ปราบดา หยุ่น การอ่านสะท้อนรสนิยม
แม้จะสวมหมวกหลายใบ แต่คนทั่วไปรู้จักกันดี “ปราบดา หยุ่น”คือนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2545(ความน่าจะเป็น)
โดย...แจนยูอารี
แม้จะสวมหมวกหลายใบ แต่คนทั่วไปรู้จักกันดี “ปราบดา หยุ่น”คือนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2545(ความน่าจะเป็น) และเจ้าของสำนักพิมพ์ (ไต้ฝุ่น) รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารชื่อดัง เขาเป็นหนอนหนังสือตัวยงคนหนึ่งโดยเริ่มจากการหยิบหนังสือคุณพ่อคุณแม่มาอ่าน อ่านไปก็ชักติดใจ จนเล็งหาหนังสือในแนวทางที่ตัวเองชอบ ปราบดา บอกว่าหนังสือได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาก้าวสู่ถนนนักเขียนอย่างเต็มตัว
“ตอนเด็กๆ อ่านหลายแนวครับอ่านเพราะที่บ้านมีหนังสืออยู่แล้วเป็นรสนิยมที่ผมได้มาจากคุณพ่อคุณแม่ ท่านอ่านอะไร ผมก็ได้อ่าน พอโตขึ้นค่อยๆ มองหาหนังสือที่อยากอ่านและเป็นแนวทางที่ตัวผมสนใจหรือประเภทหนังสือที่คนรู้จักและได้รับความนิยม เช่น เชอร์ล็อกโฮมส์ ผมก็อ่าน วรรณกรรมไทยที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้นๆ งานของคุณชาติ กอบจิตติ งานของคุณจำลอง ฝั่งชลจิตร ผมก็ชอบนะโตมาหน่อยก็เริ่มอ่านประวัติศาสตร์อ่านปรัชญา อ่านเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์มากขึ้น สำหรับผมไม่ว่าจะอ่านอะไร มันก็สะท้อนถึงรสนิยมของคนคนนั้นได้ระดับหนึ่งนะครับเพราะถ้าไม่ใช่ หรือไม่ชอบ ก็ยากที่จะหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน”
รวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอริสต์ฮิวเมอริสต์ (อบ ไชยวสุ) : เขียน
“หนังสือของครูอบ ไชยวสุ มีหลายยุคสมัย เป็นเรื่องขำขัน แต่มีความน่าสนใจพอสมควร ตรงที่ท่านมีลูกล่อลูกชน แพรวพราวด้วยภาษาไทย มีลีลาที่ชวนอ่าน สนุกกับเนื้อเรื่องและยังสนุกกับภาษา โดยเฉพาะการนำภาษาไทยมาเล่าและเล่นในสไตล์ขำขัน ซึ่งหลายๆ เล่มที่ท่านใช้นามปากกานี้ค่อนข้างมีความโดดเด่นมากๆ ผมถือว่างานเขียนของท่านเป็นต้นแบบที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการใช้ภาษาไทยในงานเขียนของผมด้วยนะครับ”
The Catcher in the Rye(จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น)เจ.ดี.ซาลินเจอร์ : เขียนปราบดา หยุ่น : แปล
“ผมแปลเรื่องนี้ครับ เพราะเป็นความประทับใจสมัยเป็นวัยรุ่นไปเรียนต่างประเทศ อาจจะมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครเพราะตอนนั้นผมก็เป็นวัยรุ่น ตัวละครก็เป็นวัยรุ่นที่มีความแปลกแยกแตกต่างและมีปัญหากับสังคม ตอนอ่านผมก็ประทับใจ พอเวลาผ่านไปความประทับใจนั้นก็ยังไม่จางหาย จนกระทั่งมีโอกาสได้หยิบมาแปลก็ยิ่งประทับใจอีกครั้ง”
คัมภีร์เต้าเต้อจิงเหล่าจวื่อ : เขียนจ่าง แซ่ตั้ง : แปล
“จริงๆ เล่มนี้มีหลายคนแปล แต่เล่มที่ผมอ่านเป็นสำนวนของคุณจ่าง แซ่ตั้ง มันเป็นปรัชญาจีนที่อ่านแล้วจะรู้ว่ามันไม่ตกยุคสมัย พูดถึงธรรมชาติ สังคม ทัศนคติของการใช้ชีวิตแบบคาดไม่ถึง ถ้าอ่านตอนเป็นวัยรุ่นจะรู้สึกทึ่งมาก ทึ่งในความเป็นปรัชญาแบบตะวันออก ซึ่งก็มีบางส่วนที่คล้ายๆ พุทธศาสนา แต่ไม่เรียกว่าศาสนา เป็นแนวคิดเชิงปรัชญาแบบตะวันออก”