posttoday

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล

22 สิงหาคม 2558

สตูลไม่มีแค่หลีเป๊ะ แต่ยังมีสัตว์ในตำนานให้ตามหา

โดย...กาญจน์ อายุ

สตูลไม่มีแค่หลีเป๊ะ แต่ยังมีสัตว์ในตำนานให้ตามหา

การเดินทางไปสตูลว่าจะยากก็ยาก ว่าง่ายก็ง่าย เพราะสามารถนั่งเครื่องบินไปลงตรังหรือไม่ก็หาดใหญ่ แล้วนั่งรถโดยสารเข้าสตูลประมาณ 1 ชม. สตูลเป็น 1 ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้มีน่านน้ำติดกับรัฐเปอร์ริส ประเทศมาเลเซีย ที่ท่าเรือตำมะลัง มีเรือโดยสารไปเปอร์ริสใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาที รวมถึงลังกาวีและปีนังก็มีเรือไปถึง ซึ่งครั้งหนึ่งเปอร์ริสเคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสยามทำให้บางช่วงกาลเราเคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

ดูอินทรี บ้านตำมะลัง

ในอดีตท่าเรือตำมะลังเป็นเมืองท่าสำคัญทำการค้ากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย คนในหมู่บ้านตำมะลังจะทำสัมปทานป่าโกงกางเพื่อเผาถ่านขายและค้าพริกไทย ทำให้หมู่บ้าน
ตำมะลังมีทั้งคนไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แม้ว่าปัจจุบันจะกลายเป็นเพียงท่าขนส่งสินค้าแต่ร่องรอยทางวัฒนธรรมผสมยังคงอยู่

เริ่มตั้งแต่ชื่อหมู่บ้าน ตำมะลัง คำว่าตำมะ แปลว่า ผูก และ ลัง แปลว่า นกอินทรี มาจากคนอินโดฯ จะเลี้ยงนกอินทรีไว้ข้างกาย เวลาล่องสำเภามาก็ติดมากับเรือด้วย เมื่อค้างแรมในไทยพ่อค้าจะผูกอินทรีไว้กับต้นไม้ ผู้คนจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าตำมะลังหรือหมู่บ้านนกอินทรีตามที่เห็น

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล รูปปั้นปูก้ามดาบที่ท่าเรือตำมะลัง

 

ทุกวันนี้หมู่บ้านมีประชากรราว 5,000 คน ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สื่อสารกันผ่านภาษามลายู ประกอบอาชีพประมง ขับเรือรับจ้าง และทำการท่องเที่ยววิถีชุมชน

บังแอน - อาตีรัน จางวาง ไกด์ท้องถิ่นและผู้ริเริ่มการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างจริงจัง เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านตำมะลังเปรียบเป็นประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยไปมาเลเซียและคนมาเลเซียเข้ามาไทย แต่ทว่าหมู่บ้านได้เงินแค่ 3 บาท “ผมเริ่มทำการท่องเที่ยวที่ตำมะลังเพื่อดึงคนให้หยุดเที่ยวที่นี่ก่อนและค่อยไปต่อ เมื่อก่อนคนแค่แวะเข้าห้องน้ำ 3 บาท ชาวบ้านได้แค่นั้นจริงๆ”

บังแอนจึงเริ่มกิจกรรมนั่งเรือหางดูอินทรีที่อาศัยอยู่ในป่าโกงกางรอบหมู่บ้าน วันแรกเขาเริ่มให้หนังไก่สดปรากฏว่ามีนกอินทรีโฉบลงมากินแค่สามสี่ตัว เขาให้แบบนั้นทุกวันจนในวันนี้มีอินทรีฝูงใหญ่แย่งกินอาหาร (บังแอนไม่เคยสำรวจจำนวนอินทรี) จากนั้นก็เริ่มจัดโปรแกรมเที่ยวในชุมชน

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล เรือหางเกยหาดที่สันหลังมังกร

 

โปรแกรมสั้น นั่งเรือหางเลาะคลอง ชมหมู่บ้านตำมะลังและธรรมชาติป่าโกงกาง เรือจะล่องไปจนสุดเขตหมู่บ้านแล้วค่อยโยนหนังไก่ล่ออินทรี อินทรีในป่าจะบินว่อนหาพิกัดแล้วหุบปีกดิ่งโฉบเนื้อ สลับตัวต่อตัวน่าตื่นใจโดยมีฉากหลังเป็นหมู่บ้านตำมะลัง บังแอนเขาคิดเรื่องภาพไว้แล้ว

ส่วนโปรแกรมยาว เรือหางจะล่องไปถึงเกาะนก เกาะที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนักโทษตะรุเตา จากนั้นกลับมาเที่ยวในชุมชน ตำมะลังมีลักษณะเป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยน้ำและมีป่าโกงกางเป็นแนวกันคลื่น บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งเพื่อให้มีที่จอดเรือ บางครอบครัวทำนาและเลี้ยงแพะแกะทำให้วิถีชีวิตชาวเลที่นี่ผสมเกษตรกรรมซึ่งหากใครมีเวลาอยู่เป็นคืน ในชุมชนก็มีโฮมสเตย์ให้พักกับชาวบ้านและร่วมใช้ชีวิตแบบเดียวกับที่ชาวตำมะลังทำ

บังแอนเริ่มทำการท่องเที่ยวในชุมชนเมื่อ 2 ปีก่อน สร้างรายได้ให้ชุมชนได้บ้างแต่ยังไม่ถึงกับบูม แม้ว่าชาวบ้านจะไม่เดือดร้อนอะไรหากไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านก็ไม่ต้องเปลี่ยนวิถีแล้วยังได้รายได้เสริมจากสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น จากรายได้คนละ 3 บาท ในวันก่อน วันนี้นักท่องเที่ยวจ่ายคนละ 200 บาท เพื่อเที่ยววันเดย์ทริป และยังทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในไทยนานขึ้นด้วย

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล นกอินทรีโฉบหนังไก่สด

 

ขี่มังกร บ้านตันหยงโป

30 นาที จากหมู่บ้านตำมะลังไปยังบ้านตันหยงโป หากวางแผนเวลาให้ดีจะได้ไปเห็นมังกร

ชุมชนบ้านตันหยงโปมีการทำท่องเที่ยวชุมชนเช่นกัน โดยมี อาเล็น ระสุโส๊ะ เป็นตัวตั้งตัวตี เขาเป็นไกด์ท้องถิ่นที่ทราบเรื่องราวในพื้นที่ดี (เพราะมีภรรยาเป็นคนที่นี่) ให้ข้อมูลว่า ตันหยงโปมี 3 หมู่ ได้แก่ ตันหยงโป หาดทรายยาว และบากันเคย สินค้าขึ้นชื่ออย่างกะปิสร้างชื่อให้หมู่บ้าน เพราะชาวบ้านจับเคยมาทำกะปิเป็นล่ำเป็นสันส่งออกไปขายในสตูลและจังหวัดใกล้เคียง และเรือที่ว่างเว้นจากประมงจะรอรับส่งนักท่องเที่ยวไปดูสันหลังมังกร

สันหลังมังกรไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะชาวประมงทุกคนเห็นมันเป็นเรื่องธรรมชาติ นั่นคือยามน้ำลดจะเกิดสันดอนขึ้นกลางทะเล เป็นแนวเศษเปลือกหอยที่ถูกน้ำพัดมารวมกัน ชาวประมงจะอ้อมไปอีกทางแค่นั้นไม่ได้อยู่ในความสนใจ แต่สำหรับคนบกกลับจินตนาการมันเป็นสันหลังมังกร เพราะสันดอนจะเลื้อยคดเคี้ยวโดยมีเกาะหัวมันเป็นหัว และเกาะสามเป็นหาง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจึงกลายเป็นเรื่องราวพิศวง

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล ชาวประมงที่ปูเลาอูบิน

 

ชาวประมงวางแผนการเดินเรือจากปฏิทินน้ำขึ้น-น้ำลง ทุกวันมีเวลาน้ำลง 2 ครั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ละครั้งจะลดนาน 4 ชม. ทำให้การดูสันหลังมังกรทำได้เพียง 1 ครั้งในช่วงกลางวันเท่านั้น เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวจะมาพร้อมกันตั้งแต่ยังไม่เห็นแนวเพราะอยากให้มารอชมระดับน้ำค่อยๆ ลด หรือที่ไกด์อาเล็นบอกว่า “มาคอยดูมังกรแหวกน้ำ” สันแนวจะยาวไกลถึง 4 กม. เป็นทางเดินกลางทะเลที่หากมองไกลๆ จะนึกว่าคนเดินบนผิวน้ำ และหากมองทางอากาศจะเหมือนคนกำลังยืนบนตัวมังกร

หัวมังกรคือเกาะหัวมันเป็นที่พักของชาวประมงหรือที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า ปูเลาอูบิน บ้านทำจากไม้ มุงด้วยใบจาก ยกใต้ถุนสูงเล็กน้อย มีบันได 3 ขึ้น ไม่ใช่บ้านถาวรแต่เป็นที่พักระหว่างทาง ส่วนสิ่งที่อยู่ถาวรน่าจะเป็น “แมว” ที่คนนำมาด้วยแล้วออกลูกออกหลานจนมีจำนวนมากกว่าคน ไม่แน่อีก 2-3 ปีข้างหน้าปูเลาอูบินอาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในฐานะเกาะแมว เพราะตอนนี้ก็เริ่มจะเป็นแบบนั้นแล้ว

อาเล็นยังกล่าวด้วยว่าสตูลถูกขนานนามว่าเป็น Andaman Last Virgin เพราะยังมีสภาพใต้น้ำที่ยังสมบูรณ์ “การมาเป็นที่สุดท้ายทำให้เรายังสวยงาม” เขากล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่มักคิดถึงสตูลเป็นอันดับสุดท้ายเมื่อคิดจะไปเที่ยวทะเลอันดามัน จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมหลีเป๊ะถึงดังกระฉ่อนในปีที่ผ่านมาและกลายเป็นเรื่องราว “ดราม่า” เรื่องการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ปัญหาขยะ และราคาทัวร์ที่แพงหูฉี่ นั่นเพราะหลีเป๊ะมาเป็นที่สุดท้ายและยังสวยงาม

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล สันหลังมังกรทอดยาวไปถึงเกาะสาม

 

อาเล็นพานักท่องเที่ยวทั้งคนไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ไปเที่ยวหลีเป๊ะจนเขารู้สึกว่า หลีเป๊ะอยู่ในสตูลก็จริงแต่เงินกลับอยู่กับนายทุน ตอนนี้เขาจึงพยายามดันให้การท่องเที่ยวกับชุมชนเข้าไปในโปรแกรมทัวร์ให้เม็ดเงินกระจายมาถึงรากหญ้า และเปลี่ยนเรื่องเที่ยวให้เป็นคลาสเรียนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตโดยมีครูเป็นชาวบ้านจริงๆ

ความพยายามของคนในชุมชนอย่างบังแอนและอาเล็นเป็นตัวอย่างของความพยายามที่พอเห็นความสำเร็จแล้วจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น อย่างวันที่ไปเดินบนสันหลังมังกรก็มีคนจากปัตตานีมาเที่ยวเต็ม 3 ลำเรือ และยังถูกนำไปเป็นเส้นทางของโครงการเลดีย์ เจอร์นีย์ ที่สนับสนุนให้กลุ่มสาวๆ วัยทำงาน คู่แม่ลูก เพื่อน พี่น้อง ออกท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้การท่องเที่ยววิถีไทยถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ วิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมจึงเป็นอีกแง่มุมที่น่าหันมามอง ตัวอินทรีกับมังกรแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ตัวประกอบที่ทำให้บทบาทของชุมชนสนุกขึ้น

ดูอินทรี บ้านตำมะลัง ติดต่อ อาตีรัน จางวาง โทร. 08-9735-3249, 08-6167-9665 ขี่มังกร บ้านตันหยงโป ติดต่อ อาเล็น ระสุโส๊ะ โทร. 08-3534-8990, 08-5899-9789

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล บ้านไม้มุงใบจากใต้ถุนสูง

 

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล ป่าโกงกางที่อาศัยของนกอินทรี

 

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล เด็กน้อยเล่นน้ำทะเลริมสันดอนเปลือกหอย

 

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล สันหลังมังกรโผล่ขึ้นกลางทะเล

 

ดูอินทรี ขี่มังกร นอนสตูล นักท่องเที่ยวยืนกลางทะเล