สุแจง สุธรรมพิทักษ์ ต่อยอด สิ่งที่รักสู่ธุรกิจ
หลังจากเรียนจบทางด้านมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อหลายปีก่อน สาวเปรี้ยวผู้มีสไตล์ไม่ซ้ำใคร สุแจง สุธรรมพิทักษ์ หรือ แจง
โดย...ภาดนุ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี
หลังจากเรียนจบทางด้านมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อหลายปีก่อน สาวเปรี้ยวผู้มีสไตล์ไม่ซ้ำใคร สุแจง สุธรรมพิทักษ์ หรือ แจง ก็มีโอกาสได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาในการออกแบบชุดว่ายน้ำให้กับสตรีตแวร์แบรนด์ดังอย่าง “ริปเคิร์ล” (Rip Curl) นี่คือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำชุดว่ายน้ำแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อ บิกี้ (Bikie) ในเวลาต่อมา
“ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ แจงมีโอกาสได้ออกแบบชุดว่ายน้ำให้กับริปเคิร์ล ซึ่งถือเป็นงานแรกที่ได้ออกแบบอย่างจริงจัง แต่หลังจากนั้นแจงก็เบนเข็มมาทำงานทางด้านสไตลิสต์ให้กับนิตยสารแฟชั่นวัยรุ่นอยู่หลายปี จึงห่างหายจากงานออกแบบไปนานทีเดียวค่ะ
จนกระทั่งลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ แจงก็เลยกลับมาทำงานทางด้านการออกแบบอีกครั้งหนึ่ง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่ไปเที่ยวทะเล แล้วรู้สึกว่ารูปร่างของตัวเองเป็นคนที่หาชุดว่ายน้ำใส่ยากมาก ซึ่งชุดว่ายน้ำส่วนใหญ่ที่ซื้อมาใส่ ในความคิดเรามันดูเชยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นบิกินีที่ขาเว้าสูงแบบไฮคัต ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับสรีระของผู้หญิงไทยสักเท่าไหร่ ใส่แล้วรู้สึกไม่มั่นใจเลยค่ะ”
นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอออกแบบชุดว่ายน้ำและตระเวนหาซื้อผ้าตามที่ต้องการเพื่อมาตัดเย็บเป็นชุดว่ายน้ำเพื่อใส่เอง “ตอนที่เริ่มทำชุดว่ายน้ำใหม่ๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจอะไรหรอกค่ะ แค่ทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเองซึ่งหาชุดว่ายน้ำที่น่าพอใจใส่ได้ยากก็เท่านั้น แต่บังเอิญว่าพอทำออกมาแล้วคนที่เห็นผลงานกลับบอกว่าชอบ เราก็เลยมีกำลังใจที่จะออกแบบและคิดที่จะลองทำออกมาขายดู”
แจง บอกว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำนั้นอุปสรรคใหญ่คือการหาช่างที่ทำแพตเทิร์นและตัดเย็บได้ยากมาก บางครั้งช่างที่ส่งงานให้ไปทำ แม้จะทำออกมาตรงตามแบบ แต่ชิ้นงานก็ยังไม่ได้คุณภาพอย่างที่ต้องการ เนื้อผ้าและเนื้องานยังไม่ดีพอ ใส่ลงน้ำแค่ครั้งสองครั้งผ้าก็ย้วยแล้ว
เธอจึงต้องไปตระเวนหาผ้าที่มีคุณภาพดีสำหรับทำชุดว่ายน้ำจริงๆ ซึ่งก็มีร้านขายผ้าพวกนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ต้องซื้อเป็นจำนวนมาก และต้องหาลวดลายและสีสันที่เหมาะกับการนำมาทำเป็นคอลเลกชั่นตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ โชคดีที่เธอเคยเป็นสไตลิสต์มาก่อน การเลือกเนื้อผ้า ลวดลาย และการแมตช์สีของผ้า จึงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด
“แม้จะหาช่างตัดเย็บยาก แต่แจงก็ตามหาช่างมาเรื่อยๆ อันที่จริงมีช่างที่โอเคแล้ว การตัดเย็บก็ดีค่ะ แต่ราคาค่าแรงแพงไปหน่อย เพราะเขาทำแบบเฮดเมดชิ้นต่อชิ้น ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงตามไปด้วย ก็เลยต้องเปลี่ยนช่างอีก 4-5 คน กว่าจะได้ช่างที่สามารถทำตามสเปกที่เราต้องการได้ในราคาที่เราพอใจอย่างทุกวันนี้”
แจง เสริมว่า ในช่วงแรกที่ต้องควบคุมจำนวนสินค้าและราคาต้นทุนเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจชุดว่ายน้ำมากน้อยขนาดไหน แถมการเริ่มต้นในระยะแรกนั้นก็มีอุปสรรคไปเสียทุกอย่าง แต่เธอก็สามารถฝ่าฟันจนทำชุดว่ายน้ำ “บิกี้” คอลเลกชั่นแรกออกมาได้สำเร็จ โดยใช้เงินลงทุนก้อนแรกเพียง 5 หมื่นบาท
“พอทำชุดว่ายน้ำคอลเลกชั่น Ocean Blue ออกมา แจงก็ลองเข้าไปติดต่อที่ร้าน Flynow แล้วถามเขาว่า ถ้าเราจะนำสินค้าที่เป็นชุดว่ายน้ำมาฝากขาย ทางร้านสนใจไหม โดยนำผลงานการออกแบบไปพรีเซนต์ให้ทางร้านได้ดูก่อน ปรากฏว่าทางร้านชอบดีไซน์การออกแบบของเรา แต่ติดในเรื่องคุณภาพของสินค้า แจงก็เลยต้องนำชุดว่ายน้ำกลับมาปรับปรุงแก้ไขใหม่โดยเน้นคุณภาพของเนื้อผ้าและการตัดเย็บให้เนี้ยบมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดทางฟลายนาวก็อนุญาตให้วางขายในร้านได้”
แทบไม่น่าเชื่อว่าชุดว่ายน้ำคอลเลกชั่นแรกที่ฝากขายในร้านจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมากๆ (ราคาชุดละ 3,500 บาท) เพราะลูกค้าซื้อหมดเกลี้ยงทั้งคอลเลกชั่นเลยล่ะ ซึ่งหนึ่งในจำนวนลูกค้าก็มีดาราสาวอย่าง กุ๊บกิ๊บ-สุมณทิพย์ เหลืองอุทัย รวมอยู่ด้วย ทำให้มียอดจองจากลูกค้าเยอะมากจนทำแทบไม่ทัน
“เมื่อสินค้าที่ฝากขายกับทางร้านไปได้สวย แจงจึงอยากเพิ่มฐานลูกค้าของตัวเองทางออนไลน์ดูบ้าง ก็เลยออกแบบชุดว่ายน้ำออกมาอีก 3 คอลเลกชั่นในช่วงซัมเมอร์ เพื่อขายในไอจีและเฟซบุ๊ก ซึ่งประกอบด้วย คอลเลกชั่น Swimboas เป็นชุดว่ายน้ำลายงู มีสีชมพูและสีม่วง รุ่นนี้เป็นดีไซน์คลาสสิกของบิกี้ที่ขายในออนไลน์เลยก็ว่าได้ ซึ่งแจงร่างแบบไว้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน
คอลเลกชั่น Peace เป็นชุดว่ายน้ำแบบวันพีซที่ตั้งชื่อตามลวดลายของผ้าซึ่งเป็นลายพรินต์สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายสันติภาพ และคอลเลกชั่น Black Nuvo ซึ่งเป็นชุดว่ายน้ำสีดำที่ออกแบบโดยอิงกับลวดลายของศิลปะสไตล์อาร์ตนูโว
ส่วนคอลเลกชั่น Ocean Blue ซึ่งฝากขายที่ร้านฟลายนาวนั้นจะเป็นชุดว่ายน้ำสไตล์โบฮีเมียนสีสันสดใส ปีหนึ่งแจงจะทำส่งให้ทางร้าน 2 คอลเลกชั่นด้วยกัน ซึ่งคอลเลกชั่นเหล่านี้จะไม่สามารถทำออกมาขายในออนไลน์ได้”
หลังจากเปิดขายในออนไลน์ก็มีลูกค้าเข้ามาถามไถ่กันมากมาย ลูกค้าบางรายที่เคยเห็นสินค้าในร้านฟลายนาวมาก่อนก็จะมีคำถามว่า แล้วสินค้าที่ขายในออนไลน์ล่ะ ราคาและคุณภาพของสินค้าจะเหมือนกับที่วางขายในร้านหรือเปล่า
“เรื่องนี้เราก็ต้องอธิบายว่า ดีไซน์และรูปแบบของสินค้าจะคล้ายกัน แต่คุณภาพของผ้าที่ขายทางออนไลน์นั้นจะราคาถูกกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฟองน้ำที่ใช้เสริมบริเวณหน้าอกจะเป็นฟองน้ำคุณภาพดีเหมือนกับฟองน้ำของเสื้อชั้นในแบรนด์ดังๆ เลยล่ะ จึงสามารถนำบิกินีท่อนบนไปแมตช์กับกางเกงเอวสูงแล้วใส่เพิ่มความเปรี้ยวที่ชายทะเลในหน้าร้อนนี้ก็ได้ เพราะผู้หญิงสมัยนี้กล้าแต่งตัวกันมากขึ้น อาจจะไม่ได้ใส่เพื่อว่ายน้ำเพียงอย่างเดียว (ราคาชุดละ 1,290-1,590 บาท)
ตอนนี้สินค้าที่ขายทางออนไลน์เริ่มมีลูกค้าเข้ามาดูเรื่อยๆ ลูกค้าบางรายก็มาสั่งไปขายที่ร้านเสื้อผ้าของตัวเองบ้าง ซึ่งเราจะคิดในราคาส่งที่ถูกกว่าเพื่อให้เขานำไปขายต่อทำกำไรได้”
แม้ปัจจุบันนี้จะมีสินค้าชุดว่ายน้ำดีไซน์เก๋ๆ ออกมาหลายแบรนด์ นั่นหมายถึงการมีคู่แข่งที่เยอะขึ้นตามไปด้วย แต่แจงบอกว่าไม่หวั่นใจ เพราะคิดว่าแต่ละแบรนด์น่าจะแข่งขันกันด้วยรูปแบบและดีไซน์เป็นหลัก ส่วนเรื่องราคานั้นจะเป็นรอง เธอจึงพยายามยึดดีไซน์ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของบิกี้ไว้ ซึ่งจุดเด่นก็คือ เป็นชุดว่ายน้ำที่มีระบายเพื่อช่วยปิดบังหรืออำพรางรอบขาหรือต้นขาที่ใหญ่สำหรับผู้หญิงบางคนที่ไม่มั่นใจ ซึ่งบิกี้จะมีระบายทั้งท่อนบนและท่อนล่าง จึงมีความน่ารักผสมผสานความเปรี้ยวเก๋อยู่ในตัว
“กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของบิกี้จะเป็นสาวๆ มหาวิทยาลัยถึงวัยเริ่มทำงาน ด้วยราคาเริ่มต้นที่ชุดละพันกว่าบาท (ขายบนออนไลน์) จึงซื้อง่ายขายคล่อง จากที่คิดว่าจะทำเล่นๆ ในตอนแรก พอมีผลตอบรับที่ดี มีฐานลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้แจงเลยมองว่าอยากนำชุดว่ายน้ำของเราออกไปสู่ตลาดในกลุ่มประเทศ เออีซี ให้มากขึ้น สถานที่ที่อยากไปวางขายเป็นที่แรกก็คือบาหลี ซึ่งถ้าติดต่อกับทางร้านได้ เงินทุนพร้อม ก็อาจจะเริ่มทำส่งไปขายที่บาหลีในช่วงต้นปีหน้าเลยค่ะ”
ติดตามได้ที่ IG: Bikie_Swimwear_Fashion และ Facebook.com/bikieswimwearfashion