เปิดเทอมใหม่หัวใจว้าวุ่น ชุลมุนเลือกชุดนักเรียน
เปิดเทอมการศึกษาภาคต้นปี 2558 กันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกปี
โดย...พริบพันดาว
เปิดเทอมการศึกษาภาคต้นปี 2558 กันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกปี ที่นักเรียนจะจัดเต็มในการซื้อเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ในการเรียนภาคใหม่ เพราะได้เลื่อนชั้นที่สูงขึ้น แต่ปีนี้มีกระแสข่าวทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ถึงเรื่องราวของชุดนักเรียนออกมาให้ตื่นเต้นพอเป็นกระสายยา
เนื่องจากมีเจ้าของผลิตภัณฑ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกแบบกางเกงนักเรียนผู้ชายเป็นแบบ 2 IN 1 กางเกงนักเรียน+กางเกงลูกเสือ ราคาเพิ่มจากเดิม 150 บาท หรือจะเป็นกางเกงนักเรียน+กางเกงใส่เที่ยว ราคาเพิ่มจากเดิม 180 บาท ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลิตภัณฑ์ตรงนี้กันพอหอมปากหอมคอ
แน่นอนชุดเครื่องแบบนักเรียนนั้น เป็นเรื่องที่จะสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อหวังผลในด้านแฟชั่นหรือการตลาดยากมาก เพราะมีกรอบของระเบียบการแต่งกายของนักเรียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการกำกับดูแลและควบคุมตามอำนาจกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยถึงน้อยที่สุดมาตั้งแต่อดีต
มาดูกันว่าปัจจุบันวิถีการแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบนักเรียนไทยเป็นอย่างไรกันบ้าง?
มองนวัตกรรมชุดนักเรียนไทย
ความเป็นมาของระเบียบชุดนักเรียนไทย เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยการวางรากฐานการศึกษาไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2428 โดยเครื่องแบบนักเรียนในยุคแรกประกอบไปด้วย 1.หมวกฟาง มีผ้าพันหมวกสีตามสีประจำโรงเรียน ติดอักษรย่อนามโรงเรียนที่หน้าหมวก 2.เสื้อราชปะแตนสีขาว ดุมทอง 3.กางเกงไทย (กางเกงขาสั้นอย่างที่นักเรียนใช้อยู่ในปัจจุบัน) 4.ถุงเท้าขาวหรือดำ 5.รองเท้าดำ ทั้งนี้ ถุงเท้า รองเท้า ในขณะนั้นเป็นของราคาแพง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใช้
สำหรับเอกสารข้อกำหนดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนเกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 และตามด้วยระเบียบกระทรวงธรรมการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ซึ่งกำหนดรายละเอียดยิบย่อยมากมายตั้งแต่หัว(หมวก)จรด(รอง)เท้า ทั้งของชายและหญิง แยกประเภทโรงเรียน
ข้อกำหนดเรื่องเครื่องแบบนี้ถูกเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสถานการณ์ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อผ้าขาดแคลน จึงต้องลดกฎระเบียบลงให้น้อยลง ในปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้กฎระเบียบการแต่งกาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนต่างๆ เอง
ปี 2558 นี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ยังดำเนินโครงการเรียนฟรี 5 รายการ โดยเฉพาะการจัดสรรเงินให้โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3,000 ล้านบาท/จำนวนนักเรียนกว่า 7.3 ล้านคน เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครองสำหรับซื้อเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุด/ปี โดยผู้ปกครองสามารถใช้จ่ายเงินจากงบประมาณที่รับได้อย่างอิสระ
เงินที่สะพัดช่วงเปิดเทอม ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจผลิตและขายเครื่องแบบชุดนักเรียนไทยต้องหาพื้นที่และช่องว่างทางการตลาดให้มากที่สุด พรเทพ อมรวัฒนา ผู้จัดการร้านสมใจนึก เทเวศร์ ซึ่งกลายเป็นที่กล่าวขานในช่วงข้ามคืนถึงกางเกงนักเรียน 2 IN 1 หรือกางเกงนักเรียนที่ใส่ได้ 2 ด้าน เป็นสินค้าตัวใหม่ เขาบอกถึงที่มาที่ไปว่า
“เริ่มมาจากการที่ผมคลุกคลีกับลูกค้า ได้ฟังความเห็นจากผู้ปกครองว่าส่วนใหญ่แล้ว กางเกงลูกเสือจะเก่าช้ากว่ากางเกงนักเรียนเพราะใส่ไม่บ่อยเท่า จึงเป็นที่มาให้ผมมองหาวิธีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ทางทีมงานจึงทดลองทำกางเกงที่สามารถกลับข้างได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
เขาบอกว่า กางเกงนักเรียน 2 IN 1 เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริม ส่วนชุดนักเรียนและกางเกงแบบเดิมยังเป็นช่องทางการขายหลักอยู่
“ไม่น่าเชื่อ ผลตอบรับจากลูกค้าและสื่อให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ตัวนี้เกินคาดหมาย”
จากความสำเร็จตรงนี้ คาดว่าน่าจะมีการเลียนแบบผลิตกางเกงในแนวนี้ออกมาจากแบรนด์อื่นๆ รวมถึงจะเห็นความพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดนักเรียนไทยให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
มองผ่านเลนส์ครูเก่าแต่ไม่แก่
กระแสชุดนักเรียนที่ไม่ถูกระเบียบในปัจจุบัน ส่วนมากจะมีความน่าสนใจในมุมของความพยายามแหกกฎของเด็กวัยห่ามเลือดวัยรุ่นที่ร้อน จนกลายเป็นแฟชั่นนิยมฮิตในกลุ่มนักเรียนไปทั่วประเทศ ทั้งนักเรียนในเขตตัวเมืองและต่างจังหวัด จนกลายเป็นค่านิยมเรื่องของการแต่งกายในชุดนักเรียนของวัยเรียนและวัยรุ่นที่ค่อนข้างล่อแหลม ชอบนุ่งกางเกงขาสั้น นุ่งกระโปรงเอวสูงและกระโปรงเอวสั้นจนมากเกินงาม
ในปัจจุบันนี้แฟชั่นชุดนักเรียนของเด็กมัธยมถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ลักษณะของการแต่งชุดนักเรียนชายที่เห็นในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ คือ ลักษณะแรกการใส่กางเกงขาสั้นสำหรับเด็กผู้ชาย จะสังเกตได้ว่ากางเกงมักจะสั้นมากเกินไป มักจะใส่เลยหัวเข่าขึ้นไปประมาณ 5-7 เซนติเมตร หรืออาจจะสั้นกว่านั้นจะจัดอยู่กลุ่มที่เกรียนๆ ลักษณะที่ 2 ก็คือ การใส่กางเกงอยู่ในระดับหัวเข่า เด็กพวกนี้จะจัดอยู่ในส่วนของเด็กเรียนหลังห้อง ลักษณะที่ 3 คือ ใส่กางเกงเลยเข่าลงมาจัดอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนเก่ง
ส่วนลักษณะการแต่งตัวของนักเรียนหญิงมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะนิยมใส่กระโปรงเอวสูงและสั้น โดยปกติแล้วกระโปรงของนักเรียนหญิงส่วนใหญ่ เอวจะอยู่ในระดับของสะดือ แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กนักเรียนหญิงมักใส่ยกสูงขึ้น เพื่อทำให้กระโปรงดูสั้นยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มที่ 2 จะใส่กระโปรงยาวเลยหัวเข่าลงมาและตะขอเกี่ยวกระโปรงจะอยู่ที่ระดับเอวพอดี แต่ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนหญิงมักจะชอบใส่เอวสูง
ดร.บุญธรรม พิมพาภรณ์ เลขาธิการสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย อดีตผู้
อํานวยการโรงเรียนราชวินิต มองการแต่งกายและพัฒนาการของชุดนักเรียนไทยว่า โดยปกติทางโรงเรียนอยากให้นักเรียนแต่งชุดสบายๆ ถูกต้องตามระเบียบและดูน่ารัก ทุกอย่างมีมาตรการที่เหมาะสมอยู่แล้ว
“ผมเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นเยอะ วัยรุ่นเขาก็มีเหตุผลแต่คนก็ไม่ค่อยดูเหตุผลของพวกเขากัน เด็กก็อยากรู้อยากโตอยากโชว์อยากช่วยอยากรู้อยากเห็นไม่เกรงใจใครอยู่แล้ว ปัญหาของการแต่งกายชุดนักเรียนของเด็กที่เป็นอยู่ในโรงเรียนทั่วประเทศก็มีอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องเล็ก ถ้าทำผิดบ่อยๆ ผมก็จะคุยกับผู้ปกครอง เด็กวัยรุ่นสมัยนี้หรือสมัยก่อนก็ตาม เมื่อมีกติกาปั๊บก็จะไม่ปฏิบัติตาม นักเรียนชายก็ชอบทำกางเกงให้สั้นขึ้น แต่งตัวไม่สมดุล เสื้อใหญ่กางเกงเล็กฟิต เลาะตะเข็บออกบ้าง หรือแอบเอากางเกงมาเปลี่ยนเวลาหนีออกไปข้างหน้า โรงเรียนก็ต้องหามาตรการเอาระเบียบขึ้นมาจัดการแก้ไข เด็กที่แหกกฎเหล่านี้ก็มีแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เอง เป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก นักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา”
สำหรับนวัตกรรมใหม่ที่มีชุดเครื่องแบบนักเรียนแบบสร้างสรรค์ออกมา ดร.บุญธรรม บอกว่า เป็นประเด็นทางธุรกิจที่ทำการตลาดชุดนักเรียน เป็นการแข่งขันในการนำสินค้าใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่าย
“ผมมองในมุมนั้นมากกว่า การทำชุดนักเรียนสองด้าน มันจะร้อนสวมใส่แล้วไม่สบายตัว เรื่องการแต่งกาย เรื่องชุดนักเรียนเป็นเรื่องไม่ใหญ่มาก ที่ฮือฮากันก็เป็นกลยุทธ์และหาช่องว่างทางการตลาด ถ้ามองมิติทางโรงเรียน เด็กอาจจะตามกระแสซื้อมาใส่บ้างก็เป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการตลาด เพราะคู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะห้างเมกะสโตร์ที่ขายชุดนักเรียนราคาถูกด้วย ต้องมีการปรับตัว”
มองในมุมพัฒนาการแฟชั่น
การฉีกและหาช่องว่างทางการตลาด ซึ่งแคบและมีกรอบชัดเจนของชุดนักเรียนไม่มีมูลค่าพอที่จะเอื้อให้บรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ทุ่มเทพัฒนาเพื่อผลิต
สินค้าใหม่ๆ ส่วนมากจะอยู่ในกรอบเดิมๆ แข่งขันกันเรื่องราคาและคุณภาพของผ้าและการตัดเย็บเป็นหลักใหญ่ เมื่อมีคนแหวกขึ้นมาก็กลายเป็นที่สนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ณภัทร ยศยิ่งยง ผู้จัดการและหัวหน้าคณะนักวิจัยของโครงการวิจัยการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หัวหน้าภาควิชาแฟชั่นและออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ชี้ถึงจุดนี้ว่า
“เรียกได้ว่ามีความคิดก้าวหน้าที่จะหาช่องทางทางการตลาดและเบียดคู่แข่งแย่งลูกค้าในตลาดให้ได้ ทำอย่างไรให้ชุดนักเรียนแบรนด์ของเขาแปลกและไม่เหมือนกับคนอื่น โดยจุดขายนั้นก็มีผลตอบสนองและสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งดูที่กำลังซื้อของผู้ปกครองเป็นหลักในการซื้อเสื้อผ้าชุดนักเรียนให้ลูก
“เพราะว่าถ้าจำไม่ผิด ตัวเครื่องแบบชุดนักเรียนที่เป็นของในสังกัด กทม.เอง หรือโรงเรียนรัฐทั่วไปก็ใช้กางเกงสีกากี เพราะฉะนั้นเวลาแต่งชุดลูกเสือเขาก็ไม่ต้องซื้อกางเกงใหม่ ใช้ 2 IN 1 ได้โดยอัตโนมัติ แต่วันดีคืนดีก็มีการออกระเบียบเรื่องกางเกงนักเรียนให้เป็นสีน้ำเงินหรือสีดำ ก็เลยต้องทำให้ผู้ปกครองต้องซื้อกางเกง 2 ตัว เพื่อลดช่องว่างและความแตกต่างระหว่างโรงเรียนของ กทม.กับโรงเรียนของเอกชน ทำให้ภาระของผู้ปกครองเพิ่มขึ้นมาต้องซื้อกางเกงเป็น 2 สี”
ส่วนกางเกง 2 IN 1 ณภัทรยอมรับในเรื่องไอเดียและความกล้าคิดกล้าทำ เป็นช่องทางที่แหวกออกไปอย่างน่าสนใจ
“ส่วนจะติดตลาดหรือไม่ก็อยู่ที่เรื่องของการนำมาใช้งาน เพราะถ้ากางเกงมีสองด้าน ยังไงผ้าก็หนาขึ้น กางเกงแบบนี้อาจจะถูกใจผู้ปกครองเพราะว่าประหยัดเงินได้มากขึ้น แต่ไม่คิดว่าจะถูกจริตของเด็กหรือผู้ใส่หรือเปล่า จะสะดวกหรือร้อนหรือเปล่า ต้องติดตามผลของการตลาดด้วยว่า ลูกค้าพอใจหรือไม่”
เธอบอกว่าในอดีต ชุดนักเรียนก็มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเครื่องแบบทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย ถ้ามีในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ก็จะมีเฉพาะในเครื่องแบบของเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กอนุบาล มีรูปแบบและสีสันที่เหมาะสมตามวัย
“อุตสาหกรรมเสื้อผ้าชุดนักเรียนและธุรกิจแขนงนี้ ถ้าพูดถึงเครื่องแบบของชุดนักเรียนเองนั้นจะเน้นไปในเรื่องของคุณภาพของสินค้ามากกว่าการออกแบบ ก็คือหาผ้าที่นำมาทำผลิตภัณฑ์แล้วสามารถระบายอากาศได้ดีเหมาะกับบ้านเรา จากผ้าฝ้ายมาเป็นเส้นใยกระจกจะเป็นเรื่องของความสะดวกในการดูแลรักษา ความสะอาด และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เก่าช้า ส่วนเรื่องความสะดวกสบายในการสวมใส่ก็ต้องเป็นผ้าฝ้ายหรือค็อตตอน แต่ในเรื่องของธุรกิจนั้น ผ้าฝ้ายจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าหมองและเก่าเร็วกว่า”
การมาถึงของกางเกงนักเรียน 2 IN 1 ถือว่าได้ช่วยปลุกตลาดเครื่องแบบชุดนักเรียนที่หลับไหลอยู่นิ่งๆ ให้ลืมตาขึ้นมาเล็กน้อย และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีในการแข่งขันสร้างสรรค์ชุดนักเรียนที่ดูดี ใช้งานได้อเนกประสงค์และถูกใจวัยรุ่นวัยเรียน ควบคู่กับความประหยัดของพ่อแม่ผู้ปกครองในอนาคต