วันนี้ของเจ้าพ่อเด็กแนว วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
หลายปีมาแล้วที่ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นเสมือนไอดอลของเจนวาย (Gen Y) หรือเด็กแนว
หลายปีมาแล้วที่ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นเสมือนไอดอลของเจนวาย (Gen Y) หรือเด็กแนว (ก่อนการมาถึงของฮิปสเตอร์) ด้วยผลงานที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารอะเดย์ ผ่านคืนวันมากว่าสิบปี นิตยสารของเขายังคงบอกเล่าเรื่องราวของสังคมและทางเลือกของวัยรุ่นอย่างเข้มข้น สะท้อนให้เห็นโมงยามของความทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสไตล์เท่ๆ แบบอะเดย์ เมื่อหลายอย่างอยู่ตัว ผู้ก่อตั้งนิตยสารอะเดย์ได้เริ่มก่อร่างสิ่งใหม่ ที่แสดงให้เห็นทัศนคติในการทำงานที่เติบโตขึ้นและยังคงความเท่ในแบบวงศ์ทนง กลายเป็นหลายรายการโทรทัศน์ และล่าสุดกับการก้าวมาทำภาพยนตร์ที่ชื่อว่า “เดอะ ดาวน์”
ผมมีโอกาสได้นั่งในห้องทำงานสีขาวดำที่ดูเรียบงามสไตล์วงศ์ทนง เพื่อพูดคุยถึงภาพยนตร์เรื่องแรกของอะเดย์ และได้รับฟังถึงชุดความคิดแบบใหม่ของเจ้าของห้องในขวบปีที่ดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวมีความสุขเหลือเกินกับการทำงาน
“หนังเรื่องเดอะ ดาวน์ มันเกิดมาจากผมได้ไปเที่ยวอิตาลี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจมากเลยคือ เมื่อผมไปตามสถานที่ต่างๆ ผมจะเจอคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมทุกวันเลยเขามาเดินเที่ยวกับครอบครัว ผมก็เลยแปลกใจว่าในบ้านเราทำไมแทบไม่เคยเห็นคนเป็นดาวน์ซินโดรมอยู่ในชีวิตปัจจุบันของบ้านเรา มันก็เกิดคำถามและประเด็นขึ้นในใจ ซึ่งผมสนใจอยากรู้ว่าเด็กดาวน์ซินโดรมในบ้านเราหายไปไหน ผมก็เลยให้ทีมงานลงไปเก็บข้อมูลแล้วก็พบว่าเด็กดาวน์ซินโดรมในบ้านเรามีเยอะมาก แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้พบเจอพวกเขาได้น้อย เพราะพ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมกลัวลูกจะดูแลตัวเองไม่ได้เลยไม่ให้ไปไหน แต่มีอีกเหตุผลที่เศร้ากว่าคือ พ่อแม่จำนวนมากที่มีลูกเป็นดาวน์อาย เลยเก็บเด็กไว้ที่บ้านไม่อยากให้ใครเห็น”
เสียงเพลงแจ๊ซกำลังลอยเบาๆ มาเข้าหูและเรื่องเล่าจากวงศ์ทนงก็ชวนเคลิ้มได้ไม่แพ้เสียงเพลง ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังต่อว่า
“พอยิ่งรับรู้ข้อมูลเรื่องของเด็กดาวน์ซินโดรมเยอะขึ้น ผมยิ่งอยากทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องนี้มาก ก็เลยเป็นที่มาที่ไปให้อะเดย์ทีวีทำเป็นรายการโทรทัศน์ คือไม่คิดว่าจะทำเป็นหนังเลยนะเมื่อตอนเริ่ม เพราะเราคิดว่ามันยากที่จะจัดการและเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แต่พอเราทำงานไปได้สักพักเราเห็นพลังบางอย่างที่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นหนังใหญ่ได้ แล้วมันสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้มากกว่ารายการโทรทัศน์ ซึ่งทุกวันนี้มันมีเยอะมาก เรื่องที่เราทำอยู่ก็อาจถูกกลืนไปกับเรื่องราวหลายร้อยเรื่องในโทรทัศน์ผมก็เลยบอกทีมงานว่างั้นเรามาทำเป็นหนังใหญ่กันดู”
ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานที่ต่อยอดไปได้ไกลจากตอนเริ่มต้นคิด และภาพยนตร์เรื่องแรกของวงศ์ทนง ผู้มักจะทำอะไรเท่ๆ ให้วัยรุ่นเสพมาตลอดจะเป็นเช่นไรและน่าสนใจแค่ไหน เจ้าตัวเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงวิธีคิดในการสร้างเรื่องราวเด็กดาวน์ซินโดรมให้ออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีว่า
“หนังสารคดีมันเป็นไปได้ยากที่เราจะเขียนบทให้ละเอียดยิบ เพราะสารคดีเวลาถ่ายมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในขณะนั้น พูดง่ายๆ ว่าเราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดอะไรบ้างฉะนั้นเราก็จะถ่ายไปคิดไปว่าเรื่องจะไปทางไหน ทีมงานเราก็คิดกันเยอะนะว่าจะนำเสนออะไรบ้าง เพราะด้วยความที่เป็นหนังของอะเดย์แน่นอนมันต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร ต้องเป็นแบบที่เราเป็นคือ มีลูกเท่อยู่ด้วยและเป็นหนังที่ไม่หม่นเศร้า ซึ่งเราก็คิดว่าจะทำให้เป็นหนังสารคดีที่เล่าเรื่องผ่านผมซึ่งเป็นนักเขียน และเลือกหยิบจับในแต่ละประเด็นมาเล่าเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ที่แบ่งเป็นตอนๆ ให้คนดูเข้าใจชีวิตของเด็กดาวน์ซินโดรม”
เดอะ ดาวน์จะเล่าเรื่องคล้ายเป็นหนังสือที่คนรุ่นใหม่ควรต้องอ่านง่าย สนุกน่าประทับใจ วงศ์ทนง ว่าไว้แบบนั้น สารคดีเรื่องนี้จะเล่าผ่านเด็กดาวน์ซินโดรมทั้งหมด 4 บท กับเรื่องราวของ 5 ชีวิต ที่ถูกเลือกมาให้ผู้คนได้เห็นและทำความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งนอกจากเป็นการทำงานที่ให้ผู้คนได้เห็นชีวิตของเด็กดาวน์ซินโดรม ยังเป็นภาพยนตร์ที่ตั้งใจสะท้อนบางสิ่งให้ไปแตะหัวใจคนดู
“ก่อนหน้ามาทำหนังเรื่องนี้ ผมคงเป็นเหมือนคนจำนวนมากนะ ที่ไม่เข้าใจเรื่องเด็กดาวน์ซินโดรม พูดง่ายๆ เรามีความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก แต่แท้จริงแล้วคนที่เป็นดาวน์ในประเทศไทยมีเยอะเลย ฉะนั้นปีครึ่งที่ผมคลุกคลีอยู่กับหนังเรื่อง เดอะ ดาวน์ มันเหมือนได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน มากไปกว่านั้นผมได้รู้มิติที่ลึกซึ้งในชีวิตของพวกเขาไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความคิดความรู้สึก มันทำให้ผมเข้าใจผู้ป่วยดาวน์มากๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังเข้าถึงคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกนับถือหัวใจของคนเหล่านี้มากที่ต้องดูแลเด็กที่ไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป มันเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสมากเลยนะ ซึ่งบอกได้เลยว่าถ้าใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คุณจะรักพ่อแม่ของคุณมากขึ้น
“สำหรับผมเด็กดาวน์ซินโดรมนอกจากเป็นคนพิเศษแล้วยังเป็นคนวิเศษมากๆ คือเด็กดาวน์เป็นมนุษย์ในฝันเลยนะ คือในด้านสติปัญญาความคิดความอ่านเขาอาจไม่เท่าคนปกติ แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เขามีและสำคัญมากสำหรับโลกในขณะนี้คือ เด็กดาวน์ซินโดรมเป็นมนุษย์ที่จิตใจดีมาก เขาไม่ทำร้ายกันและไม่ทำร้ายใคร ไม่มีอิจฉาริษยา อาฆาตแค้นใคร หรือโกหกใคร ไม่เอาเปรียบ คนแบบนี้ที่เราเรียกเขาว่าเด็กพิเศษ จริงๆ แล้วเขาคือมนุษย์ในฝันเลยนะ ซึ่งในหนังเราจะได้เห็นเรื่องนี้ชัดเจนคือเขาบริสุทธิ์จริงๆ คิดยังไงก็แสดงแบบนั้น ยิ่งเห็นเขาเรายิ่งมีความสุข” เจ้าตัวยิ้มเมื่อพูดจบ
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของอะเดย์ที่น่าสนใจมากๆ ยังเล่าถึงเรื่อง สิทธิความเสมอภาคของมนุษย์ อันเป็นความสนใจของวงศ์ทนงในปัจจุบัน เขาสะเทือนหัวใจทุกครั้งที่ได้พูดถึงเรื่องของเด็กดาวน์ซินโดรมในประเทศไทย ดูเหมือนช่วงวันวัยหนุ่มอันเข้มข้นจะหลอมเจ้าพ่อเด็กแนวคนนี้ให้มองเห็นความสุขในการทำงานและใช้มันสร้างบางสิ่งเพื่อกระตุ้นสำนึกของผู้คนในสังคม
“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิความเสมอภาคมากเลยนะ ผมไม่ชอบเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น หรือแบ่งแยกผู้คนแบ่งแยกฐานะ หรือแบ่งแยกด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมมีความเชื่อที่ว่าคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แล้วพอมองกลับมาผมเห็นสังคมเราเป็นสังคมที่มันมีการแบ่งแยกเรื่องพวกนี้อยู่เยอะ ซึ่งมันมีความได้เปรียบเสียเปรียบในสังคมเยอะ แล้วผมรู้สึกเห็นความไม่ยุติธรรม ผมว่าผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาถูกทอดทิ้งแล้วถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เลยอยากนำเสนอให้เห็น ซึ่งไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าผมจะทำเรื่องอื่นของกลุ่มที่ด้อยโอกาส หรือบางกลุ่มที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม”
ด้วยร่ำเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) วงศ์ทนงมองโลกในแบบนั้น และเมื่อเขาสามารถจะสร้างบางสิ่งเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมหรือคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันเอง เขาจึงทุ่มเทแบบสุดตัวซึ่งในครั้งนี้ตัวเขาจำกัดความการทำงานในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ผมทำหนังเรื่องนี้ด้วยความรัก”
“มีคนถามว่าทำไมอะเดย์ไม่ทำหนังที่มันป๊อปมันแมส หรือหนังแนวๆ ฮิปสเตอร์ คือจริงๆ แล้วถ้าคนที่ติดตามอะเดย์จะรู้ว่าเรานำเสนอเนื้อหาที่เคร่งเครียดนะ แต่เราเอาสิ่งที่หนักๆ มานำเสนอให้สนุกสนานเท่ๆ เฟี้ยวๆ เพราะเรารู้ว่าเราอยากให้กลุ่มคนรุ่นใหม่อ่าน หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน มันจะถูกนำเสนอแบบอะเดย์ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่ทำให้คนดูรู้สึกแคร์คนอื่นขึ้นมาบ้าง เข้าใจคนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มคนของเรา ซึ่งมันเป็นจุดประสงค์สำคัญเลยที่ผมทำหนังเรื่องนี้คือ สร้างความเข้าใจให้คนในสังคม ถ้าได้มากกว่านั้นผมก็ถือเป็นกำไร อีกอย่างในด้านหนึ่งผมว่าหนังมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดี ซึ่งอย่างผมเองเมื่อคลุกคลีอยู่กับหนังเรื่องนี้ก็มองอะไรเปลี่ยนไปเยอะนะ ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผมรู้สึกดีมากที่ได้ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”
ชายชื่อ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ พูดทิ้งท้ายถึงการทำงานครั้งใหม่ของเขาไว้แบบนั้น ...จากเจ้าพ่อเด็กแนว เขาจะถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กดาวน์ซินโดรมออกมาบนจอภาพยนตร์อย่างไร อีกไม่นานเราจะได้เห็น