เมื่อ ‘น้ำโขง’บอกลา ‘พันธุ์ปลา’ ถึงคราวต้อง ‘จากลา’ สรรพสิ่ง
เป็นเวลานานทีเดียวที่ผมนั่งสบตากับแม่น้ำโขงอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งน้ำฝนหล่นเม็ดลงมานั่นแหละถึงเพิ่งรู้ว่าฟ้ามืดครึ้มเต็มที
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน ภาพ... เพียรพร ดีเทศน์
1
เป็นเวลานานทีเดียวที่ผมนั่งสบตากับแม่น้ำโขงอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งน้ำฝนหล่นเม็ดลงมานั่นแหละถึงเพิ่งรู้ว่าฟ้ามืดครึ้มเต็มที
ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงก่อกำเนิดเป็นชีวิตและสรรพสิ่งหลากหลาย ลำน้ำซึ่งทอดตัวยาว 4,909 กิโลเมตร ไหลผ่าน 6 ประเทศ จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้สะกดหัวใจของผมให้ชะงักงันและจมดิ่งลงไปในห้วงความงดงาม
มาตรว่าความรู้สึกเป็นสิ่งเดียวที่สามารถฟุ่มเฟือยได้ไม่รู้สิ้น ผมอาจต้องใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อเผาอารมณ์ให้มอดไหม้ไปกับฟอนฟืนแห่งความสุข
2
วิถีชีวิตคนเชียงของ อำเภอเล็กๆ ใน จ.เชียงราย ผูกติดกับสายน้ำเป็นหนึ่งเดียว ภาพชินตาคือเรือเล็กลัดเลาะแนวตลิ่งสัญจรไปมา คนหาปลาทอดแหวางไซขะมักเขม้น ไกลออกไปใครหลายคนสาละวนอยู่กับแปลงผักกลางชายหาด ใครบางคนกำลังเก็บไกร (สาหร่ายแม่น้ำ) กลับมาตากแห้ง
ส่วนผสมอันลงตัวระหว่างประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรมนำมาซึ่งรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ ทุกชีวิตงอกเงยบนความงดงาม เนิบช้าแต่หนักแน่น
พื้นฐานของคนริมโขงต่างพึ่งพิงธรรมชาติ ภายใต้การเคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์
นั่นทำให้ “เชียงของ” ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์เรื่อยมาตลอด 1,300 ปี
3
เกือบ 11 เดือนเต็ม (ส.ค. 2546-มิ.ย. 2547) ที่ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน ซึ่งพำนักอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ตอนบนของ จ.เชียงราย ร่วมกันเก็บข้อมูลพันธุ์ปลา ระบบนิเวศ การเกษตร และพรรณพืช ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่แก่งคอนผีหลง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปจนถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น จัดทำเป็น “งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ” เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตัวเอง
งานวิจัยเล่มหนาเต็มไปด้วยภูมิรู้พื้นบ้าน ให้ภาพระบบนิเวศอันหลากหลายซึ่งมีมากถึง 11 ระบบ และก่อกำเนิดเป็นระบบนิเวศย่อยๆ อีกมหาศาล แปรผันตามกระแสน้ำขึ้นลง
ด้วยระดับน้ำที่ห่างกันถึง 20 เมตร ระหว่างช่วงฤดูน้ำลดกับฤดูน้ำหลากนำมาซึ่งระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน ยังให้พรรณพืชในผืนดิน-ผืนน้ำไม่ต่ำกว่า 65 ชนิดเติบใหญ่ พันธุ์ปลา 96 ชนิด กุ้ง 2 ชนิด และตะพาบน้ำ 1 ชนิด อุดมด้วยความสุขในลำน้ำอันกว้างใหญ่
จากพันธุ์ปลาที่พบทั้งหมด 96 ชนิด เป็นปลาธรรมชาติ 86 ชนิด อีก 10 ชนิดเป็นปลาต่างถิ่น
ในส่วนของปลาธรรมชาตินั้น พบว่ามีถึง 13 ชนิดที่เป็นพันธุ์ปลาหายากใกล้สูญพันธุ์ และมีถึง 20 ชนิดที่เดินทางอพยพขึ้นมาวางไข่ตามแก่ง ผา คก กว๊านแจ๋ม วังน้ำลึก ถ้ำใต้น้ำ ในจำนวนนี้รวมถึงปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ตามความหมายของ “ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์” ซึ่งมีอยู่ 13 ชนิดนั้น นิยามจากระยะเวลาที่ชาวบ้านไม่เคยจับได้ในช่วง 5-30 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ช่วงการเก็บข้อมูล) โดยเฉพาะ “ปลาบึก” ซึ่งพบได้ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว ชาวบ้านเคยจับได้ตัวใหญ่ที่สุด คือน้ำหนัก 282 กิโลกรัม ยาว 3 เมตร
ทั้งหมดคือความสมบูรณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน
4
ราวๆ ปี 2539 ปราการคอนกรีตสูงทะมึนแห่งแรกนาม “มานวาน” ในเขตประเทศจีนถูกสร้างขึ้นมากั้นขวางลำน้ำโขง สรรพชีวิตบนวิถีราบเรียบ-ปกติ กลับตาลปัตรแสนสาหัส กระทั่งเขื่อนแห่งที่สอง สาม สี่ ห้า และหก แล้วเสร็จ แม่น้ำแห่งชีวิตสายนี้จึงกลายสภาพเป็น “คลอง” ระบายน้ำโดยสมบูรณ์
เฉกเช่นผีเสื้อกระพือปีกสะเทือนถึงดว
งดาว ความวิปริตของต้นน้ำจากการบริหารจัดการโดยมนุษย์ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนท้ายน้ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
สมพร ศรีบุญเรือง เกษตรกร อ.เชียงของ เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงประสบกับวิกฤตระดับน้ำขึ้น-ลง โดยที่ไม่สามารถประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ บางครั้งภายในวันเดียวน้ำขึ้น-ลงถึง 2-3 รอบ นั่นทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เลย
มากไปกว่านั้นผลพวงจากระดับน้ำไม่คงที่ทำให้จับปลาได้น้อยลงกว่า 60-70% เมื่อเทียบเคียงกับ 2-3 ปีก่อน คือจากเดิมที่เคยหาปลาได้ถึงวันละกว่า 10 กิโลกรัม ทุกวันนี้เหลือเพียง 2-3 กิโลกรัม ก็นับว่ามากแล้ว
“เราเอาแน่กับระดับน้ำไม่ได้เลย แนวโน้มของปลาก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด บางวันจับไม่ได้เลยสักตัวก็มี” คือชะตากรรมที่ “สมพร” และคนลุ่มน้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ต้องเผชิญร่วมกัน
แน่นอนว่าเมื่อจำนวนปลาที่หาได้ลดลง ราคาย่อมต้องสูงขึ้นกว่าเท่าตัว “สมพร” บอกว่า ทุกวันนี้ราคาปลาแพงขึ้นมาก เช่น ปลาบางชนิดจากเดิมกิโลกรัมละ 80-100 บาท ทุกวันนี้สนนราคาที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท
นั่นทำให้การกินปลาในครัวเรือนลดน้อยลง เพราะชาวบ้านเลือกที่จะนำไปขายแทน
“วันนี้คนริมโขงแทบจะไม่ได้กินปลา เพราะคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวใหญ่ขึ้น ขณะที่คนหาปลาลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีแต่คนสูงวัยที่ยังประกอบอาชีพเดิม ส่วนลูกหลานส่วนใหญ่เข้าไปร่ำเรียนในตัวเมือง จบแล้วก็เข้าบริษัท ไม่กลับมาหาปลาหรือทำเกษตร นี่คือปัญหาวิถีชีวิตที่กำลังจะล่มสลาย”
แววตา “สมพร” เต็มไปด้วยความกังวล
5
สถานการณ์สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงขณะนี้อยู่ในความเสี่ยงปริมาณปลาที่ลดลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงเกินกว่าที่ชาวบ้านจะปรับตัวตั้งรับได้ทัน
ลุ่มน้ำอิง แม่น้ำสาขาของโขง
เมืองเชียงของในวันนี้ วิกฤตถึงขั้นต้อง “นำเข้า” ปลาจากต่างถิ่นเพื่อการบริโภค
จีระศักดิ์ อินทะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ เล่าว่า ทุกวันนี้แม่น้ำโขงแทบจะไม่เหลือปลาให้จับอีกแล้ว ส่วนปลาที่วางขายอยู่ตามตลาดสดนั้นก็เป็นจากต่างถิ่น เป็นปลาที่เลี้ยงในฟาร์มหรือในกระชัง เช่น ปลานิล ปลาทับทิม โดยพันธุ์ปลาส่วนใหญ่ก็มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดผลิตภัณฑ์เกษตร
แม้แต่ “ปลาบึก” และ “ปลาคัง” ซึ่งเป็นปลาชื่อดังของลำน้ำโขงและ อ.เชียงของ ทุกวันนี้มาจากการเพาะเลี้ยงและนำเข้าทั้งสิ้น
จีระศักดิ์
“เชียงของในวันนี้แทบจะหาปลาธรรมชาติจากแม่น้ำหรือลำน้ำสาขาไม่ได้อีกแล้ว” จีระศักดิ์ กล่าวย้ำ
เขาอธิบายว่า ในอดีตช่วงเดือน มี.ค. เป็นช่วงที่ปลาเริ่มอพยพเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านก็จะสามารถหาปลาได้เรื่อยๆ ไปจนถึงเดือน ส.ค. รวมทั้งสิ้น 6 เดือน ระหว่างนั้นก็จะทำการเพาะปลูกควบคู่กันไปด้วย เมื่อเข้าสู่ช่วงน้ำมาก-น้ำเต็ม ประมาณเดือน ส.ค.-ต.ค. จะหาปลาได้น้อยลงชาวบ้านก็จะผันตัวเองไปเก็บผลผลิตทางการเกษตร ใช้ชีวิตอยู่ในไร่ในนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังหาปลาเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้าง
พอเข้าสู่ปลายเดือน ต.ค. จะกลับเข้าฤดูการจับปลาอีกครั้ง เพราะช่วงนี้จะมีปลาอพยพเข้ามาวางไข่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในลำน้ำสาขาซึ่งเป็นสถานที่วางไข่ของปลากว่า 80% ของปลาทั้งหมดในลำน้ำโขง
จีระศักดิ์ ยกตัวอย่างธรรมชาติของ “ปลาบึก” ว่า โดยปกติแล้วจะอพยพมาหลังฤดูน้ำหลาก คือประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. แต่ชาวบ้านมักจะจับได้มากช่วงเดือน เม.ย. นั่นเพราะปลาชนิดนี้ใช้เวลาอพยพจากกัมพูชามาวางไข่ใน อ.เชียงของ ถึง 8 เดือน
“แล้วไม่ใช่ว่าเขาวางไข่แล้วกลับเลยนะ พอเขาวางไข่เสร็จแล้วก็จะต้องหาอาหารกินแถวนั้นไปสักระยะ เราจึงมักพบปลาบึกบริเวณคอนผีหลง เพราะเป็นพื้นที่ที่ลึกที่สุดและมีระบบนิเวศหลากหลาย มีหาดทราย มีไกร เหมาะสำหรับปลาพักฟื้นหลังวางไข่” เขาอธิบาย
จีระศักดิ์ อธิบายอีกว่า ปลาบึกที่เดินทางมาวางไข่จะเป็นปลาที่มีความพร้อมและโตเต็มวัยเท่านั้น หากปลาที่ยังไม่พร้อมหรือเด็กเกินไปก็จะไม่มา โดยปลาบึกเหล่านั้นจะค่อยๆ ว่ายมาและเมื่อมาถึงเขตเชียงของก็ครบ 8 เดือน ซึ่งไข่จะสุกพอดี พอวางเสร็จแล้วก็จะว่ายต่อไปอีกเล็กน้อย ดังนั้นปลาบึกที่ชาวบ้านจับได้จะเป็นปลาที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม
“ตามสถิติที่มีการจดบันทึกไว้ระหว่างปี 2529-2538 (10 ปี) สามารถจับปลาบึกได้รวมกันถึง 362 ตัว ขณะที่ในปี 2539 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง จนถึงปี 2549 (11 ปี) สามารถจับปลาบึกได้รวมแล้วเพียง 48 ตัวเท่านั้น”
นี่คือภาพความจริง ซึ่งบางครั้งก็จริงเกินไป
สมเกียรติ
6
ย้อนกลับไปในปี 2539 (เขื่อนแรกในประเทศจีนสร้างเสร็จ) ชาวเชียงของต่างตกอยู่ในอาการตื่นตระหนก นั่นเพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดอุบัติการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอด โดยขณะนั้นไม่มีใครทราบว่าประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนและกักเก็บน้ำไว้
ทว่าแม้จะคล้อยหลังปี 2539 มาร่วม 2 ทศวรรษแล้ว หากแต่สถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างหรือผิดแผกไปจากเดิม
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวในงาน 2 ทศวรรษการพัฒนาแม่น้ำโขง เมื่อปี 2557 ไว้อย่างน่าสนใจ
“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหลังผ่านพ้น 2 ทศวรรษการพัฒนาแม่น้ำโขงคือ ต้องการให้รัฐบาลทุกประเทศเข้าใจข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนท้ายน้ำ เช่น จากโครงการระเบิดเกาะแก่ง การบริหารจัดการน้ำโดยไม่มีการแจ้งเตือนหรือประสานข้อมูล ในขณะที่รัฐบาลไทยเองก็ต้องมีความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่คนลุ่มน้ำโขงเรียกร้องคืออะไร ผลกระทบข้ามแดนเป็นอย่างไร”
“... สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำกัน โดยเฉพาะรัฐบาลไทยกับจีน ซึ่งอาจใช้เวทีประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศก็ได้” ข้อเสนอของ “สมเกียรติ” ตรงประเด็นและรัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังอย่างยิ่ง
สมเกียรติ เสนออีกว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.ประสานประเทศจีนเพื่อขอข้อมูลการบริหารจัดการเขื่อนและสร้างการมีส่วนร่วมของประเทศท้ายน้ำ อาจเป็นรูปแบบเอ็มโอยูก็ได้ (ที่ผ่านมาประเทศจีนอ้างว่าข้อมูลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและรัฐบาลก็ไม่ดำเนินการอย่างเต็มที่) 2.ร่วมกันทบทวนแผนการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง
นั่นเพราะประเทศจีนมีแผนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพิ่มอีก 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 14 เขื่อน
7
เมืองชายขอบย่ำค่ำเงียบสงัด หากแต่แสงไฟ ณ ที่ซึ่งปกคลุมด้วยความรักยังคงสุกสว่างวาบไหว
สายน้ำไหลเอื่อย ลมโชยกลิ่นหอมดอกไม้ป่า
หลับตายินเสียงเพลง ... สองฝั่งฝัน