posttoday

เกาหลีใต้ ตะลุยแดนใต้ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องลอง

02 พฤษภาคม 2558

ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะปีหนึ่งๆ มีคนไทยเดินทางไปทั้งท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะปีหนึ่งๆ มีคนไทยเดินทางไปทั้งท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน และติดต่อธุรกิจการค้าจำนวนมาก เราเองก็เช่นกันที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปถ่ายทำก็หลายครั้ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประเทศนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจริงๆ ไม่ว่าจะกลับไปอีกกี่ครั้งก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน แต่การเดินทางกลับไปครั้งนี้ เราไปในพื้นที่ที่คนเกาหลีเองก็มองว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าที่อื่นๆ จึงยังคงเห็นภาพและบรรยากาศของธรรมชาติที่ไม่ถูกปรุงแต่งมากรวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เรียบง่าย

ในบรรดาจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดของประเทศเกาหลีใต้ จังหวัดชอลลาบุกและชอลลานัม ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาในแง่ของอุตสาหกรรมน้อยที่สุด เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ทางพืชพรรณธัญญาหาร   การเป็นแหล่งชุกชุมของสัตว์ทะเล และสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้สองจังหวัดนี้ถูกวางให้เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศนั่นเอง แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทำให้ทั้งสองจังหวัดนี้ไม่อาจปฏิเสธการเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมได้ อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นความโชคดีที่เกาหลีใต้เคยได้รับบทเรียนจากการบริหารจัดการอุตสาหกรรมที่ล้มเหลวในบางพื้นที่ ทำให้แนวทางในการพัฒนาทั้งสองจังหวัดนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติและวิถีดั้งเดิม ซึ่งก็ทำให้เกิดเป็นโมเดลในการสรรค์สร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง

เกาหลีใต้ ตะลุยแดนใต้ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องลอง สัมผัสประสบการณ์ธรรมชาติแปลกตา ที่อุทยานธรรมชาติมาอิซาน

 

เราเริ่มต้นทำความรู้จักกับจังหวัดชอลลาบุกเป็นอันดับแรกสุด โดยมาเริ่มต้นที่เมืองมูจู (Muju) เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ที่จะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวก็แต่เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น เพราะเป็นที่ตั้งของสกีรีสอร์ท แต่ตอนนี้ได้มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางกีฬาเทควันโดของโลก ที่มีชื่อเรียกว่า “เทควันโดวอน” (Takewondowon) ซึ่งกีฬาเทควันโดถือเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติของเกาหลีใต้ ปัจจุบันมีคนเล่นกีฬาชนิดนี้ประมาณ 70 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานะสายดำถึงกว่า 3 ล้านคน และด้วยความที่กีฬาชนิดนี้เป็นรู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก ทางเกาหลีใต้ในฐานะประเทศต้นกำเนิด จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเทควันโดวอนแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่กีฬาเทควันโดอย่างถูกต้อง ทั้งในส่วนของผู้เล่น ผู้ฝึกสอน ตลอดจนถึงผู้ตัดสิน เพื่อสร้างมาตรฐานกีฬาเทควันโดให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก

เทควันโดวอนถูกสร้างบนเนื้อที่กว่า 572 เอเคอร์ ประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์และส่วนจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเทควันโด มี T-one Arena สนามแข่งขันเทควันโดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีอาคารพักรับรองที่มีห้องพักมากกว่า 100 ห้อง มีสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ท่ามกลางหุบเขา และพาวิลเลี่ยนที่ถูกสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมโบราณ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและฝึกฝนสมาธิ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาทักษะเทควันโดในแบบโบราณ ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาเทควันโด หรืออยากจะเข้ามาท่องเที่ยว ก็สามารถซื้อแพ็กเกจได้ในราคาย่อมเยา จะมาเข้าคอร์สสนุกๆ แบบวันเดียวจบ หรือจะเข้าคอร์สเพิ่มทักษะแบบขั้นสูง ก็สามารถเข้าไปชมรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.tkdwon.kr

เกาหลีใต้ ตะลุยแดนใต้ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องลอง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หมู่บ้านพิลบง

 

จากเทควันโดวอนเราเดินทางต่อไปยังเมืองจีนาน เป็นที่ตั้งของอุทยานธรรมชาติมาอิซาน ภูเขาหินแฝดรูปทรงแปลกตา ที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ภูเขาหูม้า” เพราะมีรูปทรงคล้ายกับหูม้าเมื่อมองจากระยะไกล ตรงเชิงเขามาอิซานเป็นที่ตั้งของวัดทับซา (Tapsa Temple) มีอายุเก่าแก่กว่าหนึ่งร้อยปี ถูกสร้างขึ้นโดยราชบัณฑิตผู้เกษียณราชการคนหนึ่ง ที่ใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ซึ่งตลอด 30 ปีจนสิ้นอายุขัย เขาได้สร้างเจดีย์หินจำนวนมาก โดยใช้เทคนิคการซ้อนหินโดยไม่มีซีเมนต์ใดๆ มาเชื่อมต่อ แต่เจดีย์เหล่านั้นก็สามารถทนทานผ่านทั้งพายุและแผ่นดินไหวมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนั้นแล้วอีกฝั่งหนึ่งของวัดทับซาสามารถมองเห็นแนวหินรูปทรงแปลกของภูเขามาอิซาน บ้างก็มองว่าเหมือนช้าง บ้างก็มองว่าเหมือนใบหน้ามนุษย์

ไม่ไกลมากจากเมืองจีนาน เราเดินทางต่อมาที่เมืองอิมซิล (Imsil) เมืองชนบทที่ไม่ได้มีดีแค่เพียงเรื่องบรรยากาศและธรรมชาติที่สวยงามเท่านั้น แต่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีสที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1958 มิชชันนารีชาวตะวันตกผู้หนึ่ง เดินทางเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ และเริ่มต้นธุรกิจผลิตชีสเล็กๆ จากแพะสองตัว ต่อมาก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย และได้มีการส่งเสริมให้ชาวเมืองอิมซิลหันมาเลี้ยงโคนมที่ให้วัตถุดิบในการผลิตชีสมากกว่าแพะ จนกระทั่งในปัจจุบันเมืองอิมซิลได้กลายเป็นสถานที่ผลิตชีสที่ดีที่สุดของเกาหลีใต้ และยังได้ก่อตั้งอิมซิลชีสธีมปาร์ก (Imsi l Cheese Theme Park) เพื่อเป็นศูนย์กลางให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้และสนุกเกี่ยวกับการทำชีสและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย หากใครที่สนใจมาท่องเที่ยวที่นี่จะต้องติดต่อล่วงหน้าก่อน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีประจำประเทศไทย

เรายังคงอยู่ที่เมืองอิมซิลกันต่อ ถึงแม้ว่าเมืองนี้จะไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องของสตรอเบอร์รี่ แต่ก็นิยมปลูกกันมาก และสตรอเบอร์รี่ที่นี่ก็มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าที่อื่นๆ เจ้าของสวนแห่งหนึ่งเล่าให้ทีมงานฟังว่า เขาลงทุนเข้าคอร์สเรียนวิชาปลูกสตรอเบอร์รี่โดยเฉพาะถึง 2 ปี ทำให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนั้นแล้วเขาก็ยังค้นพบวิธีการต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตแบบง่ายๆ เช่น ไร่สตรอเบอร์รี่ส่วนใหญ่ยังคงปลูกสตรอเบอร์รี่บนพื้น ทำให้การดูแลต้นสตรอเบอร์รี่ต้องก้มและเงยตลอดเวลา ทำให้ปวดหลังไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว เขาก็เลยยกพื้นให้สูงขึ้นจะได้ไม่ต้องก้ม ส่วนดอกของต้นสตรอเบอร์รี่ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นผล เขาก็คัดออกให้เหลือสัดส่วนพวงละประมาณ 3-4 ดอก ซึ่งก็อาจจะทำให้ได้ผลผลิตปริมาณน้อยลง แต่กลับได้สตรอเบอร์รี่ที่มีผลใหญ่ และมีรสชาติหวาน ขายได้ราคาดีกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการเรียนรู้และการพัฒนาด้วยตัวเอง

เกาหลีใต้ ตะลุยแดนใต้ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องลอง แม้จะไม่โด่งดังแต่สตรอเบอร์รี่ที่นี่ก็มีผลใหญ่และรสหวานฉ่ำไม่แพ้ที่อื่นๆ

 

นอกจากนั้นแล้วที่นี่ยังมีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งปลูกดอกกุหลาบที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการเกษตรที่ส่งออกไปต่างประเทศ หลายคนอาจสงสัยว่าดอกกุหลาบที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ  เมื่อถึงปลายทางจะเหี่ยวหรือไม่ ที่นี่เขามีวิธีการพิถีพิถันตั้งแต่การตัดดอกจากต้น ซึ่งก็จะเลือกดอกที่มีลักษณะตูม และมีความสมบูรณ์ จากนั้นจะส่งต่อไปยังแผนกคัดแยกและบรรจุหีบห่อเพื่อส่งเข้าห้องเย็นในทันที ซึ่งจะมีการคำนวณจากระยะเวลาขนส่งแล้วว่า ดอกกุหลาบจะเบ่งบานสวยงามเมื่อถึงปลายทางนั่นเอง

ถึงตรงนี้คงได้เห็นแล้วว่าสังคมส่วนใหญ่ของจังหวัดชอลลาบุกยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงไม่ถูกรบกวนจากโลกยุคใหม่มากนัก มากไปกว่านั้นผู้คนที่นี่ก็มีความพยายามที่จะช่วยกันรักษาอีกทางหนึ่ง  ด้วยการก่อตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมพิลบง (Philbong Cultural Village) ที่รวบรวมเอาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นของจังหวัดชอลลาบุก ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงสถาปัตยกรรมบ้านเรือนในยุคเก่า ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าพักเพื่อสัมผัสบรรยากาศได้อีกด้วย นอกจากนั้นแล้วที่นี่ก็มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งนักแสดงที่นี่ทุกคนล้วนเป็นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่รักและชื่นชอบการแสดงพื้นบ้านนี้ ทำให้เราสัมผัสได้ว่าการแสดงของพวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของคนรุ่นใหม่

บรรยากาศความสวยงามและวิถีชีวิตที่น่าสนใจในจังหวัดชอลลาบุกนั้นอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะไม่ใช้ปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่รายการโลก 360 องศา และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีประจำประเทศไทย เล็งเห็นว่าจังหวัดนี้มีความน่าสนใจและมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไทยที่ต้องการสัมผัสอีกแง่มุมหนึ่งของเกาหลีใต้ แต่การเดินทางของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ ติดตามได้ในตอนต่อๆ ไป  และอย่าลืมติดตามตามชมรายการโลก 360 องศา ทุกวันเสาร์ เวลา 21.15-22.00 ทาง ททบ.5