‘ThaiVans’ แผนที่รถตู้แสนสะดวกจากหัวคิดเด็กไทย
เชื่ออย่างสุดใจว่า มนุษย์กรุงเทพฯ นับไม่ถ้วนคงเคยมีประสบการณ์ฝ่าเปลวแดดร้อนระอุ
โดย...พงศ์ พริบไหว
เชื่ออย่างสุดใจว่า มนุษย์กรุงเทพฯ นับไม่ถ้วนคงเคยมีประสบการณ์ฝ่าเปลวแดดร้อนระอุ เพื่อตามหาคิวรถตู้รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกันมาแล้ว บ้างหาเจอง่ายๆ ก็น่าดีใจ บ้างหากันจนมึนลมแทบจับก็ยังหาไม่เจอ ซึ่งแน่นอนว่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมของจุดขึ้นรถที่กว้างถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งทำให้หาคิวรถตู้ไปตามจุดที่เราตั้งใจไว้ได้ยาก อีกทั้งยังไร้ข้อมูลอ้างอิงใดๆ ให้ทราบถึงจุดจอด ยิ่งโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ มีคิวรถตู้รวมแล้วเกินกว่า 200 คิว ทั้งยังกระจายไปตามเกาะ (โซนรถตู้) ต่างๆ ถึง 7 จุด โดยรอบ หรือไม่ก็ไกลออกไปจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องคาอกคาใจของคนใช้บริการรถตู้มายาวนาน แต่วันนี้ปัญหานั้นกำลังจะคลี่คลาย เพราะเด็กรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่เอาใจใส่สังคม
โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย คือจุดกำเนิดของการคลี่ปมปัญหาเรื่องจุดจอดรถตู้โดยสารบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเป็นการรวมตัวของนักศึกษาปีที่ 4 จำนวน 7 คน จากสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำทีมโดย ภูมิ สุคันธพันธ์,พีรพงษ์ ไมตรีวงษ์, ธันยพัฒน์ อารมณ์ชื่น, ธาดารัตน์ เฉวียงหงษ์, อภิรัตน์ ฤกษ์อภิเดชา, ชนทิพา มาลี และณัฐนันท์ แย้มนุ่น รวมตัวกันเพื่อภารกิจใหญ่อย่างการแก้ปัญหาการเดินทางให้คนกรุง ในโครงงานศึกษาสื่อแสดงจุดจอดรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ThaiVans”
วันที่ได้พบเจอกลุ่มน้องๆ ในงานจัดแสดงในนิทรรศการ Creative Media 3 “วันระบาย” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นการแสดงผลงานโปรเจกต์ก่อนเรียนจบ ผู้คนที่เข้ามาชมนิทรรศการต่างยกนิ้วชื่นชมผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้ที่สามารถทำออกมาได้อย่างดีงาม และกลายเป็นผลงานที่ต่อยอดไปได้ไกลเหลือเกินจากความตั้งใจแรก ซึ่งพ่อหนุ่มใส่แว่นอย่าง ภูมิ สุคันธพันธ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มได้เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังว่า
“โครงการนี้มันเริ่มมาจากการเอาสิ่งที่เราเรียนรู้มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งเป็นโจทย์ในการทำงานเพื่อจบการศึกษา ซึ่งพวกเราก็มาช่วยกันคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ผมเองก็คิดถึงเรื่องที่ตัวเองประสบปัญหาเรื่องของการขึ้นรถตู้มาเป็นปีนะ คือด้วยเพราะความไม่รู้ ผมเลยเหมือนเดินอ้อมอนุสาวรีย์ชัยฯ มาเป็นปีเพื่อขึ้นรถกลับบ้าน ซึ่งมารู้ตัวอีกทีก็ตอนกลับบ้านกับเพื่อน เพราะเพื่อนพาเรามาขึ้นรถตู้อีกคิวหนึ่ง ซึ่งมันใกล้มาก คือถ้าเพื่อนไม่พามาเราก็ไม่รู้ว่ามีคิวที่สามารถขึ้นได้ใกล้กว่า โง่เดินอ้อมอยู่เป็นปี (หัวเราะ) ซึ่งเราเลยหยิบปัญหาตรงนั้นมาช่วยกันทำเป็นโครงการ”
โครงการที่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลของคิวรถตู้ทั้งหมดโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อจัดทำเป็นแผนที่รถตู้เป็นป้ายสองภาษา ซึ่งต่อมาได้ต่อยอดไปไกลในเรื่องของการออกแบบระบบป้ายสัญลักษณ์จุดจอดรถตู้โดยสาร หรือแม้แต่การทำแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงจุดจอดรถตู้โดยสารรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยโครงการทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากความรู้ในแต่ละสาขาที่เรียนของเพื่อนในกลุ่ม บ้างเก่งเรื่องกราฟฟิกก็ทุ่มสุดตัว บ้างเก่งเรื่องโมชันอินเตอร์เฟดก็ทุ่มหมดพลัง เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาหลอมรวมกันจนกลายเป็นสื่อต่างๆ เพิ่มเข้าไปอีกในเวลาต่อมา
“คือตอนเริ่มทำงานเราก็ช่วยกันเก็บข้อมูลทำแบบสอบถามกับคนที่มาขึ้นรถตู้ในอนุสาวรีย์ชัยฯ ว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราก็ลงสำรวจพื้นที่ของคิวรถทั้งหมด จนเราสามารถแบ่งคิวจอดรถตู้ได้เป็นทั้งหมด 7 เกาะ และจุดจอดย่อยอีก 23 จุด จากนั้นเราก็ลงไปตามคิวรถตู้จุดต่างๆ เก็บข้อมูลเรื่องจุดหมายปลายทาง ราคา เวลาที่รถออกรอบแรกจนรอบสุดท้าย ซึ่งพอเราลงพื้นที่เราก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อนเลย มันก็เลยเป็นเรื่องที่เราต้องละเอียดกันมาก เราเก็บข้อมูลกันเป็นปีครึ่ง ก่อนวิเคราะห์และออกแบบงานโครงงาน”
สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นปัญหาสำหรับนักเรียนตัวเล็กๆ ที่ทำงานใหญ่กันเพียงไม่กี่คนคือ การที่ต้องตามเก็บรายละเอียดให้ได้ครบถ้วนทั้งหมด อีกทั้งคิวรถตู้ยังมีการขยับปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่พวกเธอต้องคอยตามอยู่ตลอด จนได้ข้อมูลที่ตรงและจริงที่สุดเพื่อนำมาทำโปรเจกต์ที่เป็นประโยชน์มากๆ กับคนใช้รถตู้ ซึ่งสาวน้อยคนหนึ่งในกลุ่มบอกถึงความรู้สึกในการทำงานให้ฟังว่า
“พอมันเป็นงานที่ทำเพื่อสังคม เราก็อย่างจะทำให้สำเร็จเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้อาจารย์เข้ามาช่วยคอยสนับสนุนให้คำแนะนำ แล้วสิ่งที่ทำถ้ามันสามารถแก้ปัญหาที่เราหรือใครหลายๆ คนหารถตู้ในอนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่เจอได้จริง ซึ่งอยากแรกมันก็เหมือนกับเราได้แก้ปัญหาให้ตัวเองด้วยนะ แต่นอกเหนือจากนั้นคนที่อนุสาวรีย์ฯ เขาก็สามารถรู้ได้ว่าจะต้องไปขึ้นรถตู้ที่ไหนซึ่งก็ช่วยคนอ่านได้อีก ซึ่งหนูคิดว่าโปรเจกต์ของเรามันจะเป็นงานต้นแบบให้นักศึกษาอีกหลายคนได้คิดทำอะไรเพื่อสังคมด้วยค่ะ”
ก่อนเพื่อนอีกคนในกลุ่มจะพูดเสริมให้ฟังต่อว่า “จริงๆ ถ้าส่วนตัวเลยนะ งานนี้ทำให้พวกเราได้ประสบการณ์ มันไม่เหมือนการทำงานในห้องนะ เพราะงานนี้เราต้องออกไปเจอไปแก้ปัญหาในทุกครั้งที่ลงพื้นที่เลย แล้วมันทำให้เราสนุกขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นสิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ อย่างป้ายที่เราทำขึ้นแล้วนำไปไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งคนไทยคนต่างชาติก็ให้ความสนใจ ซึ่งอย่างแรกมันช่วยให้คนที่จะไปยังที่ต่างๆ ไม่หลงทางและเสียเวลา ทำให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ใครอยากทราบรายละเอียดการเดินทางที่มากกว่านั้น เราก็มีแอพพลิเคชั่นเป็นตัวเสริมซึ่งลิงก์กับกูเกิลแมพด้วย ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องดีนะ”
สิ่งที่พวกเขาทำขึ้นทั้งหมดจากการทดลองใช้งาน ทำให้สามารถวางแผนการเดินทางได้โดยง่าย ยกตัวอย่างถ้าเราเกิดอยากไปเที่ยวที่ “กาญจนบุรี” เราสามารถรู้ข้อมูลได้ทันทีว่าสามารถขึ้นรถตู้ได้ที่ใดบ้างโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งมีจุดจอดอย่างเกาะดินแดง เกาะพญาไท เกาะราชวิถี และด้านข้าง BTS ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งง่ายต่อการเลือกเวลา แล้วยังมีราคาและเบอร์โทรเพื่อสอบถามเส้นทาง ทั้งเมื่อเดินทางจะมีข้อมูลบอกว่า รถตู้จะผ่านจุดไหนระหว่างเดินทางจนถึงปลายทาง
“พอทำเสร็จเราก็ไม่คาดคิดเลยว่าสังคมจะชื่นชมและให้กำลังใจพวกเรามากขนาดนี้ เราก็อยากขอบคุณทุกกำลังใจและทุกคนที่เสียเวลามาทำแบบสำรวจให้เรา หรือแม้แต่ทุกคอมเมนต์ในแฟนเพจที่ให้กำลังใจเรามา คือเราคงบอกได้เพียงว่าภูมิใจมากๆ กับโปรเจกต์นี้ที่ได้ทำ ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มากกับคนที่มาใช้บริการรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ในเรื่องความชัดเจนของข้อมูล ซึ่งต่อวันมีคนมาใช้บริการกว่าแสนคน ซึ่งเราเองถ้าหากมีโอกาสได้ทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ คือช่วยเหลือสังคมเราก็อยากจะทำอีก มันรู้สึกตัวเองมีค่าที่เรียนมาไม่สูญเปล่า” หลังคำพูดนั้นน้องๆ ต่างหัวเราะด้วยใบหน้าเต็มสุขถึงสิ่งที่พวกเขาทำ
ในเวลานี้ ส่วนของแอพพลิเคชั่น แม้จะเป็นเพียงแค่ตัวเบต้าหรือตัวทดลองอยู่ แต่สิ่งที่น่าภูมิใจแทนกับนักศึกษากลุ่มนี้คือ งานของพวกเขาจะเป็นจริงด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะดีงามมากหากประชาชนได้ใช้จริง ซึ่งน้องๆ ก็แอบกระซิบมาว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้ใช้งานแน่นอน ส่วนตอนนี้สามารถเข้าไปกดไลค์ติดตามและให้กำลังใจน้องๆ กลุ่มนี้ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ThaiVans