ภาษาถิ่น
คำว่า “เว้าอีสาน” ก็หมายถึง “พูดอีสาน” ตอนนี้หลายคนลองฝึกเว้าอีสานกันสนุกปาก เพราะ
โดย...โจ เกียรติอาจิณ
คำว่า “เว้าอีสาน” ก็หมายถึง “พูดอีสาน” ตอนนี้หลายคนลองฝึกเว้าอีสานกันสนุกปาก เพราะอยากเว้าอีสานให้คล่องคือกับ “ทองสร้อย” สาวใช้กำมะลอแห่งละครอารมณ์ขัน “นางสาวทองสร้อย คุณแจ๋วหมายเลข 1” (ออกอากาศทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ทางช่องไทยทีวีสีช่อง 3)
สำเนียงอีสานของทองสร้อยทั้งแปร่งทั้งเพี้ยน จับทางไม่ถูกว่าเธอมาจากอีสานตอนไหน อีสานเหนือหรืออีสานใต้ ยิ่งฟังก็ยิ่งแสลงใจแทนคนอีสานขนานแท้ที่สาวใช้กำมะลอนำ “ภาษาถิ่น” มาปู้ยี่ปู้ยำ บางคำบางประโยคพยายามเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจก็ยังไม่เข้าใจ ตกลงเธอเว้าอีหยัง (อะไรฟะ)
ดีว่าในเรื่องมีแต่ทองสร้อยกับตัวละครแม่ (น้ำฝน-สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ) ที่เว้าอีสานกัน (เป็นภาพในอดีตระหว่างที่เธอคุยกับแม่) ลองนึกดูสิถ้ามีตัวละครที่เว้าอีสานมากกว่านี้ ละครคงเปรอะเปื้อน เลอะเทอะ ชวนปวดเศียรมากกว่านี้แน่ เพราะลำพังแค่สองคนก็ทำเอามึนงงอยู่ไม่น้อย
แต่อีกมุมหนึ่งแม้สำเนียงเว้าอีสานของทองสร้อยจะแปร่งจะเพี้ยน แต่เชื่อไหมถ้าไม่มี ขาดไป หรือให้ทองสร้อยพูดภาษาไทย (ภาคกลาง) ความฟินและความอินก็คงไม่เกิด คนดูฟินและอินก็เพราะสำเนียงเว้าอีสานทองสร้อยนี่ล่ะ “มันแปร่งแต่มันน่ารัก” “มันเพี้ยนแต่มันน่าขำ”
งานนี้ขอยกความดีให้ “จ๊ะ-จิตตาภา แจ่มปฐม” ที่สามารถตีบททองสร้อยได้แตกกระจุย สาวใช้กำมะลอเว้าอีสานแบบ “พอกะเทิน” (ครึ่งๆ กลางๆ ) จากความน่ารำคาญก็กลายเป็นความสนุก จากการที่จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะสำเนียงเว้าอีสานของเธอไม่เป๊ะ ก็กลายเป็นว่าเคียดบ่ลง (โกรธไม่ลง)
กรณีทองสร้อยเว้าอีสานได้พอกะเทินนั้น ด้วยเค้าโครงเรื่องมันก็พอจะปล่อยผ่านไปได้ สมเหตุสมผลในการปลอมตัวเข้าไปเป็นคนใช้ ต้องเว้าอีสานเพื่อปิดบังตัวตน หรือเพื่อให้ทุกคนตายใจว่าเธอเป็นชนชั้นใช้แรง ซึ่งก็ทำให้ตัวละครทองสร้อยแลดูน่ารักน่าหยิก มากกว่าจะน่ารำคาญและน่าหมั่นไส้ สำเนียงเธอจึงไม่จำเป็นต้องอีสานล้านเปอร์เซ็นต์
ขณะที่อีกหลายตัวละครในละครหลายต่อหลายเรื่องที่เคยผ่านตาทางหน้าจอ ก็น่าหวั่นใจกว่า เพราะเข้าข่าย “ทำลาย” ภาษาถิ่น (จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) เจ้าของบทประพันธ์สร้างคาแรกเตอร์ในบทประพันธ์ดั้งเดิมไว้ว่าต้องเว้าอีสาน อู้กำเมือง หรือแหลงใต้ แต่พอผู้จัดหรือผู้กำกับนำบทประพันธ์มาดัดแปลงก็มักขาดความใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะการคัดเลือกนักแสดงที่ไม่มี “พื้นภาษาถิ่น” ดีพอที่จะถ่ายทอดอารมณ์ภาษา สิ่งที่เห็นกันเกลื่อน ก็คือ “การไปไม่สุดทาง” ของนักแสดงและการแสดง และนั่นก็นำไปสู่ “ความไม่สมจริง” ในผลงานเรื่องนั้นๆ
ก็จริงที่ผู้จัดหรือผู้กำกับมองว่าถ้ามุ่งมั่นจะสื่อสารภาษาถิ่นกันแบบเป๊ะๆ ก็อาจสรา้งความลำบากใจให้แก่ “แฟนกลุ่มใหญ่” ที่ดูละคร ไม่เข้าใจและเข้าถึง แต่ทางออกของปัญหาคงไม่จบที่สักแต่ว่าให้นักแสดงพูดๆ โดยไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับความหมายประโยค แค่พูดคำเหล่านี้ได้ “ข้อย” “อีหลี” “ปะล่ำปะเหลือ” “เปิ้น” “ขี้หก” “จั่งหู้” ก็ใช่จะมารับบทเด่นพูดภาษาถิ่นนะเออ
ตัวเลือกอื่นของนักแสดงมีอยู่มาก คนไหนพูดภาษาถิ่นได้และเหมาะสมก็ควรเลือก นักแสดงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแต่ละภาคของประเทศไทย (นักแสดงช่องหรือค่าย) ต้นสังกัดต้องรู้จักใช้ให้ตรงความสามารถ เมื่อบทต้องพูดภาษาถิ่นก็ควรเลือกนักแสดงที่พร้อม เพราะไม่อย่างนั้นมันก็เข่าอีหรอบเดิม แทนที่จะได้ดูละครที่ “ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น” ก็อาจกลายเป็นว่าได้ดูละคร “ทำลายภูมิปัญญา”
อู้กำเมือง แหลงใต้ เว้าอีสาน แต่ละประโยคก็รังแต่จะสร้าง "ความกระอักกระอ่วน" และ “ระคายหู”