posttoday

นำชมวัดกัลยาณ์ ยุคพัฒนาเปลี่ยนแปลง

02 สิงหาคม 2558

วัดกัลยาณมิตร พระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร ที่อยู่ในความสนใจจากหลายฝ่าย

โดย...ส.สต

วัดกัลยาณมิตร พระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร ที่อยู่ในความสนใจจากหลายฝ่าย เพราะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรที่ต้องทุบทำลายศาลาราย 2 หลัง เนื่องจากทางวัดสร้างในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร 

หลายคนอยากทราบว่าเจ้าอาวาสคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แม้ว่าผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2558 แล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถจะติดต่อได้

อย่างไรก็ตาม พระพรหมกวี เจ้าอาวาส เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ ได้เขียนไว้ในคำนำ หนังสือนำชมวัดกัลยาณมิตร ที่พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร ป.ธ.9 วัดชนะสงคราม เป็นบรรณาธิการ มีข้อความที่บอกเหตุผลว่า ทำไมต้องรื้อของเก่าและสร้างใหม่ 

วัดนี้สร้างโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต)  เมื่อ พ.ศ. 2368 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้สร้างพระพุทธไตรรัตนนายก พระประธานพระวิหารหลวง รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมอีกหลังหนึ่ง

นำชมวัดกัลยาณ์ ยุคพัฒนาเปลี่ยนแปลง

เวลาผ่านมา 188 ปี ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุในพระอารามทั้งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ซึ่งห่างการบูรณปฏิสังขรณ์มานาน ย่อมทรุดโทรมไปตามสภาพ ครั้นเมื่อมารับงานในฐานะเจ้าอาวาสในปี 2546 วัดกัลยาณมิตร ในขณะนั้นอยู่ในสภาพเหมือนคนไข้หนักที่ต้องการเยียวยา ปรับปรุงแก้ไขด่วน เพราะไม่ว่าจะเหลียวไปทางทิศไหนเห็นแต่งานรออยู่ทุกทิศ

เขตสังฆาวาสไม่มีความเป็นระเบียบในการวางแนวเขต เสนาสนะที่อยู่อาศัยก็หลากหลายรูปแบบ ส่วนเขตพุทธาวาสก็รกรุงรังปล่อยให้มีการต่อเติมอย่างไร้ระเบียบ ขาดความสง่างามเช่นพระอารามหลวงอื่นๆ จึงตกลงจะพลิกฟื้น เอาความสง่างามของพระอารามคืนมา ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องมีอุปสรรคขวากหนามไม่น้อย เพราะเมื่อมีความถูกต้องเข้ามา ความถูกใจก็ถอยห่าง กับทั้งไม่สามารถจะทำให้ทัดเทียมกับสมัยที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ทุ่มเทสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ด้วยศรัทธาอันสูงส่งได้ก็ตาม

ตลอดเวลา 10 ปีแห่งความหลัง ถาวรวัตถุ ปูชนียวัตถุสถาน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์สร้างขึ้นใหม่ กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ดังปรากฏในหนังสือ นำชมวัดกัลยาณมิตร หนา 124 หน้า มีภาพประกอบ 4 สี เริ่มจากภาพถ่ายเห็นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด ภาพนี้เห็นองค์ประกอบที่สำคัญในเขตพุทธาวาสได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ พระวิหารหลวง ศาลาการเปรียญ พลิกไปอีกหน้าหนึ่งพบภาพพระพุทธไตรรัตนนายก หรือซำปอกง และภาพเก่าโบราณ ที่เห็นเรือนแพ เรือโยง เรือแจวหน้าวัดเป็นภาพที่ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

นำชมวัดกัลยาณ์ ยุคพัฒนาเปลี่ยนแปลง

 

ส่วนโบราณสถานที่บูรณะใหม่ ได้แก่ หอพระธรรมมณเฑียร ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ศาลารายหลังพระวิหารหลวงที่เป็นปัญหา

ผ่านไปที่เขตสังฆาวาส จะพบอาคารทรงไทยขนาดใหญ่สูง 2 ชั้น สร้างใหม่ในชื่อว่า อาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร์ กว้าง 14 เมตร ยาว 58 เมตร แบบหลังคาลด 3 ชั้น สร้างปี 2547 แล้วเสร็จปี 2550

ทางเข้าอาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นอาคารสร้างใหม่ขนาบ 2 ข้าง ที่เด่นคืออาคารภัทรายุวดี สร้าง พ.ศ. 2551 และอาคารเจริญศรีชนมายุ สร้าง พ.ศ. 2555 หนังสือนำชมว่า พระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาส สร้างอุทิศแด่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระนามที่กล่าวถึงแล้ว

ยังมีอาคารที่สร้างใหม่อีกจำนวนหนึ่ง และที่ยังรอการบูรณะอีกมาก แต่ปัญหาจะมากตามไปด้วยหรือไม่ต้องคอยดู เพราะถูกต้องตามหลักพัฒนา แต่ไม่ถูกตามหลักอนุรักษ์