รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา
เดี๋ยวนี้คำถามเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีแล้วถามว่าเกิด พ.ศ.อะไร อายุเท่าไหร่ แต่มักจะได้ยินคำถามว่า “เด็กเจนอะไร” “เกิดเจนไหน”
โดย...นกขุนทอง ภาพ : นิตยสารโมเดิร์นมัม
เดี๋ยวนี้คำถามเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีแล้วถามว่าเกิด พ.ศ.อะไร อายุเท่าไหร่ แต่มักจะได้ยินคำถามว่า “เด็กเจนอะไร” “เกิดเจนไหน” ซึ่งคำตอบบ่งบอกได้ถึงสภาพแวดล้อมและลักษณะบุคลิกนิสัยได้ในระดับหนึ่ง
แล้วตอนนี้เราก้าวมาถึงจุดกำเนิดเจเนอเรชั่นใหม่นั้นคือ อัลฟา (Generation Alpha) ใช้เรียกคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นต้นไป
ย้อนไปในปี 2553 จุดเริ่มต้นของโครงการศึกษาเกี่ยวกับคนเจน (Gen) ต่อไปของ Mccrindle Research บริษัทวิจัยทางสังคมและการตลาดในออสเตรเลีย นำโดย มาร์ก แมคครินเดิล (นักวิจัย นักวิเคราะห์ทางสังคมและนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ) และทีมงานเกิดข้อสงสัยว่าคนรุ่นต่อจากเจเนอเรชั่น Z คือใครกัน จากนั้นจึงได้เริ่มทำการสำรวจในออสเตรเลียเกี่ยวกับชื่อที่จะใช้เรียกคนรุ่นที่เกิดตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป และได้ข้อสรุปเรียกว่า“เจเนอเรชั่น อัลฟา”
เจน อัลฟา เกิดมาพร้อมโซเชียลมีเดีย
มาร์ก แมคครินเดิล ได้อธิบายว่า เจเนอเรชั่น อัลฟา หรือเรียกว่า เจน อัลฟา (Gen Alpha) คือ เด็กที่เกิดในสภาพแวดล้อมใหม่ การติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การมีไอแพดตรงกับการเริ่มต้นของเจเนอเรชั่นใหม่นี้พอดี เด็กรุ่นนี้เกิดมาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารด้วยระบบดิจิทัลที่ก้าวหน้ามาก่อนหน้านี้นานแล้ว และมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในปี 2010 เมื่อกระแสของเครื่องมือดิจิทัลระบบทัชสกรีน และการติดต่อสื่อสารกันทางโซเชียลมีเดียมาแรงมาก จนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเกือบทุกครัวเรือน
เจน อัลฟา เกิดมาในโลกของไอโฟน ช่วงนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นมากมายเกิดขึ้นมาพร้อมกับเด็กๆ ด้วย ทั่วโลกมีการอัพโหลดวิดีโอลงบนยูทูบ 100 ชั่วโมง/นาที นั้นหมายถึงสภาวะแวดล้อมมีอิทธิพลต่อเด็กกลุ่มนี้ คือ ภาพ เสียง และวิดีโอ แทนที่จะเป็นการเขียนตัวหนังสือ หรือการพูดเช่นสมัยก่อน มีอินสตาแกรมทำให้ชีวิตของพวกเขาคือการถ่ายภาพและแชร์ภาพไปทั่วโลกในทันที แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็กๆ
ด้าน ชนิดา อินทรวิสูตร รองประธานปฏิบัติการสายธุรกิจคอมมูนิเคชั่นส์ กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี กล่าวว่า เด็กยุคเจน อัลฟา เกิดในช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เด็กเจนนี้จะเรียนรู้เร็ว ปรับตัวเก่ง แต่มี
แนวโน้มที่จะมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น และเป็นตัวของตัวเองสูง
ในสภาวะที่สังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยปัญหา สภาพแวดล้อมเหล่านี้จึงส่งผลต่อการคิดและการใช้ชีวิตของเด็กยุคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้พ่อแม่รวมทั้งลูกจำเป็นต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสังคมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก
นิตยสารโมเดิร์นมัม (ModernMom) ในเครืออาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้จัดงานเสวนา “7 Codes ถอดรหัสความสำเร็จ Generation Alpha” เพื่อให้คุณแม่ที่มีลูกเกิดตั้งแต่ปี 2553 ได้มีความพร้อมรับมือและรู้เท่าทันการเลี้ยงลูกยุคเจเนอเรชั่น อัลฟา
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ คุณพ่อของลูกสาวเจเนอเรชั่น อัลฟา 2 คน มีวัย 4 ขวบ และ 8 เดือน ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับวงการไอทีมากว่า 15 ปี มองเห็นแง่มุมของสื่อเทคโนโลยีสองด้าน ทั้งในด้านของการใช้ประโยชน์ที่เอื้อต่อการทำงาน และในด้านลบที่เกิดกับเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา หากใช้จนเกินความพอดี
ยกตัวอย่างจากลูกสาว “น้องอยู่นี่” วัย 4 ขวบ 2 เดือน “คุณหมอที่เจอผมมักแนะนำเสมอว่า ถ้าลูกยังไม่ถึง 3 ขวบ อย่าเพิ่งให้ลูกใช้ เพราะเด็กอาจจะสมาธิสั้นได้ แต่เขาเห็นผมใช้ทำงานที่บ้านมาตลอด ขวบครึ่งเขาหยิบแท็บเล็ตเราไป ผมก็แอบมองว่าเขาจะทำยังไง เขากดถูกหมดเลย พวกซอฟต์แวร์ง่ายๆ วาดรูป เกม แต่งตัวตุ๊กตาเขารู้หมด เพราะแอพมันออกแบบมาให้ใช้งานง่ายอยู่แล้ว
ส่วนตัวผมมองว่าจัดให้พอดี เพราะถ้าไม่ให้ใช้เลยทักษะที่เขาจะดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่จะขาดไป กว่าเขาจะไปเริ่มในโรงเรียนมันอาจจะช้า แต่ผมจะให้เล่นในเวลาที่เรามองเห็นอยู่ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้เขาอาจจะบริโภคมันมากเกินไปจนติดได้ ผลที่เกิดขึ้นเกิดคือเพียงคลาสแรกที่เรียนคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ครูชมว่าทำได้ดีมากกับการใช้เมาส์ โรงเรียนเขาจะสอนเรื่องนี้ตั้งแต่อนุบาลคือเป็นการสร้างทักษะชีวิต Learning by doing ที่เด็กยุคนี้ต้องมี แต่ทุกอย่างต้องพอดี ถ้าทำอะไรมากเกินไปจนถึงขั้นติดมันส่งผลเสียหมด วิธีบาลานซ์ที่ดีที่สุดคือการเล่นกับลูก เราต้องมีกิจกรรมกับลูก อย่าตามใจลูกจนเกินไป การที่คุณจะไปห้ามเด็กเล่นเกมคงเป็นไปไม่ได้ แต่พ่อแม่ต้องช่วยกันดู ต้องช่วยเลือกและให้เวลากับลูก”
สุภาวดี หาญเมธี
สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี นักพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว มากว่า 32 ปี ให้ข้อคิดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องทำความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่อย่างเจเนอเรชั่น อัลฟา ซึ่งเกิดมาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เวลาที่เลี้ยงลูกเราคงไม่สามารถดูเฉพาะช่วงเวลาลูกยังเล็ก แต่อยากให้จินตนาการไปถึงเวลาที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่ว่าเขาต้องพบกับอะไรต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นหากอยากให้ลูกอยู่ในโลกข้างหน้าได้ เขาต้องได้รับการดูแลบ่มเพาะให้มีความเข้มแข็ง คิดจัดการกับปัญหา จัดการกับตัวเองและสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเองอย่างมีความสุข
“ลูกของเราในวันนี้ที่เป็นคนรุ่นอัลฟา เขาจะโตมาในแบบที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยโตมา แต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีความแตกต่างของสภาพแวดล้อม การที่เราเข้าใจในความเป็นจริงของเด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา ทำให้พ่อแม่นำเอาภาพในอนาคตที่ต้องการและภาพปัจจุบันที่ลูกเป็นมาผสมผสานกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องเรียนรู้และขบคิดว่าแบบไหนถึงจะดีที่สุดสำหรับลูก”
ด้าน อำไพวรรณ ขาวรุ่งเรือง คุณแม่ยุคเจเนอเรชั่น อัลฟา กล่าวว่า “ยอมรับว่าใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูกมาตลอด เพราะเป็นวิธีง่ายๆ ที่คิดว่าช่วยดึงความสนใจให้เด็กอยู่นิ่งๆ ได้ ซึ่งพอได้ฟังและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการ ก็ได้ทราบถึงข้อควรระวังในการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีว่า การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ถ้าลูกเราอายุยังไม่ถึง 3 ขวบ ก็ไม่ควรให้เล่นหรือสัมผัสกับพวกแท็บเล็ต มือถือ หรือแม้กระทั่งดูทีวี ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ เพราะจะส่งผลต่อสมองของเด็ก”
ชนิดา อินทรวิสูตร
ชนิดา กล่าวเพิ่มเติมถึงทักษะสำคัญที่ลูกเจน อัลฟา จำเป็นต้องมี เรียกว่า “7 Essential Skills” ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การคิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเป็น 2.การคิดในเชิงสร้างสรรค์ 3.ความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล 4.การรู้จักปรับตัวและการทำงานเป็นทีม 5.ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 6.การสื่อสารชัดเจน มีประสิทธิภาพ และ 7.ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น
ทักษะเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้ลูกสามารถปรับตัวและเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์และสังคมวัตถุนิยม
อย่างไรก็ตาม เมื่อสร้างทักษะทั้งหมดนี้ให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็จำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันด้วยเช่นกัน โดยการสวมบทบาท “Be 5” ได้แก่ 1.นักคิดสร้างสรรค์ (Be Creator) ช่วยเพิ่มศักยภาพใหม่ๆ ให้กับลูก 2.นักเรียนรู้ (Be Learner) เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ให้แก่ลูกอย่างต่อเนื่อง 3.นักสื่อสาร (Be Communicator) เพื่อทักษะในการเจรจาพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจด้วยเหตุและผล 4.นักจัดกระบวนการเรียนรู้ (Be Facilitator) เพื่อสร้างแรงบันดาลและส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ของลูก และ 5.นักพัฒนา (Be Developer) เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกได้อย่างเต็มศักยภาพ