอฟริกาก็เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมาซื้อกันเยอะ แต่ที่สังเกตพวกของกินมักจะเป็นกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่ซื้อมากเพราะตามร้านขายของจะมีป้ายภาษาจีนแทบทุกร้าน ส่วนตะวันตกเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาหารมากนัก”
เสน่ห์ของฝากจากเมืองไทย ดร.พิมพิกา บอกว่า น่าจะเป็นความหลากหลายจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ตั้งแต่ของมีรูปแบบดั้งเดิมไปจนทำตามสั่งได้ สามารถตอบโจทย์คนได้ทุกกลุ่ม
“ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์ไทยๆ พวกผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผลไม้แปรรูป แล้วก็เครื่องประดับอัญมณี คือมีเพื่อนเป็นไต้หวันเขาบอกว่า บ้านเขาบ้ามาก คือ นารายา เพราะสไตล์และราคามันสามารถซื้อได้ แล้วที่รู้อีกเรื่องคือยาชูกำลังนี่เขาจะขนซื้อกลับไปมากมาย เหมือนคนไทยซื้อบัวหิมะ พวกสมุนไพร รวมถึงเลือดจระเข้ แต่ข้อด้อยตอนนี้คือของที่ระลึกที่ขายกันทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวมันขาดอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไปแล้ว”