posttoday

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

11 กรกฎาคม 2558

“ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับการบิน”

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ ณิชกานต์ ปิ่นทอง

“ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับการบิน” คือวลีที่ต้องยึดถือและเป็นกรอบของกฏระเบียบในแนวทางปฏิบัติสำหรับ “การบิน” ที่สำคัญ เพราะนั่นย่อมหมายถึงความเป็นความตายขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยสารทางอากาศ

กว่าจะเป็นการอนุมัติ อนุญาต ให้นักบินทั้งภาคพลเรือนและของกองทัพอากาศไทยขึ้นไปทำการบินได้นั้น ขั้นตอนสำคัญยิ่งกว่าการเรียนรู้วิธีการบิน คือ เรื่องของ “เวชศาสตร์การบิน” ที่ครอบคลุมถึงความพร้อมทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ ของผู้ปฏิบัติหน้าที่การบินทุกนาย สำหรับประเทศไทยแล้ว นักบินรบ นักบินพาณิชย์ จำต้องผ่านบททดสอบที่เรียกว่าเวชศาสตร์การบินทุกนาย จากสถาบันที่มีหนึ่งเดียวในเมืองไทย คือ “สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ”

สถาบันนี้มีความเป็นมาอย่างไร ความสำคัญสำหรับการบินนั้นมากแค่ไหน คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ พล.อ.ต.นิรันดร พิเดช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ที่ให้นิยามของเวชศาสตร์การบินว่า คือ ทุกอย่างต้องพร้อมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งภาคพื้นดินและบนอากาศ สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งในเชิงพาณิชย์และกองทัพอากาศของไทย ภายใต้มาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองหลักสูตรการทดสอบ

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย พล.อ.ต.นิรันดร

 

ทำอย่างไร ทำแบบไหน พล.อ.ต.นิรันดร อธิบายความว่า เราทำการคัดเลือกนักบินและผู้ทำการในเกี่ยวกับอากาศ โดยจะต้องมาตรวจคัดเลือกที่นี่เพื่อทำงานในหน้าที่ เมื่อผ่านแล้วก็จะแยกย้ายไปฝึกปฏิบัติตามหน้างานที่ได้รับมอบหมาย หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกก็ต้องมาอบรมสรีรวิทยาบัณฑิต หรือการทดสอบทางร่างกาย

“พูดง่ายๆ ก็คือเวลาที่นักบินหรือผู้ทำการในอากาศต้องทำการขึ้นที่สูงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คือ มีภาวะ Hypoxia คือมีความกดดันย่อยของออกซิเจนลดลง การขึ้นที่สูงจะทำให้เกิดแก๊สในช่องต่างๆ ในร่างกายที่จะขยาย เพราะฉะนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ ซึ่งมีความสำคัญต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตของนักบิน ผู้โดยสาร ซึ่งนักบินจะต้องฝึกตรงนี้และผ่านไปให้ได้”

พล.อ.ต.นิรันดร อธิบายอีกว่า หลังจากที่ตรวจคัดเลือกจนผ่านเข้าทำงานในหน้าที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น นักบิน ลูกเรือหรือแม้กระทั่งพนักงานควบคุมการจราจรในอากาศต้องมีการตรวจสุขภาพตามระเบียบวาระประจำปี เพื่อให้มีการคงสภาพไว้ เพราะไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ตรวจแรกเข้า แต่สำหรับนักบินหากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุต้องกลับมาตรวจเช็กอีกครั้งว่ารักษาได้หรือไม่ หรือเป็นโรคที่ไม่สามารถทำการบินต่อเลยหรือเปล่า ถ้าเป็นนักบินพลเรือนก็จะใช้กรมการบินพลเรือนเป็นตัวกำหนดโดย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization)

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

 

“หัวใจหลักของสถาบันเวชศาสตร์การบิน มีบุคคลอยู่ 4 ประเภท คือ แพทย์เวชศาสตร์การบิน, พยาบาลเวชศาสตร์การบิน, นักจิตวิทยาการบิน ซึ่งจะตรวจสอบด้านความถนัด และสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่ครูฝึกที่ใช้ฝึกสรีระการบิน และไว้ใช้ฝึกทบทวนสำหรับนักบิน ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีการฝึกที่เดียวก็คือที่สถาบันเวชศาสตร์การบิน” ผู้อำนวยการสถาบัน ย้ำ

นักบินรบฝึกต้องหนัก

ในส่วนของ “ศิษย์การบิน” หรือนักเรียนนายเรืออากาศที่เตรียมพร้อมจะต้องมาเป็นนักบินของกองทัพอากาศ จะต้องมีความพร้อมในระดับที่เรียกว่า “ขีดสุด” ของร่างกาย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ต้องขับเครื่องบินรบด้วยแล้ว แรงต้านทานทุกอย่าง ทั้งระบบสมอง การตอบสนองของร่างกาย ทุกอย่างต้องสัมพันธ์ และความผิดพลาดจะต้องเกิดให้น้อยที่สุด

“เราเรียกว่าเครื่องบินไฟเตอร์ หรือเครื่องบินขับไล่ แน่นอนว่าคนที่มีสิทธิจะบินได้นั้นจะต้องเป็นทหารอากาศที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว และร่างกายของเขาเหล่านักบินนั้นจะต้องได้ผ่านตามมาตรฐาน”

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

 

พล.อ.ต.นิรันดร เสริมอีกว่า เครื่องบินรบของเมืองไทย ทั้ง F5 หรือ F16 รวมถึงเครื่องกริพเพ่น นักบินต้องเผชิญแรง G หรือ G-Force (Gravitational Force) ซึ่งเป็นแรงที่ต้านทานแรงดึงดูดของโลกกดทับผ่านร่างกาย ซึ่งในกระบวนการคัดเลือกนักบินจะต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงที่จะสามารถทนแรง G ได้ อันนี้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะส่งนักบินไปฝึกในเครื่องที่ใช้ทดสอบต้านแรง G ซึ่งอยู่ภายในสถาบัน การทดสอบจะต้องสวมชุด Aniti-G suit และมีท่าทางการฝึกที่ถูกต้อง คือ นักบินต้องมีการเบ่งเตรียมร่างกายเพื่อต้านแรง G ในส่วนนี้จะเป็นขบวนการฝึกเพื่อเตรียมนักบินสำหรับเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง

“รวมถึงการฝึกดีดตัวจากเก้าอี้นักบิน ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน ฝึกการหลงสภาพการบิน เพราะเมื่อนักบินขึ้นสู่ที่สูงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งบางครั้งนักบินเองก็ไม่รู้ว่าร่างกายเปลี่ยนแปลง อาการนั้นเรียกว่า การหลงสภาพการบิน เพราะฉะนั้นนักบินจึงต้องมีการฝึกก่อนที่จะไปทำหน้าที่” พล.อ.ต.นิรันดร กล่าวและว่า ในส่วนของนักบินพาณิชย์ก็คล้ายกัน คือต้องมีสุขภาพร่างกายดีทุกอย่าง ที่สำคัญจะต้องได้มาตรฐานรวมทั้งด้านจิตวิทยาด้วย แม้ว่าเราจะถือตามมาตรฐานของ ICAO แต่บางประเทศก็เพิ่มกฎที่เข้มงวดกว่าได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้ทั้งภาคกองทัพและพลเรือน ก่อนขึ้นบินจะไม่มีการตรวจ แต่ในขบวนการบินมีกฎระเบียบที่ต้องบรีฟนักบินก่อนขึ้นบิน แต่ในด้านการแพทย์นอกจากว่าถ้าใครป่วยก็จะมีการแจ้งในทีมงาน ถ้าไม่พร้อมกัปตันจะพิจารณาว่าสมควรให้บินหรือไม่

หน้าที่หลักของเวชศาสตร์การบิน

นอกจากจะต้องตรวจ ทดสอบ ฝึกนักบินและผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับอากาศยานแล้ว ในส่วนงานด้านอื่นๆ ของสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ก็ยังคงวนเวียนปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบินทุกด้าน ทั้งการรักษาโรคให้กับบุคลากรทางการบิน (ยกเว้นพลเรือน) และเข้าช่วยเหลือในกรณีที่เกิดปัญหาด้านการบินเกือบทุกด้าน ซึ่งผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายถึงกรอบหน้าที่ว่า หากเกิดเหตุการอากาศยานมีอุบัติเหตุหรือเครื่องบินลงฉุกเฉิน ก็เป็นหน้าที่ของเวชศาสตร์การบินที่จะต้องเข้าไปดูแลหรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการตรวจสอบหาสาเหตุด้วย ไม่ว่าจะเป็นของกองทัพ หรือของพาณิชย์ก็ตาม ทั้งการลงฉุกเฉินไม่ว่าจะลงฉุกเฉินในสนามบินหรือนอกสนามบินก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันทั้งสิ้นที่ต้องเข้าไปตรวจสอบหรือให้การช่วยเหลือ

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

 

“รวมทั้งขบวนการหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ กระบวนการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุก็ต้องไปดูสาเหตุนั้นเกี่ยวข้องกับการแพทย์หรือร่างกายอย่างไร หรือเกิดอุบัติเหตุจากอะไร แต่ภารกิจของเราจะดูแลเฉพาะผู้ทำการในอากาศหรือนักบินเท่านั้น” พล.อ.ต.นิรันดร ย้ำ

ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นแล้ว การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของสถาบันเช่นกัน คือต้องทำอย่างไรให้สามารถลำเลียงผู้ป่วยให้ปลอดภัย รวดเร็ว และรักษาชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ได้ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับหน้าที่นี้ก็มีมาโดยตลอด เพื่อให้กระจายไปอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างเพียงพอ

“ถ้ามีเครื่องบินตก ญาติมิตรเกิดความสูญเสียเยอะ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องส่งทีมเข้าไปช่วยเพื่อลดความวิตกด้านจิตใจหลังจากเกิดความสูญเสียให้กับญาติผู้ประสบภัย หรือหากเกิดการระบาดของโรค อย่างเช่นตอนนี้มีเรื่องโรคเมอร์สเข้ามา ต้องดูขีดจำกัดของการลำเลียงด้วยว่าเป็นโรคที่สามารถลำเลียงผู้ป่วยได้ไหม ลำเลียงไปแล้วจะระบาดหรือไม่ หรือเครื่องมือในการลำเลียงเราพร้อมหรือเปล่า ซึ่งเราจะต้องพัฒนากันต่อไป”

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

 

“ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นภารกิจหลักที่เราดำเนินงานอยู่ สถาบันของเราเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือนโดยกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้เราทำหน้าที่นี้ ซึ่งในประเทศไทยก็จะมีอยู่สองแห่ง คือ หน่วยราชการก็คือที่นี่ที่เดียว ส่วนหน่วยเอกชนก็อยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สองแห่งนี้จะทำการตรวจคัดเลือกผู้ทำการในอากาศแรกเข้า แค่แรกเข้าเท่านั้น ในส่วนของการตรวจตามวาระ กรมการบินพลเรือนอนุญาตให้โรงพยาบาลหลายๆ แห่งดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรองรับ และมีแพทย์ด้านเวชศาสตร์การบิน โดยทางกรมการบินพลเรือนกำหนดว่าจะต้องเป็นแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส คือ จบหลักสูตรที่แพทยสภารองรับ ซึ่งทางสถาบันเวชศาสตร์การบินก็เปิดสอนอยู่ หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์การบินหลังจากจบหลักสูตรนี้ 3 ปี ก็สอบใบวุฒิบัตรของแพทยสภาเพื่อเป็นแพทย์เวชศาสตร์การบิน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การบิน ในส่วนนี้จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส” ผู้อำนวยการสถาบัน ให้ความรู้

แน่นอนว่าร่างกายของมนุษย์ย่อมสึกหรอและโรยราตามสภาวะแห่งวัย หรือการเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคภัยต่างๆ แต่สำหรับนักบินแล้วเรื่องของร่างกายย่อมมีความสำคัญ ดังนั้น สถาบันจึงจำเป็นจะต้องตรวจกลุ่มบุคลากรทางการบินตามวาระอยู่โดยตลอด เพื่อหาจุดอันตรายที่อาจจะซ่อนเร้นอยู่ภายในร่างกายของผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่รู้ตัว และอีกทั้งก็เพื่อให้ได้มาตรฐานตามหลักการบินสากล

“แน่นอนครับ บางโรคเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถทำการบินได้อีกเลย จุดนี้เมื่อตรวจเจอและคณะกรรมการของสถาบันได้ลงความเห็นแล้ว นักบินจะต้องหยุดทันที แม้จะไม่ยอมรับก็ตาม เราไม่ปล่อยครับ ปล่อยไม่ได้ เพราะนั่นมันหมายถึงความปลอดภัย”

พล.อ.ต.นิรันดร ขยายความว่า เช่น หากนักบินเป็นเนื้องอก หรือป่วยเป็นโรคมะเร็ง ยิ่งอยู่ในภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ อาจจะชัก อาจจะหมดสติเฉียบพลัน และลองนึกภาพดูกันว่าใครจะทำการบินต่อได้

“บางรายที่เป็นตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าไม่สบาย และคิดว่าตัวเองปกติ ไม่ไปทำการรักษาอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นเคสที่เป็นหนักมากจนคนรอบข้างดูออกก็ไม่เป็นไร คนรอบข้างก็จะพาไปรักษาได้ แต่ถ้าบางคนเป็นแล้วปกปิดไว้ไม่บอกใคร หรือแอบไปรักษาเองแล้วไม่บอกกลุ่มนี้จะเป็นปัญหา ยิ่งถ้าเป็นคนที่มี IQ สูง เป็นพวกฉลาดเขาจะยิ่งมีความสามารถในการปกปิดที่ดีกว่าคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเป็นระยะ ก็จะเป็นหน้าที่แพทย์ที่จะต้องตรวจต้องดูให้เจอ”

ข้างบน (อากาศ) ต้องปลอดภัย

 

ต้องพัฒนาไม่หยุดยั้ง

พล.อ.ต.นิรันดร ทิ้งท้ายว่า สถาบันก็พยายามสร้างและพัฒนาให้ต่อเนื่องทั้งจำนวนคนและเรื่องของทรัพยากร ซึ่งทุกอย่างสอดคล้องและมีความจำเป็นด้วยว่าสถาบันแห่งนี้เป็นที่เดียวที่ผลิตแพทย์เวชศาสตร์การบินเพื่อนำไปฝึกไปทดสอบ ตรวจร่างกายให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่การบิน ดังนั้น ถ้าแพทย์ไม่เพียงพอที่จะรองรับก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี

ในส่วนทรัพยากรนั้น เครื่องฝึกต่างๆ ก็มีที่นี่ที่เดียว และจะพัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดกองทัพอากาศได้ให้ที่ดินบริเวณทุ่งสีกัน ย่านดอนเมือง เพื่อเตรียมสร้างศูนย์ฝึกนักบินที่ครบวงจรและทันสมัยอย่างที่สุด ซึ่งหากได้งบประมาณมาแล้วก็จะดำเนินการได้ทันที ซึ่งศูนย์ฝึกแห่งนี้จะครอบคลุมหมดทุกอย่าง

“ฝึกได้ทุกอย่างเลย โดยเฉพาะการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น หากเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์จมน้ำ จะต้องเอาตัวรอดอย่างไร ฝึกในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้นักบินทั้งของกองทัพและพลเรือนมีความพร้อม หรือเครื่องฝึกต้านทานแรง G ที่เราก็อยากจะมีเป็นของตัวเองเพื่อฝึกนักบินขับไล่ของเราเช่นกันเพราะทุกวันนี้ต้องส่งศิษย์การบินไปฝึกต้านแรง G ที่ประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซีย แต่หากอนาคตแผนนี้ได้รับการอนุมัติ เราก็คงมีที่ฝึกเป็นของเราเอง” พล.อ.ต.นิรันดร ทิ้งท้าย

ภายในสถาบันมีอะไร

นอกจากด้านการแพทย์แล้ว สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ยังคงมีอุปกรณ์การฝึกเพื่อรองรับทั้งส่วนของนักบินกองทัพ และนักบินพาณิชย์ของสายการบินสัญชาติไทยเครื่องมือหลากหลายที่ว่ามีอะไรบ้าง พล.อ.ต.นิรันดร พิเดชผู้อำนวยการสถาบัน จะพาไปเยี่ยมชม

เครื่องฝึกหลงสภาพการบิน - เครื่องนี้ถูกนำเข้ามาใหม่เอี่ยมด้วยมูลค่าเกือบ 90 ล้านบาท ที่กองทัพจัดซื้อเครื่องนี้มาแทนเครื่องเก่าเพราะได้อานิสงส์จากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี2554 น้ำที่ท่วมทะลักทำเครื่องเดิมเสียหาย ซึ่งหากนำไปซ่อมที่ต่างประเทศจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่ด้วยอาจารย์ด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาสาเข้าซ่อมด้วยหลักราคา 2 ล้านบาท กระทั่งสำเร็จ จึงมีงบประมาณเหลือเพื่อซื้อเครื่องใหม่ที่สมบูรณ์มากกว่า

เครื่องฝึกหลงสภาพการบินจะช่วยให้นักบินรู้สภาวะการบินด้วยกายภาพศาสตร์ภายนอกเครื่องบิน ไม่ใช่สัญชาตญาณของตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งนักบินจะคิดว่าเครื่องตั้งตรงแล้ว แต่ความจริงคือเครื่องกำลังเชิดหัวขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุได้

เครื่องฝึกสภาพการณ์การบินในที่สูง - ซึ่งจะเป็นห้องขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ภายในจะฝึกนักบินให้ได้รับรู้สภาพการขึ้นที่สูงสำหรับการบินจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนชั่วครู่ และจะทำให้หมดสติไปชั่วขณะ ซึ่งนักบินทุกคน รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินจะต้องมารับรู้อาการ “หมดสติ” ที่ว่าด้วย เพื่อให้ร่างกายจำและรู้ถึงวิธีการแก้ไข

เครื่องดีดตัวสำหรับเครื่องบินขับไล่ - จะเป็นเครื่องจำลองเก้าอี้ของนักบินขับไล่ ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องสละเครื่อง นักบินจะต้องรู้วิธีในการดีดตัวออกจากเครื่องโดยเครื่องนี้จะเป็นลักษณะการดีดตัวพร้อมเก้าอี้นั่ง ซึ่งจะมีแรงG ที่สูงมากถึง 20G (น้ำหนักตัว 20 เท่ากดทับ)

ห้องจำลองสภาพการบินในเวลากลางคืน - แน่นอนว่าในภาวะกลางคืนสำหรับเครื่องบินขับไล่ บางครั้งด้วยความมืดมิดจะทำให้นักบินหลงทางจากสภาพภูมิประเทศ ดังนั้น การกำหนดทิศทางเพื่อฝึกให้จดจำเส้นทางผ่านแสงสว่างของดวงจันทร์ ภาพของหุบเขา จึงจำ เปน็ ตอ้ งฝึกเพอื่ ให้นกั บนิ ค้นุ เคย

สภาพจิตใจของนักบินก็สำคัญ

“บางคนนี่อยากเป็นมากๆ อยากจะบิน อยากเป็นนักบิน ฝึกมา เรียนมาครบทุกด้าน ร่างกายก็พร้อม แต่หากสภาพจิตใจไม่ผ่านตามเกณฑ์ เราก็ให้คุณเป็นนักบินไม่ได้หรอกค่ะ” คำเปรยจากเจ้าหน้าที่ด้านจิตเวชการบินนายหนึ่งของสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศที่ระบุชัดว่า หากไม่ผ่านก็คือไม่ผ่านและต่อให้เก่งด้านไอคิวแค่ไหน หรืออีคิวมากล้นอย่างไร หากสองสิ่งที่ว่าไม่สัมพันธ์กันด้วยจิตใจ ก็ยากจะให้ทำการบิน

การตรวจหรือทดสอบสภาพจิตใจนั้น หากเป็นมุมมองของคนทั่วไปก็ดูเหมือนจะค่อนข้างเครียดพอสมควร แต่หลักสูตรนี้คือการทดสอบที่มีความสำคัญซึ่งครอบคลมุ ทั้งดา้นของบคุ ลิกภาพ การทำงานเป็นทีม การพร้อมของสภาพจิตเพื่อรองรับแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินและด้านของสภาพจิตใจที่ต้องเหมาะสมสำหรับงานแต่ละประเภทที่เกี่ยวข้องกับการบิน ทุกอย่างจะต้องไหลลื่น

“อย่างนักบินพาณิชย์ การทดสอบสภาพจิตใจก็เป็นไปตามที่ ICAO กำหนดมา ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกันยกตวั อยา่งประเทศไทยอาจะมี5 ข้อ ซึ่งบางข้อผ่านได้ แต่บางข้อผ่านไม่ได้ ข้อที่ผ่านได้หรือข้ามไปได้แม้ว่าตัวนักบินอาจจะไม่ผ่านการทดสอบ ก็เพราะเราเชื่อว่าในอนาคตเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น บางคนอาจจะทำงานเป็นทีมไม่เป็นเลย บางครั้งเราให้ผ่านเพราะเชื่อว่าในอนาคตเขาจะดีขึ้น แต่อย่างบุคลิกภาพนี่ไม่ได้ ให้ข้ามไม่ได้ เพราะมันจะสะท้อนถึงไอคิวและการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาระหว่างที่ทำการบิน”

เจ้าหน้าที่ด้านจิตเวชการบินคนเดิมกล่าวอีกว่า กระนั้นสำหรับศิษย์การบินแล้วจะไม่มีการละเว้นเหมือนภาคพลเรือนเด็ดขาด ทุกอย่างต้องผ่านหมดทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เช่นนั้นคุณก็หมดสิทธิจะเป็นนักบินของกองทัพอากาศ