posttoday

สิ้น "ชลูด นิ่มเสมอ" ศิลปินแห่งชาติวัย86

04 มิถุนายน 2558

วงการศิลปะเศร้า "ชลูด นิ่มเสมอ" ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วจากภาวะปอดติดเชื้อ

วงการศิลปะเศร้า  "ชลูด นิ่มเสมอ"  ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วจากภาวะปอดติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินวัย 86 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี  2541 ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยภาวะปอดติดเชื้อ เมื่อเวลา 06.45 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช

ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เกิดเมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างงานหลายประเภท จบการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง, มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ประกาศนียบัตร Diploma of Fine Arts จากสถาบันศิลปะ Accademia di Belle Arti แห่งกรุงโรม อิตาลี โดยในสมัยเรียนที่ศิลปากรนับได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ได้รับทุนไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะอันมีคุณค่า ทั้งงานจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาวาดเส้น องค์ประกอบศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ทัศนียวิทยา ทฤษฎีสี ฯลฯ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งนอกจากงานสอน งานบริหารแล้ว ยังได้สร้างสรรค์ ผลงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และสื่อผสม ที่มีคุณค่าทางศิลปะไว้เป็นจำนวนมากจนได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 13 รางวัล จนถูกยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม

ศาสตราจารย์ชลูด เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ผลงานยุคแรกๆ เป็นผลงานด้านจิตรกรรมที่นำเรื่องราวของคนชนบทมาเป็นเนื้อหาในการแสดงออกถึงความสัมพันธ์และความเอื้ออาทรต่อกันเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยในรูปของงานศิลปะในชุดชาวนาไทย, สงกรานต์, ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ ระยะต่อมาศาสตราจารย์ชะลูด ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านประติมากรรมที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่พิเศษอันมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์คือ งานประติมากรรมที่ติดตั้งภายนอกอาคาร นอกจากจะมีคุณค่าสูงในทางประติมากรรมที่มีความสัมพันธ์กับอาคารสถานที่

งานประติมากรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นหมุดหมายที่รู้จักกันดีของคนไทยและชาวต่างชาติของ ศ.ชลูด คือ “โลกุตระ” ที่อยู่หน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเปลวรัศมีของพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้น เปรียบเสมือนดอกบัวที่โผล่พ้นโคลนตม ก้านของดอกบัวทั้งแปดก็คือมรรคที่เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์และพระอริยบุคคลทั้งแปดในพุทธศาสนา

ส่วนประติมากรรมกลางแจ้งที่มีชื่อเสียงชิ้นสำคัญก็มี “เงินพดด้วง” จัดแสดงหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย “พระบรมโพธิสมภาร” จัดแสดงที่หน้าอาคารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประติมากรรมดังกล่าวเป็นที่ยกย่องในความคิดและปรัชญาของผู้สร้างสรรค์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะและวรรณกรรมอย่าง อุทิศ เหมะมูล ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 51 และเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้เขียนไว้อาลัยในเฟซบุ๊กของตัวเอง Uthis Haemamool ไว้ว่า

‘แม้ไม่เคยเรียนกับอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอแบบเต็มเทอม แต่เรื่องราวของอาจารย์ก็ฟุ้งเฟื่องอยู่ในศิลปากรเสมอ จนคล้ายๆ ตำนาน คล้ายๆ วีรกรรม ทั้งด้านบวกและลบและยำเกรงและนินทา แต่ความทรงจำหนึ่งที่ผมจำได้เสมอขณะเรียนคือ ความสันโดษของอาจารย์ชลูด ท่านเดินลำพังคนเดียวบ่อยๆ เดี๋ยวไปตึกปั้น ข้ามมาตึกจิตรกรรม และไปห้องภาพพิมพ์ ผมเห็นอาจารย์เดินลำพังเสมอ และสง่า และพอใจในความสันโดษ และตอนเรียนผมตรึงใจเวลาเห็นอาจารย์ชลูดเดินผ่าน เอาจริงๆ นะ อาจารย์เหมือนราชสีห์มาก และผมซึมซับความพอใจในสันโดษนั้นมาอย่างไม่รู้ตัว

สู่สุคติครับอาจารย์’

สิ้น \"ชลูด นิ่มเสมอ\" ศิลปินแห่งชาติวัย86

 

สิ้น \"ชลูด นิ่มเสมอ\" ศิลปินแห่งชาติวัย86