posttoday

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา

30 กรกฎาคม 2558

ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ภาระของเพศใดเพศหนึ่ง “จิตอาสา” จะเป็นรูปธรรมได้อย่างดีงาม

โดย...อัคร-กองทรัพย์-ภาดนุ  ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ภาระของเพศใดเพศหนึ่ง “จิตอาสา” จะเป็นรูปธรรมได้อย่างดีงาม ย่อมต้องร่วมแรงร่วมใจจากทุกคนและทุกเพศ ไม่เว้นกระทั่ง “ชาวเรา” 3 คนนี้ ที่ประกาศตัว “ขอช่วยเหลือสังคม”      

จิตอาสาต้านเอชไอวี ภัควัฒน์ รัตน์วสิฐกุล

อายุ 24 จบปริญญาตรี การเงินการธนาคาร ปัจจุบันทำงานฝ่ายบัญชี ธนาคารแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง เข้างาน 8 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น วันจันทร์-ศุกร์ พอหลังงานประจำ “บิ๊ก-ภัควัฒน์ รัตน์วสิฐกุล” ก็มักจะปลีกตัวมาทำงานอาสา ณ องค์กรบางกอกเรนโบว์ ถนนประดิพัทธ์ หรือถ้าวันเสาร์และอาทิตย์องค์กรมีกิจกรรมรณรงค์ เขาก็ไม่ยอมพลาดเข้าร่วมอย่างขันแข็ง

“พอเลิกงานประจำทุกอย่างที่นั่นผมก็จะตัดทิ้งเลยนะครับ” ภัควัฒน์ บอก และนั่นก็เป็นสิ่งที่เขาทำอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นอาสาสมัครตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 “ผมก็ไม่รู้มาก่อนนะครับว่า บางกอกเรนโบว์คืออะไร และทำกิจกรรมอะไร แต่มีโอกาสเข้าร่วมกับบางกอกเรนโบว์เพราะมหาวิทยาลัยส่งมา ผมก็มากับเพื่อน มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมระหว่างเรียน”

จากกิจกรรมแรก ออกค่ายที่กาญจนบุรี เพื่อเรียนรู้และเข้าใจการใช้ถุงยาง การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย ตลอดจนองค์ความรู้ในทุกๆ มิติเกี่ยวกับเอชไอวี ทำให้ภัควัฒน์เริ่มหลงรักงานอาสาสมัคร แล้ววันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจพาตัวเองเข้าสู่การเป็นอาสาสมัครเต็มเวลา

“คือตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไรหรอกครับ ไปก็ไป แต่พอไปก็ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ทำกิจกรรม ได้ความรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้ พอจบงานออกค่าย พี่ที่บางกอกเรนโบว์ก็บอกว่าอยากให้เอาสิ่งที่ไปออกค่ายไปต่อยอด ผมก็เริ่มจากเพื่อนเกย์นี่ล่ะครับ คือให้เพื่อนตอบแบบสอบถามเรื่องการใช้ถุงยาง การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา บิ๊ก-ภัควัฒน์ รัตน์วสิฐกุล

 

คำว่า เอชไอวี ใช้ไม่ได้เลย ต้องใช้คำว่า มาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เขาถึงจะให้ความร่วมมือ แต่สุดท้ายการให้ความร่วมมือก็ยังน้อยอยู่ดี ยิ่งถ้าเป็นคนอื่นก็ยิ่งยาก ปฏิกิริยามีทุกรูปแบบครับ งง ตื่นเต้น เฉยๆ คนจะรู้สึกกลัวว่าข้อมูลอาจมีผลกับการใช้ชีวิต ไม่ก็กลัวข้อมูลจะไม่เป็นความลับ”

เมื่อมาทำงานอาสาสมัครเต็มเวลา หน้าที่ความรับผิดชอบก็มีมากเป็นลำดับ แต่เขาก็ย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรมมันคือความสุข แม้ไม่มีค่าตัว หรือค่าจ้าง เพราะเป้าหมายที่เขาวางไว้ คือ การได้ช่วยคนและลดประชากรเอดส์   

“ผมไม่เคยรู้สึกว่างานอาสาสมัครมันมาดึงเวลาส่วนตัวไปหรอก มันเหมือนเป็นหน้าที่ของผมไปแล้ว การมาเป็นอาสาสมัคร ผมว่ามันเป็นงานที่ทำให้ผมทำแล้วมีความสุข ซึ่งความสุขของผมคือการได้ช่วยคน อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่ถ้าคนเดียวที่ผมได้ช่วย ได้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา หรือหาทางออกให้ได้ คนที่ผมช่วยยังใช้ชีวิตต่อไป ผมว่าหน้าที่ของผมสำเร็จแล้วนะครับ”

งานอาสาสมัคร ไม่ยาก หากใจพร้อม ภัควัฒน์บอกอย่างนั้น ขอเพียงมีใจรักและเปิดใจกว้าง มากกว่านั้นคำว่า “เสียสละ” จึงขาดไม่ได้

“คนที่มีงานประจำต้องแบ่งเวลาให้ดีๆ เคยมีเพื่อนหลายคนต้องเลิกเป็นอาสาสมัคร เพราะจัดสรรเวลาไม่ลงตัว จริงๆ งานอาสาสมัคร ไม่ว่าจะงานอาสาอะไร ถ้าพร้อมแล้วทำได้เลยครับ ไม่จำเป็นต้องเกย์ ผู้ชายก็ได้ ผู้หญิงก็ดี อายุไม่เกี่ยง ถ้าคุณเป็นคนมีใจบริการ เป็นใคร เพศไหน ก็ทำได้หมดครับ”

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา กอล์ฟฟี่-ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล

 

จิตอาสาเพื่อความงาม ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล

‘ตัดผมแต่งหน้าทุกเพศทุกคนทุกชนชั้น’ ถ้อยคำที่ประกาศทางเฟซบุ๊ก Extremely Hair & Make up เจ้าของ “กอล์ฟฟี่-ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล” ช่างผมแห่ง ชิควัน แอนด์ โอนลี (Chic one & only) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชื่อเสียงและเฟซบุ๊กของเขากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น หลังภาพของเขาถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์หลายรายการในฐานะช่างผมช่างหน้าจิตอาสา

ฤชวีพัฒน์ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานและทุ่มเทวันหยุดของตัวเองตระเวนตัดผมให้กับผู้พิการ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ รวมทั้งยังรับแต่งหน้าศพ เมื่อมีคนร้องขอ โดยที่เขายินดีทำให้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว

“หลายปีที่แล้ว อาจารย์สุภัททา เหล่าพูลศรี อาจารย์สอนเสริมสวยหญิงประจำศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. เขตบางกะปิ พาไปออกหน่วยในชุมชนแห่งหนึ่ง มีชาวบ้านเรียกให้ไปตัดผมคนแก่ที่บ้าน ไม่มีใครไป เราเลยอาสาไปเอง ก็พบว่าเป็นผู้หญิงป่วยเป็นอัมพาตขยับเขยื้อนไม่ได้ นอนอยู่แต่บนเตียง ตอนนั้นเรายังตัดผมไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ แต่เขาขอบคุณเรา เอาขนม เอาน้ำมาให้ เป็นความทรงจำที่อบอุ่น หลังจากนั้นก็คิดเลยว่าอนาคตอยากจะใช้ความสามารถที่ตัวเองมีช่วยเหลือคนเหล่านี้”

ตัวตนของฤชวีพัฒน์นั้นเป็นคนค่อนข้างจี๊ดจ๊าด ชอบแต่งตัว หลงใหลแฟชั่น บางครั้งก็สะท้อนผ่านงานออกแบบทรงผม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะมาตัดสินเนื้อแท้ของคน เพราะที่บ้านเคยยากจนและขาดโอกาส ดังนั้น เมื่อเขาอยู่ในฐานะที่สามารถแบ่งปันได้ เขาจึงประกาศตัวชัดว่า “จิตอาสาเพื่อความงาม”

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา กอล์ฟฟี่-ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล

 

“การตัดผมให้คนเหล่านี้ มันไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ได้ความสุข ผลตอบแทนคือรอยยิ้ม และงานแต่งหน้าศพก็เป็นอีกงานหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญสำหรับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางคนตอนที่มีชีวิตอาจจะเป็นคนชอบแต่งหน้าแต่งตัว พอถึงวาระสุดท้ายเราก็อยากทำให้เขาสวยที่สุด

ในฐานะช่างตัดผม เราเป็นคนค่อนข้างพูดตรงกับลูกค้า ถ้าเห็นว่าอันไหนไม่เหมาะกับลูกค้าก็จะพูดตรงๆ เราให้บริการก็ต้องซื่อสัตย์ในอาชีพของเราด้วย ถ้าตามใจลูกค้า แล้วไม่สวย คนที่ซวยก็คือเรา ดังนั้นจะต้องให้คำแนะนำลูกค้าให้ได้รับสิ่งที่เหมาะสม ให้ทั้งเราและเขาพอใจผลงานที่ออกมา อันนี้คือในฐานะช่าง”

แต่สำหรับในฐานะของเพื่อนมนุษย์แล้ว ฤชวีพัฒน์ มองว่า คนที่มีความสามารถที่เป็นประโยชน์ ควรแบ่งปันและหยิบยื่นโอกาสให้คนที่ขาด เพราะเขาเชื่อว่าการทำดี ไม่ได้มีแค่การให้เงิน บางทีแค่เรี่ยวแรงและกำลังสมองที่มี ก็เรียกรอยยิ้มและสร้างความสุขให้แก่ผู้รับได้

“สำหรับคนที่เขายังขาด ขาดโอกาส และการเข้าถึง เราเดินสายตัดผมฟรีให้ผู้ป่วย คนแก่ ตามโรงพยาบาล ตามบ้าน รวมถึงการอาสาแต่งหน้าศพด้วย พอมีโอกาสได้ออกรายการทีวีมีคนเห็น มีคนแชร์ หลายคนก็สนใจทั้งอยากให้ไปตัดให้ และอยากทำในลักษณะเดียวกับเรา ซึ่งเราว่ามันน่าชื่นใจแล้วนะ”

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา นิชนัจทน์ สุดลาภา

จิตอาสาเพื่อความเท่าเที่ยม นิชนัจทน์ สุดลาภา

นางแบบข้ามเพศคนแรกของไทยที่โกอินเตอร์บนรันเวย์ นิวยอร์ก แฟชั่น วีก ฟอลล์/วินเทอร์ 2014 จนโด่งดังเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่รู้มั้ยว่าชีวิตอีกด้าน “ซารีน่า ไทย” หรือ “นิชนัจทน์ สุดลาภา” คือ การทำงานจิตอาสาช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ในสังคม

“ต้องเท้าความว่าก่อนหน้าที่จะได้ไปเดินแบบที่นิวยอร์ก ซารีน่าเคยเป็นนางแบบตามงานอีเวนต์ในเมืองไทย ตัวเราเองก็เคยโดนเลือกปฏิบัติด้วยอคติทางเพศจากคำพูดที่ว่า ‘เป็นกะเทยแล้วมาเดินแบบทำไม ใครให้มาเดิน’ เรื่องนี้ทำให้ซารีน่าต้องพิสูจน์ตัวเองโดยการต้องไปเดินแบบที่ต่างประเทศให้ได้ ซึ่งเขาค่อนข้างจะเปิดรับนางแบบข้ามเพศพอสมควร”

พอกลับมาแผ่นดินแม่ นางแบบข้ามเพศก็ได้รับการทาบทามจากเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย หนึ่งเครือข่ายชาวสีรุ้งที่ทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม เธอถูกเทียบเชิญเป็นแขกรับเชิญและวิทยากรในงาน IDAHOT (International Day Against Homophobia, Transphobia & Biphobia-วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ) อันมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อให้คนเหล่านี้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ซารีน่าพาตัวเองมาทำงานจิตอาสาในฐานะวิทยากร แบ่งปันประสบการณ์ ให้กำลังใจคนข้ามเพศ หลายกิจกรรมที่จัดขึ้น ในคลินิกพิเศษ หรือบนเวทีสัมมนา เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เธอว่าเกือบทุกเดือนก็จะมีคนมาชักชวนให้เธอไปร่วมงานและเธอก็เต็มใจที่ไปจะช่วยแบบไม่รับค่าตัว

จิตอาสา คือหน้าที่ชาวเรา นิชนัจทน์ สุดลาภา”

 

“อย่างงาน IDAHOT ที่ผ่านมา ซารีน่าก็ไปเป็นพิธีกรจิตอาสา โดยมีน้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่มาเป็นแขกรับเชิญ สิ่งที่เราอยากให้สังคมตระหนัก ก็คือ คนในสังคมไม่ควรเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้กระทำจะคิดว่าเขาสามารถทำได้ เพราะมีอคติที่ถูกปลูกฝังมา ขณะเดียวกันคนกลุ่มเราก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเราด้วยเช่นกัน และบอกให้สังคมรู้ว่าคนข้ามเพศก็เป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการปฏิบัติให้เท่าเทียมในฐานะเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน”

ซารีน่ายอมรับว่าเป็นเรื่องดีมากๆ ที่เธอมีโอกาสได้มาทำงานจิตอาสา ยิ่งเฉพาะเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ และหน่วยราชการ ที่ทำเพื่อสังคมจริงๆ เหมือนปิดทองหลังพระ คนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้รู้ แต่เธอได้รู้แล้วว่ามันสามารถจะสานต่อและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชาวเราให้ไปในทางที่สร้างสรรค์  

“อย่างเหตุการณ์ที่เป็นข่าว ซารีน่าได้ไปที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งและถูกห้ามไม่ให้เข้า รปภ.ตรวจบัตรแล้วบอกว่าคุณเป็นนาย คุณเป็นสาวประเภทสอง ห้ามเข้า! เราก็เลยต้องไปร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุดท้ายเรื่องก็จบลงด้วยดี ทางนั้นก็มาขอโทษและบอกว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เราก็เลยต้องมาให้ความรู้ต่อว่า ขณะนี้มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.ย. 2558 นี้แล้วนะ เนื้อหาจะคุ้มครองทั้งเพศชาย เพศหญิง กลุ่ม LGBT ทุกคน เช่น ถ้าคุณเป็นเกย์แล้วไปสมัครงาน แต่ผู้บริหารบอกว่า คุณเป็นเกย์ คุณไม่สามารถทำนั่นทำนี่ได้หรอก ตรงนี้คุณก็สามารถไปฟ้องร้องคณะกรรมการชุดนี้เพื่อเอาผิดได้”