Happy Workplace สไตล์ ‘อีเกิลส์’
พี่ มีความเชื่อมั่นว่า พนักงานต้องมาทำงานอย่างมีความสุข วิกฤตที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง
โดย...เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร
“พี่ มีความเชื่อมั่นว่า พนักงานต้องมาทำงานอย่างมีความสุข วิกฤตที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง หากพนักงานมีความสุขที่จะทำงาน องค์กรก็สามารถเติบโตได้”
วัลภา สถิรชวาล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท อีเกิลส์ แอร์แอนด์ซี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ และเลขาธิการสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างความสุขในที่ทำงาน
วัลภาสังเกตได้ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้งที่ผ่านมา มีทั้งองค์กรที่ต้องสะดุดล้ม แต่ก็มีบางองค์กรที่ยังอยู่ได้และเติบโตท่ามกลางวิกฤต และสิ่งที่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะผู้บริหารใส่ใจในชีวิตของพนักงาน ทำให้พนักงานมีความสุข ยิ่งคนส่วนใหญ่ในขณะนี้อยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้าน ถ้าดูแลไม่ดีเขาก็ไม่อยากอยู่
การสร้างความสุขในที่ทำงาน เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจ ซึ่งแต่ละที่จะมีแนวทางในการสร้างความสุขที่แตกต่างกันไป ตามรูปแบบองค์กร เช่น เป็นองค์กรอนุรักษ์ องค์กรสร้างสมดุล แนวคิดของแต่ละองค์กรจะสร้างตัวตนที่แตกต่างกัน
ขณะที่การสร้างความสุขในที่ทำงานจะต้องมีตัวชี้วัดที่เรียกว่า Happy Nometer เช่น ตัวชี้วัดความสุขของคนในองค์กร แนวทางการทำงานที่ชัดเจน สุขภาพของพนักงาน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ตัวชี้วัดเหล่านี้จะสะท้อนถึงความสุขของพนักงาน และนำมาปรับปรุงองค์กร หรือการสร้างกิจกรรมที่จะเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความยั่งยืนในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่ดีขึ้น อัตราคนออกน้อยลง และสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น
แรงบันดาลใจจนนำไปสู่แนวปฏิบัติในองค์กร เกิดจากการเข้าร่วมฟังสัมมนาการสร้างความสุขในที่ทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากจะนำมาใช้ที่บริษัท อีเกิลส์ฯ แล้ว ยังช่วยงาน สสส.ต่อเนื่องมาอีก 3 ปี เพื่อขยายแนวคิดนี้ไปสู่อีกกว่า 30 บริษัทที่อยู่ในสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย
“พี่มองว่าอาชีพบริการขนส่งเป็นอาชีพสำคัญ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากนัก ทั้งที่คนเหล่านี้เข้าถึงทุกคน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล เพราะฉะนั้นการสร้างเครือข่ายคนเหล่านี้ให้เป็นคนดี คนที่มีความสุข จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เป็นการสร้างแฮปปี้ โซไซตี้” วัลภา กล่าว
นอกจากนี้ ได้ทำโครงการนี้ “Happy Talk AEC” ต่อยอดจากโครงการสร้างสุข เป็นแอพพลิเคชั่นช่วยแปลภาษาให้กับพนักงานขนส่งสินค้า โดยมีระบบแปลภาษาทั้งจีน และประเทศในอาเซียน เพื่อทำให้การสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น ทำให้การค้า บริการ สะดวก รวดเร็ว ถือเป็นการขยาย Happy Logistic Society สู่ AEC รวมทั้งมีแผนจะส่งมอบให้กระทรวงแรงงาน สำหรับใช้กับแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน สื่อสารกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น
สำหรับคนที่ทำธุรกิจแบบครอบครัว เป็นเถ้าแก่ ทำทุกอย่าง คิดบริหารเงิน บริหารองค์กร รวมถึงการบริหารคน ถ้าหากอยากให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องดูแลคนให้มีความสุข เพราะทุกองค์กรเติบโตได้ด้วยคน อยู่ได้ด้วยคน ถ้าผู้บริหารเห็นพนักงานเป็นทรัพย์สิน ก็ต้องดูแลให้ความสุข งอกงาม ช่วยทำให้องค์กรมีความสุขได้
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ของการดำเนินธุรกิจอีเกิลส์ฯ ในประเทศไทย มีเรื่องให้ประทับใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะแต่ละช่วงที่ผ่านวิกฤตมาได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ รวมถึงวิกฤตการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นความท้าทาย และเป็นความสวยงามที่ผ่านเข้ามา และสิ่งที่ทำให้เราสามารถฟันฝ่ามาได้ ก็ด้วยความรักที่มีให้กันในองค์กร