ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่น กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ด้วยเทคนิควิธี ดีไซน์ และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นได้การยอมรับว่าเป็นศิลปะดั้งเดิม
โดย...อฐิณป ลภณวุษ artofmylifeasafrog.blogspot.com
ด้วยเทคนิควิธี ดีไซน์ และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นได้การยอมรับว่าเป็นศิลปะดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสิ่งหนึ่งของโลก
ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นเคยจัดแสดงครั้งแรก เพื่อฉลอง 40ปี ของหอศิลป์ฟลอริดา เมื่อปี 2005 สิบปีให้หลังถึงเวลารวบรวมมาจัดแสดงอีกครั้ง
นอกจากผลงานชิ้นหลักๆ ที่เคยจัดแสดงมาแล้ว ยังมีชิ้นงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน ในนิทรรศการImages of the Floating World and Beyond : JapaneseWoodblock Prints ตั้งแต่วันนี้-16 ส.ค. โดย ศ.ดร.จอห์น อี.ชโรเดอร์ และ สเตฟานี ชิลล์ (ดีกรีปริญญาโทด้านศิลปะ)ร่วมกันคัดสรรภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นจากศตวรรษที่ 18 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 เพื่อจัดแสดงในครั้งนี้
อูกิโยเอะ หรือ Images of the Floating World ภาพพิมพ์แห่งยุคที่ถือเป็นตัวแทนศิลปะของชาวอาทิตย์อุทัยสมัยเก่าก่อน ที่ส่วนใหญ่มักวาดเรื่องราวของวัฒนธรรมสมัยนั้น อย่างภาพเกอิชา นักแสดงคาบูกิ ไม่ก็นักซูโม่ระหว่างศตวรรษที่ 18-19 ศิลปินที่มีชื่อเสียง ก็มีอย่างเช่น อุตามาโร่ โฮกุไซ ฮิโรชิเกะ และโยชิโทชิ
หลังจากที่เปิดประตูสู่ตะวันตกตั้งแต่ปี 1854 ก็เริ่มมีอิทธิพลจากโลกตะวันตกปรากฏในภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในยุครุ่งเรืองของภาพในสมัยเมจิ (1868-1912) ทั้งธีมและมุมมองของภาพล้วนรับอิทธิพลมาเต็มๆ เช่นว่า หญิงชายญี่ปุ่นในภาพเริ่มแต่งองค์ทรงเครื่องแบบยุโรป
ในทางกลับกัน ภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่นเองก็เป็นแรงบันดาลใจให้จิตรกรหลายคนในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์โกลด โมเนต์ ซึ่งเรียกว่าได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีกลิ่นอายญี่ปุ่นออกมาจำนวนมากมาย โดยเขาไม่เพียงนำเอารูปแบบรูปทรง สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในภาพพิมพ์ญี่ปุ่นมาใช้เท่านั้น หากได้นำเอาลักษณะของการจัดวางภาพแลนด์สเคปสไตล์ญี่ปุ่นมาใช้ด้วย
ณ ช่วงเวลาแห่งสมัยเมจิ บรรดาศิลปินทั้งหลายวาดภาพเชิดชูภูเขาไฟฟูจิและวีรบุรุษสงคราม ฉากตอนในภาพพิมพ์ยุคดังกล่าวจึงดูงดงามอลังการทว่าแฝงความน่าเกรงขามและซ่อนอารมณ์ความรุนแรงเอาไว้
ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้คนในยุคนั้นและปรากฏให้เห็นในชิ้นงานศิลปะ จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ รวมถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของแผ่นดินอาทิตย์อุทัย คือขาประจำของเรื่องราวในภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่น โดยออกมาให้เห็นในรูปแบบภูตผี ปีศาจ และซาตาน
การปฏิวัติของภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นณ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เรียกว่า ชิน-ฮังหงะ หรือภาพพิมพ์ใหม่ ยังคงรูปแบบเหมือนสมัยอูกิโยเอะ ทั้งเรื่องราวในภาพและระบบการพิมพ์ ทว่าศิลปินทำงานร่วมกับช่างฝีมือในการแกะพิมพ์ไม้ ที่เปิดโอกาสให้มีการทำซ้ำออกมาได้จำนวนมาก
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันก็มีความเคลื่อนไหว โซซากุ-ฮังหงะ หรือภาพพิมพ์สร้างสรรค์ ที่ศิลปินกลุ่มหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากโลกสมัยใหม่ความทันสมัยจากต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้สร้างสรรค์งานเช่นศิลปินเต็มตัว มีการตีความขนบญี่ปุ่นในมุมมองใหม่ ส่วนใหญ่จะออกมาเป็นภาพแนวแอบสแทรกต์
นักเขียนชาวอเมริกัน เจมส์ มิเคเนอร์ ที่มาอาศัยในเอเชียนานนับสิบปีเจ้าของผลงานรางวัลพูลิตเซอร์ Talesof the South Pacific ซึ่งเป็นที่มาของมิวสิเคิลชื่อดัง South Pacific และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่น และศิลปะอเมริกัน บันทึกไว้ในหนังสือ The Modern JapanesePrint (1962) ของเขาว่า ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นยุคใหม่ ได้รับอิทธิพล รวมทั้งส่งต่ออิทธิพลเป็นอย่างยิ่งจากศิลปินมากมายทั่วโลก
ในนิทรรศการนี้ นอกจากผลงานภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นดั้งเดิมแล้ว ยังจะได้เห็นผลงานของกลุ่ม โซซากุ-ฮังหงะอย่างผลงานชุด Color Image (1990)ของช่างภาพลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน แพตทริก นางาตานิ ไปจนถึง Yoshitoshi’sGhosts (2004) ผลงานภาพพิมพ์ไม้ของ พอล บินนี่ ศิลปินชาวสกอตติชที่ไปศึกษาในประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายรอยสักขนาดใหญ่ ที่ช่างสักได้แรงบันดาลใจมาจาก Mount Yoshino MidnightMoon (1886) ภาพพิมพ์ของโยชิโทชิ รวมถึงผลงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นในยุคเก่าอีกหลายชิ้น ที่ดูราวกับภาพพิมพ์ไม้ร่วมสมัยก็ไม่ปาน